บางครั้งบางครา ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงอาจเลือกหนทางแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรงโต้กลับ แต่ก็มิวายจะต้องจบลงด้วยความสูญเสีย คดีความ และเส้นทางชีวิตที่พลิกผัน
คืนหนึ่ง เด็กชายวัย 17 ปี ตอบโต้ความรุนแรงจาก ‘ตาเลี้ยง’ ด้วยการใช้ความรุนแรง จนเป็นเหตุให้ตาเลี้ยงเสียชีวิต แม้จะเป็นการป้องกันตัวเอง แต่ในวันนี้เขายืนยันกับเราว่า นั่นเป็นการตอบโต้ที่ผิดวิธี เพราะแท้จริงแล้วหากเรามีเครื่องมือ ความรู้ หรือทักษะชีวิต การแก้ไขปัญหาความรุนแรงก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเสมอไป
อากาศร้อน ลมเอื่อย และแสงแดดแต่งแต้มใบหน้าให้ แดเนียล-วิวัฒน์วงศ์ ดูวา มีบุคลิกที่เป็นมิตร แตกต่างจากอดีตที่เขาเล่าให้ฟังอย่างสิ้นเชิง
นับแต่ออกจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก (บ้านกาญจนาฯ) ชายหนุ่มผมยาวสลวย พ่วงตำแหน่งรองแชมป์อันดับ 3 จากรายการไมค์ทองคำ ซีซั่น 7 กลับเข้ามาช่วยงานที่บ้านกาญจนาฯ ประปราย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของตนให้น้องๆ ตลอดจนคนที่เคยผิดพลาดในชีวิตมีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ภายใต้บรรยากาศเงียบสงบของบ้านกาญจนาฯ เรานั่งคุยกับแดเนียลที่โต๊ะหินอ่อน หนุ่มมาดเซอร์เล่าว่า แนวเพลงเพื่อชีวิตคือสิ่งที่ถนัด แต่เขาก็ไม่ได้ใส่ใจเส้นทางศิลปินนัก คิดเพียงแต่จะใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ดีที่สุด แดเนียลยังเชื่อว่า วงจรของความรุนแรงสามารถยุติได้
ก่อนถูกตัดสินโทษเข้าสถานพินิจ คุณเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบไหน
ครอบครัวผมมีแค่พ่อ แม่ และผม ทั้งหมด 3 คน จุดเปลี่ยนแรกเกิดขึ้นเมื่อพ่อเสียชีวิตตอนผมอายุ 10 ขวบ ทำให้ต้องย้ายมาอยู่บ้านยาย พอมาอยู่กับยาย ครอบครัวก็ใหญ่ขึ้น สักพักหนึ่ง แม่ก็มีสามีใหม่
ในครอบครัวนั้นจะตลบอบอวลไปด้วยความรุนแรง เพราะว่าตาเลี้ยงเป็นคนชอบดื่ม พอดื่มก็จะทำร้ายร่างกายยาย ใช้คำพูดแดกดันเรา กระทั่งเราโตเป็นวัยรุ่น ช่วงอายุ 15 ปี ก็เริ่มห้าว เริ่มคิดว่าทำไมเราต้องยินยอมให้บุคคลนี้ทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจตลอดเวลา เราเริ่มมีปากมีเสียงกับเขา เมื่อเรามีปากมีเสียงกับเขา ปรากฏว่าหวยไปออกที่ยาย ยายโดนกระทืบหนักขึ้น เพียงเพราะเราไปแขวะเขาคืน ยายจึงเรียกไปปรับทัศนคติว่า เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ไม่ต้องไปต่อปากต่อคำกับเขา
ตอนนั้นใช้ชีวิตแบบปวดกรามมาก กัดฟันอย่างเดียว ทำอะไรไม่ได้นอกจากกัดฟัน ปกติตาเลี้ยงจะอาละวาดแค่วันละ 1 รอบ แต่วันที่มีปัญหา เขากดไป 3 รอบ ตั้งแต่กลางวัน ช่วงเย็น ช่วงดึก เขาเอ่ยมาคำหนึ่งว่า เขาจะนอนกับแม่ผม ซึ่งเราไม่ยอม แต่ด้วยความที่ยายอยู่ตรงนั้น เราก็เลยต้องยอม เราแค่อยากให้คืนนี้ผ่านไปเหมือนทุกคืนที่ผ่านมา
เขาเข้าห้องไปกับยายประมาณเที่ยงคืน แต่ยายวิ่งออกมาตอนตีสาม ยังไม่ได้นอน โดนกระทืบอยู่ข้างใน เมื่อยายออกมายืนคุยกับเรา พอเขาเดินมาเห็น เขาก็หาเรื่องเราก่อน เขาเดินไปหยิบมีดมาไล่ฟัน เนื่องจากเราโตมาในครอบครัวที่มีแต่ความรุนแรง ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ไม่เคยมีตัวเลือกอื่นให้เลือกเลย เราก็ดึงวิธีนั้นมาใช้กับเขา พอเขาแรงมา เราก็แรงกลับ ด้วยความที่เขาเมาและฝั่งเราเยอะกว่า ก็เป็นเขาที่ล้มลงไป
หลังจากเขาล้มลงไป เราก็คิดว่าจะแจ้งตำรวจหรือพาเขาไปหาหมอดี ก่อนหน้านี้ เราเคยแจ้งตำรวจไปแล้ว แต่ตำรวจก็เป็นเหมือนพระประธาน มาแล้วฉีกยิ้ม แต่ไม่ทำอะไร เหตุการณ์นั้นเสมือนการทิ้งบอมบ์ไว้ว่า แม้แต่เมียยังแจ้งความจับเขา แล้วเขาจะไว้ใจใครได้ เราจึงตัดสินใจไม่แจ้งตำรวจในคืนนั้น พอคุยกันเสร็จ คิดว่าจะพาเขาไปหาหมอแทน แต่ปรากฏว่าเขาเสียชีวิตแล้ว
เราคิดแค่ว่า เราตอบโต้เพื่อบอกว่าคุณจะมาตีครอบครัวเราฟรีๆ ไม่ได้แล้วนะ เราสู้แล้วนะ แต่พอเขาตาย เราก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามสันดานดิบ เมื่อทำผิดก็ต้องปกปิด ผมเอาเขาใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตร โบกปูน เขาตายที่นนทบุรี ผมเอาเขาไปทิ้งที่พิษณุโลก หลังจากนั้น 6 เดือน โดนกองปราบฯ ตามจับทั้งบ้าน แม่กับพ่อเลี้ยง โดนคนละ 8 ปี แต่ยายอายุเยอะ แล้วก็ไม่ได้เป็นคนลงมือทำ จึงมีโทษรอลงอาญา 2 ปี ส่วนผมถูกตัดสินเข้าสถานพินิจ 3 ปี
ที่ผ่านมาคุณทำตามคำพูดยายที่บอกให้เลี่ยงการใช้ความรุนแรงมาตลอด แต่ทำไมคืนนั้นจึงใช้ความรุนแรงตอบโต้
ฟางเส้นสุดท้ายคือ เขาเอามีดมาไล่ฟัน เพราะถ้าเป็นคำพูด เขาเคยพูดแรงกว่านี้ ด่าพ่อล่อแม่ เคยหมด ปกติเขาจะไม่ทำร้ายยายต่อหน้าพวกเรา แต่วันนั้นเขารุกหนักมาก จนเราคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง เราก็ต้องใช้ไม้แข็งกับเขา
ถ้าย้อนเวลากลับไป คุณคิดว่าจะมีวิธีตอบโต้แบบอื่นไหม
ถ้ามองย้อนกลับไป เราก็ไม่รู้จะใช้อะไร แต่เราอาจจะเปลี่ยนอาวุธ จากที่ใช้ขวาน ก็จะใช้ไม้แทน แล้วก็จะไม่ตีจุดสำคัญ แค่ยับยั้งเขาเฉยๆ แต่วันนั้นมันชุลมุน มันแค่เสี้ยววินาที ตอนที่เราคิด เราก็วิ่งหนีเขาอยู่ พอคว้าขวานได้ เราก็หันกลับไปสวน ถามว่าถ้าย้อนกลับไปได้ ก็คงใช้ไม้หรืออย่างอื่นมากกว่า
ช่วงที่เกิดความรุนแรงในครอบครัว มีความช่วยเหลือจากภายนอกบ้างไหม
ไม่มีเลย อย่างที่บอกว่าเคยแจ้งตำรวจ เขาให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว เขาไม่อยากยุ่ง ตอนนั้นประมาณปี 2556 แต่จริงๆ มีกฎหมายตั้งแต่ปี 2550-2551 ว่า ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และตำรวจต้องทำหน้าที่ ประเทศเราไม่เหมือนต่างประเทศที่ประสานการทำงานได้แบบ one stop service คือถ้าตำรวจไม่สามารถทำได้ ก็ต้องติดต่อหน่วยงานอื่นมาแทน แต่พอเราพึ่งตำรวจไม่ได้ ก็เลยเลือกที่จะไม่พึ่งใคร
หลังจากพ้นโทษ คุณตั้งต้นชีวิตใหม่อย่างไร
ผมโชคดีตรงที่ว่า จุดเกิดเหตุที่ผมก่อคดีกับบ้านที่ผมอยู่หลังถูกปล่อยตัว มันอยู่คนละที่กัน คนรอบข้างหรือสภาพแวดล้อมรอบบ้าน เขาไม่ได้สงสัยว่าผมไปไหนหรือทำอะไรมา ผมจึงไม่ค่อยเหนื่อย ขณะเดียวกัน ที่บ้านก็มีอาชีพรองรับ ไม่ต้องเร่หางาน ไม่ได้เจอความรู้สึกที่ถูกปฏิเสธงานเพราะมีประวัติก่อคดี ผมจึงค่อนข้างตั้งตัวใหม่ได้ง่ายกว่าคนอื่น
แล้วมองปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนไปเยอะนะ ตั้งแต่เรามาเรียนรู้ที่นี่ (บ้านกาญจนาฯ) เขาทำให้เห็นว่า ในวินาทีนั้นบุคคลที่อยู่ข้างหน้าอาจเป็นคนที่ทำร้ายครอบครัวเราจริง แต่เขายังมีอีกหลายตัวตนที่ต้องเป็น เขาต้องเป็นพ่อคน ต้องเป็นตา ต้องเป็นลุง ต้องเป็นพี่ชาย ต้องเป็นลูกชาย
ถ้าหากปัญหาในครอบครัวสามารถพูดคุยกันได้ แล้วยายไม่ยอมให้เขาข่มเหงรังแก ถ้าสามารถควบคุมคนของเขาหรือคนของเราได้ ปัญหาแบบนั้นก็จะไม่มี แต่ผมคิดว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหามันมาจากแอลกอฮอล์ มันไม่ได้แค่เปลี่ยนนิสัยเขา แต่มันทำให้เขาไม่สามารถยับยั้งชั่งใจด้านมืดได้
ผมจึงมองว่า ทุกครอบครัว ทุกปัญหามันมาจากเรื่องเล็กๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าสมมุติเขาแก้ไข มันก็จะไม่บานปลายเป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ครอบครัวผมคุยกันดีๆ ไม่ได้
มีความพยายามที่จะเปิดอกคุยกันไหม
ผมกับตาเลี้ยงไม่เคยคุยกัน เพราะทางผม แม่ พ่อเลี้ยง จะฟังยายเป็นหลัก แล้วเขาเป็นสามีของยาย ก็ไม่มีใครอยากไปยุ่งวุ่นวายในชีวิตของเขา เพราะเขาก็โตแล้ว เลือกเองได้ คิดเองได้ แต่ปรากฏว่า ยิ่งเราปล่อย เขาก็ยิ่งได้ใจ คิดว่าเรายอม คิดว่าเราหงอ แต่ถ้ายายยอมจับเข่าคุยหรือถ้าเขาปรับเปลี่ยนไม่ได้ ก็เลิกกันไป มันก็จบ มันก็ไม่นำมาสู่เหตุการณ์แบบนี้
มองย้อนกลับไป เคยวิเคราะห์อารมณ์และความรุนแรงของตาเลี้ยงไหม
เคยนะ ผมคิดว่ามันเป็นตั้งแต่ตอนที่เขายังเด็ก เขาคงมีปมของเขา ที่ผมรู้มาก็คือ เขาเคยนอนอยู่ข้างถนน แล้วก็เจอยายผม พอเขามีชีวิตใหม่ ก็เหมือนกับว่าเขาเริ่มหลงระเริง ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือความสุขสบาย
แต่เราก็ไม่รู้ว่าชีวิตแต่ละคนเจออะไรมาบ้าง เพราะแม้กระทั่งเมื่อคดีกลายเป็นข่าว น้องชายเขามาเป็นโจทก์ แล้วพูดกับยายผมว่า ไม่น่าไปทำมันเลย คนอย่างนี้ปล่อยมันไป เดี๋ยวก็ไปตายข้างนอก ไม่น่ามาตายเพราะมือพี่เลย พูดอีกอย่างคือ ครอบครัวเขาค่อนข้างไม่เอาเขา เพราะช่วงแรกที่ตาเลี้ยงหายไป หรือ 6 เดือนที่เรายังไม่โดนจับ เขาก็ไม่ได้มาตามหานะ เขามาตามหาแค่ทอง ญาติฝั่งเขาก็โฟกัสแค่เงินอย่างเดียว ไม่ได้โฟกัสว่า คนคนนี้จะเป็นจะตาย และพอเราให้เงินชดเชยประมาณ 800,000 บาท เขาถอนโจทก์เลย ซึ่งทั้งหมดมันน่าจะเป็นปัญหาที่ครอบครัวเขา พี่น้องเขาก็เยอะ อาจจะได้รับการดูแลหรือให้ความอบอุ่นไม่ทั่วถึง จนถูกหล่อหลอมให้เป็นคนอย่างนี้
จุดไหนที่ทำให้คุณให้อภัยตัวเองและอยากแบ่งปันเรื่องราวตัวเองให้กับคนอื่น
ที่บ้านกาญจนาฯ จะมีเวทีเสวนาหนึ่งให้เราพูดเรื่องแอลกอฮอล์ แรกๆ เราคิดว่ามันเป็นการประจานตัวเอง แต่พอเราพูดและกลับมาคิด มันเสมือนการเยียวยามากกว่า ถ้ามีคนฟังเรา 100 คน เขารอด 1 คน มันก็โอเคแล้ว ถือว่าช่วยไม่ให้มีครอบครัวไหนต้องเผชิญความเจ็บปวดแบบเราอีก
ผมคิดว่า การที่เราเป็นแผลข้างใน มันอาจจะยังไม่หาย หากจะต้องกรีดซ้ำเพื่อให้หนองออกมา เราก็ต้องยอมเพื่อให้ตัวเองก้าวเดินต่อไป การเอาเรื่องนี้มาเปิดเผยมันเป็นการให้เกียรติคนตายด้วยนะ เพราะถ้าผมมีบทเรียนที่ดี แต่ผมเอาไปนอนกอดอยู่บ้าน ผมคิดว่ามันเหมือนคนขี้แพ้ การเอามาเล่าให้คนข้างนอกฟัง เล่าให้น้องๆ ฟัง มันโอเคมากสำหรับผม
เริ่มมีความสนใจด้านดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ จนทำให้เรารู้จักแดเนียลในฐานะนักร้อง
ก่อนมีปัญหา ผมเคยมีโอกาสเรียนเบส เคยเล่นดนตรีไทยตั้งแต่สมัยมัธยมต้น ผมเข้าเรียนด้วยโควตาดนตรีไทย ตำแหน่งระนาดเอก หลังจากนั้นออกจากโรงเรียนเพราะมีปัญหา ทำให้หลุดออกจากการศึกษา จากนั้นก็โดนจับ ที่แดนแรกรับมีกีตาร์ตัวหนึ่ง ผมก็เอามาฝึกเล่นกับคนที่เขาเล่นเป็น เราเริ่มจากไปนั่งร้องเพลงกับเขาก่อน แล้วก็ฝึกมาเรื่อยๆ พอมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ เขาให้นำกีตาร์เข้ามาได้ เราก็ยิ่งสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาที่บ้านคือช่วงเดียวกับที่มีปัญหาที่โรงเรียน?
ผมมีปัญหากับโรงเรียนตอนอายุประมาณ 14 ปี คือออกจากโรงเรียนมาทำงานที่บ้าน เพราะที่บ้านมีธุรกิจส่วนตัว
อะไรทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมประกวด ‘ไมค์ทองคำ’
จริงๆ ผมสนใจอีกเวทีหนึ่ง แต่ตอนที่ติดต่อไป เรายังไม่พ้นโทษ เขาให้รอพ้นโทษออกมาก่อน แต่พอพ้นโทษไม่นาน รายการไมค์ทองคำติดต่อมา ก็เลยลองไปเพื่อเอาประสบการณ์ว่า หน้าสปอตไลต์มันเป็นยังไง พอประกวดเราก็เข้ารอบไปเรื่อยๆ จนติด 1 ใน 4 คนสุดท้าย และได้เซ็นสัญญากับยุ้งข้าวเรคคอร์ด
มีอุปสรรคในเส้นทางนักร้องไหม
เป็นเรื่องประวัติของเรานี่แหละ เพราะผมก็ไม่ได้ปิดบังตัวเอง ผมเคยโดนจับมา เราจึงถูกครอบครัวผู้เสียชีวิตโจมตี แต่เราพยายามไม่ใส่ใจตรงนั้น เพราะต้องการเปิดพื้นที่ให้คนในสังคมได้รับรู้ว่า เราพลาดแค่เสี้ยววินาทีเดียวของชีวิต และมันยังมีคนแบบเราอีกเยอะที่มีความสามารถไม่แพ้คนที่อยู่ข้างนอก คือเราต้องเปลี่ยนจุดโฟกัส ต้องไม่เอาข้อกังวลตรงนั้นมาเป็นแรงกดให้เราไม่สามารถเดินไปต่อได้
ผมเจออคติตามคอมเมนต์ใต้คลิปที่เราลงในยูทูบ เช่น “มึงออกมาแล้วเหรอ คนที่ฆ่าพ่อกู” หรือ “นี่ไง เพลงไอ้ฆาตกร” ในช่วงแรกจะเป็นสายตาที่มองแรง มองตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ผมออกมาแล้ว ผมต้องยืนให้ได้
ถามว่า ถ้าเขามาปาดจริงๆ ผมก็ไม่ไปแลกกับเขาหรอก ผมแค่รับฟังอย่างเดียว เขามีสิทธิที่จะคิด เขารู้เรื่องเรานิดหนึ่ง เขาจะตีความขนาดไหนก็ได้ แต่คนที่สัมผัสกับเราจริงๆ เขาจะรู้ว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้น
ตั้งเป้าหมายกับเส้นทางสายดนตรีไว้ยังไง
ไม่ได้ตั้งธงไว้เลย แค่ประกวดแล้วเข้ารอบ มันก็เกินความคิดเราแล้ว เราไม่ถนัดแนวนี้ ไปได้ขนาดนั้นก็พอใจแล้ว
ผมโฟกัสกับการใช้ชีวิตไม่ให้ผิดซ้ำมากกว่า เรื่องชีวิตศิลปินไม่ค่อยได้ใส่ใจ เพราะผมไม่คิดจะรวยจากทางนี้ ผมคิดแค่ว่าจะทำยังไงให้เด็กๆ ที่ฟังผมบนเวทียังศรัทธาในคำพูดของผมอยู่ ผมพยายามพยุงตัวเองให้รอดในทุกๆ วัน มันก็ถือว่าโอเคแล้ว
นำสิ่งที่เรียนรู้จากบ้านกาญจนาฯ ไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
ในช่วงแรกที่เข้ามาอยู่บ้านกาญจนาฯ เราได้ไปเลี้ยงน้อง ไปอยู่ที่บ้านเด็กกำพร้า ดูว่าหนึ่งชีวิตมันมีอะไรบ้าง ได้ออกไปคุยกับคนเยอะแยะมากมาย ได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดกับเขา ความคิดเราจึงขยับอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบ้านกาญจนาฯ จะทำงานกับความคิดของเรา เช่น เมื่อเราโดนด่าหน้างาน เราก็พยายามตั้ง mindset ตัวเองให้แข็งแรงเข้าไว้ เราอยู่ในจุดนี้แล้ว ดังนั้น เราจะไม่พาตัวเองกลับไปอยู่จุดเดิม เต็มที่เราแค่กลับไปเหลือศูนย์ แต่เราจะไม่กลับไปติดลบอีก
สิ่งที่บ้านกาญจนาฯ ให้ แต่ที่โรงเรียนไม่มีก็คือ ทักษะการใช้ชีวิต โรงเรียนจะสอนตามโปรแกรม แต่บ้านกาญจนาฯ เน้นให้เราวิเคราะห์ข่าว ให้เราได้เจอสังคมจริงๆ ว่า ตอนนี้เรื่องราวเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเป็นคนคนนี้แล้วตัดสินใจเหมือนเขา ผลก็คือออกข่าวหน้าหนึ่ง เพราะฉะนั้นเราควรใช้วิธีไหนล่ะ
บ้านกาญจนาฯ ฝึกให้เราแก้ไขปัญหาบ่อยๆ มันเหมือนการกินข้าว ตอนที่เราเด็กๆ เราก็กินหก พอกินไปกินมา มันก็ไม่หก ทุกวันนี้เราหลับตาแล้วก็จำวงสวิงได้ว่า มันต้องเข้าปากเรายังไง การแก้ไขปัญหามันก็เป็นแบบนั้น เราแก้ แก้ แก้ จนวันที่เราเจอปัญหาจริง เราจะมีเครื่องมือสำหรับหาทางออกให้ตัวเองได้เยอะมาก ซึ่งมันควรจะอยู่ในโรงเรียนด้วย เราควรจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าไม่โดนจับเราก็อาจไม่ได้เรียนรู้สิ่งนี้
แล้วชีวิตในรั้วโรงเรียนก่อนหน้านี้เป็นอย่างไร
ก่อนเข้า ม.1 ผมมีปัญหากับครูดนตรีตั้งแต่เรียนปรับพื้นฐาน ผมเข้าไปด้วยโควตาดนตรีไทย แต่ตอนนั้นไม่มีครูดนตรีไทยประจำ เหมือนโรงเรียนแค่อยากทำโครงการดนตรีไทย แต่โรงเรียนเก่งเรื่องวงโยธวาทิต โครงการดนตรีไทยจึงถูกรวมกับวงโยฯ
เมื่อเราเข้าไปก็พบว่าวงโยฯ งานเยอะมาก เขาต้องซ้อมหนัก เขาจึงให้พวกผมไปเช็ดรองเท้าที่เลอะดินหลังจากที่วงโยฯ ไปออกงานมา ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่หน้าที่ผม พอผมไม่ทำ เขาก็ตีผม ตีผมด้วยไม้กลอง 30 กว่าที จนตูดผมม่วงช้ำไปหมด ผมเลยรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัย บวกกับใจที่ผมไม่ได้รักการเรียน ผมใช้ข้ออ้างนี้เพื่อโดดเรียน ผมโดดเรียนจนกระทั่งไม่ไปโรงเรียนเลย ช่วง ม.2 ผมติด ร. ติด 0 เกือบทุกวิชา ที่บ้านก็บอกว่า ถ้าไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน ออกมาทำงาน ไม่ต้องทำให้ชุดนักเรียนเขาเสียหาย แต่นั่นก็เพราะบ้านผมมีธุรกิจ เขาเลยไม่ได้คาดหวังว่าผมจะต้องหิ้วใบปริญญากลับบ้าน
โดดเรียนไปทำอะไรบ้าง
แรกๆ ผมโดดเรียนไปอยู่ใต้สะพานทางเข้าหมู่บ้าน หัดดูดบุหรี่ ลองกินเหล้า ดูดกัญชา หลังๆ เริ่มเบื่อก็เปลี่ยนไปเดินห้าง ไปร้องเพลงที่ตู้คาราโอเกะ มันไม่ค่อยมีที่ไปหรอก สารวัตรนักเรียนก็เยอะ เต็มที่ได้แค่นั้น หรูสุดก็เดินห้าง ถ้าอยู่บ่อยๆ ก็อยู่ใต้สะพานทางเข้าหมู่บ้าน
เหมือนโรงเรียนไม่ได้สนใจชีวิตเด็กเท่าที่ควรหรือเปล่า
ตอนผมไปเรียน ผมรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่หลุมหลบภัย ออกจากบ้านที่อบอวลไปด้วยความรุนแรง ผมออกตอนเช้า กลับตอนเย็น อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องเจอสภาพแวดล้อมอย่างนั้นเต็มวัน ต่างประเทศจะยื้อให้เด็กอยู่ในโรงเรียนนานที่สุด แต่สังคมไทยต่างออกไป ผมรู้สึกว่าครูแค่ทำตามหน้าที่ บางครั้งครูยิ่งทำร้ายเด็กด้วย บางโรงเรียนมีการข่มขืนเด็กอีก ผมคิดว่าการศึกษาไทยควรถูกตั้งคำถามเยอะๆ ถ้าการศึกษาไทยดีจริง เราจะไม่เจอคนที่จบปริญญาเอกติดคุก เราจะไม่เจอคนที่จบปริญญาฆ่าตัวตาย มันเหมือนกับว่า ถ้าเราเรียนจบ แสดงว่าเรามีความอดทนในการเรียน แต่เอาเข้าจริงมันควรที่จะเป็นใบเบิกทางให้เราได้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ตอนนั้น ผมรู้เพียงการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพราะเราเห็นผู้ใหญ่ทำ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ใช้ความรุนแรง ดุ ด่า บ่น แต่โรงเรียนแทบไม่ได้สนใจว่าเราใช้ชีวิตยังไง เขาสนใจแค่ในห้องเรียน ในวิชานั้นๆ ว่าเราทำได้ดีหรือเปล่า แล้วก็ให้เกรด ให้คะแนน ผมคิดว่าทักษะชีวิตสำคัญกว่าวิชาเรียน ทำให้เรามีลู่ทางในการแก้ไขปัญหา ถ้าผมได้เรียนรู้สิ่งนี้ก่อนที่จะมีเรื่อง ผมคงแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านั้น
ตอนนี้ขยับมาช่วยงานบ้านกาญจนาฯ แล้ว เราดูแลเด็กที่เข้ามาใหม่อย่างไร
คือรุ่นพี่ที่จบออกไปจะมีครบเกือบทุกสายอาชีพ ทำให้เด็กที่สนใจงานด้านก่อสร้าง เขาก็มีพี่ที่คุยได้ ถ้าสนใจด้านดนตรี เขาก็จะคุยกับผม ผมก็ให้คำตอบเท่าที่ผมสามารถให้ได้ แต่ส่วนมากน้องๆ มักจะมีปัญหาเรื่องความดื้อตามช่วงวัย
ช่วงที่ผมอยู่แรกๆ ผมก็เกม (ถูกจับได้) นะ ผมเคยผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ผมไม่ได้ผิดเรื่องเดิม ผมจะเปลี่ยนเรื่องผิดไปเรื่อยๆ ซึ่งผมเกมเยอะ จนกระทั่งยายต้องเข้ามาอยู่กับผม คือยายต้องมาร่วมรับผิดชอบอยู่ที่นี่หนึ่งอาทิตย์ มันเป็นเหตุที่ทำให้ผมอยากจะเปลี่ยนความคิด ไม่อยากเกม ไม่อยากเกเรแล้ว เพราะสงสารยาย แค่เขาซื้อของมาเยี่ยมเราอาทิตย์ละครั้งมันก็หนักแล้ว การที่เขาต้องหยุดงานเพื่อมาอยู่กับเรา เขาก็เสียรายได้
ทำไมถึงทำผิดซ้ำซากในบ้านกาญจนาฯ
ต้องเล่าก่อนว่า มี 3 ปัจจัยที่ทำให้ผมได้มาบ้านกาญจนาฯ หนึ่ง-ผมอยากไว้ผมยาว แต่งตัวยังไงก็ได้ สอง-ยายผมเดินทางมาเยี่ยมสะดวก สาม-ผมอยู่แค่เดือนเดียว ผมก็ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน แต่ถ้าอยู่ที่บ้านกรุณา (ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา) ผมต้องใช้เวลาไต่เต้า 8 เดือน ถึงจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านสักครั้ง
แต่เมื่อเข้ามาบ้านกาญจนาฯ แล้ว ผมมีเรื่องทะเลาะวิวาทรอบหนึ่ง แล้วก็เกมเรื่องโทรศัพท์มือถือ ถัดมาเกมเรื่องพาเพื่อนใหม่ดูดยาเส้น แล้วก็เกมที่ปานมเล่น มันร้ายแรงนะ เพราะเรื่องที่พาเพื่อนใหม่ดูดยาเส้น ทำให้ผมโดนส่งกลับไปบ้านกรุณา ยายต้องออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาอยู่กับผมหนึ่งอาทิตย์ เหมือนยายต้องมาติดคุกด้วย
พอไปถึงหน้าบ้านกรุณา ผมคิดแล้วว่าจะทำยังไงดี เพราะตอนอยู่บ้านกรุณา ผมเป็นพ่อบ้านมาก่อน การเป็นพ่อบ้านมันสบาย มีคนซักผ้าให้ แต่ผมไม่ได้อยากยิ่งใหญ่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมนั้น ผมอยากไปเยี่ยมแม่ ผมก็เลยลงจากพ่อบ้าน แต่ระหว่างที่ผมเป็นพ่อบ้าน โจทก์ผมเพียบเลย เพราะต้องรับหน้าเสื่อให้กับลูกบ้าน เช่น พ่อบ้านต้องหายาเส้นให้ลูกบ้านดูด ดังนั้น ถ้าเรากลับไป โจทก์เราจะเยอะมาก แล้วถ้าบ้านเราไม่แข็งแรงพอ เราก็จะโดนจวกได้
ชีวิตในบ้านกรุณาเป็นยังไง
หลังจากถูกศาลตัดสิน ผมไปที่บ้านกรุณาก่อน ในวันแรกผมเจอเขาเอาแปรงแทงคอกันในหอนอน คือเอาแปรงไปเหลากับพื้นให้แหลม ต่อยกันอยู่ดีๆ เขาแทงเข้าคอกันเลย ตอนแรกคิดว่า เรื่องแบบนี้มันคงเป็นแค่นิยายในเรือนจำ ปรากฏว่าเป็นของจริง เราก็เหวอ อะไรวะเนี่ย ตอนอยู่บ้านกรุณาเราจึงต้องเอาด้านมืดมาใช้ เพราะถ้าเราหงอ เราไม่เก เราก็จะโดนกด บางคนญาติไม่มาเยี่ยม ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้ ก็ต้องเอาแรงไปแลก เช่น ซักผ้าให้กับขาใหญ่เพื่อแลกยาเส้นดูดสักตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถเบ่งตัวเองได้ เราก็จะเดินสบาย แต่ก็เดินแบบระแวงหลังเหมือนกัน คือกินข้าวอยู่ดีๆ เอาถาดฟันกันก็มี เหยียบเงากันก็มีปัญหา
ผมอยู่บ้านกรุณาเกือบปี แต่ประมาณ 3 เดือนแรก ผมโชคดีที่พ่อบ้านคนเดิมเขาโดนส่งไปที่อื่น ผมทรงดีจนหัวเรือเขาเห็นแวว เขาก็ให้ผมขึ้นมาเป็นหัวเรือแทน พอได้เป็น มันว่างเปล่าสำหรับผมมาก มันไม่ได้มีอะไรเลย เหมือนแค่รอวันโดนส่งไปบ้านอุเบกขาอย่างเดียว
ในช่วงนั้น ถ้าลูกบ้านผมไปตีกับบ้านอื่น เจ้าหน้าที่จะไม่มาไล่ดูว่าใครตีกัน เขาจะเรียกหัวบ้านไปกระทืบก่อน แล้วให้ผมไปไล่หาเองว่าเรื่องมันเกิดจากอะไร แล้วผมก็ต้องส่งต่อสิ่งที่ผมโดนมาให้กับคนนั้น บ้านกรุณาจะคุมกันแบบนี้ เพราะมันง่ายต่อการดูแล
ด้วยความที่ผมโดนคดีหนัก ผมไม่ต้องโชว์เยอะ คนเขาก็เชื่ออยู่แล้ว เพราะมันเช็กคดีกันได้หมด มีแฟ้มที่จะบอกหมดเลย ตัดสินกี่ปี คดีอะไร ถ้าผมโดนคดีเสพ โดนคดีลักทรัพย์ ก็จะโลว์คลาสหน่อย พวกที่เฟี้ยวๆ จะมีคดีปล้น ฆ่า หรือมียาเยอะ แต่ก็มีพวกที่โดนลักทรัพย์แล้วขึ้นมาเฟี้ยวได้นะ แต่ก็ต้องอยู่เป็น
การกินข้าวที่บ้านกรุณาต้องตั้งฉาก ตบฉาก เหมือนระบบทหาร ถ้าทำผิดก็ต้องไปกลิ้งกลางแดด เจ้าหน้าที่จะใช้ไม้กอล์ฟหางกระเบน ไม้หวาย หรือไม้ไผ่ตีเด็ก ให้เราโก่งตัวแล้วตีอยู่อย่างนั้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ เขาคิดว่า การที่เขาทำกับเด็กแรงๆ จะทำให้เด็กกลัว แล้วเขาจะปลอดภัย เพราะเจ้าหน้าที่ค่อนข้างที่จะตกเป็นเป้ามากกว่าเด็กด้วยกันเอง แม้เด็กจะเกลียดกันแค่ไหน แต่เขาเกลียดเจ้าหน้าที่มากกว่า ถ้าผมอยู่ที่เดิมและพ้นโทษออกไป ผมยังเคยคิดว่า ผมจะกลับมาเล่นเจ้าหน้าที่บางคนให้ได้ เพราะอยู่ข้างนอกเราไม่ต้องนั่งคุกเข่าพนมมือตลอดเวลาเหมือนคุยกับเจ้าอาวาส แต่อยู่ที่นั่น ต้องคุกเข่าพนมมือคุยกับเจ้าหน้าที่ ต้องพูดลงท้ายว่า ‘ครับ’ ทุกคำ ถ้าไม่มี ‘ครับ’ หัวก็โยก ถ้านั่งสัปหงก ก็ตบเราหน้าติดหน้าแข้ง ขาเหยียบเส้นตอนเช็กยอดก็โดนตบ มันเป็นแบบนั้นจริงๆ คือเขาจะลดทอนคุณค่าความเป็นคนของเรา
ถ้ามีโอกาส อยากบอกอะไรกับน้องๆ ที่บ้านกาญจนาฯ บ้าง
สำหรับคนที่เคยอยู่ศูนย์อื่นมาก่อน เขาก็จะรู้ว่าศูนย์อื่นรสชาติเป็นยังไง แต่ที่นี่มันคนละโลก ไม่มีความรุนแรง ผมก็อยากให้รักษาโอกาสเอาไว้ให้ดี เพราะที่นี่เรามีหน้าที่แค่อยู่แล้วก็ส่งต่อ ไม่ใช่ให้มันพังแล้วจบที่รุ่นเรา
สำหรับคนที่ถูกส่งมาจากคำสั่งศาลโดยตรง อยากจะบอกให้เขารู้ว่า ถ้าน้องหลุดออกจากที่นี่ ที่อื่นมันเลวร้ายกว่าเป็นร้อยเท่า แม้แต่การกินข้าวก็ยังต้องกินเป็นหลุม แต่อยู่ที่นี่กินเป็นจาน เป็นบุฟเฟต์ ทุกอย่างคือคุมตัวเอง ถ้าเราอยู่ที่นี่ยังไม่รอด ถึงเวลาออกไปสังคมข้างนอก เราก็คงไม่รอด
กฎที่บ้านกาญจนาฯ มีเต็มที่ไม่เกิน 20 ข้อ แต่ในสังคม ทำอะไรไม่ดีก็ผิดกฎหมาย ถ้าไม่เห็นโอกาสที่บ้านกาญจนาฯ มอบให้ ก็ไม่รู้ว่าจะไปรอดในสังคมได้ยังไง
มีคำแนะนำสำหรับคนที่พ้นโทษแล้วจะออกไปยืนในสังคมอย่างไร
มันยืนยาก ก็อยากให้อดทน ครั้งหนึ่งเราเคยสร้างรอยด่างให้กับสังคม แน่นอนว่า การที่เรากลับมายืนอีกครั้งจะต้องเผชิญกับคำถามมากมาย เช่น เราเปลี่ยนจริงหรือเปล่า หรือเราจะเป็นเหมือนเดิมไหม เราไม่สามารถตอบทุกคนได้ แต่ถ้าเราทำให้เขาเห็น เราไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด ไม่ว่าใครมองมา เขาก็จะเห็นว่าเราปรับเปลี่ยนแล้ว
อยากให้อดทน ในช่วงแรกมันต้องใช้พลังและต้องใช้ mindset ที่ดี อยากให้ก้าวผ่านมันไปให้ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนจริงๆ แม้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่ออกมาแล้วยืนได้ แต่ก็ไม่อยากให้หวนคืนสู่เส้นทางเดิม
อยากฝากอะไรถึงเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยร้อนแรงและต้องเผชิญปัญหาชีวิต
อยากให้มีสติ ใช้ความคิดเยอะๆ เพราะช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ใช้อารมณ์นำ เราจะไม่ค่อยได้ฉุกคิด เพื่อนเฮไปทางไหน เราก็เฮไปทางนั้น ถ้าเพื่อนมีปัญหา เราก็พร้อมที่จะกระโดดบังกระสุนให้เพื่อน ก็อยากให้คิดเยอะๆ
ตอนที่ผมโดนจับ มีแต่ครอบครัวที่มาช่วยเหลือ มีแต่ครอบครัวที่มาเยี่ยม มีแต่ครอบครัวที่ไปขึ้นศาลฟังคำตัดสินกับผม ผมไม่เจอเพื่อนสักคน อยากให้น้องโฟกัสดีๆ ว่า เราจะเอาชีวิตไปทิ้งกับแค่เรื่องเหยียบเงากันเหรอ ชีวิตยังมีอะไรอีกเยอะแยะมากมายให้เราเผชิญ เราไม่ได้โตมาแล้วหยุดชีวิตไว้แค่ช่วงวัยรุ่น
ผมโชคดีที่แค่โดนจับ ผมเสียเวลาไปแค่ 3 ปี แต่ถ้าวันนั้นผมตายไปล่ะ ผมก็ไม่มีโอกาสได้กลับมาพูด ไม่มีโอกาสได้กลับมาใช้ชีวิตอีกแล้ว ไม่อยากให้ใครพลาด มีสติกันเยอะๆ
ในฐานะคนที่ผิดพลาดและกลับมายืนได้อย่างเต็มภาคภูมิ มีสิ่งที่อยากบอกกับผู้ใหญ่หรือคนที่ใช้ความรุนแรงไหม
เขาอาจคิดว่า เขาใช้ชีวิตอย่างนี้มาตลอด แต่จริงๆ ถ้าเขาฟังคนรอบข้าง หรือไม่ก็ลองถามดู คืออย่าคิดเองเออเองว่าสิ่งที่ทำมันถูกต้อง อย่าเป็นคนที่ fixed mindset ที่เชื่อแบบนี้ แล้วต้องเป็นแบบนี้ เพราะชีวิตเรามันพัฒนาอยู่ทุกวัน ชีวิตเราปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เป็นอยู่
สังคมเราให้โอกาสแค่ไหนกับคนที่ผิดพลาด
ผมคิดว่า มันค่อนข้างโอเคขึ้นเยอะ มีหลายคนที่สามารถกลับมายืนได้ ผมคิดว่าหลังปี 2560 เป็นต้นมา มันเปิดมากขึ้น แต่เราจะพึ่งสังคมอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพึ่งตัวเองก่อน