นับถอยหลังโค้งสุดท้าย ‘เลือกตั้ง 66’ Thai PBS ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่าย จัดเวทีประชันแนวคิด “เมืองขอนแก่น ยุติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” กระจายอำนาจ การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ การเรียนรู้ที่มีงานทำ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืน โดยมีการดีเบตของผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่น จาก 4 พรรคการเมือง
“เมืองขอนแก่นจะยุติปัญหาความเหลื่อมล้ำ และสร้างการศึกษาที่มีงานทำได้หรือไม่” เป็นคำถามเปิดเวทีจาก ‘ครูอังคาร ชัยสุวรรณ’ ภาคีเครือข่ายสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. ผู้ทำงานกับเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมามากกว่า 20 ปี
ครูอังคาร นำเสนอสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กยากจนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา 2.5. ล้านคน หากนับเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ใน 26 อำเภอมีเด็กยากจนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาราว 6.7 หมื่นคนจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาทต่อคน
ในมุมมองของ ครูอังคาร การจัดการศึกษาที่เสมอภาคสำหรับทุกคน มี 3 ประเด็นเร่งด่วนที่สำคัญต่อการบริหารจัดการนโยบายสู่ท้องถิ่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้
- การสร้างหลักประกันโอกาสการเข้าถึงการศึกษา 20 ปีไร้รอยต่อ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา ด้วยการวางเส้นทางการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง มั่นคง และมีแนวทางช่วยเหลือสนับสนุนเด็กเยาวชนทุกคนทุกกลุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีคนที่หลุดจากระบบการศึกษากลางทาง
- การออกแบบการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต พร้อมรองรับเด็กเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ให้มีโอกาสได้เข้าถึงการเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัด สามารถพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิต เพื่อทลายข้อจำกัดของวาทกรรม ‘เด็กในระบบ’ และ ‘เด็กนอกระบบ’ ที่เกิดจากการศึกษาในแนวทางเดิมที่มีเพียงลู่เดียว
- การกระจายอำนาจบริหารจัดการ เพื่อความเข้มแข็งของท้องถิ่นในการจัดการศึกษาที่สอดรับกับบริบทพื้นที่ ตอบโจทย์การมีงานทำ การพัฒนาชุมชน รวมถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดในการจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางศึกษาระดับจังหวัด’ ว่าแต่ละพรรคเห็นด้วยหรือไม่ และจะมีแนวทางการทำงานอย่างไร
จากตรงนี้ จะเป็นการสรุปนโยบายจาก 4 พรรค คือ รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกล พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ ที่เป็นเหมือนคำสัญญาว่าการศึกษาที่สอดคล้องและตอบโจทย์ผู้เรียนในพื้นที่ จะพอมีโอกาสเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ และประชาชนชาวขอนแก่นต้องใช้เวลารอคอยนานสักเท่าไรเพื่อให้ถึงวันนั้น
ทบทวนการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพิ่มงบอุดหนุนอาหารเช้า
วิเนตร ดอนเส ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่นเขต 10 พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า มีโรงเรียนจำนวนมากในพื้นที่ทุรกันดารที่ถูกยุบควบรวม เนื่องจากความคุ้มค่าด้านค่าใช้จ่ายและการบริหารจัดการ หากในทางกลับกันเมื่อมองที่ความคุ้มค่าในเชิงพื้นที่ การยุบควบรวมถือว่าไม่คุ้ม เพราะด้วยการคมนาคมที่ยากลำบากรวมถึงค่าครองชีพที่ยังเหลื่อมล้ำอยู่มากเมื่อเทียบกับเขตเมือง ทำให้เด็กจำนวนมากจากครอบครัวยากจนต้องเสียโอกาสในการเรียนรู้ แล้วเมื่อไม่ได้เรียน ก็มีเพียงทางเลือกไม่กี่ทางให้เดิน คือต้องไปประกอบอาชีพโดยไม่มีวุฒิการศึกษา เป็นแรงงานนอกระบบรับค่าแรงขั้นต่ำ เข้าไม่ถึงสวัสดิการและโอกาสพัฒนาตนเอง ดังนั้นประเด็นนี้กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องมองเห็น แล้วให้ กศน. หรือตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อพาเยาวชนกลุ่มนี้กลับสู่การศึกษาที่มีวุฒิรองรับ เพื่อยกระดับความสามารถและมีโอกาสทำงานที่มีรายได้สูงขึ้น
วิเนตร เผยถึงนโยบายหนึ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติจะทำ คือการเพิ่มสวัสดิการอาหารเช้าให้กับนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. โดยเฉพาะกับโรงเรียนขยายโอกาส เนื่องจากเด็กจำนวนมากมาจากครอบครัวที่ขาดความพร้อม อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลเรื่องปากท้องได้เต็มที่ รัฐบาลจึงต้องมีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กที่มาโรงเรียนได้รับประทานทั้งอาหารเช้าและอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ
ขณะที่ประเด็นการจัดการศึกษาทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้เรียน วิเนต กล่าวว่า โควิด-19 ที่ผ่านมา นอกจากวิกฤตที่ส่งผลเสียหายเป็นวงกว้าง ในมุมกลับกันยังทำให้เห็นว่าการเรียนออนไลน์นั้นมีประโยชน์ โดยเฉพาะกับเด็กเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว ที่สำคัญคือ กศน. ต้องเข้าไปค้นหาแล้วดึงกลับมาเรียนออนไลน์เพื่อให้ได้วุฒิการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้หากได้เข้าไปทำงานในฐานะ ส.ส. จะมีการจัดทำแพลตฟอร์มรองรับเด็กเยาวชนนอกระบบอย่างจริงจัง ส่วนในเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระดับจังหวัด เชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด ทันเวลา และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง
สวัสดิการถ้วนหน้า ลดชั่วโมงเรียนวิชาหลัก เพิ่มเวลาให้เด็กค้นพบเส้นทางของตัวเอง เพิ่มงบ 4 พันล้านบาท ให้ กสศ. ทำงานเรื่องเด็กนอกระบบการศึกษา
ชัชวาล อภิรักษ์มั่นคง ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่นเขต 3 พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ถ้าแก้ปัญหาที่ต้นทางไม่ได้ คือทำอย่างไรให้ผู้ปกครองเด็กมีรายได้ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการศึกษา ความเหลื่อมล้ำก็จะไม่มีวันหมดไป พรรคก้าวไกลจึงมีนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์สิทธิ์ด้วยการยืนยันความยากจน แต่ทุกคนสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้าถึงสิทธิพื้นฐานได้ อย่างแรกผู้ปกครองจะได้รับการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้วยนโยบายเงินขวัญถุงเด็กแรกเกิดทุกคน คนละ 3,000 บาท ในวัย 0-6 ขวบ จะได้รับเงินอุดหนุน 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมถึงการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท และจะพิจารณาปรับเพิ่มทุกปีโดยอิงตามอัตราเงินเฟ้อและความเหมาะสมของค่าครองชีพตามช่วงเวลานั้น ๆ
“การศึกษาที่เสมอภาคจะต้องครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าในเมืองหรือชนบท ด้วยการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ พรรคก้าวไกลมีนโยบายการทำงานหากได้เป็นรัฐบาลแบ่งเป็นสามช่วง ตั้งแต่ช่วงระยะ 100 วันแรก คือปรับปรุงกฎกระทรวงศึกษาธิการมุ่งทำพื้นที่โรงเรียนให้ปลอดภัย ยกเลิกกฎที่ขัดแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชน และตัดภารกิจไม่จำเป็นที่ครูต้องรับผิดชอบจากคำสั่งกระทรวงฯ เพื่อคืนเวลาการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ
“ระยะ 1 ปีแรก ปรับหลักสูตรเน้นเรื่องสมรรถนะมากกว่าเรียนแบบท่องจำ ลดชั่วโมงเรียนวิชาหลักจาก 1,200 ชั่วโมงให้เหลือไม่เกิน 800-1,000 ชั่วโมง แล้วเพิ่มชั่วโมงวิชาเลือกให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจ เพื่อพัฒนาศักยภาพตามความแตกต่างหลากหลาย ร่วมด้วยการใช้งบที่มีอยู่แล้วมาจัดทำคูปองการศึกษาให้เด็กปฐมวัยถึงอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้นอกรั้วโรงเรีย
“ระยะการทำงาน 4 ปี การกระจายอำนาจต้องเกิดขึ้นได้จริง และมีงบประมาณที่ถ่ายเทลงไปยังท้องถิ่นและในระดับโรงเรียน ครูและนักเรียนต้องมีส่วนร่วมออกแบบการใช้งบประมาณที่จะเกิดประโยชน์ต่อโรงเรียนและตัวเด็กอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย”
ชัชวาล กล่าวว่า หลักการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คือต้องสร้างงานโดยลงทุนกับธุรกิจใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้เรียน และทำให้เห็นเส้นทางการเรียนรู้ที่ชัดเจน เพื่อยืนยันว่าการเรียนในสิ่งที่สนใจสามารถพาไปสู่การประกอบอาชีพได้จริง
“เกี่ยวกับหลักประกันโอกาสทางการศึกษาไร้รอยต่อและการจัดการศึกษาที่มีทางเลือก พรรคก้าวไกลมีนโยบายเพิ่มงบประมาณ 4 พันล้านบาทผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อต่อเติมโอกาสของเด็กกลุ่มเสี่ยง ให้คำว่าเรียนฟรีเป็นไปได้จริง และเป็นการสนับสนุน กสศ. ในการทำงานเพื่อนำเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษากลับสู่การพัฒนาตนเอง
“ในส่วนการจัดตั้งกองทุนการศึกษาจังหวัด ก้าวไกลเชื่อมั่นในเรื่องการกระจายอำนาจ โดยทุกท้องถิ่น ทุกโรงเรียนจำเป็นต้องออกแบบความต้องการของตนเองได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ซึ่งการให้อิสระกับพื้นที่ต้องมีงบสนับสนุน เราสามารถผลักดันให้นำเงินภาษีมากระจายลงสู่ท้องถิ่นได้มากขึ้นทันที จากอัตราเดิมเข้าส่วนกลาง 80 ท้องถิ่น 20 ต้องปรับให้เป็น 50:50 แล้วเงินส่วนนี้จะมาช่วยเรื่องการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เป็นแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว”
‘อาชีวะสร้างชาติ’ หนุนตั้งสถานศึกษาสายอาชีพรองรับพื้นที่อุตสาหกรรม สร้างรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำทันที
ดร.อัษฎางค์ แสวงการ ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่นเขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เผยว่า การจะแก้ปัญหาการศึกษาต้องมองย้อนไปที่จุดเริ่มต้นคือครอบครัว ซึ่งมีความต่างด้านความพร้อมในการดูแลบุตรหลาน ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียนจึงเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เด็กที่มาจากครอบครัวที่พร้อมจะสามารถเลือกเรียนในโรงเรียนดีมีคุณภาพ ส่วนใครพร้อมน้อยกว่าก็ต้องเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพลดหลั่นลงไป พลังประชารัฐจึงมีนโยบายพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทุกระดับ เพื่อให้สิทธิในการเข้าสู่การศึกษามีความใกล้เคียงกันมากขึ้น
“แนวทางของพรรคคือ เรียนฟรี มีรายได้ มีงานทำ ถ้าสามสิ่งนี้ไปด้วยกัน จะเป็นการสร้างหลักประกันโอกาสให้กับผู้เรียน แล้วเมื่อทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี ก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม วันนี้เรามีเรียนฟรี 15 ปีซึ่งรัฐอุดหนุน อาจยังทำไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีการเติมเต็มด้านต่าง ๆ เช่นแนวทางการศึกษาที่ก่อให้เกิดรายได้ นโยบายเราจะสนับสนุนให้มีสถาบันอาชีวะไปตั้งในภูมิภาคที่มีเขตอุตสาหกรรมสำคัญ เพื่อนำเด็กเข้าเรียนในรูปแบบทวิภาคีร่วมกับสถานประกอบการ เป็นหลักสูตรการเรียนที่มีรายได้ แล้วจากนั้นเมื่อเรียนจบก็เข้าสู่การทำงานได้เลย ด้วยทักษะและประสบการณ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด”
ดร.อัษฎางค์ กล่าวว่า การส่งเสริมการศึกษาในสายอาชีพเพื่อการมีงานทำ จะเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนโอกาสเข้าสู่การศึกษา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะต่อยอดนโยบายเรียนฟรีในสายอาชีวะ ให้มีรายได้ มีงานทำต่อเนื่องจากระดับ ปวช. ถึงปริญญาตรี รวมถึงผลักดันให้ กศน. รองรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาในการเรียนสายสามัญมากขึ้น
“เราจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาเพื่อการมีงานทำด้วยการให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ชอบ แล้วจะเกิดคำว่าใช่ หมายถึงจบมาต้องสามารถประกอบอาชีพได้ในโลกความจริง เรามองว่าอาชีวศึกษาคือหนทางสร้างคน สร้างชาติ จบแล้วมีงานรองรับ ยิ่งจังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ มีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนเยอะและเติบโตได้อีกมาก เราสามารถชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมต่อยอดโอกาสทั้งด้านงบประมาณและการจัดหางาน นอกจากนี้เรายังมองถึงการสร้างสถาบันอาชีวศึกษาระดับอำเภอ เพื่อขยายโอกาสของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
“อีกประเด็นหนึ่งคือการจัดการศึกษาในสายสามัญสำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา เราจะดึงทุก กศน. ทั่วประเทศมาช่วยกัน โดยร่วมกับสมาคมการศึกษาอาชีวศึกษา 600 กว่าแห่งที่เรามีเครือข่าย เพื่อดึงเด็กเข้ามาเรียนในรูปแบบสะสมหน่วยกิตโดยมุ่งไปที่การทำงานประกอบอาชีพ เพราะการเรียน กศน. ระดับ ม.ปลาย เด็กจะใช้เวลาเรียนแค่สองปี ซึ่งน้อยกว่าเข้าเรียนในโรงเรียนแบบปกติ จึงเหมาะกับเด็กจำนวนมากที่ต้องการวุฒิการศึกษาเพื่อมีงานทำ”
สำหรับประเด็นการจัดตั้งกองทุนการศึกษาจังหวัด ดร.อัษฎางค์ กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการจัดการศึกษาระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ อบต. เทศบาล อบจ. ซึ่งมีงบประมาณอยู่แล้ว ที่สำคัญคือต้องมีฝ่ายช่วยประสานนำงบที่มีมาใช้จัดการศึกษาตามแนวทางลดความเหลื่อมล้ำ โดยจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นเมืองที่มีศักยภาพด้านการศึกษาในระดับสูง สามารถเริ่มได้ทันที และจะเป็นพื้นที่ต้นแบบให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการบริหารจัดการการศึกษาที่มอบอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างเต็มที่
เรียนฟรีถึง ป.ตรี ในสาขาที่ตลาดต้องการ ขับเคลื่อน ‘การศึกษาตลอดชีวิต’ ด้วยอินเทอร์เน็ตฟรีครอบคลุมทุกพื้นที่
วีระยุทธ งามจิตร ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่นเขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า ประชาธิปัตย์มียุทธศาสตร์ ‘สร้างคน’ ด้วยการศึกษาที่ทันสมัย มีงานทำ มีตลาดรองรับ โดยผลักดันนโยบายเรียนฟรี 15 ปีให้มีคุณภาพ ลดรายจ่ายผู้ปกครอง โดยเฉพาะโครงการที่ทางพรรคเริ่มต้นไว้ต้องได้รับการสานต่อ อาทิ นมโรงเรียนฟรี 365 วัน ซึ่งในจังหวัดขอนแก่นจะมีเด็กมากกว่า 1.2 แสนคนได้ประโยชน์ พร้อมกันนี้ยังมีนโยบายเรียนฟรีถึงระดับปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล การแพทย์ครบวงจร อาหารแห่งอนาคต หรือยานยนต์สมัยใหม่
วีระยุทธ กล่าวว่า ที่จังหวัดขอนแก่นมีสถาบันระดับอุดมศึกษาพร้อมรองรับอยู่แล้ว ส่วนการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประชาธิปัตย์มีนโยบายอินเทอร์เน็ตฟรีเข้าถึงทุกหมู่บ้านและทุกห้องเรียน ให้คนทุกวัยค้นคว้าเพิ่มเติมสิ่งที่สนใจได้ด้วยตนเอง มีช่องทางพัฒนาตัวเองได้
“ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำไปแล้ว คือโครงการห้องเรียนภาษาญี่ปุ่น 13 แห่งในจังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยให้น้อง ๆ ได้เรียนหลักสูตรภาษาญี่ปุ่นในระดับชั้น ม.5 เชื่อมต่อ ม.6 ควบคู่กับหลักสูตรการบริบาลผู้สูงอายุ มีเส้นทางก้าวหน้าต่อเนื่องด้วยทุนเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อตอบโจทย์ว่าเมื่อเรียนจบมาแล้วจะมีงานรองรับ ในสาขาอาชีพที่จำเป็นในอนาคต”
ผู้สมัคร ส.ส. ขอนแก่นเขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต้องเริ่มที่การกระจายอำนาจ โดยหากเทศบาลท้องถิ่นยิ่งมีงบประมาณ ก็ยิ่งสามารถจัดการศึกษาให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้เรียนในพื้นที่ได้มากขึ้น ที่สำคัญคือต้องมีทางเลือกการเรียนที่ตอบโจทย์ชีวิต มีการต่อยอดส่งเสริมให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบที่สนใจ โดยทางพรรคมีนโยบายให้สามารถเรียนแบบเก็บหน่วยกิตล่วงหน้าและเทียบโอนได้เพื่อการจบการศึกษาที่เร็วขึ้น
“การเรียนไม่ว่าในหรือนอกระบบก็ตาม ต้องมีเป้าหมายว่าเรียนแล้วต่อยอดได้อย่างไร สำหรับน้อง ๆ ที่อยู่นอกระบบ หลายคนต้องทำงาน ดังนั้นถ้าจะนำกลับเข้าสู่การศึกษา ต้องให้เขาเรียนได้ในช่วงเวลาที่สะดวก มีเส้นทางการศึกษาที่ทำได้ตลอดชีวิต นอกจากนี้รัฐจำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์การเรียนเช่นคอมพิวเตอร์ แทปเลต และอินเทอร์เน็ต ไว้เป็นสื่อกลางให้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง”
สำหรับประเด็นการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาจังหวัด วีระยุทธ กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะเกิดขึ้น โดยหากได้เป็นรัฐบาลจะมีการพูดคุยกันทันทีว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงอย่างไร เพราะทางพรรคเชื่อเรื่องกระจายอำนาจโดยให้จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเองได้ เพื่อให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่ไม่มีใครหลุดจากระบบการศึกษา มีการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคน จบแล้วมีงานทำ มีความก้าวหน้าในอนาคต