ถอดรหัส “โรงเรียนจิ๋ว” (Micro-school) พื้นที่การเรียนรู้ที่จิ๋วแต่แจ๋ว

ถอดรหัส “โรงเรียนจิ๋ว” (Micro-school) พื้นที่การเรียนรู้ที่จิ๋วแต่แจ๋ว

The Little Unicorn House คือชื่อของโรงเรียนทางเลือกขนาดจิ๋วหรือ Micro-school ที่ก่อตั้งมาปีกว่าๆ  ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เริ่มต้นจากการรวมตัวกันของพ่อแม่สิบกว่าครัวเรือน ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการจัดการเรียนรู้ให้ลูกๆ ก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“โลกเปลี่ยนไปแต่ระบบการศึกษาของเรายังไม่เปลี่ยน เราพบว่าในระบบการศึกษาแบบเดิม เด็กมักถูกฝึกให้เรียนรู้เพื่อจะทำคะแนนให้ได้ดี โดยมีสมมติฐานว่าการทำคะแนนได้ดีจะได้มีโอกาสศึกษาต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง เมื่อหันไปทางไหนก็เห็นใครๆ ก็ทำแบบนี้ จนบางครั้งเราเองลืมคิดไปว่า เป้าหมายและผลลัพธ์ที่เราต้องการจริงๆ จากการศึกษาคืออะไร” 

ดร.สุวิต ศรีไหม หรือพ่อโอ ผู้ก่อตั้ง The Little Unicorn House กล่าวถึงจุดเริ่มที่ทำให้เขาสนใจการทำโรงเรียนจิ๋วหรือ Micro-school

(ซ้าย) ดร.สุวิต ศรีไหม หรือพ่อโอ
ผู้ก่อตั้ง The Little Unicorn House

พ่อโอเป็นคุณพ่อลูกสอง เคยมีหน้าที่การงานอยู่ในแวดวงการศึกษา ก่อนหน้านี้ลูกคนโตก็อยู่ในระบบโรงเรียนประถมศึกษาตามปกติ จนเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาดเมื่อต้นปี 2563 ทำให้แผนการไปศึกษาต่อระดับมัธยมในต่างประเทศของลูกคนโตต้องชะงัก พ่อโอและแม่แตนจึงเริ่มต้นวางแผนทำโฮมสกูลอย่างจริงจังให้ลูก ขณะเดียวกันเพื่อนฝูงที่มีลูกๆ วัยไล่เลี่ยกันก็สนใจความคิดนี้ แต่เนื่องจากผู้ปกครองหลายบ้านยังไม่พร้อมที่จะทำโฮมสกูลเต็มร้อย จึงปรึกษาหารือเรื่องการทำไมโครสกูลเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ร่วมกันแทน

กลายเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนจิ๋วแต่แจ๋วแห่งนี้ขึ้น

ในบทสัมภาษณ์ด้านล่างนี้ พ่อโอจะมาเล่าให้ฟังถึงแนวคิด การดำเนินการ โอกาส และความท้าทายที่เขาค้นพบระหว่างทาง ซึ่งหากครอบครัวไหนสนใจ ก็สามารถหยิบจับแนวคิดไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละบริบทได้เช่นกัน

The Little Unicorn House การเริ่มลงมือทำบนความไม่พร้อม

กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาไม่ได้ถือว่าเป็นโรงเรียนในระบบ ผมมองเป้าหมายก่อนที่จะเริ่มเรื่องอื่นๆ ถ้ามีเป้าหมายแบบนี้ เราจะกำหนดรูปแบบอย่างไรดีที่จะทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เนื่องจากผมมองว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว โรงเรียนแบบที่เราคุ้นเคย วิชาที่เรียนในโรงเรียนปัจจุบันหน้าตาและวิธีการเรียนไม่แตกต่างจากที่พวกเราพ่อแม่เคยเรียนมาเมื่อ 20-30 ปีก่อน และโรงเรียนมีระบบและวิธีการที่ตายตัวเกินไป  ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเกิดได้น้อย ขณะที่ศักยภาพของเด็กมีมากกว่านั้น

กลุ่มเราเป็นโรงเรียนจิ๋ว ซึ่งก็คือโฮมสกูลที่มารวมกลุ่มกันนั่นแหละครับ แต่เนื่องจากมีหลายบ้าน เราเลยต้องนั่งคุยและหารือกัน ช่วยกันกำหนดเป้าหมายว่าอยากให้ลูกๆ ได้อะไร ซึ่งสรุปคือเราไม่รู้หรอกว่าปลายทางแล้วลูกจะเป็นอะไร หรืออะไรที่เหมาะกับลูกจริงๆ และลูกจะอยากเข้ามหาวิทยาลัยไหม แต่ถ้าวันหนึ่งเขาบอกว่าอยากเข้ามหาวิทยาลัย เขาต้องมีศักยภาพพร้อมที่จะไปมหาวิทยาลัยระดับโลกได้ 

ครอบครัวผมเริ่มจัดการเรียนรู้ให้ลูกตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว ตอนนั้นลูกคนโตอยู่ ป.3 เราคิดว่าทักษะโคดดิ้งเป็นทักษะที่น่าส่งเสริม เลยพาเขาไปเรียนรู้ ได้เข้าค่ายโคดดิ้ง จากนั้นก็ต่อยอดมาเป็นการเรียนรู้แบบอื่น เกิดโรงเรียนวันอาทิตย์ขึ้น ที่รวมอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์มาทำค่ายวิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ได้ทดลองทำจริง

ดังนั้นโรงเรียนจิ๋วของเราจึงเป็นพื้นที่ในการค้นหาตัวตน รวมทั้งเตรียมทักษะและความรู้ให้แก่ลูกเพื่อให้เขาพร้อมไปสู่ระดับสากล และเนื่องจากเราต้องการใช้ทรัพยากรจากทั่วโลกในการจัดการเรียนรู้ ทำให้เราเลือกที่จะจัดการเรียนเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก

The Little Unicorn House โรงเรียนช่างปั้นเด็ก

เรากำลังเตรียมลูกๆ เพื่อเป้าหมาย 
(1) Future Ready มอบการศึกษาที่ให้เขาพร้อมรับมือกับโลกอนาคต 
(2) Entrepreneur มอบการศึกษาที่สร้างให้เขามีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการ
(3) Critical Thinking ให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ สามารถแสดงความเห็นของตนเองได้ โต้แย้งคนอื่นได้อย่างมีเหตุผล

จากเป้าหมายหลักนำไปสู่การออกแบบการเรียนรู้ดังนี้
(1) เด็กๆ ได้รับองค์ความรู้ทางวิชาการ ที่สามารถต่อยอดการศึกษาต่อได้ในระดับสากล รวมทั้งเพิ่มเติมทักษะวิชาการใหม่ๆ ที่สำคัญมากสำหรับยุคนี้ 
(2) ตัวตนของเด็กๆ ต้องชัดเจน ซึ่งหมายถึงเขาต้องมีเวลาและพื้นที่ค้นหาตัวตน ความชอบและ talent ของตัวเอง 
(3) จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ให้มีจำนวนวิชาน้อยๆ หรือควบรวมบางวิชาเข้าด้วยกัน และกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านไปพร้อมๆ กัน

เรามีแนวคิดหลักในการเรียนรู้คือ “Make Things Happen” เพราะกระบวนการคิดและการลงมือทำนั้นสำคัญพอๆ กัน นอกจากเรียนรู้วิชาการต่างๆ เด็กต้องลงมือทำบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ตามศักยภาพของเขา ณ เวลานั้นๆ 

เด็กๆ อาจเริ่มต้นด้วยการทำอะไรบางอย่างที่ดูเหมือนเล็กน้อยให้สำเร็จ สั่งสมทักษะและความภาคภูมิใจในตนเอง การลงมือทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีกจะค่อยๆ เติบโตกลายเป็นทักษะชีวิต จนในที่สุดเด็กๆ จะสามารถเชื่อมโยงความรู้กับการลงมือทำได้ด้วยตนเอง จากวิชาที่ชื่อว่า “My Little Project” ซึ่งจะจุดประกายและบ่มเพาะให้เด็กๆ เป็นนักสร้างสรรค์ นักลงมือทำ หรือแม้แต่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจหรือประกอบการสังคมต่อไป

การสร้างให้เด็กมี Critical Thinking รู้จักคิดวิเคราะห์ สามารถแสดงความเห็นของตนเองได้ โต้แย้งคนอื่นได้อย่างมีเหตุผล เป็นการสอนพวกเขาโดยอัตโนมัติว่า มนุษย์เราอยู่ร่วมกันได้โดยใช้เหตุผล ทำให้เด็กๆ เข้าใจและยอมรับเหตุผลของผู้อื่นที่แตกต่างออกไป สามารถแสดงความไม่เห็นด้วยหรือตอบปฏิเสธโดยใช้เหตุผล และสร้างวงพูดคุยโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะ แต่สามารถหาแนวทางหรือคำตอบที่ลงตัวร่วมกันได้ 

โดยเด็กๆ จะฝึกฝนการคิดวิเคราะห์ผ่าน Conundrums ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับ Astra Nova School โรงเรียนทางเลือกชื่อดังที่ก่อตั้งโดยอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

โค้ดดิ้ง (Coding) เป็นทักษะแห่งโลกอนาคตที่พ่อแม่อย่างเราสามารถเตรียมพร้อมให้ลูกๆ ได้ตั้งแต่วันนี้ เด็กๆ ที่นี่จึงเริ่มต้นเรียนโค้ดดิ้ง วิทยาการคำนวณ การคิดเชิงตรรกะ ตั้งแต่ยังใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น บางคนเริ่มต้นการโค้ดดิ้งโดยการเล่นเกม 

ตอนนี้ชั้นเรียนของน้องๆ ประถมต้นกำลังเรียนโค้ดดิ้งโดยใช้เครื่องมือพื้นฐานสำหรับเด็ก เช่น ScratchJr., Scratch, Code.org หรือ MIT App Inventor ส่วนพี่ๆ ประถมปลายกำลังเรียน Coding with Python และพัฒนาโปรเจ็กต์ต่างๆ โดยใช้ความรู้ด้านโค้ดดิ้งที่กำลังเรียนอยู่ เช่น การทำเว็บไซต์ การทำเกม เป็นต้น และเมื่อทักษะเหล่านี้พอกพูนขึ้น ประกอบกับวิธีคิดที่เติบโตขึ้น เราคาดหวังว่าเด็กๆ จะสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมสายพันธุ์ใหม่

เรียนเก่งอย่างเดียวไม่ ได้รับประกันนะว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต

คุณลักษณะที่ดีหรือ Trait มีส่วนสำคัญมากต่อความสำเร็จของคนคนหนึ่ง เราบ่มเพาะ 3 คุณลักษณะสำคัญในตัวเด็กๆ คือ Integrity, Commitment และ Confidence

(1) Integrity การมีสำนึกและการปฏิบัติที่ถูกต้องดีงามในทุกสถานการณ์ เป็นความซื่อสัตย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง อันนี้รวมถึงตอนที่เขาเรียนในห้อง หรือแม้แต่เรียนออนไลน์ด้วย ถ้าเด็กมี Integrity เด็กจะตั้งใจเรียนโดยที่ไม่ต้องมีใครควบคุมหรือเปิดหน้าจออื่นขณะเรียนออนไลน์ 

(2) Commitment  รับปากอะไรแล้วต้องรับผิดชอบให้ได้ เช่น ต้องส่งการบ้าน ต้องส่งงาน เด็กต้องรับผิดชอบให้ได้ตามกรอบเวลา ถ้าไม่สามารถทำได้ก็ควรจะมีคำอธิบายที่เหมาะสม อันนี้หมายถึงเขาเคารพเวลาผู้อื่นด้วย เด็กๆ ที่นี่แบ่งหน้าที่กันเป็นผู้ช่วยครูในแต่ละวิชา คอยเตือนเพื่อนๆ เรื่องการบ้าน การส่งงานต่างๆ ในขณะที่ครูเองก็จะกำกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และถึงแม้จะเลยกำหนดส่งงานแล้ว ถ้ายังทำไม่เสร็จก็ยังต้องส่ง แม้ว่าจะไม่ได้คะแนนใดๆ แล้วก็ตาม

(3) Confidence ความมั่นใจในตัวเอง เราฝึกให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองและถ่ายทอดออกมาได้ กิจกรรมหลักๆ คือการพูดในที่สาธารณะ อย่างที่เราทำกันล่าสุดคือจัดเวทีทอล์กคล้ายๆ TED Talks ที่ชื่อว่า Little Talks โดยเด็กๆ จะเลือกหัวข้อที่สนใจมาพูดบนเวที ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายคือเด็กๆ สนุกกันมาก ผมคิดว่าการที่เด็กมีความมั่นใจและมีทักษะสื่อสารที่ดี จะช่วยเปิดโอกาสในชีวิตให้เขาได้อีกมากมาย

ที่โรงเรียนจิ๋ว ความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษาคือคำตอบ

การเรียนรู้ของที่นี่จะแบ่งเป็นช่วงชั้นตามกลุ่มอายุ เด็กโตที่ตอนนี้มีจำนวน 10 คน จะเรียนรู้ผสมผสานระหว่าง online และ onsite แต่ในช่วงนี้เน้น online เป็นหลัก เพราะด้วยสถานการณ์โควิดประกอบกับการที่คุณครูอยู่ต่างประเทศ และแหล่งเรียนรู้หลายอย่างก็อยู่ในโลกออนไลน์ด้วย 

สำหรับเด็กโตนั้น เมื่อเราฝึกให้เขารู้จักรับผิดชอบแล้ว เราพบว่าพวกเขาไม่มีปัญหากับการเรียนรู้ออนไลน์ แต่ขณะเดียวกันช่วงที่โควิดไม่ได้ระบาดหนักมาก เราก็มีกิจกรรมต่างๆ เช่น ช่วงเย็นจะมีการพาเด็กๆ ไปเล่นกีฬาด้วยกันอยู่แล้ว เด็กแต่ละคนก็จะเล่นกีฬาตามความชอบและความสนใจของเขา

สำหรับเด็กเล็กจะเน้นการพบปะครูตัวเป็นๆ เพราะด้วยวัยการได้มีปฏิสัมพันธ์แบบซึ่งหน้าถือว่าสำคัญต่อพัฒนาการเรียนรู้ อีกอย่างกลุ่มเด็กเล็กของเรามีจำนวนประมาณ 6 คนต่อกลุ่ม ทำให้สามารถดูแลและจัดการได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังนำกลุ่มเด็กๆ ไปทำกิจกรรมร่วมกันในสถานที่โล่งๆ เช่น สวนสาธารณะหรือทะเล ซึ่งนอกจากเด็กๆ จะได้ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตจริงแล้ว ยังทำให้ได้เล่นสนุกและพักผ่อนไปด้วยในขณะเดียวกัน

การเรียนรู้หลายเรื่องไม่ได้ถูกออกแบบไว้ในวิชาหลัก แต่ถูกออกแบบผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เราวางแผนจะไปทัวร์ประวัติศาสตร์เมืองหลวงของประเทศไทยในยุคสมัยต่างๆ ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยผ่านการท่องเที่ยว เรามองว่าความรู้อยู่ทั่วไปหมด ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น

เมื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ความรู้ก็ไม่จำกัดอีกต่อไป

จริงๆ การจัดการเรียนรู้สำหรับแต่ละที่อาจจะแตกต่างกันไป ในส่วนของโรงเรียนจิ๋วของเรา คุณครูส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ โดยทำการสอนผ่านออนไลน์ ข้อดีคือ พอเป็นออนไลน์แล้ว โอกาสที่เราจะได้ครูที่เหมาะสมมีมากกว่าเดิม ต้องอย่าลืมว่ากลุ่มของเราอยู่ที่สุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ต่างจังหวัด การหาครูที่เหมาะสมตามโจทย์ที่เราตั้งไว้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พอเราปูพื้นฐานให้เด็กคุ้นเคยกับการเรียนรู้ออนไลน์แล้ว ความรู้ก็ไม่จำกัดอีกต่อไป 

สมมติว่าเด็กอยากเรียนศิลปะ เขาก็สามารถเรียนกับครูที่เป็นศิลปินเก่งๆ จากต่างประเทศได้ ผมจะรับหน้าที่เป็นคนคัดเลือกคุณครูเป็นหลักและมีการประเมินการสอน โดยต้องฟังฟีดแบ็กจากผู้เรียนและสื่อสารกับครู ให้ปรับปรุงการสอนเป็นระยะๆ

นอกจากคุณครูจากต่างประเทศ ในอินเทอร์เน็ตยังมีคลังความรู้อีกจำนวนมาก เช่น วิชาเลข เราก็ให้เด็กๆ เรียนจาก Khan Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดี แถมยังไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนการอ่านภาษาอังกฤษก็ผ่านเว็บไซต์ readtheory.org หรือเด็กเล็กเรียนภาษาอังกฤษผ่านการ์ตูนต่างๆ เช่น Peppa Pig หรือเรียนเลขสนุกๆ ผ่าน mathplayground.com เป็นต้น ซึ่งในมุมมองของผม คลังความรู้ที่มีอยู่ในออนไลน์นั้นมีมากเพียงพอให้พ่อแม่นำมาจัดการการเรียนรู้ของลูกๆ ได้อยู่แล้ว

ให้เด็กๆ เรียนรู้ ล้มเหลว เติบโต ผ่านการทำโปรเจ็กต์

ส่วนสำคัญหนึ่งที่เราวางไว้ในหลักสูตรคือ ให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ผ่านการทำโปรเจ็กต์ ในวิชา My Little Project ซึ่งการทำโปรเจ็กต์ช่วงแรกเด็กๆ จะซัฟเฟอร์ (suffer) กันอยู่บ้างนะครับ ลูกสาวผมก็เป็นเหมือนกัน เพราะเด็กๆ จะยังไม่ชิน แต่ข้อดีของการทำโปรเจ็กต์คือ เด็กๆ จะได้ฝึกฝนกระบวนการคิด วางแผน ลงมือทำ ประเมินผล โปรเจ็กต์จะมีทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว 

My Little Project ของเด็กๆ มีตั้งแต่ทำเกมคอมพิวเตอร์ ศิลปะดิจิทัล ทำบอร์ดเกม ทำเว็บไซต์ ออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ทำอาหาร เปิดคาเฟ่จำลอง ทำหนังสือ ทำของเล่น ทดลองวิทยาศาสตร์ จัดนิทรรศการศิลปะ และอื่นๆ อีกมากมาย เด็กๆ ได้ลองทำหลายอย่างที่เขาสนใจ ที่เขาคิดว่า “ใช่” งานนี้สนุกทั้งโค้ชและนักเรียน สำหรับเด็กๆ เมื่อปิดโปรเจ็กต์ บางคนได้บทเรียนว่า “มันไม่ได้ง่ายอย่างคิดเลย” แต่บางคนก็พบว่า “สนุกจังเลย” บางคนอยากต่อยอดงานไปอีกระดับหนึ่ง และไม่ว่าเด็กๆ จะได้คำตอบแบบไหน เราพบว่าพวกเขาโตขึ้น รับผิดชอบมากขึ้น และมีพลังทำงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ตามศักยภาพที่เพิ่มขึ้น

นอกจากกิจกรรมแนวนี้แล้ว เรายังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กกลุ่มอื่น เช่น การส่งมอบความรู้ด้านโคดดิ้งให้เพื่อนๆ จากต่างโรงเรียน โดยมีที่ผ่านมาเรามี Coding Camp ที่โรงเรียนบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกิจกรรมนี้เด็กๆ จะต้องวางแผนและจัดการเอง การจัดการนี้ไม่ได้มีแค่การเตรียมสอน แต่ยังรวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ เตรียมอาหารและเครื่องดื่ม เพราะต้องออกนอกสถานที่ เด็กๆ ก็จะได้ฝึกทักษะการจัดการจากกิจกรรมนี้มากทีเดียว

นอกจากกิจกรรมที่เอ่ยมาแล้ว ยังมีกิจกรรมออกร้านขายของ ให้เด็กๆ รับบทบาทเป็นพ่อค้าแม่ขาย ได้ฝึกฝนการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในโลกยุคใหม่

แม้ไม่เน้นการประกาศผล แต่การกระตุ้นเด็กก็อาจจำเป็น

แรกเริ่มเดิมทีเราไม่ได้เน้นการประกาศผลคะแนนสักเท่าไหร่ จะไม่มีการเอาคะแนนเด็กมาเปรียบเทียบกัน เพราะตระหนักว่าเด็กแต่ละคนมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป แต่ด้วยธรรมชาติของเด็กพอเขามาเรียนรู้ร่วมกัน มันก็ทำให้เราเซอร์ไพรส์เหมือนกันนะครับ 

คือเราเจอว่าเด็กบางคนไม่สนใจเรียนเลย เราเลยลองประกาศผลการเรียนทั้งชั้นดู ปรากฏว่าพอแจ้งว่าจะประกาศผลคะแนนให้เพื่อนๆ ทราบ เด็กบางคนเริ่มกระตือรือร้นขึ้นมาเลย เริ่มมีการติวตอนเย็นกัน เพราะเขาอยากได้คะแนนดีขึ้น เขาอยากเป็นคนดีในสายตาคนอื่น เลยหันมาตั้งใจเรียนรู้มากขึ้น

ทำให้เราพบว่าเหรียญมีสองด้านเสมอ การประเมินผลหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง หรือมีการเปรียบเทียบมากเกินไปอาจเกิดผลเสีย แต่ขณะเดียวกันหากจัดการและปรับใช้อย่างเหมาะสม อาจช่วยกระตุ้นเด็กๆ ให้อยากเรียนรู้มากขึ้นได้ ความเหมาะสมและสมดุลอาจเป็นหัวใจสำคัญ

ทำโรงเรียนจิ๋ว แม้พ่อแม่จะไม่ได้สอนแต่ควรหารือพูดคุยกันสม่ำเสมอ

เราใช้คำว่า House แทนคำว่า School เพราะเราคิดว่าโดยธรรมชาติแล้ว การเรียนรู้เริ่มที่บ้านก่อนที่อื่นๆ โดยเฉพาะในวัยเด็ก และเราก็เป็นกลุ่มของพ่อแม่ที่อยากจัดการศึกษาให้ลูกๆ ที่บ้าน ก็อยากให้เด็กๆ รู้สึกว่า House เป็นบ้านอีกหลังหนึ่ง ที่ซึ่งเขาจะเติบโตทั้งทางร่างกายและความคิด และที่นี่มีพ่อแม่หลายคนช่วยกันดูแลพวกเขา เด็กๆ ทุกคนเรียกพ่อแม่ของเด็กคนอื่นๆ ว่าพ่อแม่จนติดปาก แม้แต่ผมเด็กๆ ทุกคนก็จะเรียกว่าพ่อโอทุกครั้งไป

เราพูดคุยหารือกันในกลุ่มพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอ หลักๆ ผมอาจจะเป็นคนเสนอแนะหลักสูตรและช่วยประสานในการจัดหาคุณครูที่เหมาะสม แต่ผมมองว่าพ่อแม่ก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่ดี ที่โรงเรียนจิ๋วของเราอย่างที่บอกไปว่า เราจะมองเป็น “เฮ้าส์” หรือ “บ้าน” ซึ่งเรามองว่าทุกคนเป็นสมาชิกของเฮ้าส์มีบทบาทและส่วนร่วมได้ อย่างพ่อแม่ที่มีความถนัดเฉพาะทาง เรามีวิชาที่ชื่อ “วิชาพ่อแม่” ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านพ่อแม่หรือเครือข่ายของพ่อแม่ ให้เขาอาจจะมาช่วยสอนทักษะบางอย่างให้แก่เด็กๆ เช่น การปฐมพยาบาล การฝึกบุคลิกภาพ การทำอาหารและขนม การทำบัญชี ทักษะถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ทักษะตัดต่อ เป็นต้น

พี่ ๆ ต้องดูแลน้อง ๆ เนื่องจากพี่ๆ มีทักษะภาษาอังกฤษการใช้ที่ดี เราจึงจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Small Talk โดยให้พี่ๆ กลุ่มเด็กโตซึ่งอยู่ชั้นประถมปลายสอนน้องๆ กลุ่มเด็กเล็ก โดยพี่ ๆ จะช่วยสอน Reading ช่วยฝึกน้องอ่านนิทานภาษาอังกฤษ ซึ่งกิจกรรมนี้ในช่วงที่เด็ก ๆ ไม่สามารถมาเจอกันได้ก็จะทำผ่านโปรแกรมซูม (Zoom) แน่นอนว่ากิจกรรมนี้ทำให้พี่ได้ฝึกทั้งเรื่องความอดทน การวางแผนและการเตรียมตัวสอนน้อง ขณะที่น้องๆ ก็จะได้ฝึกอ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งผลลัพธ์คือ น้องๆ อ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันเด็กๆ ทั้งสองช่วงวัยก็จะได้ฝึกใช้เวลาร่วมกัน เรียนรู้ที่จะดูแลและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันฉันพี่น้อง

ทรัพยากรสำหรับเรียนรู้มีหลากหลาย ตั้งเป้าหมายก่อน แล้ววิธีการจะตามมา

สำหรับครอบครัวต่างๆ ที่อยากรวมกลุ่มทำโรงเรียนจิ๋ว หรือ Micro-school หรือจัดการเรียนรู้ให้ลูกด้วยตนเอง ผมสนับสนุนนะครับ เรายังเคยคุยกับกลุ่มสมาชิกของเฮ้าส์ว่าอยากให้มีโรงเรียนจิ๋วเกิดขึ้นทั่วประเทศเลย คือถ้ามองในเชิงระบบ โรงเรียนจิ๋วก็เหมือนเมล็ดพันธุ์เม็ดเล็กๆ เป็นทางเลือกทางการศึกษาให้ครอบครัวต่างๆ ได้ ถ้าเมล็ดพันธุ์นี้งอกเงยและกระจายงอกงามไปทั่วประเทศ มันอาจจะส่งผลให้การศึกษากระแสหลักค่อยๆ ปรับตัวตามก็ได้ 

สำหรับหลายบ้านที่อาจกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ผมมองว่าทรัพยากรในการเรียนรู้ตอนนี้มีหลากหลายมาก บางแห่งก็ฟรี บางที่ก็เอื้อมถึงได้ หรือบางอย่างอาจต้องอาศัยการจัดการนิดหน่อยแต่มันมีหนทาง คำแนะนำของผมคืออยากให้เริ่มต้นที่การตั้งเป้าหมายก่อนว่าคุณอยากให้ลูกๆ ได้รับอะไร ถ้าเป้าหมายชัดเจนวิธีการจะค่อยๆ ตามมา

หากอยากให้ลูกสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ไม่จำเป็นต้องไปเข้าค่ายเมืองนอกก็ได้ ลองหาสิ่งที่เรียกว่า Buddy School ที่ต่างประเทศดู ติดต่อเขาทางอีเมล แล้วลองเชื่อมให้เด็กฝั่งเรากับเด็กฝั่งนู้นได้คุยกันผ่านโปรแกรมวิดีโอคอล อันนี้ผมพูดได้เพราะได้ลองทำสิ่งนี้ดูแล้ว 

หรืออีกวิธีที่คิดออก เคยเห็นตัวอย่างในต่างประเทศ แต่ยังไม่ได้ลองทำ คือ การประสานกับบ้านพักคนชราในต่างประเทศ มีคนชราจำนวนหนึ่งที่เขาพอจะมีเวลาและพร้อมพูดคุยกับเด็กๆ นี่เป็นส่วนหนึ่งของวิธีการ แต่สิ่งสำคัญคือกำหนดเป้าหมายให้ได้ก่อน เชื่อว่าวิธีการจะตามมาเองครับ

บทบาทและความสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กต่อสังคมไทย

The Little Unicorn House ไม่ได้เป็นโรงเรียนในระบบ เริ่มต้นจากพ่อแม่กลุ่มเล็กๆ แต่การลุกมาจัดการการเรียนรู้ให้เด็กๆ ทำให้เราค้นพบศักยภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วผมค่อนข้างเศร้าคือการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเยอะมากในประเทศนี้ ขณะที่ผมมองว่า โรงเรียนขนาดเล็กคือทางออกของเรานะ เพราะโรงเรียนขนาดใหญ่จะปรับตัวช้ากว่า เป็นเรื่องยากที่บุคลากรครูจะรู้จักและเข้าใจเด็กเป็นรายบุคคล เพราะจำนวนเด็กมีเยอะ 

ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กใช้ทรัพยากรน้อยกว่า แต่สามารถผลิตบุคลากรคุณภาพได้ด้วย เพียงแต่ว่าต้องเปลี่ยนวิธีการเท่านั้นเอง หากมีการนำเอาทรัพยากรการเรียนรู้จำนวนมากที่มีทั่วประเทศและทั่วโลกมาปรับใช้อย่างเหมาะสม โรงเรียนขนาดเล็กจะมีบทบาทต่อการส่งเสริมศักยภาพเด็กได้มากทีเดียวครับ

ติดตามเรื่องราวของ The Little Unicorn House เพิ่มเติมได้ที่ : เพจ The Little Unicorn House


ทำความรู้จัก Micro-school

Micro-school คือ กลุ่มเรียนรู้ขนาดเล็ก มักประกอบด้วยเด็กจำนวนประมาณ 15-50 คน มาทำกิจกรรมและเรียนรู้นอกชั้นเรียนร่วมกัน ทั้งนี้พ่อแม่อาจรวมกลุ่มกันจัดเตรียมสถานที่และหาครูมาสอนโดยตรง หรือกลุ่มพ่อแม่อาจจะกำหนดหลักสูตรและช่วยกันสอน micro school ถือว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับ homeschool เพียงแต่อาจทำร่วมกันมากกว่า 1 ครอบครัว และแม้จะใช้ชื่อว่า school หรือ “โรงเรียน” แต่มีระบบการจัดการที่ยืดหยุ่นกว่าโรงเรียนในระบบทั่วไป  

สำหรับครอบครัวที่สนใจจัดการเรียนรู้แบบนี้ หากต้องการรับรองวุฒิการศึกษาของเด็กๆ สามารถปรึกษาเขตการศึกษาในพื้นที่ที่ครอบครัวพักอาศัยอยู่ได้ 

ที่มา :
What are ‘micro-schools’ and ‘pandemic pods’?
Microschools on the rise in Arizona, with COVID providing added boost