-หากตีความคำว่า ‘หลักประกัน’ ตามตัวบท อาจหมายถึง ‘ต้นทุน’ เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษา เสื้อผ้าเครื่องแบบ อุปกรณ์การเรียน ทุนดำรงชีพ หรือพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือ อาคารสถานที่ในสถาบันการศึกษาให้ได้มาตรฐาน แต่ต้องไม่ลืมว่าการนำเด็กคนหนึ่งให้เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยืนยันได้ว่าเขาจะอยู่ในระบบการศึกษาไปได้ตลอดรอดฝั่ง
-ฐานทุนที่เชื่อมโยงกันคือครอบครัวของเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองต้องมีความพร้อมในการดำรงชีวิตด้วย เด็กถึงจะเรียนได้อย่างมั่นคง หลังวิกฤตโควิด-19 มีเด็กจำนวนมากที่ต้องออกจากโรงเรียน อพยพตามผู้ปกครองกลับภูมิลำเนา หรือย้ายไปทำงานในภูมิภาคอื่นๆ ปัญหาคือเด็กๆ เหล่านี้เลือกไม่ได้ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน แล้วพวกเขาจะได้เรียนต่อหรือไม่ ซึ่งถ้าจะย้อนไปที่ต้นเหตุ ก็ต้องคลี่อีกปมปัญหาหนึ่ง คือรัฐจำเป็นต้องมีหลักประกันในชีวิตให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้ในฐานะพลเมืองของประเทศ ให้เขามีอาชีพ มีงานทำ มีรายได้ นี่คือความมั่นคงที่เป็นคำตอบของปัญหาเชิงซ้อนนี้ว่า ‘หลักประกัน’ คืออะไร
-เรื่องวิกฤตโรคระบาด เรายังไม่สามารถพูดได้ว่า ‘หลัง’ สถานการณ์ผ่านไปแล้วต้องมีหลักประกันอะไร เพราะครั้งนี้มันต่างจากวิกฤตก่อนๆ ที่เผชิญกันมา วันนี้เราทำได้เพียงร่วมกันคาดเดาด้วยมุมมองต่างๆ แต่ท้ายที่สุดเมื่อยังไม่มีใครรู้ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร เมื่อไหร่ และในรูปแบบไหน สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องว่าจะทำอย่างไรให้เด็กได้อยู่ในกระบวนการศึกษาเรียนรู้ได้ ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ใดก็ตาม จะในป่าเขา บนเกาะห่างไกล หรือซ่อนแอบตามซอกหลืบใดในเมืองใหญ่ เขาต้องมีโอกาสได้พัฒนาตนเองต่อ ด้วยระบบที่คล้ายกับเครดิตซึ่งติดตามตัวไปได้ มีการรองรับและส่งต่อที่มีมาตรฐานเท่าเทียมโดยที่ระบบนั้นอาจไม่ได้หมายถึงสถานที่ก็ได้
-การเรียนรู้ไม่ควรถูกตีกรอบให้แคบว่าคือการไปโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ความหมายของการเรียนรู้ได้ก้าวไปสู่เรื่องการกำหนดเป้าหมายของผู้เรียน เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อการประกอบอาชีพ โดยมีทักษะวิชาการเข้ามาช่วยประกอบสร้างให้ผู้เรียนตระหนักถึง ‘ตัวตน’ และพร้อมที่จะ ‘เรียนรู้ตลอดชีวิต’ พัฒนาตนเองในสิ่งที่ถนัด สนใจ นำไปใช้ในการประกอบอาชีพและไปถึงเป้าหมายของตนได้
-ดังนั้นก่อนจะพูดถึงการสร้างหลักประกันทางการศึกษา เราต้องเข้าใจก่อนว่า“สิทธิในการเรียนรู้” ของมนุษย์คนหนึ่งต้องหมายถึง “ทุกพื้นที่” และ “ทุกเวลา”ว่าการเรียนในโลกสมัยใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียนอีกแล้ว ไม่ใช่การเรียนเพื่อจบการศึกษามีวุฒิประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย เราต้องก้าวข้ามไปตีความ ‘การเรียนรู้’ ที่พ้นจาก ‘การเรียนหนังสือ’ ในรูปแบบเดิมๆ ที่รับรู้กันมา มองให้ออกว่าสิ่งที่ต้องสร้างคือการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจและรองรับวิถีชีวิต เพื่อการดำรงชีวิต แล้วไม่ว่าโควิด-19 จะยังอยู่หรือจากไป จะมีวิกฤตใดถาโถมเข้ามาใส่อีกสักกี่ครั้ง ‘สิทธิในการเรียนรู้’ ของทุกคนต้องไม่มีสิ่งใดมาพรากได้
-ภาพของการศึกษาในห้องเรียนหรือในโรงเรียนนั้นคือส่วนย่อย เป็นเพียงขาหนึ่งหรือเสี้ยวหนึ่งของวิธีการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนต้องสามารถเลือกวิธีการของเขาเองได้ จะออนไลน์ ออฟไลน์ ออนแอร์ ออนไซต์ ออนแฮนด์ ทั้งหมดเป็นเพียงตัวเชื่อมให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้ในวิถีที่เอื้อต่อชีวิตของเขา ผ่านการจัดระบบโครงสร้างของรูปแบบการการศึกษาที่หลากหลายมารองรับ
-ทฤษฎีพหุปัญญา (The Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงความสามารถออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนไป สามารถใช้อธิบายว่าการศึกษาในโลกศตวรรษที่ 21 ไม่ควรมีใครก็ตามถูกกำหนดให้เรียนรู้ภายใต้รูปแบบใดหนึ่ง หรือหลักสูตรใดหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ผู้เรียนต้องได้รับการสนับสนุนให้ค้นหาตนเองว่าอยากเรียนรู้อะไร เพื่อเป้าหมายใด แล้วการศึกษาจะมีหน้าที่สนับสนุนให้เขาได้เดินไปในทิศทางที่ต้องการนั้น หมายถึงผลสัมฤทธิ์ปลายทางต้องไปสู่การที่ผู้เรียนได้ “เป็น” ในสิ่งที่ตนต้องการได้
-ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นรูปแบบในการสร้างคนให้เขาค้นพบศักยภาพภายใน พัฒนาตัวเองจนสุดทาง แล้วดึงออกมาสร้างเป็นตัวตน เป็นอาชีพที่สนใจและถนัด มีตัวอย่างมากมายให้เห็นว่าบางคนไม่ได้เรียนบางศาสตร์มาโดยตรง แต่สามารถพบหนทางที่จะพัฒนาทักษะจนถึงขั้นประกอบอาชีพ และผลักดันตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ เพราะเขารู้เป้าหมาย ค้นพบความสามารถและนำมาขัดเกลาต่อจนเชี่ยวชาญและเกิดเป็นตัวตนของเขา ในอีกทางหนึ่งมนุษย์ทุกคนก็เช่นกัน ถ้าได้รับโอกาส สนับสนุนให้พัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง เขาจะเติบโตขึ้นมาเป็นอะไรก็ได้ ประกอบอาชีพที่ตนอยากทำได้
-ในที่นี้ไม่ใช่แค่นักกีฬา นักดนตรี หรือศิลปิน แต่หมายรวมทั้งหมด ช่างฝีมือ ข้าราชการ นักภาษาศาสตร์ นักธุรกิจ และอาชีพอื่นๆ อีกมากมาย ตรงนี้คือเรื่องที่เรากำลังพูดกันถึงว่า “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” มันยิ่งใหญ่กว่าแค่เงินทุน เสื้อผ้า อาหาร ซึ่งเป็นแค่องค์ประกอบย่อย เพราะการศึกษาต้องเป็นสิ่งที่ติดตามตัวเขาไปได้ นำมาใช้ที่ไหนก็ได้ รวมทั้งต้องสร้างต่อและสะสมเพิ่มได้ไม่มีวันหยุด