เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ อัญชลี วานิช เทพบุตร ประธานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จ.ภูเก็ต นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ อัญชลี วานิช เทพบุตร ประธานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จ.ภูเก็ต นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย

บทเรียนจากการศึกษาเชิงพื้นที่

-นับตั้งแต่เมษายน 2563 มีพ่อแม่ผู้ปกครองตกงานมากถึง 13-15% อัตราคนที่เคยเรียนต่อ กศน. จากเดิมปี 2562 สมัคร 1,800 คน ล่าสุดเหลือเพียง 170 คน มีเด็กหายไปจากระบบการศึกษาในเทอมแรกของปีการศึกษา 2564 ราว 10% และยังมีกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบอีกจำนวนไม่น้อย สาเหตุหลักคือไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ค่าเดินทาง อุปกรณ์การเรียน ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ถูกผลักเข้ามาเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดจากการศึกษาทันที 

-นโยบายการแก้ปัญหาในพื้นที่ จำเป็นต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ให้รองรับกับปัญหาและจำนวนกลุ่มยากจนเฉียบพลัน ทว่าขั้นตอนการทำงานในระดับชั้นต่าง ๆ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา เป็นการทำงานที่แยกส่วนมีหน่วยงานดูแลเฉพาะซึ่งขึ้นตรงกับส่วนกลาง 

-ในการทำงานเชิงพื้นที่ เรามีกลไกสำรวจระดับตำบลและอำเภอ มีครู กศน. เป็น CM (Case manager) และยังมี อสม. และ อพม. ทำงานร่วมกัน ประสานข้อมูลทั้งโรงเรียนในจังหวัด รวมถึงเด็กเยาวชนในพื้นที่ที่ไปศึกษาต่อชั้นมัธยมและอุดมศึกษาในจังหวัดอื่น ๆ มี Call center เปิดรับสายร้องเรียนเคสเด็กสุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบ เป็นการทำงานเชิงลึกเพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมายทุกระดับชั้น แต่เมื่อได้ข้อมูลและแจ้งไปยังหน่วยงานต้นสังกัด แต่ละระดับชั้นก็ต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานต่างกัน 

-คณะทำงานได้เสนอมาตรการลด งดเว้นค่าเล่าเรียน หรืออนุมัติอุดหนุนเงินช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อชะลอจำนวนเด็กที่จะหลุดจากระบบ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ “ยังไม่มีคำสั่ง” ไม่สามารถเปลี่ยนแผนงานทันทีได้ 

-ดังนั้นแม้ว่าคณะทำงานจะมองเห็นวิธีการช่วยเหลือที่จำเป็นต้องทำฉุกเฉิน แต่ด้วยความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องส่งจากส่วนภูมิภาคเข้าไปยังส่วนกลาง แล้วรอการตัดสินใจจากหลายฝ่ายให้เคาะนโยบายร่วมกัน ก่อนจะส่งกลับมายังพื้นที่อีกครั้ง ความล่าช้าทำให้แก้ปัญหาไม่ทันการณ์ 

หน่วยงานกลางที่คอยเชื่อมประสาน มีอำนาจตัดสินใจทันที

-หากจะกล่าวถึง “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” อย่างแรกคือต้องมองว่าปัญหาการศึกษาคือวาระแห่งชาติ ซึ่งหมายรวมไปถึงทุก ๆ พื้นที่ในประเทศ การทำงานจึงต้องมีความยึดหยุ่น มีการออกแบบและตัดสินใจที่เป็นอิสระจากส่วนกลาง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน 

-การแก้ปัญหาของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ฯ จ.ภูเก็ต เราได้เห็นว่าการมีหน่วยงานที่ทำงานได้คล่องตัว เช่น กสศ. ที่แม้จะมาจากส่วนกลาง แต่เข้ามาทำงานในฐานะด่านหน้า มีข้อมูล คุ้นเคยกับเคสเด็กด้อยโอกาสในหลายระดับ มีเครือข่ายภาคีในพื้นที่ ทำให้สามารถดึงความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยกัน  ส่งความช่วยเหลือเข้าไปช้อนเด็กได้เร็วขึ้น 

-การปรับนโยบายทันทีเมื่อสถานการณ์ไม่สอดคล้องกับแผนการที่วางไว้ สามารถอุดหนุนเงินช่วยเหลือเร่งด่วน ประสานเครือข่ายโรงเรียนและ กศน. เพื่อส่งต่อเด็กที่หลุดจากระบบได้ทันท่วงที ผลคือแม้เศรษฐกิจในจังหวัดจะยังเป็นปัญหา แต่เด็กเยาวชนเหล่านี้ยังมีหนทางในการศึกษาต่อ 

-หากถามว่าอะไรจะเป็น “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” ให้กับเด็กและเยาวชนได้ สิ่งสำคัญคือการกำหนดนโยบาย ต้องกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังพื้นที่ เราต้องยอมรับว่าการตัดสินใจเชิงนโยบาย ที่ผ่านขั้นตอนภายในหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้เราแก้ปัญหาไม่ทันการณ์ 

-ควรมีหน่วยงานที่มีอำนาจ สามารถตัดสินใจปัญหาในพื้นที่ได้ เข้าถึงเหตุรวดเร็ว มองไปที่ปลายทางจริงๆว่าสำคัญที่สุดคือทำอย่างไรก็ได้ให้ช่วยเด็กก่อนทันที 

-ประสบการณ์จากโควิด-19 ครั้งนี้ ทุกฝ่ายจำเป็นต้องถอดบทเรียนให้ได้ แล้วนำมาปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ ออกแบบแนวทางว่าจะทำงานกันต่อไปอย่างไร เชื่อว่าเพียงเท่านี้ก็จะสามารถช่วยให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้มั่นคงขึ้น