สร้างอาชีพรวมกับเรื่องการศึกษา
-เห็นด้วยกับการมี “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” เด็กๆ ถ้าอยากเรียนก็ควรจะได้เรียน โดยหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ต้องเข้าไปแก้ปัญหาของเด็กนอกระบบด้วย กล่าวคือเด็กนอกระบบส่วนมากจะยากจน ต้องรับผิดชอบครอบครัว พอถึงจุดหนึ่งเด็กต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อไหม เด็กหลายคนตัดสินใจไม่เรียนต่อ ออกมาทำงานดีกว่า อันนี้เป็นปัญหาข้อแรกซึ่งไม่รู้จะแก้อย่างไร
-งานที่พวกเราทำก็คือ on the job learning หมายถึง เราทำเรื่องสร้างอาชีพรวมกับเรื่องการศึกษา เรามีหลักสูตรเรื่องการทำงานพร้อมกับวิชาที่จำเป็นต่อเด็ก
-ต้องมีการให้คำปรึกษาแนะแนว หรือ case manager แต่ละพื้นที่ ต้องละเอียดมากขึ้น เมื่อก่อนมีการให้ทุนการศึกษา แต่เด็กก็ไม่ได้มีที่ปรึกษาที่ดูแลเขาไปตลอด เพราะเด็กมีสิ่งที่ต้องเผชิญหลายเรื่อง เรื่องหนุ่มสาว เรื่องความรัก เรื่องเพื่อน เรื่องเหล่านี้ต้องเข้าอกเข้าใจและประคับประคองให้เด็กสามารถผ่านวิกฤตช่วงวัยรุ่นได้
-ภูมิหลังเด็กที่ออกนอกระบบ นอกจากปัญหาความยากจน ยังมีเรื่องความแข็งแกร่งภายในจิตใจของเด็ก อย่างพวกเราตอนนี้ก็ทำ case management คือ ดูแลเด็กรายเคส พร้อมดูแลครอบครัวด้วย แต่ต้องทำงานเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะถ้าทำปริมาณเยอะๆ จะทำคุณภาพได้ไม่ลึก รวมถึงการมีที่ปรึกษา กลุ่มคนสนับสนุนซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรการศึกษายุคใหม่จำนวนมาก เช่น กลุ่ม a-chieve เป็นกลุ่มที่เขาทำคอนซัลต์และเป็นวัยใกล้เคียงกับเด็กมัธยม ฉะนั้นจะมีความเข้าใจเรื่องภาษา วัฒนธรรม หรือบริบทของเด็กมากกว่าองค์กร NGO แบบเดิม กลุ่มพวกเราก็เป็นกลุ่มครูรุ่นใหม่หมด ก็มีบางอย่างที่ให้คำปรึกษาเด็กได้
-ดำเนินการคู่กันระหว่างการให้ทุนกับการเป็นที่ปรึกษาแนะแนว มีการคัดกรองอย่างเป็นระบบกับชุมชน เพราะถ้าเรานึกถึงเด็กครอบครัวชนชั้นกลาง เรียนโรงเรียนเอกชน มีค่าใช้จ่ายการศึกษาหนึ่งปีคนละสองแสนบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากกับการลงทุนสำหรับเด็กคนหนึ่ง การใช้ทรัพยากรพวกนี้จำเป็นและไม่สามารถทำแบบโครงการได้ แต่ต้องทำงานระยะยาว อย่างที่เราทำคือ 9 ปีสำหรับเด็กหนึ่งคน เพราะกว่าเราจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ออกนอกระบบ เกเร เข้าสู่วงการยาเสพติดจนกระทั่งเขาเปลี่ยน มันใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะฉะนั้นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
-สร้างแรงจูงใจทางการศึกษาใหม่ เพราะว่าแรงจูงใจของเด็กต่อการศึกษาไม่ได้มีเยอะ เขามองแค่ว่าคนที่จบปริญญาตรีมาเงินเดือนก็ไม่ได้ต่างจากค่าแรงขั้นต่ำ อันนี้เป็นปัญหาเรื่องมุมมอง เขามองไม่เห็นว่า ตนเองจะมีโอกาสที่ดีกว่านี้ถ้าได้เรียนหนังสือ คือเห็นคนจบปริญญาตรีก็ได้เงินเดือนพอๆ กับเขาที่ทำงานร้านกาแฟ ทำไมต้องเสียเวลาและเสียเงินไปเรียนด้วย โลกการศึกษาสำหรับเด็กกลุ่มนี้อาจไม่ใหญ่เท่าไหร่ เราอาจต้องสร้างประสบการณ์ สร้างแรงจูใจ สร้างงานที่เขาชอบและถนัด-มีการดำเนินการที่ยาวมากพอ คือต้องทำตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีการทำงานที่ยาวพอให้เด็กเห็นปลายทางว่าเขามีโอกาสตรงนี้นะ ถ้าเขาอยากเรียนต่อ ทำให้เด็กกลุ่มนี้มีความหวังและมีที่พึ่ง ให้เขารู้ว่ามีช่องทางอะไรบ้าง มีโอกาสอยู่ตรงไหน
นโยบายแบบคูปอง
-สวัสดิการพื้นฐานที่เด็กควรจะได้รับ ไม่ใช่ค่าเทอม เพราะสุดท้ายแล้วเด็กๆ จะต้องจ่ายค่าเรียน ค่าชุดนักเรียน และอื่นๆ แต่ควรเป็นโยบายแบบคูปองเพื่อพาเด็กไปเรียนรู้นอกพื้นที่ ไปเจอประสบการณ์ที่ไม่สามารถทำได้ในห้องเรียน คือไปยังพื้นที่เรียนรู้และเครือข่ายภาคประชาชน เด็กจะชอบมากเวลาทำกิจกรรมพวกนี้ แค่ได้ออกเดินทางก็เป็นการเรียนรู้แล้ว เช่น พาเด็กไปศึกษาธรรมชาติที่เขาใหญ่ เด็กจะได้ฝึกทักษะเยอะมาก แต่ระบบในโรงเรียนทำเหมือนพาเด็กไปทัศนศึกษา เพราะไม่มีกระบวนการ
-การทำเป็นนโยบายแบบคูปอง โดยดึงเครือข่ายภาคประชาชนมาร่วม เช่น โรงเรียนนี้มีคูปองสำหรับกิจกรรม พาไปร่วมกับกลุ่มมะขามป้อม ไปคลองเตยดีจัง ให้เด็กได้ทำงานอาสา ทำนั่นทำนี่ แล้วการใช้คูปอง องค์กรต่างๆ ได้เงินและเด็กได้เรียนรู้ รัฐก็ได้เห็นกระบวนการของภาคประชาชนหรือ NGO
-NGO หลายองค์กรมีเครื่องมือที่ดี ในโรงเรียนไม่มีเครื่องมือแต่มีรัฐสนับสนุน ทีนี้จะเชื่อมโยงอย่างไร ถ้าร่วมมือได้ เวลาเราไปทำงานกับเด็ก จะไม่รู้สึกว่าดึงเด็กออกมาแล้วเป็นภาระกับครู ซึ่งครูก็เห็นด้วย เราเข้าไปโรงเรียนหลายรอบ แต่ครูจะไม่ทำงานนอกเวลา ทำให้เสียโอกาส ซึ่งถ้าเชื่อมโยงกันได้น่าจะได้ประโยชน์ทั้งคู่ คือเด็กมาใช้บริการกิจกรรมเสริมพัฒนาการ รัฐก็ได้เครื่องมืออื่นๆ ที่เสริมเด็ก อาจเลือก mapping องค์กรกิจกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งมีเยอะมาก
-ตอนนี้เริ่มมีองค์กรต่างๆ หันมาสนใจเรื่องการศึกษามากขึ้น แต่ในระบบข้างในที่เป็นโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการยังแข็งเกินไป ไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนอย่างไร อย่างเรื่องนโยบายโครงการคุณธรรมเพื่อให้เด็กมีจิตอาสา แต่วิธีการคือให้เด็กไปเรียนธรรมะแบบท่องจำทุกวันเสาร์ วิชาการที่วัดว่าใครมีคุณธรรมมากที่สุดคือวัดผลคะแนนสอบวิชาพระพุทธศาสนา คือนโยบายให้เกิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ระดับปฏิบัติกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าออกแบบให้สามารถทำงานร่วมกันได้ก็น่าจะดี
ศูนย์การเรียน : ทางเลือกของเด็กนอกระบบ
-เรากำลังจัดศูนย์การเรียน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 12 ที่มีโฮมสกูลและศูนย์การเรียนโดยชุมชนเป็นคนจัดการ แต่ล่าสุดยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งที่มติ ครม. ออกนโยบายเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างพร้อมออกวุฒิการศึกษาได้และถูกรับรอง แต่ไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐ
-ศูนย์การเรียนเป็นอีกทางเลือกของเด็กที่หลุดจากระบบ เพราะมีการ apply กระบวนการเรียนได้ง่ายกว่าในระบบ ในระบบมีโครงสร้างที่แข็ง เราเข้าไปเปลี่ยนระบบมันยาก คิดว่าทางเลือกทางการศึกษาอื่นๆ ที่รับรองวุฒิการศึกษาควรมีมากขึ้น เช่น โรงเรียนเอกชนเขามีเงิน แต่ศูนย์การเรียนไม่มีเงิน เพราะทำงานกับเด็กด้อยโอกาส ฉะนั้นรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณให้ศูนย์การเรียนด้วย
-ศูนย์การเรียนต่างจากศูนย์การเรียนรู้ เพราะศูนย์การเรียนรู้เป็นพื้นที่ให้เด็กมาทำกิจกรรม แต่ศูนย์การเรียนเป็น พ.ร.บ.การศึกษา มาตรา 12 ที่พัฒนาจากโฮมสกูล เมื่อก่อนมีบ้านเรียนที่พ่อแม่เป็นผู้จัดการศึกษาเองที่บ้าน แล้วเครือข่ายบ้านเรียน เครือข่ายการศึกษาทางเลือกก็ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ชุดนี้ออกมา คือชุมชนจัดการศึกษาเองได้ ซึ่งต้องอิงหลักสูตรจากกระทรวงศึกษา วัดประเมินผลเหมือนกันเลย แต่รูปแบบการเรียนการสอนและการสอบอาจต่างกัน
-แต่ปัญหาคือรัฐยังไม่ได้สนับสนุนงบประมาณ เนื่องจากศูนย์การเรียนอาจมีผลกระทบต่อการศึกษาในระบบ เพราะเด็กก็มาเรียนที่ศูนย์การเรียนเยอะขึ้น อย่างที่เราทำศูนย์การเรียนไร่ส้ม ก็เป็นเด็กชายขอบ มีนักเรียนอยู่ประมาณ 130 คน ซึ่งหาเงินเองหมด เรียนเหมือนกัน แต่วิธีคิด วิธี apply ต่างกัน ต้องวัดคุณภาพเด็กแล้วว่า สอนในระบบกับสอนแบบเรา เด็กมีความรู้เป็นอย่างไร
-เรามั่นใจว่าวิธีการที่เราสอนคือ บูรณาการ 8 วิชาสาระในโรงเรียนผสมกับกิจกรรมให้เด็กสนุก สามารถสร้างการเรียนรู้ให้เด็กได้เหมือนในระบบ อย่างทีมคลองเตยกำลังจดทะเบียนเป็นโรงเรียน คือเป็นโรงเรียน ไม่ใช่ศูนย์การเรียนรู้ ต้องสอบวัดผลทุกอย่างและได้วุฒิ เราต้องทำเพราะมีเด็กออกจากระบบเยอะ แล้วไม่มีที่ไป
-เด็กหลายคนปฏิเสธการศึกษาในระบบ อย่างคลองเตยเพิ่งจะเริ่มทำปีนี้ เราทดลองหลักสูตรอยู่ว่า 8 วิชาสาระมีอะไรที่จำเป็นต้องใช้ แล้วที่เหลือทำเป็น project based learning เหมือนในระบบการศึกษาแล้วก็ทำคอร์สที่สร้างการเรียนรู้ พัฒนาจากเกม การลงพื้นที่ การทำโครงการ การทำวิชาชีพผ่าน project การสร้างรายได้ คือ เหมือนทำงาน แต่เด็กเรียนวิชาการผ่านการทำงานแล้วได้เงินค่าตอบแทน
-เพราะปัญหาของเด็ก คือเขาต้องส่งเงินให้พ่อแม่และต้องดูแลตัวเอง Pain point คือ เด็กอยากเรียน แต่เด็กต้องหาเงิน ก็เลยต้องเอาการเรียน งาน และเรื่องหาเงินมาเป็นเรื่องเดียวกัน เด็กก็จะได้เรียน ได้หาเงิน และได้พัฒนาทักษะ ที่ไม่ใช่แค่งานรับจ้างแบกหาม หรือแค่ยกของ ชงกาแฟ แต่เขาจะได้มีทักษะอื่นๆ ไปด้วย