เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน (Home School)

เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับ ธรรณพร คชรัตน์ สบายใจ รองเลขาธิการสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน (Home School)

สร้าง ‘ศูนย์ปรึกษาวิเคราะห์’ ที่มี ‘ระบบพี่เลี้ยง’ ร่วมวางแผนดูแล
ให้เด็กแต่ละคนได้เข้ารับการศึกษาในวิธีที่เหมาะกับวิถีชีวิต

-จากมุมมองการทำงานด้านการศึกษาในสายปฏิบัติการ เราแบ่งกลุ่มเด็กและครอบครัวเป็น 3 กลุ่ม หนึ่งคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงพ้นจากระบบการศึกษาด้วยบริบทปัญหาของครอบครัว ซึ่งจะหลุดออกมาในทุกเทอมการศึกษา สองคือ กลุ่มที่ตั้งใจแล้วที่จะเรียนรู้เองนอกระบบ ทั้งการเรียนแบบโฮมสกูล (Home School) หรือในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับวิถีชีวิต สาม คือ กลุ่มที่เจอผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การเรียนในระบบในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาไม่เหมาะสมกับเขา ที่พบบ่อยคือเด็กเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง บางบ้านที่มีกำลังก็จะแก้ปัญหาด้วยการจ้างครูพิเศษมาช่วยสอน แต่โดยมากคือเขาตัดสินใจหยุดเรียนไปเลย ความต่อเนื่องกับการเรียนในระบบจึงขาดลงตรงนั้น

-เมื่อเราแยกออกเป็นกลุ่มคร่าว ๆ จะพบว่าวิธีการทำงานกับเด็กแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกันเลย ดังนั้นถ้าจะมองว่าอะไรคือ ‘หลักประกัน’ ในทางทฤษฎีจึงเป็นคำตอบที่ยากชี้ชัด แต่ในการทำงานของเราที่มุ่งไปยังการบริหารจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์กับตัวเด็กและครอบครัวโดยตรง จากแนวทางที่เราได้นำมาใช้กับกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรม พบว่าหากเขาได้รับการศึกษาที่สอดรับกับความสนใจ ความถนัด ลักษณะนิสัยเฉพาะตัว และมีกระบวนการที่ยืดหยุ่นเพียงพอ เด็กจะพร้อมเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ต่อเนื่อง

-วันนี้การศึกษาทางเลือกในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์ได้กับเด็กทั้ง 3 กลุ่ม สำคัญคือจะสื่อสารไปยังเด็กและครอบครัวให้เขาเข้าใจและเข้าถึงวิธีการศึกษาในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การ ‘ไปโรงเรียน’ เพียงอย่างเดียวได้อย่างไร

-ในการสร้าง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ หลังการมาถึงของโควิด-19 อย่างแรก ต้องรู้ตัวกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน จำแนกได้ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน และสิ่งหนึ่งที่ต้องนำมาพูดถึงก่อนอะไรทั้งหมดคือ การเอาชีวิตรอดของครอบครัวเด็กในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงเราต้องพูดถึง ‘หลักประกันทางสังคม’ ก่อน ต้องมีที่พึ่งพิงหรือหนทางให้แต่ละครอบครัวกลับมามีที่ทางในการทำมาหาเลี้ยงชีพให้ได้ จากนั้นจึงค่อยมองไปถึงการจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน

-บทเรียนจากการทำงานร่วมกับศูนย์การเรียนโฮมสกูล เรามีคณะทำงานที่ทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ วิเคราะห์ตัวตนและเรื่องราวแวดล้อมของเด็กว่าใครเหมาะกับการศึกษาแบบใด บางคนใช่กับการเรียนโฮมสกูล บางคนเหมาะกับ กศน. หรือบางคนปรับตัวได้กับการเรียนในศูนย์การเรียนเฉพาะทาง แต่ต้องยอมรับว่าครอบครัวที่เข้ามาปรึกษากับศูนย์เกือบ 100% เขาแน่ใจแล้วว่าการเรียนในระบบหลักมัน ‘ไม่ใช่’ สำหรับเขา ทำให้เขามองถึงการศึกษาทางเลือกอันหลากหลาย ที่จะช่วยเป็นคำตอบว่าเด็กจะไปต่อในการศึกษาเรียนรู้ได้อย่างไร 

-ดังนั้นเรามองว่าระบบ “ศูนย์ปรึกษารับแจ้งเหตุ” คือทางออกที่น่าสนใจ สามารถนำไปขยายผลในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อาจมีหน่วยงาน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นภาครัฐ ที่มีองค์ความรู้ มีระบบเชื่อมต่อ มีแบบแผนการทำงานที่ชัดเจน ในการให้คำแนะนำหรือระบุได้ว่าใครเหมาะสมกับการเรียนรู้แบบไหน เพื่อให้เขามองเห็นหนทางที่จะอยู่กับการเรียนรู้ได้ตามวิถีทางของตนเอง หรือบางครอบครัวที่ยังเหมาะกับการเรียนในโรงเรียนและรอให้โรงเรียนกลับมาพร้อมเปิดตามปกติ เขาก็ควรได้รับข้อมูลว่าจะประคองเด็ก ๆ ไม่ให้สูญเสียการเรียนรู้ไปมากขึ้นได้อย่างไร ในภาวะโควิด-19 เช่นนี้   

ขยายจากโมเดล ‘หลักสูตรช่วยเหลือผู้ปกครองในภาวะโควิด-19’ ของเครือข่าย Home School

ในการทำงานของเครือข่ายบ้านเรียน เรามี ‘ศูนย์ประสานสิทธิ์การศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย’ มีการจัดตั้งกองทุนขนาดย่อม มุ่งช่วยเหลือไปที่ความอยู่รอดเรื่องปากท้องสำหรับครอบครัวที่เข้ามาในรูปแบบการเรียนโฮมสกูล เราพบเด็กจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจออกจากโรงเรียนแล้วหันมาเรียนโฮมสกูล ด้วยสาเหตุครอบครัวประสบปัญหาเศรษฐกิจ เครือข่ายจึงให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการสนับสนุนข้าวของเครื่องใช้และข้าวสารอาหารแห้งเพื่อประทังสถานการณ์ จากนั้นเราจึงมองไปที่การค้นหาการเรียนรู้ที่เหมาะกับเขา

-เรามีช่วงเวลาให้เขาทำความเข้าใจหลักสูตรการศึกษาทางเลือกต่าง ๆ มีองค์ความรู้ทั้งด้านหลักกฎหมายและหลักวิชาการ เผยแง่มุมหลากหลายให้เขาเห็นว่าจะเชื่อมต่อชีวิตเข้ากับการเรียนโฮมสกูลได้อย่างไร พร้อมช่วยประเมินว่าใครบ้างที่เหมาะหรือไม่เหมาะสมกับโฮมสกูลเพราะอะไร ขณะที่เมื่อเข้าสู่รูปแบบการเรียนเต็มตัว จะมีพี่เลี้ยงที่คอยดูแลให้ความรู้ติดตามต่อเนื่อง ช่วยประสานทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาครัฐ ให้เขาเข้าใจเรื่องเงินอุดหนุน สิทธิประโยชน์ การติดตามวัดผลการเรียนรู้ อำนวยให้การจัดการศึกษาเกิดขึ้นได้ จนผ่านวงรอบปีการศึกษาหนึ่ง ครอบครัวที่มีประสบการณ์แล้วก็จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้รุ่นถัดไป เกิดเป็นระบบส่งต่อที่ยั่งยืน

-ภายใต้โมเดลเดียวกัน ภาพที่เห็นวันนี้คือถ้าเรามีศูนย์ช่วยเหลือขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจคอยเก็บข้อมูล สามารถให้ความช่วยเหลือและส่งต่อได้ทันท่วงที มีทุนสำรองช่วยอุดหนุนครอบครัวกลุ่มเสี่ยงให้เขาผ่านพ้นช่วงวิกฤตได้ จากนั้นเป็นขั้นวิเคราะห์ว่าเด็กแต่ละคนควรจะไปต่อในการเรียนรู้แบบใด เชื่อว่าเด็กที่ ‘หลุด’ หรือ ‘ถูกตัดขาด’ จากการศึกษาจะลดจำนวนลงได้มาก

‘ข้อมูลข่าวสาร’ กับแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ ‘เด็กโฮมสกูล’

-ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้การเข้าถึงข้อมูลแพร่หลายและรวดเร็วขึ้น มีข่าวสารที่ไหลบ่าจากทุกทิศทุกทาง ระบบการศึกษาในโลกปัจจุบันจึงแปรผันไปพร้อมกับวิถีชีวิตของผู้คน เราได้เห็นการเรียนออนไลน์ที่สามารถเข้าไปถึงทุกบ้านที่มีเครื่องมือสื่อสารมากขึ้น ขณะที่โฮมสกูลเองก็ไม่ได้เป็นรูปแบบการศึกษาที่จำกัดอยู่เฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะเศรษฐกิจระดับหนึ่งอีกต่อไป 

-ประเด็นสำคัญที่เกื้อหนุนให้เครือข่ายบ้านเรียนขยายขึ้น คือการที่บางครอบครัวตระหนักแล้วว่าการไปโรงเรียนอาจไม่สอดคล้องกับชีวิต เพราะเขาต้องสูญเสียกำลังหลักในการทำมาหากินไปกับการศึกษาในระบบ

-ข้อมูลนี้ยืนยันถึงความเกี่ยวพันในเชิงสังคม เศรษฐกิจ การสื่อสาร ที่นำไปสู่การกำหนดรูปแบบการศึกษา สร้าง Mindset ใหม่ว่าการเรียนในโรงเรียนไม่ได้พัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กทุกคน แต่จากเดิมที่แม้จะรับรู้ข้อเท็จจริงแล้วว่าโรงเรียนไม่ตอบโจทย์ แต่เขาก็มองไม่เห็นว่าจะหาทางออกได้อย่างไร เด็กหลายคนจึงจำต้องอยู่ในการศึกษาแบบเดิม จนวันหนึ่งที่เขาไม่ไหวก็ทยอยหลุดจากระบบไป

-ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารได้ขยายภาพให้ผู้ปกครองรุ่นใหม่เห็นมิติการศึกษาหลากหลาย ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จึงมีครอบครัวจำนวนหนึ่งที่เขากล้าตัดสินใจพาลูกเข้าสู่ระบบโฮมสกูล หรือเข้ามาปรึกษาเพื่อมองหาการศึกษาทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งพอเรามีโค้ชที่ช่วยวิเคราะห์หาการศึกษาที่เหมาะสม ช่วยดูตั้งแต่ความพร้อมของครอบครัวที่จะช่วยอำนวยการศึกษาให้เด็ก มีการตั้งคำถาม ตั้งข้อสังเกต ร่วมหาคำตอบ จนได้ข้อสรุปว่า ถ้าองค์ประกอบต่าง ๆ เหมาะสมก็เริ่มเรียนได้เลย แต่ถ้าไม่เหมาะก็จะช่วยกันหาให้พบว่าเด็กควรไปในทิศทางใด จะรอกลับไปเรียนในโรงเรียนตามรูปแบบเดิม หรือเข้าศึกษาในศูนย์การเรียนเฉพาะทาง ซึ่งทุกทางมันมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น ดังนั้นหน้าที่ของศูนย์เราคือ ทำให้เขาเห็นถึงความยืดหยุ่นและทางเลือกที่หลากหลาย เพื่อเด็ก ๆ จะมีทางไปต่อ และไม่หลุดจากวงจรการศึกษาในท้ายที่สุด