-ในมุมมองครูนางที่ได้คลุกคลีกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เด็กกลุ่มเปราะบาง หรือเด็กที่หลุดจากครอบครัวเอง ต้องบอกตรงๆ ว่าเจอปัญหาเด็กเข้าถึงระบบการศึกษายาก บางทีหลุดออกจากระบบจะกลับเข้าไปยังยาก แม้กระทั่งเรื่องระบบ กศน. ที่กำหนดอายุ 15 ปี ตรงนี้กลุ่มเด็กก็เข้าถึงยากแล้ว ในชุมชนคลองเตย เด็กกลุ่มนี้ถ้าหลุดจากระบบการศึกษาหรือหลุดจากระบบครอบครัว แล้วมาใช้ชีวิตเร่ร่อนในชุมชนจะเข้าถึงระบบการศึกษายาก
-เราจึงได้จัดตั้งโรงเรียนให้เด็กเรียนปรับสภาพ ถ้าเราเจอเด็กกลุ่มนี้ คุณพ่อจะให้เจ้าหน้าที่ไปชวนให้เด็กมาเรียนที่เมอร์ซี่ก่อน การสอนจะเพิ่มเรื่องทักษะอาชีพ จากเด็กที่จบแค่ ป.1-2 เขาจะได้ต่อยอดเรียน กศน. จบระดับประถมศึกษาก็พยายามเข้าสู่มัธยมศึกษา กลุ่มเด็กเปราะบาง เร่ร่อน ถ้าเข้าสู่ระบบการศึกษาด้วยตัวเองโดยไม่มีเจ้าหน้าที่หรือองค์กรสนับสนุน เด็กจะเข้าสู่ระบบการศึกษายากเพราะไม่มีแรงจูงใจ ไม่มีแรงผลักดันไปสู่ตรงนั้น
-อนาคตเด็กจะออกจากระบบการศึกษาเยอะขึ้น ยิ่งสถานการณ์โรคระบาดยิ่งต้องตั้งรับเยอะๆ แม้กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในชุมชน หรืออยู่ในภูมิลำเนาที่เด็กอยู่ บางทีเข้าไม่ถึงตัวเด็ก เด็กที่อยู่ลำพังแต่เรียนดี น้อยนักที่จะเป็นข่าว พอเป็นข่าวแล้วเด็กก็ได้เข้าสู่ระบบความช่วยเหลือ แต่มีเด็กอีกหลายคนที่เข้าไม่ถึงสื่อ ทำให้ไม่มีการเข้าไปช่วยเหลือเด็ก
-ต้องตั้งรับเยอะๆ บางทีเข้าไม่ถึงตัวเด็ก เราจะสร้างเครือข่ายในพื้นที่อย่างไร ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หรือ อสม. ที่จะรู้ดีว่าคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ให้เขาส่งข้อมูลกลุ่มเด็กประสบปัญหามาถึงมือ กสศ. หรือเอ็นจีโอที่ทำงาน เพื่อจะได้ช่วยเหลือต่อ
-สำหรับคนที่ทำงานเอ็นจีโอ จะไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะมีการทำงานเชิงรุกอยู่แล้ว เข้าถึงตัวเด็กเร็ว แต่หน่วยงานหลักๆ ควรสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็งและมีระบบส่งต่อข้อมูลเด็ก ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ รวมถึงมีเจ้าภาพหลักในการดูแลการศึกษาของเด็กกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ตลอดเส้นทางการศึกษาของเขา
-นอกจากนี้ควรมีการเชื่อมรอยต่อของระบบการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดทางเลือกของการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กทุกกลุ่ม หน่วยงานหลักโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเสนอสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เป็นรูปธรรม สำหรับเด็กทุกกลุ่มเป้าหมาย เพราะ “เด็ก” คืออนาคตของชาติ