สร้างกลไกเชื่อมต่อระดับพื้นที่ จากโรงเรียนถึงชุมชน
เปิด Hotline สายด่วนรองรับปัญหาเด็กกลุ่มเสี่ยง 24 ชั่วโมง
“เราต้องตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จะเรียนในระบบ ฝึกอาชีพที่สนใจ หรือมุ่งพัฒนาทักษะเฉพาะตัวให้ก่อเกิดเป็นอาชีพ เขาต้องสามารถทำได้ทุกอย่าง เด็กต้องมีโอกาสได้ค้นหาทางเลือกของตนเอง เพราะอนาคตเป็นของเขา สำคัญคือเราต้องมีระบบช่วยประคอง ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยวลำพัง และต้องส่งต่อได้จนกว่าเขาจะไปถึงฝั่ง”
-หลายปีของการทำงานกับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุด สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องทำงานไปพร้อมกันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ประการแรกคือกลไกป้องกันในโรงเรียน มีครูแนะแนวเป็นด่านหน้า คอยติดตามนักเรียนที่ไม่มาเรียน เสาะสืบปัญหารอบตัวที่จะทำให้เด็กไม่ได้เรียนต่อแล้วหลุดออกไป
-เมื่อข้อมูลเบื้องต้นจากครูแนะแนวส่งขึ้นไปถึงคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นต่อมาจะเป็นการช่วยกันวิเคราะห์ว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาและประคองเด็กไว้อย่างไร ทั้งนี้เราจะมองที่มิติการศึกษาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องมีทีมงานจากหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยทำความเข้าใจปัญหา และออกแบบวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายกรณี โดยทีมงานชุดนี้จะเป็นกลุ่ม ‘สหวิชาชีพ’ จนถึงคณะทำงานที่แฝงตัวในชุมชน เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระดับพื้นที่ ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ(CM/CMS) จนเป็นเครือข่ายระดับจังหวัด ด้วยกลไกนี้ ปัญหาของเด็กจะถูกพบได้เร็ว พร้อมมีการดูแลช่วยเหลือ คลี่คลาย และส่งต่อเป็นระบบ
-หลังจากที่ได้คลุกคลีใกล้ชิดกับน้องๆ เรามองว่าการเปิดพื้นที่ให้เด็กเข้าถึงคำปรึกษาได้ทุกที่ทุกเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบางครั้งปัญหาที่เด็กเผชิญตรงหน้า จำเป็นต้องจัดการแก้ไขเร่งด่วน ถ้าเขาไม่อาจหันไปหาใครได้ ก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง ทีนี้พอเลือกทางพลาด วิธีผิด สิ่งที่ตามมาจะยิ่งกลายเป็นปัญหาที่พัวพันเป็นลูกโซ่ต่อไป
-ดังนั้นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องมีคือ ‘สายด่วนให้คำปรึกษา’ ทั้งปัญหาทั่วไปและปัญหาเฉพาะทาง สามารถคุยกับน้องๆ ชนิดลงลึกได้ว่า เมื่อเจอปัญหาแบบไหนควรรับมืออย่างไร และให้ภาพของหนทางในการแก้ปัญหาแบบที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 หรือที่ 4 ว่า แต่ละวิธีการจะส่งผลไปสู่อะไรได้บ้าง เช่น ปัญหาที่ทำให้ไม่ได้เรียนต่อรุนแรงแค่ไหน หรือเมื่อเด็กตัดสินใจจะดรอปเอาต์ เขามีทางเลือกอะไรบ้าง เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุที่จะช่วยคลายทุกข์ ปลอบประโลม ทำให้เด็กได้ใช้สติมองปัญหาอย่างสงบ แล้วเขาจะเห็นว่าทุกปัญหายังมีหนทางแก้ไข ถ้าเราร่วมเผชิญไปด้วยกัน
-รูปแบบการทำงานเช่นนี้ คือวิธีการทำงานของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ กสศ.ทำเข้าสู่ปีที่สามแล้ว และเห็นผลว่าทำให้เราเข้าถึงเด็กลุ่มเสี่ยงและเด็กที่หลุดออกนอกระบบได้จริง ทั้งยังมีขั้นตอนช่วยเหลือดูแลส่งต่อ ที่ทำให้น้องๆ ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ได้ฝึกอาชีพที่สนใจจนสามารถนำไปเลี้ยงดูตนเองได้ หรือในช่วงวิกฤตโควิด-19 กสศ.ก็ได้จัดตั้งศูนย์ปรึกษาดูแลขึ้นมารองรับเด็กเยาวชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในรูปแบบของสายด่วนให้คำปรึกษา ไปจนถึงรับแจ้งเหตุความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อประคองเด็กไว้ในโรงเรียน รวมถึงทำทุกวิถีทางให้น้องๆ ที่หลุดออกจากระบบไปในช่วงวิกฤต ได้เข้าถึงการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่องทางได้อีกครั้ง
ระบบติดตามกลุ่มที่แม้กลับมาแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงหลุดได้ทุกเวลา
-เมื่อเราค้นหาและนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือฝึกอาชีพได้แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าภารกิจสิ้นสุด เราต้องมี อสม.ในพื้นที่ซึ่งเป็นเหมือนระบบติดตามดูแลเด็กเป็นรายคน คอยเป็นคู่คิด ให้ข้อมูล เป็นที่ปรึกษาต่อเนื่องสำหรับเด็กและครอบครัวของเขา ตรงนี้ก็จะย้อนกลับไปที่ด่านแรก คือครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวในโรงเรียน แต่เมื่อพ้นออกมาจากโรงเรียนก็ต้องมีชุมชนที่มาช่วยรับไม้ต่อ คอยเฝ้าระวัง ติดตามประสานงานกับครูและครอบครัวของเด็ก ซึ่งตรงนี้ถ้าเราเชื่อมต่อประสานกันได้ทั้งหมดอย่างไร้รอยต่อ มันจะกลายเป็นกระบวนการที่รองรับกันเป็นทอด อาจมีผู้นำชุมชนเป็นแกนหลัก สร้างทีมดูแลในพื้นที่ เพื่อให้พบกลุ่มเสี่ยงได้เร็ว และหาแนวทางป้องกันแก้ไขได้ก่อนจะเกิดปัญหาต่างๆ อาทิ เมื่อเราเห็นว่าเด็กมีความเสี่ยงในการเข้าสังคมเพื่อนในชุมชน เราอาจหาทางดึงเขาออกมา เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้พ้นจากความเสี่ยงนั้นๆ
-อีกประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ เราต้องมอบโอกาสให้เด็กสามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตได้ในทุกช่วงวัย เมื่อเรานำเขากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา บางครั้งเขาปรับตัวไม่ได้ หรือพบว่าเส้นทางที่คาดคิดไว้ไม่ใช่คำตอบที่ถูกสำหรับเขา ผู้ดูแลรายกรณีจะต้องเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือก ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการวางแผนชีวิต ว่าจะปรับหรือเปลี่ยนอย่างไรไม่ให้เด็กสูญเสียกำลังใจ
-เราต้องตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จะเรียนในระบบ ฝึกอาชีพที่สนใจ หรือมุ่งพัฒนาทักษะเฉพาะตัวให้ก่อเกิดเป็นอาชีพ เขาต้องสามารถทำได้ทุกอย่าง เด็กต้องมีโอกาสได้ค้นหาทางเลือกของตนเองเพราะอนาคตเป็นของเขา สำคัญคือเราต้องมีระบบช่วยประคอง ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าถูกทิ้งไว้โดดเดี่ยวลำพัง และต้องส่งต่อได้จนกว่าเขาจะไปถึงฝั่ง โดยเฉพาะน้องๆ เด็กเยาวชนกลุ่มที่เขาขาดโอกาส บางครั้งเขาเติบโตขึ้นมาโดยไม่รู้ ไม่มีข้อมูลเลยว่าทางเลือกในการเรียนและชีวิตสามารถเป็นไปในทางไหนได้บ้าง ฉะนั้นต้องมีคนรับฟัง ชี้ทาง มอบโอกาส จนกว่าเขาจะพบเส้นทางชีวิตที่เหมาะสม
ละ-ลด-เลิกกฎเกณฑ์บางอย่าง เพื่อให้โอกาสทางการศึกษาเปิดกว้างขึ้น
-ควรเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ด้วยทางเลือกของ ‘รูปแบบการศึกษา’ หมายถึง เด็กอยากเรียนอะไรต้องได้เรียนในสิ่งนั้น ทั้งนี้อาจต้องมีการพิจารณาลดคุณสมบัติของเด็กที่มีสิทธิ์เข้าไปเรียน เช่น บางหลักสูตรมีข้อกำหนดว่ารับเฉพาะผู้จบ ม.3 ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสของน้องๆ ที่หลุดจากระบบมาก่อนได้วุฒิการศึกษาภาคบังคับ กรณีนี้ทำให้ทางเลือกของเด็กลดน้อยลง
-ท้ายที่สุด ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ควรต้องคำนึงถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้วย เพราะเด็กด้อยโอกาสหลายคนเขามีศักยภาพทางสติปัญญา สามารถเรียนรู้ได้ในระดับสูง เพียงติดเงื่อนไขที่ครอบครัวยากจน ไม่มีเงินเดินทางไปเรียน ไม่มีเงินเข้าฝึกอบรมในกิจกรรมดีๆ เข้าไม่ถึงหลากหลายโอกาสที่เด็กจากครอบครัวอื่นๆ ได้รับ ดังนั้น หากจะว่ากันถึงหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เรากำลังพูดถึงความจำเป็นที่ต้องลดบางสิ่งลง ละเกณฑ์บางอย่างไว้ หรือเลิกกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นไปบ้าง เพราะในเมื่อข้อจำกัดเหล่านั้นคือ ‘อุปสรรค’ ในการเข้าถึงการศึกษา ก็ควรต้องได้รับการพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลง