‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ตาข่ายที่จะรองรับทุกคนในสังคม ให้กล้าก้าวเดินในทางที่เลือก
พร้อมเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตได้ในทุกช่วงวัย …เมื่อพบว่าสิ่งที่ฝันอาจยังไม่ใช่
– มุมมองจากประสบการณ์การเป็นครูในโรงเรียนรัฐ เราเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำค่อนข้างชัด ทุกเทอมจะมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่มีแนวโน้มอยู่ในระบบต่อไปไม่ได้ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ผู้ปกครองหลายรายต้องขอผ่อนผันผัดจ่ายหนี้การศึกษากับทางโรงเรียน และแม้สุดท้ายแล้วจะสามารถจ่ายเงินก้อนนี้ได้ แต่ปัญหาก็จะนำไปสู่วงจรของการเข้าสู่วัยแรงงานก่อนเวลาอันควร เด็กต้องช่วยผู้ปกครองทำงานช่วงหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด เพื่อให้มีรายได้พอเพียงที่จะอยู่ในระบบการศึกษาต่อไป
– มีเด็กไม่น้อยที่ต้องระทมทุกข์กับปัญหาเหล่านี้ จนถึงวันหนึ่งที่กำลังจะจบช่วงชั้น ถ้าหนี้กับทางโรงเรียนยังไม่หมดแล้วหามาจ่ายไม่ทัน โรงเรียนก็ไม่อาจออกวุฒิการศึกษาให้ได้ เท่ากับว่าโอกาสของเขามันถูกปิดกั้นด้วยกำแพงทางเศรษฐกิจโดยสมบูรณ์ แล้วหากมองแยกส่วนที่โอกาสในชีวิตส่วนตัวของเด็ก การต้องไปทำงานช่วยผู้ปกครองหารายได้ หมายถึงเขาต้องยอมทิ้งประสบการณ์ ความฝัน ความสนใจ สิ่งที่อยากทำตามช่วงวัย หรือกระทั่งเวลาพักผ่อนให้กับงานหนัก เพื่อให้มีต้นทุนชีวิตเพิ่มขึ้น
ยอมดัดแปลงความฝันเพื่อให้ได้เรียน
– เด็กด้อยโอกาสพอผ่านช่วงชั้นหนึ่งมาได้ จะ ป.6 ม.3 หรือ ม.6 ก็ตาม ถ้าเขาอยากไปต่อจะมีทางเลือกใดบ้าง อย่างแรก กู้ยืมเงิน ซึ่งปลายทางจะย้อนกลับไปที่การยอม ‘เป็นหนี้’ แล้ววงรอบของการถูกลิดรอน ‘ชีวิต’ ตามช่วงวัยก็จะดำเนินต่อไป หรือทางที่สอง พยายามมองหาแหล่งทุนสงเคราะห์ต่างๆ ที่เสนอให้ ตรงนี้คำถามคือ มันเป็น ‘ทางเลือก’ ของเด็กจริงไหม เช่น เด็กมีเป้าหมายที่จะเรียนสายสามัญแต่ครอบครัวไม่อาจส่งเสียได้ ก็ต้องหันมามองว่ามีทางออกใดที่รออยู่บ้าง หลายคนจึงเข้าไปสู่เส้นทางของการถูกกำหนดให้ยอม ‘ดัดแปลงความฝัน’ เป็นอื่น เพื่อเข้าถึงทุนการศึกษาและได้เรียนหนังสือต่อ คือต้องเลือกทางที่มองแล้วว่าจะยอมเป็นอะไรก็ได้โดยละทิ้งความฝันความตั้งใจไป เพื่อการันตีว่าจะสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ในอนาคต
– หลังยอมทิ้งความฝันไปแล้ว ในวิธีคิดของแหล่งทุน มันจะมีกระบวนการที่เรียกว่า ‘พิสูจน์ความจน’ ที่เด็กต้องเจอ คำถามคือ มีใครบ้างที่เขายอมรับการถูก ‘ตีตรา’ ว่าบกพร่อง ว่าไม่พร้อม ไม่มีเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ ได้จริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเด็กกว่าที่เขาจะได้พาตัวเองเข้าไปถึงทุนการศึกษา คือเขาต้องยอมโดนประทับตราด้วยระบบที่จะคำนวณว่าใครด้อยโอกาสกว่ากัน ซึ่งรอยประทับนั้นจะเป็นเหมือนแผลที่ติดอยู่กับเขาต่อไปในวันข้างหน้า และนี่คือประเด็นเรื่องการสูญซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถ้ามองถึงทุนที่มอบให้เด็กยากจนแต่เรียนดี มันสะท้อนว่าเด็กอีกมากมายที่ยากจนเช่นกัน แต่เขาเรียนไม่เก่ง เด็กกลุ่มนี้จะไม่มี ‘สิทธิ์’ ได้รับโอกาส หรือเท่ากับว่าเรากำลังทำให้การศึกษากลายเป็น ‘เก้าอี้ดนตรี’ ที่ต้อง ‘ช่วงชิง’ โอกาสของการมีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการพิสูจน์ตัวเองว่าเก่งเพียงพอไหม หรือว่าคุณยากจนเพียงพอไหม ขณะที่มันอาจจะมีทางอื่นๆ อยู่อีก มีวิธีอื่นอีกที่เราสามารถมอง คิด และร่วมกันหาวิธีให้ได้ว่า “จะทำยังไงให้เด็กทุกคนทุกระดับชั้นในสังคมได้ถูกโอบอุ้ม ได้มีโอกาสพอๆ กันที่จะบรรลุความฝันของตน หรือแม้กระทั่งไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังในวันที่พวกเขาหกล้มหรือผิดหวังจากเป้าหมายหนึ่งของชีวิต”
สร้างตาข่ายรองรับคน ‘ทุกคน’ ในสังคม
– ผมมองว่า ‘การศึกษา’ มันไม่ควรจะถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขว่า ใครสักคนสมควรแค่ไหนหรือเท่าไหร่ ที่จะ ‘ได้’ หรือ ‘ไม่ได้’ รับสิทธิพื้นฐานทางสังคม หมายถึงการศึกษาต้องไม่ใช่ ‘ตั๋ว’ ในการไต่เต้าไปถึงบางสิ่งบางอย่าง เช่น ถ้าคุณเรียนสูง จบมหาวิทยาลัยดีๆ คุณก็จะมีสถานะทางสังคมหรือสิทธิเพิ่มขึ้นกว่าคนอื่น ในทางกลับกัน ถ้าคุณเรียนไม่จบ เป็นแรงงานที่ทำงานรับค่าแรงสามร้อย พยายามเอาตัวรอดผ่านวันหนึ่งๆ ไป คุณก็แทบไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการอะไรเลย
– เรากำลังอยู่ในสังคมเช่นนี้ เด็กเรียนหนังสือภายใต้ชุดความคิดที่ว่า “คุณจะมีชีวิตที่ดีได้ด้วยเงื่อนไขว่าคุณต้องมีระดับการศึกษาที่ดี และอยู่ในระดับที่สูง” มันจึงกลายเป็นสังคมแห่งการเล่นเก้าอี้ดนตรีโดยสมบูรณ์ ต้องแก่งแย่งเบียดเสียดยัดตัวเข้าไปจับจองพื้นที่ การันตีสิทธิของตน ใครพลาดเมื่อไหร่ก็หมดสิทธิ์ หรือวันนี้คุณคว้าพื้นที่มาครองได้ แต่วันหนึ่งล้มเหลว สิทธิสวัสดิการก็หลุดลอย เราแน่ใจหรือว่าไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากวิธีการนี้ เราจะไม่มีทางทำให้สังคมสามารถโอบอุ้มทุกคนให้มีชีวิตอยู่โดยได้รับสิทธิพื้นฐานได้เหมือนๆ กันจริงหรือ
– อย่าลืมว่าสังคมของเราไม่ได้มีคนที่เดือดร้อนอยู่แค่กลุ่มเดียวหยิบมือเดียว แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่แม้เขาจะอยู่ได้ด้วยเงินวันต่อวัน ไม่ต้องเป็นหนี้สิน แต่คำถามสำคัญคือ ในชีวิตที่อาจเพียงพอ แต่เมื่อต้องดิ้นรนให้ได้เรียนหนังสือเพื่อมุ่งไปสู่สิทธิทางสังคม เขาจะกล้าฝันถึงสิ่งอื่นไหม ถ้าความชอบความถนัดเขาคือสายงานที่มีความเสี่ยงและไม่มีหลักประกัน เขายังจะไปต่อไหม สุดท้ายเด็กจะเลือกเดินไปในไม่กี่อาชีพที่มีเส้นทางมั่นคงมากกว่า หลายคนไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นต้องเดินไปตามเส้นที่พ่อแม่ผู้ปกครองขีดไว้ให้ ซึ่งสิ่งที่เด็กต้องแบกรับระหว่างทางคือความเครียดกดดันที่มหาศาล หลายคนทนไม่ไหวก็หลุดไปกลางทาง เรียนไม่จบ หรือมีภาวะทางจิตใจที่จะติดตัวต่อไปจนเป็นผู้ใหญ่ นี่คือสิ่งที่เราควรคำนึงถึงว่าคือการ ‘Drop out’ อีกแบบหนึ่ง หรือมันก็เป็นเส้นทางการศึกษาและเติบโตที่ถูกบิดด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
– “ประสบการณ์การเป็นครูทำให้ผมเห็นว่าเด็กหลายคนต้องเรียนบนความฝันของครอบครัว เพื่อประกันความมั่นคง ประกันสิทธิสวัสดิการในอนาคต สิ่งนี้เองที่พรากความฝันของเด็กๆ จากสมการชีวิตที่ควรเกิดขึ้นไปหมด ฉะนั้นเราต้องพูดถึงว่า แน่นอนที่เด็กด้อยโอกาสควรได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน แต่ในภาพกว้างของการพัฒนาชีวิตมนุษย์ เด็กในครอบครัวระดับกลางหรือค่อนข้างสูงเอง เขาก็ต้องการความมั่นคงในชีวิต ได้รับความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีหลักประกันทางสังคมที่จะช่วยประคอง ว่าถ้าเขาตัดสินใจทำในสิ่งที่ฝันแล้วไม่สำเร็จ หรือวันหนึ่งที่เขาเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจแล้วพบว่าไม่ใช่ เขาจะสามารถเปลี่ยนเส้นทางได้ จะมีตาข่ายขนาดใหญ่ในสังคมที่พร้อมรองรับ”
– เหตุผลนี้นำมาสู่ความคิดเรื่อง ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ที่จะเป็นตัวช่วยพยุงทุกคนในสังคมของเรา ให้ทุกคนทดลองทำสิ่งที่เชื่อที่ฝันได้ โดยที่สุดท้ายเมื่อมันไม่ใช่ เขาจะไม่รู้สึกว่าตนเองล้มเหลว เพราะข้างหลังเขามีสวัสดิการพื้นฐานคอยดูแล ทั้งการศึกษา สุขภาพ ปากท้อง ครอบคลุมความมั่นคงในชีวิต ไม่ว่าคุณจะเลือกไม่เรียนหนังสือในระบบแล้วไปทำอาชีพเกษตรกร อยากเรียนอักษรศาสตร์เพราะต้องการเป็นนักเขียน หรือจะขีดเขียนเส้นทางชีวิตไปทางไหนด้วยตัวเองก็ทำได้โดยผู้ปกครองก็ไม่ต้องกังวล ว่าลูกจะเข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐ นั่นเพราะทุกคนได้รับการดูแลที่ดีแล้ว ผ่านการจัดสรรโดยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
จะไม่มีคำว่าล้มเหลวในชีวิต เพราะทุกความฝันคือการทดลอง
– วันนี้เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่เข้าถึงระบบการศึกษาถือว่ามีจำนวนสูงขึ้น แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่ามันช่วยให้เขาเลื่อนชั้นทางสังคมได้จริงไหม ตอบได้ว่ามีส่วนหนึ่งที่ขยับไปได้ แต่โดยมากก็ยังอยู่ที่เดิม ก็ต้องย้อนกลับมาที่เรื่องสังคมรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งจะเป็นกุญแจไขประตูสู่ทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะวันหนึ่งที่สังคมดูแลสิทธิมนุษย์ขั้นพื้นฐานของทุกคนได้ คนทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็จะกล้าฝัน กล้าทดลอง กล้าเปลี่ยนแปลงเส้นทางชีวิตตนเอง
– “เราไม่จำเป็นแล้วที่จะบังคับให้ใครสักคนต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วเขาต้องอยู่กับสิ่งนั้นตลอดไป มันไม่ควรมีแรงกดดันว่าขณะที่เขาค้นหาตัวเองอยู่นั้นเขาจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก ไม่ใช่ด้วยตนเอง แต่กลายเป็นครอบครัว พ่อแม่ สังคมที่ไปกำหนดกดทับทางเลือกของเด็กเอาไว้ จนสุดท้ายก็สูญเสียสิ่งที่ตนเองมี หรือยอมละทิ้งไปเพื่อความมั่นคงในอนาคต แล้วคนที่ไปไม่ถึงเส้นชัยที่ขีดไว้ก็กลายสภาพเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลว คนเราควรเลือกที่จะเปลี่ยนได้ในทุกช่วงวัยของชีวิต ด้วยสังคมที่มีตาข่ายรองรับ ให้เขาล้มได้ เจ็บได้ ทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้ โดยไม่ต้องกลัวว่าพรุ่งนี้จะไม่มีข้าวกิน หรือแก่ตัวไปแล้วจะดูแลตัวเองยังไง นี่คือสังคมที่ไม่มีใครมองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนสำคัญอีกแล้ว เพราะทางเลือกในชีวิตของคุณสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่แค่ต้องคอยเดินไปตามเส้นทางไม่กี่เส้นที่สังคมขีดเขียนเอาไว้”