“หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กลุ่มเด็กเปราะบาง
-ผมคิดว่าเดิมทีเรามีคนที่ปริ่มจะหลุดอยู่แล้วเยอะ หมายถึงว่าคนที่เข้าถึงแต่ยังไม่มีความมั่นคงพอ เช่น บางทีครอบครัว พ่อแม่ป่วยหรือทำงานไม่ได้ขึ้นมา เด็กก็ต้องออกจากระบบ โควิดเป็นเหมือนตัวเร่งที่ทำให้สถานการณ์การศึกษาเลวร้ายในวงกว้างและรุนแรง จึงเกิดเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาเยอะ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเรามิได้มีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาแบบจริงจัง
-เวลาพูดถึงเด็กกลุ่มไหน ผมไม่ชอบเลข Bottom 40 ผมคิดว่ากลุ่ม Bottom 60 เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะแม้แต่กลุ่มยี่สิบเปอร์เซ็นต์ตรงกลาง ก็เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางค่อนข้างมาก กลุ่มที่หนักจริงๆ คือคนจนกลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ล่าง ภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาในระบบเป็น 16% ของรายได้ครัวเรือน ระดับมหาวิทยาลัยเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ครัวเรือน
-เรื่องเรียนฟรี 15 ปี ก็เป็นมรดกตกทอดมา แต่ความจริงไม่ได้ฟรี ผมคิดว่าถ้าทำเรียนฟรีทั้งหมดอาจใช้งบประมาณเยอะมาก ทุกวันนี้รัฐจ่ายปีละห้าแสนล้านบาทเกี่ยวกับการศึกษา ถ้าจะให้เด็กเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา ก็ต้องเพิ่มงบประมาณเรียนฟรีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
-แต่เราจะพุ่งเป้าไปที่เด็กประมาณ 60% เราสามารถวางเกณฑ์บางอย่างให้ชัดได้ ซึ่งจะทำให้ความช่วยเหลือแต่ละคนได้เพิ่มขึ้น เราอาจนึกถึงการให้สวัสดิการที่เหมาะสำหรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น
หาเจ้าภาพหลัก
-เรามีหน่วยงานที่ทำเรื่องนี้เยอะเกินไป ไม่ใช่ไม่มีนะ เรามี กสศ.ที่เพิ่งตั้งใหม่ มีกระทรวงศึกษาธิการที่ทำมานานแล้ว หลังจากนั้นมีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. นอกจากนี้ก็มีโรงเรียนเทศบาล ศูนย์เด็กเล็กที่อยู่กับ อบจ. อบต. จะเห็นว่ามีผู้เล่นหลายฝ่าย เรื่องที่เกี่ยวข้องกันแต่ไปอยู่ข้ามกระทรวง โอกาสในการทำงานให้เห็นภาพเดียวกันก็แทบเป็นไปไม่ได้
-ถ้าเราเจอเด็กยากจนที่เชียงใหม่ พ่อแม่ทำอาชีพเกี่ยวกับท่องเที่ยว ตอนนี้พ่อแม่ตกงานไม่มีรายได้ เด็กไม่ได้ไปอยู่ที่ศูนย์เด็กเล็ก เรื่องแบบนี้ผมต้องต่อว่ากับใคร เพราะคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้มีเยอะ ทุกคนสามารถโยนความรับผิดชอบได้เหมือนกัน ไปคุยกับคนโน้นคนนี้สิ ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจริงๆ ไม่รู้จะเอายังไง ต้องเอาให้ชัดว่าเด็กที่ตกหล่นทุกคน ต้องรู้ว่าใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้
-เราพูดคำว่าบูรณาการมาเป็นสิบปีแล้ว ถ้าพูดคำว่าบูรณาการแล้วเข้าใจกัน ป่านนี้น่าจะทำเสร็จนานแล้ว แต่วันนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะบูรณการยังไง ผมว่าเราน่าจะนั่งรื้อเรื่องความเป็นเจ้าของในงานให้ชัดกว่านี้ ผมเชื่อว่าถ้าเกิดมีเจ้าภาพคนเดียว ไม่ว่าจะมีคนทำงานกี่คน เราจะคุยกันรู้เรื่อง จะเอากรมไหนสักกรมหนึ่ง หรือจะให้ กสศ.เป็นเจ้าภาพใหญ่ก็ได้นะ แต่ขอให้มีเจ้าภาพคนเดียว แล้วเจ้าภาพคนนี้ก็ไปคุยกับคนอื่น แบ่งงานกัน ก็ค่อนข้างโอเค อย่างน้อยๆ จะได้รู้ว่าควรติดตามหรือเป็นหน้าที่ของใคร
คุณภาพการศึกษา
-ถ้าพูดเรื่องผลประโยชน์จากการเรียน ก็ยิ่งชัดสำหรับเด็กกลุ่มยากจน เพราะทุกวันที่เขาไปเรียนก็คือความลำบากอยู่แล้ว ถ้าออกมาช่วยงานที่บ้านก็ยังมีรายได้ทุกวัน เมื่อมาเรียนอย่างเก่งก็ทำงานพาร์ตไทม์ ช่วยได้ไม่เยอะ เมื่อเขาไม่มีสมาธิเรียนจริงจัง จะไปหวังคุณภาพที่ดีก็ยาก
-พูดกันตามตรงคุณภาพการศึกษาบ้านเราอาการหนัก ไม่ว่าจะคุยกับครู เด็กนักเรียน ผู้ประกอบการธุรกิจ หรือคุยกับใครก็ตาม เรื่องคุณภาพการศึกษาคือเรื่องที่เห็นตรงกันว่าอาการหนักแล้ว ไม่รู้แก้วันนี้ยังทันหรือเปล่าด้วยซ้ำ
-เรื่องพัฒนาคุณภาพการศึกษา การลงทุนกับการศึกษา…ทำยังไงให้เด็กกินอิ่มนอนหลับก่อนมาเรียนหนังสือ ทำยังไงให้หลักสูตรดี ทำยังไงให้ครูสอนเก่งๆ ให้ครูมีใจสอนหนังสือให้เด็ก เวลาสอนต้องมีอุปกรณ์พร้อม แต่เวลารัฐพูดเรื่องการลงทุนจะมีแค่คำเดียวว่า “อุปกรณ์การเรียนการสอน” เพราะการลงทุนของรัฐคือซื้อครุภัณฑ์ กลายเป็นว่าโรงเรียนที่ลงทุนเยอะคือ ซื้อโต๊ะ ตู้ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทสกรีน ซื้อของเหล่านี้แล้วครูที่สอนมายี่สิบปี จะสามารถใช้ของเหล่านี้แปรเป็นคุณภาพการศึกษาได้ยังไง ผมยังนึกไม่ออก
-คูปองการศึกษาที่พยายามทำคือคูปองอบรมครู มีการผลักดันอยู่แป๊บนึง จากนั้นก็มีปัญหา มีปัญหาไม่ได้แปลว่าต้องเลิกใช่ไหม ทุกเรื่องมีปัญหาแต่ก็ไม่เลิก แต่เรื่องนี้กลับเลิกไปเลย
การสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา
–หนึ่ง ทำยังไงให้ไปถึงเด็กกลุ่มเป้าหมาย 60 ข้างล่างให้มากขึ้น อะไรคือสิ่งที่คนจนเขาใช้เยอะกว่าคนรวยในสัดส่วนที่เห็นๆ ก็ควรให้ความช่วยเหลือตรงนั้น จะเป็นการตรงเป้าด้วยตัวมันเอง จะแก้ปัญหาง่ายกว่ากันเยอะ เรื่องการตกหล่นจะหายไปเยอะ
-เวลาพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ คือ มีความเหลื่อมล้ำแบบก่อนการกระจายกับความเหลื่อมล้ำหลังการกระจาย ถ้านึกถึงสังคมเสมอหน้าต้องเป็นความเหลื่อมล้ำหลังการกระจาย คือสุดท้ายแล้วคุณให้ความช่วยเหลือยังไงให้ทุกคนมีโอกาสเท่ากัน ถ้าให้ความช่วยเหลือโรงเรียนรัฐกับเอกชนพอๆ กัน ความเหลื่อมล้ำก็ยังเหมือนเดิม คุณแค่ยกฐานขึ้นมาเฉยๆ แต่หน้าตาความเหลื่อมล้ำ เส้นโค้งก็เหมือนเดิม ไม่กลายเป็นเส้นตรง ต้องดูตรงนี้จริงจัง
-ทำให้โรงเรียนของรัฐและโรงเรียนท้องถิ่นฟรีจริงๆ…ถ้าดูเชิงข้อมูล เด็กกลุ่มจนสุดเขาไม่ได้เรียนโรงเรียนเอกชนแพงๆ หรือโรงเรียนอินเตอร์แน่ๆ หลักประกันที่อาจให้กับคนกลุ่มเปราะบางคือ ทำให้โรงเรียนของรัฐและโรงเรียนท้องถิ่นฟรีจริงๆ และทำให้มีคุณภาพ ตัดเงินอุดหนุนส่วนอื่นเพื่อกลับมาทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น อาจมีข้อครหาว่าสร้างการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมระหว่างโรงเรียนรัฐกับโรงเรียนเอกชน แล้วเอกชนจะอยู่ยังไง ผมคิดว่านี่เป็นเรื่องความกล้าหาญของรัฐที่ต้องคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าหากต้องการช่วยคนจนกลุ่มนี้ก็ต้องให้ทรัพยากรให้แต้มต่อโรงเรียนที่สร้างเพื่อเด็กกลุ่มนี้ให้มากที่สุด
-เงินอุดหนุนต่อหัวเป็นแบบขั้นบันได เงินอุดหนุนต่อหัวต้องมีขั้นต่ำด้วย คือโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ต่อหัวควรจะต้องสูงขึ้น ทำอย่างไรหรือบอกไปให้ชัดว่า ถ้าเป็นศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนมีนักเรียนไม่เกินห้าสิบคน จะได้เงินเท่านี้ ถ้าระหว่างห้าสิบถึงร้อยคนเป็นเท่านั้น กำหนดอัตราต่อหัวให้ชัด หรือใช้วิธีเหมือนขั้นบันไดแบบเก็บภาษี คือ เด็กจำนวน 0-50 คนอัตราหนึ่ง เด็กคนที่ 51-100 ได้อีกอัตราหนึ่ง ทำให้โรงเรียนเล็กก็ได้เงินเฉลี่ยสูงกว่า จะทำให้การเรียนการสอนเกิดความพร้อมมากขึ้น เด็กที่มาเรียนได้เรียนฟรี ไม่ต้องจ่ายจริงๆ และถ้าเป็นเด็กกลุ่มยากจนจริงๆ น่าจะได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐช่วยในเรื่องทั่วไปอยู่แล้วด้วย
–สอง โอนความเป็นเจ้าของให้กับท้องถิ่นมากขึ้น ผมคิดว่ากลไกทุกวันนี้สุดท้ายไปที่ท้องถิ่น โรงเรียนรัฐที่เป็นท้องถิ่นจะใกล้ชิดกว่า จะรู้ว่ามีความขาดแคลนที่นั่งสำหรับเด็กขนาดไหน จะได้เติมทรัพยากรให้เพียงพอ เอาผู้ปกครองมานั่งบอร์ด เพื่อสร้างความรับรู้ตระหนักต่อปัญหาร่วมกัน ถ้าต้องหารายได้พิเศษสนับสนุนโรงเรียนให้กับลูกหลาน ก็พูดคุยกันง่ายขึ้นเยอะ ง่ายกว่าคุยกันระดับประเทศแน่ๆ
การโอนความเป็นเจ้าของให้กับท้องถิ่นเป็นตัวหลักเหมือนกับเรื่องบริการพื้นฐานทั่วๆ ไป ที่ไม่ควรอยู่กับรัฐส่วนกลาง รัฐส่วนกลางควรทำเรื่องใหญ่ระดับประเทศ งานบริการพื้นฐานควรอยู่กับท้องถิ่น คุณไปดูโรงเรียนที่ญี่ปุ่น โรงเรียนที่สังกัดกระทรวงศึกษาเองไม่ได้เยอะ แต่โรงเรียนเขาจะสังกัดท้องถิ่น ก็เป็นรูปแบบการบริหารที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผล-สาม มีทีมในพื้นที่ที่สำรวจเด็กให้เจอ คล้ายคลินิกแก้ปัญหาทางการศึกษา…ซึ่งวิ่งรุกไปเจอเด็กในพื้นที่ต่างๆ เอาทะเบียนราษฎร์มากาง เอาสองอันนี้ประกอบกันเพื่อจะรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ความช่วยเหลือที่จะเข้าไปถึงคนเหล่านี้จริงๆ ควรต้องมีให้อะไรกับเขาเพิ่มขึ้น