จากที่มีการคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ.2573 ประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 60 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง จึงนับเป็นความท้าทายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ ‘คน’ ให้มีคุณภาพ ด้วยการสร้างพื้นที่เมืองให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง
เสวนาเรื่อง ‘บทบาทของอุทยานการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้’ จากงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการออนไลน์ ‘ร่วมสร้างสรรค์เครือข่ายสู่เป้าหมายเดียวกัน’ โดยสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ได้มีการระดมความคิดเกี่ยวกับความสำคัญของ อปท. กับการจัดการศึกษา รวมถึงการค้นหาแนวทางทำงานด้านการศึกษาในระดับท้องถิ่น โดยไม่เพียงมุ่งเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษา แต่ครอบคลุมถึงการจัดการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบ รวมถึงสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม ให้เข้าถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองในทุกช่วงวัยและทุกสถานะ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญของการวางรากฐาน ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ที่ยั่งยืน
‘การศึกษาคือคานงัดกับปัญหาสังคมทั้งหมด’
ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่า การกระจายอำนาจคือหัวใจที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ บนพื้นฐานความแตกต่างตามภูมิสังคม หมายถึงด้วยการบริหารจัดการโดย อปท. ทำให้ท้องถิ่นสามารถผลักดันนโยบายและสร้างนวัตกรรมจากภายใน เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปตามบริบทความต้องการในพื้นที่นั้น ๆ
ปัจจุบันแม้การจัดการศึกษาผ่าน อปท.ยังมีสัดส่วนไม่มากในภาพรวมของประเทศ แต่มีผลสัมฤทธิ์ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จเรื่องการเปิดพื้นที่การศึกษาทางเลือก และด้วยขนาดการบริหารงานที่เล็กทำให้การทำงานมีเอกภาพ ช่วยร่นระยะห่างของผู้กำหนดนโยบายกับชุมชนให้แคบลง การปรับปรุงแก้ไขหรือทดลองแนวทางการพัฒนาใหม่ ๆ ทำได้รวดเร็ว มีความยืดหยุ่นสูง หลายพื้นที่สามารถแบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจและความถนัดได้ เช่น โรงเรียนกีฬา หรือสถาบันฝึกวิชาชีพต่าง ๆ อีกทั้งยังสามารถนำหลักสูตรเฉพาะทางที่กำหนดโดยสมัชชาท้องถิ่นไปใช้ในโรงเรียนได้ทันที
“ท้องถิ่นสามารถสร้างกิจกรรมกลุ่มที่ปรับทุกอย่างเข้าสู่โจทย์ด้านการศึกษาได้ทั้งหมด ขยายปรัชญาการศึกษาเพื่อชุมชนไปในกลุ่มคนทุกช่วงชั้นและทุกช่วงวัยได้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ไม่ทอดทิ้งกลุ่มเปราะบางหรือเหลื่อมล้ำ อาทิ การจัดหัวข้อการเรียนรู้เรื่องการจัดการปัญหาขยะ การจราจร หรือภัยพิบัติ ให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาเมืองไปพร้อมกัน
“เพราะการศึกษาคือคานงัดของการแก้ปัญหาสังคมทั้งหมด ท้องถิ่นจึงต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ขยายออกไปนอกพื้นที่โรงเรียน ด้วยบทบาทหน้าที่ 3 ส่วนในการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่หาความรู้ได้ตลอดชีวิต อย่างแรกคือ ทำให้การศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกัน สองคือยกระดับมาตรฐานการศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ และสามคือพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพสังคม ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มแรงงาน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง ให้การศึกษาทั้งในและนอกระบบตอบโจทย์การมีงานทำ เพิ่มพูนทักษะชีวิตและวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ท้องถิ่นจำเป็นต้องเร่งจัดการอบรมและฟื้นฟูทักษะอาชีพเพื่อให้คนว่างงานได้กลับมามีงานทำใให้เร็วที่สุด”
ศ.วุฒิสารกล่าวสรุปว่า การจัดการศึกษาเพื่อสร้างคุณภาพสังคมไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้คนทุกคนได้รับเท่าเทียมกัน แต่ความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาต้องช่วยลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำ เชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาเมือง เช่นในเขตอุตสาหกรรมการจัดการศึกษาต้องสนับสนุนให้เกิดแรงงานฝีมือจำนวนมาก หรือในพื้นที่เกษตรกรรมก็ต้องมีการส่งเสริมความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร มีความชัดเจนว่าจะพัฒนาการศึกษาอย่างไรให้เป็นไปในทางเดียวกันกับภาคเศรษฐกิจของเมือง
ทุกวันนี้เราอาจได้เห็นแล้วว่าหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีคุณภาพมากขึ้น แต่คำถามสำคัญที่ อปท. จำเป็นต้องขบคิดคือ ‘โอกาส’ หรือ ‘ความเสมอภาค’ ในการเข้าถึงการเรียนรู้เข้าถึงคนทุกคนในพื้นที่แล้วหรือยัง ซึ่งนั่นคือบทบาทที่ท้องถิ่นต้องทำให้เกิดขึ้น
ช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำเสนอเรื่อง ‘การเรียนรู้ของผู้ด้อยโอกาสเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา’ ว่า การพัฒนาการศึกษาระดับท้องถิ่นจำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงลึกช่วยฉายภาพสถานการณ์รอบด้าน ในมิตินี้ กสศ.ได้รวบรวมข้อมูลร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดต่าง ๆ เพื่อสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลนี้จะมีประโยชน์กับ อปท.ในการนำไปพัฒนานโยบายพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่
โดยข้อมูลที่สำรวจได้ครั้งล่าสุดพบว่า มีเด็กเยาวชนในวัยการศึกษาภาคบังคับ (ก่อนวัยเรียน – ม.3) ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาจากปัญหาความยากจนด้อยโอกาส 1.8 ล้านคน / มีประชากรวัยเรียนอายุ 6 – 14 ปี ที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบมากกว่า 4.3 แสนคน จำแนกได้เป็นกลุ่มที่เข้าเรียนช้าและกลุ่มที่เข้าเรียนแล้วออกกลางคัน / มีเด็กเยาวชนทุพพลภาพในระบบการศึกษาประมาณ 2 แสนกว่าคน
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่าช่องว่างของประชากรที่มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษาถ่างกว้างมาก โดยเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีโอกาสเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5 ขณะที่เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่ากลุ่มร้อยละ 20 ที่ยากจนที่สุด มีโอกาสเรียนในระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 90 – 100 ซึ่งเท่ากับช่องว่างห่างกันถึง 20 เท่า เป็นที่มาของความแตกต่างเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่จะสะท้อนไปถึงสถานะเศรษฐกิจสังคมของประชากรในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ครัวเรือนของครอบครัวเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ลดลงเหลือไม่ถึง 1,000 บาทต่อคนต่อเดือน จากเดิมที่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ราว 1,100 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งยังมีสมาชิกครัวเรือนประสบกับภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44 เป็นร้อยละ 73 ด้วยเหตุนี้จำนวนตัวเลขเด็กยากจนพิเศษจึงมีอัตราเพิ่มขึ้นไปที่ราว 3 แสนคนในปีที่ผ่านมา
ย่อโจทย์ปัญหาให้เล็กลงด้วยการทำงานระดับพื้นที่
กสศ.มีแนวทางการทำงานร่วมกับภาคีระดับท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่ง เพื่อย่อส่วนปัญหาการศึกษาขนาดใหญ่มาสู่การทำงานระดับพื้นที่ และสร้างกลไกความร่วมมือที่นำโดย อปท. เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำและพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกกลุ่ม
ข้อมูลที่ลึกระดับชุมชนเสริมด้วยงานวิชาการที่เข้มแข็ง จะเป็นเครื่องมือสนับสนุนท้องถิ่นให้ทำงานได้เร็วและตรงจุด ที่สำคัญคือ ต้องมีการจัดการงบประมาณบนหลักความเสมอภาค มองเห็นรอยต่อช่วงวัยของประชากร และต้องดึงทุกภาคส่วนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
“กสศ.ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน iSEE หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ย่อส่วนข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ให้ใช้ได้บนแพลตฟอร์มแท็บเลตและสมาร์ทโฟน รวมรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กยากจนพิเศษ และเด็กที่ไม่มีตัวตนในระบบการศึกษาทั่วประเทศไทย จำแนกออกตามพื้นที่ ปลีกย่อยในระดับโรงเรียนว่ามีกลุ่มเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษากี่คน พร้อมอัพเดตข้อมูลทุกปี ซึ่งท้องถิ่นสามารถนำไปใช้ได้ทันที
“ส่วนการจัดสรรงบประมาณบนหลักคิดเรื่องความเสมอภาค กสศ.ย้ำเสมอว่า ต้องไม่ใช้วิธีกระจายงบประมาณความช่วยเหลือให้เด็กทุกคนเท่ากัน แต่ต้องมองปลายทางว่าเราจะทำให้เด็กคนหนึ่งบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาทัดเทียมกับเด็กที่มีต้นทุนมากกว่าได้อย่างไร แล้วจัดสรรทรัพยากรลงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับความจำเป็นของเด็กแต่ละคน
“รอยต่อช่วงวัยของประชากร หมายถึงการพิจารณาออกแบบการดูแลช่วยเหลือทรัพยากรมนุษย์ตามช่วงอายุ ในเด็กปฐมวัย คนวัยเรียน วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ ย่อมต้องได้รับการดูแลที่แตกต่างและเหมาะสม ท้องถิ่นต้องสร้างกลไกที่สามารถกระจายหน้าที่ของหน่วยงานเฉพาะทางซึ่งมีความชำนาญต่างกันเข้ามาดูแลคนแต่ละช่วงวัยให้ได้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีในพื้นที่ต่อเนื่องไปถึงการทำงานที่จะช่วยพัฒนาทุนมนุษย์ตามโจทย์ความต้องการแรงงานในแต่ละท้องถิ่นด้วย”
รองผู้จัดการ กสศ. สรุปว่า หากท้องถิ่นเห็นมิติการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงวัยทั้งในและนอกระบบการศึกษาได้แล้ว นโยบายการทำงานและจัดสรรทรัพยากรจะตามมา เช่น เด็กในระบบการศึกษาต้องไปให้ถึงการจบการศึกษาเป็นเป้าหมายแรก และต้องมีงานที่สอดคล้องกับชีวิตรองรับ หรือท้องถิ่นจะสร้างพื้นที่ให้ผู้ที่จำเป็นต้องออกจากการศึกษาก่อนวัยอันควรเข้าถึงการเรียนรู้จากนอกระบบได้อย่างไร และข้อสุดท้ายคือทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้ได้ เพราะการแก้ปัญหาด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองที่ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่อาจทำได้โดยหน่วยงานใดเพียงลำพัง จะต้องมีภาครัฐ เอกชน ธุรกิจท้องถิ่น ประชาสังคม เอ็นจีโอ และประชาชนทุกคนเข้ามาร่วมมือกันพัฒนากลไก สร้างระบบการเรียนรู้ จัดการระบบข้อมูล และมีแผนติดตามการพัฒนาที่มองไปยังภาพระยะยาวของเมืองในอนาคต คือวันที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้อย่างเสมอภาค
พัฒนาสู่ ‘Learning City’ หรือ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ที่ไม่ได้มุ่งเพียงการศึกษาในระบบ แต่ทุกคนต้อง ‘เข้าถึงโอกาส’ เรียนรู้
ดุริยา อมตวิวัฒน์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ความสำคัญของ ‘การเรียนรู้’ หรือสร้าง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ (Learning City) หมายถึงนอกจากการศึกษา เมืองต้องได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันทุกด้าน ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม สุขภาพพลเมือง และสวัสดิการรองรับ และต้องทำให้คนทุกกลุ่มในสังคมเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและมีงานทำ.
ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ฝ่ายบริหารท้องถิ่นต้องมีนโยบายที่ฉายภาพให้ทุกคนในพื้นที่มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมหรือหลักสูตร Upskill และ Reskill ตามทิศทางการพัฒนาภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้พลเมืองมีอาชีพเลี้ยงตนเอง
“การช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่ขาดการเข้าถึงโอกาสคือตัวแปรสำคัญในกลไกการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งแน่นอนว่าในวันนี้ การตั้งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระบบ 100% ยังไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าจะไปให้ถึงตรงนั้น เราต้องค้นหาคนที่ตกหล่นไม่ได้รับการเหลียวแลให้พบ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ให้ได้ในทางใดทางหนึ่ง พร้อมติดตามพัฒนาการต่อไป
“ท้ายที่สุด เป้าหมายของการสร้างเครือข่ายปฏิรูปการศึกษาที่เริ่มจากส่วนท้องถิ่นต้องมุ่งไปที่การพัฒนา ‘คน’ เพราะคนคือผู้สร้าง ผู้เปลี่ยนแปลง และผู้พัฒนาเมืองให้เดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฉะนั้นการที่ท้องถิ่นสามารถทำให้คนคนหนึ่งเข้าถึง ‘โอกาส’ ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ คนเหล่านั้นเองก็จะมาช่วยกันสร้างพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ ให้กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาเรียนรู้ในวิถีทางของตนเองได้”