ผู้จัดการ กสศ.พร้อมหนุนท้องถิ่นจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหาเยาวชนยากจนหลุดระบบการศึกษาภาคบังคับหลายแสนคน ชูฐานข้อมูลและกลไกการทำงาน พร้อมขยายจาก 20 จังหวัดนำร่องสู่ทั่วประเทศ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมเสวนาในงานเปิดตัวโครงการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่จัดขึ้นโดยสถาบันพระปกเกล้า โดยกล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาของประเทศไทยในปี 2564 ว่า ก่อนโควิด-19 ระบาด มีเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในระบบการศึกษาประมาณ 1.8 ล้านคน มีเด็กเยาวชนในวัยการศึกษาภาคบังคับประมาณ 4.3 แสนคนที่ไม่พบรายชื่ออยู่ในระบบการศึกษา และอีก 2 แสนกว่าคนเป็นกลุ่มเด็กพิการ เมื่อสืบข้อมูลย้อนหลังไปประมาณสิบปี พบว่า เด็กเยาวชนที่มาจากครอบครัวรายได้น้อยใต้เส้นความยากจน จะมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียง 5% ขณะที่ในครอบครัวกลุ่มอื่นมีโอกาสศึกษาต่อได้เกือบ 100% ช่องว่างทางการศึกษาเหล่านี้คือปัญหาใหญ่ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวนเด็กยากจนมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอีกมากกว่า 3 แสนคน รวมถึงเด็กจำนวนมากมีปัญหาเรื่องภาวะถดถอยทางการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ทั้งหมดนี้คือเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด โดย กสศ. ได้สร้างระบบข้อมูลสารสนเทศ ISEE ในการบันทึกข้อมูลระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล ที่คณะทำงานองค์กรปกครองท้องถิ่นทุกท่านสามารถเข้าไปดู และนำข้อมูลไปใช้ออกแบบการทำงานเรื่องการศึกษาในพื้นที่ได้
“นับแต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มนักเรียนกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคนในทุกเทอมการศึกษา จนจำนวนของเด็กกลุ่มนี้มีมากกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นภารกิจของเราทุกคนที่จะมาช่วยกันทำให้จำนวนนักเรียนกลุ่มนี้ไม่เพิ่มสูงขึ้นไปอีกในปีการศึกษา 2565 ที่กำลังจะมาถึง
“กสศ. ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงต่าง ๆ สร้างแนวคิดในเรื่อง ‘หลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ที่จะทำให้เด็กเยาวชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยแม้จะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี แต่ด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ ของนักเรียนในกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษ เช่น ความยากลำบากในการเดินทาง อาหาร อุปกรณ์การเรียน และที่สำคัญคือช่องว่างจากช่วงรอยต่อช่วงชั้นทางการศึกษา ซึ่งเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่เด็กจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะยิ่งช่วงชั้นสูงขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามมา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีเด็กหลุดจากระบบในช่วงรอยต่อปีการศึกษา 2563-2564 มากถึง 4.3 หมื่นคน”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษากล่าวว่า จำเป็นต้องมีการดูแลช่วยเหลือเด็กเยาวชนกลุ่มเป้าหมายใน 2 ลักษณะ คือ 1.ประคับประคองกลุ่มเสี่ยงหลุดให้อยู่ในระบบได้ต่อไป และ 2.พาเด็กที่หลุดออกไปแล้วกลับสู่ระบบให้ได้ โดยต้องมุ่งเน้นที่การ ‘ป้องกัน’ ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง
“เมื่อมองในระดับประเทศ เราจะเห็นว่าปัญหามีขนาดใหญ่ แต่เมื่อมองในมุมท้องถิ่น การย่อส่วนปัญหาเพื่อหาทางแก้ไขจัดการจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น เราย่อปัญหาลงมาตามขนาดของจังหวัดและท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ทำได้เพียงพอ และจัดการอย่างยั่งยืนไปสู่อนาคตได้”
“จากเวทีประชุมนานาชาติ All for Education หรือ ‘ปวงชนเพื่อการศึกษา’ ที่เป็นการรวบรวมนักการศึกษาจากทั่วโลก มีการย้ำว่า การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษาโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน โดยการศึกษาต้องเป็นกิจของทุกคน ซึ่งท้องถิ่นจะต้องระดมความร่วมมือจากทุกคนและทุกหน่วยงานในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา”
กสศ. มีประสบการณ์การทำงานต่อเนื่องเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ด้วยกลไกพัฒนาจังหวัด สร้างแนวร่วมบูรณาการทรัพยากรในพื้นที่ให้เพียงพอกับการทำงานที่ยั่งยืน โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป รวมถึงมีระบบข้อมูลที่สามารถนำไปใช้วางแผนและติดตามกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นระบบ
“กสศ. มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนและจุดประกายให้เกิดความร่วมมือในพื้นที่ สร้างกลไก เร่งกระบวนการให้เกิดการทำงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ที่ผานมา เราทำงานร่วมกับ 20 จังหวัดนำร่อง และพร้อมจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งผลที่ได้กลับมาคือตัวอย่างของเด็กเยาวชนต้นแบบ ที่มีแผนการช่วยเหลือดูแลและสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาตามรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทชีวิต หรือได้รับการฝึกทักษะอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ในอนาคต
“การทำงานในพื้นที่ด้วยข้อมูลที่มีพลัง จะทำให้มองเห็นปัญหาในทุกมิติ ระบบ ISEE ของ กสศ. ได้พัฒนาข้อมูลให้นำไปใช้ได้สะดวก จากการรวบรวมข้อมูลโดยครูทั่วประเทศมากกว่า 5 แสนคน มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่จำนวนเด็กนักเรียนยากจน-ยากจนพิเศษในทุกพื้นที่ แสดงความเข้มข้นของพื้นที่ที่มีเด็กยากจนพิเศษจำนวนมาก สามารถดูได้ว่าพื้นที่ใดที่ไม่มีโรงเรียนเหลืออยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของเด็กเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษาเป็นรายตำบล แบ่งออกตามช่วงวัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลสถานการณ์ครัวเรือน ระบุสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย และความต้องการรายคน ทั้งนี้ในช่วงการปิดสถานศึกษา กสศ. ยังได้สำรวจพื้นที่ควบคุมเข้มข้น 29 จังหวัด และดึงข้อมูลออกมาว่ามีเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนและยากจนพิเศษมากกว่า 90% ที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานเชิงพื้นที่ สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
“ระบบสารสนเทศของ กสศ. ยังสามารถแสดงข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาแห่งชาติ หรือบัญชีการศึกษารายจังหวัด ที่สามารถดูรายรับรายจ่ายของทรัพยากรการศึกษาของจังหวัด ทำให้เห็นว่ารายจ่ายด้านการศึกษาของแต่ละจังหวัดใช้ไปในรูปแบบใดบ้าง โดยเฉพาะข้อมูลที่ระบุว่าพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนการศึกษาจำนวนมาก ซึ่งจะมีเด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบหรือหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยกว่าพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณน้อยกว่า ทำให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการระดมกำลังเติมงบประมาณไปยังพื้นที่ที่ห่างไกล เพื่อให้โอกาสทางการศึกษากระจายออกไปได้มากขึ้น”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาระบุว่า ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญในการทำงาน โดยมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นของการทำงานเชิงนวัตกรรม เช่นกลุ่มแสนสิริ ที่ร่วมมือกับ กสศ. ในการนำนวัตกรรมการเงินเข้ามาช่วยในการทำงานเชิงพื้นที่ โดยออกหุ้นกู้มูลค่า 100 ล้านบาท เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน โดยแสนสิริเป็นผู้รับผิดชอบเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับผู้ร่วมลงทุน โดยมีแผนการทำงาน 3 ปี เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายลดจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบในจังหวัดราชบุรีให้เป็นศูนย์ ภายใต้โครงการ Zero Dropout ทั้งนี้ จังหวัดราชบุรีมีจำนวนกลุ่มเป้าหมายราว 10, 000 คน ซึ่งสัมพันธ์กับกรอบเวลาและวงเงินที่เตรียมไว้