EEF Opportunity Day เมื่อ ‘ข้อมูล’ กับ ‘นวัตกร’ มาเจอกัน ความสร้างสรรค์จึงกำลังบังเกิด

EEF Opportunity Day เมื่อ ‘ข้อมูล’ กับ ‘นวัตกร’ มาเจอกัน ความสร้างสรรค์จึงกำลังบังเกิด

SEL เป็นทักษะที่นำไปปรับใช้ได้กับทุกอย่าง

“เพราะเราเป็นคนหนึ่งที่ทำงานด้านการศึกษา จึงสนใจมาพบปะคนที่ทำงานสายเดียวกันในงานนี้ รวมถึงสนใจหัวข้อ SEL เพราะเป็นประเด็นที่กำลังมา งานที่เราทำเกี่ยวกับโค้ดดิ้ง อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับ SEL โดยตรงก็จริง แต่ Soft Skills เป็นเรื่องที่นำไปเล่นได้กับทุกอย่าง ถ้าเรามาทำความเข้าใจอาจจะทำให้เห็นแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริม SEL ในงานของเราด้วย”

ธัญ – อภิญญา หิรัญญะเวช จากทีมเรียนวิธีคิดผ่านวิธีโค้ด บอกเล่าเหตุผลที่มาร่วมงาน Equity Opportunity Day พร้อมกล่าวเสริมว่า เดิมเข้าใจแค่ว่า SEL เกี่ยวกับอารมณ์ของเด็ก แต่ไม่ได้รู้เลยว่ามันทำหน้าที่แบบไหน คิดว่าเวลาพูดถึง SEL คือการทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง แค่นั้น แต่ไม่รู้ว่ามันมีมุมอื่น ๆ ให้สนับสนุนอีก มันเกี่ยวกับพัฒนาการทางวิชาการ หรือมันสามารถแบ่งอารมณ์ย่อยออกได้อีกเป็น 5 ด้าน เป็นต้น ถามว่าตอนนี้มีไอเดียในการทำอะไรหรือยัง ถ้าเป็นชิ้นงานเลยตอนนี้ยังนึกไม่ออก แต่เริ่มมองเห็น รู้แนวทางในการสนับสนุนแล้ว เช่น ความอยากรู้อยากเห็น เพราะในแพลตฟอร์มของเราก็มีคำว่า freedom to fail อยู่ หลักคิดก็คือลองไปเถอะ ให้เด็กลองผิดลองถูกไปก่อน มันสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นอยู่เบา ๆ คิดว่าเราอาจสามารถพา concept นี้ไปต่อได้ คือเริ่มเห็นความเชื่อมโยงบางอย่างที่เราจะสนับสนุนได้

เช่นเดียวกับ ตูน – ทรงกลด แสงวรทิพย์ เพื่อนร่วมทีมที่มองไปในทิศทางเดียวกัน โดยบอกว่าการได้มาในวันนี้ สิ่งที่ได้กลับไปคือการได้เจอผู้คนที่มีพลังบวกเยอะมาก ซึ่งเป็นผู้คนที่อยู่ในวงการเดียวกันใช้ภาษาเดียวกันคุยกัน อีกส่วนคือทำให้เข้าใจ SEL มากขึ้น เราอาจไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องนี้มากนัก แต่คิดว่าน่านำไปประยุกต์ใช้ในหลายด้านได้

พ่อแม่คือส่วนที่สำคัญในการสร้าง SEL

“ส่วนตัวมีไอเดียบางส่วนที่ชัดเจนอยู่แล้ว พอได้ฟังเพิ่มก็คิดว่าน่าจะนำไปปรับใช้ได้ แต่ยังอยากได้การอบรมเกี่ยวกับ SEL มากกว่านี้เพื่อนำไอเดียมาทำงานได้ต่อ เพราะในครั้งนี้ยังใช้เวลาในการพูดคุยกันไม่มากนัก และ SEL ยังสามารถตีความได้กว้าง และยังต้องการการนำมาคิดร่วมกันในการหาแง่มุมที่สอดคล้องกับบริบทของบ้านเรามากขึ้น เพราะด้วยแนวคิด SEL อาจมาจากมุมมองของตะวันตก ซึ่งในโครงสร้างสังคมของเราอาจแตกต่างกัน เช่นลักษณะความสัมพันธ์ของครอบครัว หรือความเกี่ยวข้องกับพ่อ แม่ ลูก ยังมีเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม มีสังคมแบบชนบทและมีตัวเมือง ถ้ามีรายละเอียดการทำความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้นจะยิ่งดี เพราะตัวเราอาจมีส่วนที่ยังไม่เข้าใจและยังใหม่กับเรื่องนี้ จะได้นำไปสู่การออกแบบนวัตกรรมที่ตรงเป้ามากขึ้น” 

วิญญู ศรีศุภโชค จาก Volunteer English Bangkok บอกถึงความตั้งใจ

“ด้วยชื่อของงานคล้ายกับห้องปฏิบัติแล็บก็เลยอยากมา ทำให้ได้เจอทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่าที่มีความคิดคล้าย ๆ กัน มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน และหัวข้อของทาง กสศ. ที่ต้องการช่วยเหลือคนหลายกลุ่มทั้งล่าง บน เราก็เห็นว่าตรงกับเรา เราอยากช่วยเพราะทำงานด้านการศึกษาอยู่แล้ว ก็ได้ไอเดียไปต่อยอดการทำงานจากพี่ ๆ น้อง ๆ ที่มาแล็บในวันนี้ด้วย

“ตอนนี้มีไอเดียที่อยากทำบ้างแล้วครับ แต่ยังไม่แน่ใจว่าด้วยเงื่อนไขของเวลาว่ามีความพร้อมแค่ไหน อยากทำในส่วนที่เกี่ยวกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง คิดว่าพ่อแม่เป็นส่วนที่สำคัญในการสร้าง SEL ผมวางโครงไว้ว่าน่าจะเป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่การที่เด็ก ๆ ต้องทำงานบ้านและช่วยเหลือสังคมเป็น เพื่อให้เขาเติบโตมาอย่างใส่ใจคนอื่นรวมถึงตัวเขาเอง”

ได้ไอเดียนำไปใช้ทำความเข้าใจน้องหูหนวกได้มากขึ้น

“สนใจงานครั้งนี้จากคำว่า Equity ค่ะ เพราะเราทำงานเรื่องนี้ เป็นโครงการเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กหูหนวกที่เรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พอได้มาฟังเรื่อง SEL ก็ชอบ คือเราอาจไม่ได้อยู่ในภาคส่วนที่ทำงานด้านการศึกษาโดยตรงแต่มีความสนใจ คิดว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานได้ อย่างน้อง ๆ ที่หูหนวก ถ้าเรามีการ์ดให้แสดงความรู้สึกก็อาจจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าน้อง ๆ เขากำลังคิดอะไร เริ่มมองเห็นไอเดียในการนำไปใช้มากขึ้น” สุสลีนา มูเล็ง  จากโครงการ Deafabillity กล่าว

“วันนี้ได้มาแลกเปลี่ยนกับคนอื่นก็ได้ฟังไอเดียทางการศึกษาที่น่าสนใจเยอะเลย ชอบที่คนหนึ่งบอกว่า เราควรนำ SEL เข้าไปอยู่ในแต่ละหลักสูตร คือไม่ใช่เพิ่ม แต่เสริมเข้าไปใหม่ แต่ทำให้ครูเห็นความสำคัญและมีความคุ้นชินกับ SEL ก็คิดว่าจะนำกลับไปคุยกับเพื่อน ๆ ในโครงการว่าจะปรับใช้กับงานของเราอย่างไรต่อไป”