เมื่อเอ่ยถึง “ผลิตภัณฑ์ชุมชน” หลายครั้งอาจจะนึกถึงสินค้าที่ยังขาดอะไรไปสักอย่าง…
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กันระหว่างผู้ผลิตและผู้เชี่ยวชาญ การลงพื้นที่โดยผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้ได้มาตรฐาน
“ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน” ไม่ได้เป็นเพียงทุนที่ให้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปขายเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่ตรงจุดและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังต้องการเร่งด่วน เนื่องจากหลายชุมชนมีทั้งแนวคิดที่ควรส่งเสริม หรือผลิตภัณฑ์ที่เคยเป็นที่นิยม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดความยั่งยืนได้
ผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้ง 20 โครงการนี้ จึงไม่ได้มีเพียงคุณภาพที่ได้มาตรฐานและผ่านการพัฒนาอย่างตั้งอกตั้งใจเท่านั้น แต่คือเรื่องราวการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน การปรับตัวเรียนเรื่องการตลาดเพื่อพัฒนาทรัพยากรของบ้านเกิดให้มีมูลค่าสูงที่สุด และใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต
กระบวนการนี้ยาวนาน…ผ่านการพูดคุย ถกเถียง เพื่อให้เห็นความต้องการของคนทำงานจริง และศักยภาพที่ชุมชนทำได้ร่วมกัน จนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าภาคภูมิใจและทำให้คนในชุมชนดูแลตัวเองได้อย่างยั่งยืน
“ผลิตภัณฑ์เด่น” จากทั้ง 20 โครงการนี้…จะมีอะไรกันบ้าง
Little Big Market พร้อมเปิดตลาด
ชวนไปช้อป ไปแชร์กันได้เลย
1
“ผ้าไหมแพรวา”เป็นสัญลักษณ์ของชาวผู้ไท ภูมิปัญญานี้ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษและได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นเพียงแค่ผ้าไหมธรรมดาเท่านั้น เพราะภายใต้ลวดลายที่งดงามโดดเด่นนั้น เต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และองค์ความรู้การทอผ้าไหม เช่น การทอด้วยการเก็บลายจากการเก็บขิดและการจก
แต่สำหรับบางคนเมื่อพูดถึงผ้าไหมอาจจะนึกถึงผ้าโบราณที่ดูไม่ทันสมัย ทำให้ยากต่อการขายและเผยแพร่อัตลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ในลายผ้า ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จึงร่วมมือกับชุมชนผู้ไทในพื้นที่ตำบลบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ พลิกฟื้นภูมิปัญญานี้ร่วมกัน กระบวนการพลิกฟื้นครั้งนี้ นอกจากจะรวบรวมความรู้ให้เป็นระบบเพื่อง่ายต่อการเรียนรู้และการปรับปรุงแล้ว ยังได้มีการพัฒนาเทคนิคทั้งการผลิตและการทำตลาด โดยการนำลายผ้าไหมแบบเดิมมาปรับโฉมใหม่ให้เฉิดฉายบนผลิตภัณฑ์อื่นๆ นอกจากผ้าทอแบบเดิม เช่น กระเป๋า ผ้าพันคอ และอื่นๆ อีกมากมาย
ผลลัพธ์คือ “ผ้าไหมแพรวา” ซึ่งเป็นจิตวิญญาณและความรู้ของชาวผู้ไท กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีชีวิตชีวา หล่อเลี้ยงชีวิตในชุมชน และอวดโฉมต่อสายตาคนรุ่นใหม่ได้อย่างภาคภูมิ
BY
โครงการพัฒนาและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือของชุมชนผู้ไท
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ผ้าไหมแพรวา ภูมิปัญญาชาวผู้ไท
2
แม้ผู้คนในชุมชนจะทำการประมงมาอย่างยาวนาน มีความรู้ความชำนาญในด้านการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปูเป็นอย่างดี แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปคือการรวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรง และส่งต่อ “รสชาติความอร่อย” ของท้องทะเลให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น
จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาธุรกิจชุมชน ให้ความรู้กับชาวประมงดั้งเดิม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการตลาด เพิ่มมูลค่าของสินค้า และสร้างความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และยังสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมภายในชุมชน ด้วยการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้การทำประมง ณ บ้านเกิด ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าในอาชีพของปู่ย่าตายาย และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน
การเพิ่มศักยภาพทางการตลาดซึ่งเป็นโจทย์ยากนั้น สามารถสำเร็จได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างคนสองรุ่น คนรุ่นใหม่ดูแลเรื่องการใช้แอปพลิเคชันในการซื้อขายออนไลน์ เพิ่มช่องทางในการขายและนำเสนอสินค้า ดูแลเรื่องการขนส่ง ปล่อยให้หน้าที่ออกล่าอาหารจากท้องทะเลเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ของรุ่นพ่อแม่ที่เราเรียกว่า “ชาวประมงรุ่นใหญ่” นี่จึงเป็นที่มาของ “รสชาติความอร่อย” ที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องลองชิมสักครั้ง
BY
โครงการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อสังคมอีคอมเมอร์สและโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนโซนน้ำเค็มในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
มูลนิธิสถาบันทรัพยากรชายฝั่งแห่งเอเชีย จังหวัดนครศรีธรรมราช
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ มิสเตอร์ Crab
3
หลายธุรกิจได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 กันถ้วนหน้า รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน แต่ในเมื่อไม่ได้มีเงินทุนมากมาย เพื่อเอาชนะวิกฤตที่ถาโถมเข้ามา สิ่งที่นำมาสู้ได้ก็คือ “ไอเดีย”และ “ความตั้งใจจริง”
ที่นี่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม นักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาดูวิถีชุมชนเชิงเกษตรและอุดหนุนสินค้าอย่างไม่ขาดสาย สร้างรายได้ไม่น้อยให้แก่คนในชุมชน แต่เมื่อเกิดวิกฤต นักท่องเที่ยวลดน้อยลงจนแทบไม่มี จึงต้องปรับตัวรับวิถี New Normal
โจทย์คือเมื่อคนไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ ทางชุมชนก็จัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และโจทย์ต่อมาคือคนไม่กล้าใช้เงิน ทางชุมชนก็เพิ่มทักษะบุคลากร เพื่อช่วยกันพัฒนาสินค้าให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การที่ชุมชนได้เข้าร่วมอบรมกับ กสศ. ยังช่วยสร้างความรู้ ขยายพรมแดนการขายไปยังช่องทางออนไลน์ เพิ่มการเข้าถึงสินค้าให้มากขึ้น นอกจากการรอออกร้านเพียงอย่างเดียวอย่างที่เคยทำมา
หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของโครงการเป็นคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะเห็นการพัฒนาเพื่อให้ชุมชนดูแลตัวเองได้ และสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง…ซึ่งนั่นหมายความว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องจับตาดูกันต่อ เพราะอย่างที่รู้กันดี…คนรุ่นใหม่มักมาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ เสมอ
BY
โครงการพัฒนาศักยภาพและฟื้นฟูกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตรบ้านมหาสอน
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนเกษตรบ้านมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ วิสาหกิจชุมชน ท่องเที่ยววิถีชุมชนเชิงเกษตร บ้านมหาสอน
4
สำหรับคอกาแฟ กระบวนการวิเคราะห์รสชาติกาแฟหรือ Cupping เป็นสิ่งสำคัญมาก และความโดดเด่นคือกาแฟบ้านเลาวูได้คะแนนสูงถึง 85 คะแนน จัดเป็น Specialty Coffee หรือกาแฟระดับพิเศษ
www.coffeepressthailand.com อธิบายคำว่า Specialty Coffee ไว้ว่า “ที่มาของ Specialty Coffee นั้นเกิดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่คนนิยมดื่มกาแฟกันมาก และเมื่อ Demand ความต้องการบริโภคกาแฟสูงขึ้นทุกวัน จึงมี Supply ‘กาแฟคุณภาพต่ำเยอะ’ จนนักชิมกาแฟทนไม่ไหว ต้องก่อตั้งสมาคมกาแฟพิเศษสหรัฐฯ (SCAA) ขึ้นเพื่อส่งเสริมให้พัฒนาการปลูก การคั่ว การผลิตเมล็ดกาแฟที่ดีขึ้น และให้คะแนนร้านกาแฟ เมล็ดกาแฟ รวมถึงพัฒนาตลาดกาแฟให้ดีขึ้น ด้วยกระแส Specialty Coffee ที่มาแรง ตลาดในเมืองไทยจึงเป็นที่น่าสนใจ ผู้คนเริ่มรับรู้เกี่ยวกับ Specialty Coffee มากขึ้นและอยากจะชิมกาแฟประเภทนี้โดยยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้น เพราะความพิถีพิถันในการผลิตกาแฟนี้ ดึงดูดเหล่าคอกาแฟทั้งหลายที่ปรารถนาอยากชิมรสสัมผัสที่แตกต่าง มีเอกลักษณ์ และรัญจวนใจ”
เมื่อย้อนไปที่เส้นทางกว่าจะได้เป็น Specialty Coffee หรือกาแฟระดับพิเศษ สราวุฒิ ภมรสุจริตกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู เล่าว่า
“ได้มาเจอโครงการของ กสศ. ทำให้หันกลับมามองชุมชนว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้าง ก็เห็นว่าบ้านเรามีกาแฟ มีพื้นที่ที่ดี เพราะตั้งอยู่บนพื้นที่สูงกว่าระดับทะเล 1,400 – 1,600 เมตร ที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟอาราบิก้ามากที่สุด จึงจุดประกายให้เราอยากส่งเสริมการปลูกและแปรรูปกาแฟแบบครบวงจร เพื่อให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
การผลิตกาแฟให้ได้ผลผลิตคุณภาพดี ตั้งแต่การปลูกและการแปรรูปกาแฟนั้น ทางโครงการได้จัดอบรมแก่ชาวบ้านอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ มีทั้งอาจารย์จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยศาสตร์ และชาตรี บุญช้างเที้ยน ที่ได้รับรางวัลที่ 1 และที่ 4 จากการแข่งขัน Thailand Coffee Fest และเคยได้รับการประมูลกาแฟในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 25,000 บาท เป็นวิทยากร
“ต้นกาแฟ” ซึ่งเป็นทุนทรัพยากรในชุมชน นอกจากจะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแก่ชาวเลาวูแล้ว การที่ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟมากขึ้น ยังช่วยสานฝันการฟื้นคืนดอยหัวโล้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง
BY
โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย
วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ Laowu coffee กาแฟเลาวู วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู
5
หลายชุมชนมีผลิตผลทางการเกษตรมากมาย แต่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตก ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอได้ ทางออกคือ…การสร้างเครือข่ายกับสถาบันความรู้ในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการผลิตหรือการแปรรูปใหม่ๆ ที่จะทำให้เกิดมูลค่าที่มากขึ้น และสามารถขายได้มากขึ้น
และนี่คือภารกิจของโครงการพัฒนาอาชีพคู่ขนาน ฯ ซึ่งตั้งใจจับมือเดินไปด้วยกันกับชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางเกษตร ด้วยงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ผสมผสานกับคุณค่าจากธรรมชาติดั้งเดิม
กระบวนการเริ่มต้นที่การรวมตัวกันของคนในชุมชน รับฟังความคิดเห็นของเกษตรกร เพื่อมองหาแนวทางการแก้ปัญหา โดยมีปลายทางที่มองเห็นร่วมกันคือ ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้
การส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรภายใต้ชื่อ “เกษตรกรมีตังค์” คือการให้คำแนะนำเพื่อสร้างโมเดลว่า เกษตรกรมีตังค์ คือ “คนที่มีเงินพอใช้ไปจนกว่าถึงรอบรายรับถัดไป ก่อหนี้เท่าที่จำเป็น ออมทันทีเมื่อมีรายได้” และยังให้ความรู้ลึกลงไปถึงเรื่องมายาคติและความยากลำบากในการทำการเกษตรเป็นอย่างไร ที่ทึ่งมากจนต้องบอกต่อคือ ชาวบ้านที่นี่เขามีความรู้ถึงขั้นการตั้งสูตรสบู่ด้วยเวบคำนวณสูตรด้วยนะ เมื่อพูดถึงสินค้า ทั้งหมดถูกผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติที่เพาะปลูกในพื้นที่ เช่น มะนาว มะพร้าว ใบชา และสมุนไพรต่างๆ นำมาแปรรูปเป็นสบู่ธรรมชาติแบบกวนเย็น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อผิวและสิ่งแวดล้อม
BY
โครงการพัฒนาอาชีพคู่ขนานการเกษตรรากฐานครบวงจรให้กับชุมชนในพื้นที่
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ เกษตรคู่ขนาน – CAPD
6
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากความดีเป็นที่ตั้ง ชาวบ้านได้พากันมาปฏิบัติธรรม ณ ‘สถานธรรมไท่ซิวเอวี๋ยน’ ซึ่งตั้งขึ้นจากแรงศรัทธาของครอบครัวไพรเกษตร
เมื่อได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน จึงพบว่าสิ่งที่ทำให้ชาวบ้านหลายคนทุกข์ใจ คือ การขาดรายได้ ผลิตผลการเกษตรไม่สร้างรายรับมากพอที่จะเลี้ยงดูคนในครอบครัวได้
“วิสาหกิจชุมชน” จึงได้ก่อร่างขึ้น เพื่อผลักดันเรื่องการทำการเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ อันเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน
องค์ความรู้จากวิทยากรทำให้เกิดการกระจายงานกันทำ เนื่องจากในชุมชนมีผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ก่อให้เกิดเป็น “เครือข่ายเกษตรกร” ที่แต่ละคนจะมาแบ่งปันความรู้ด้านที่ถนัด เช่น ความรู้ด้านพืชพันธุ์ การเพาะปลูก การทำเกษตรแบบอินทรีย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นของกิน ของใช้ ในรูปแบบต่างๆ มากมาย
ภารกิจนี้ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย คนว่างงาน โดยเน้นการ ‘ใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ซึ่งหมายถึงการเฟ้นหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้าร่วมโครงการ และยังสะท้อนถึงการทำงานแบบภาคีเครือข่ายร่วมกับชุมชน
เมื่อว่างเว้นจากงานหลัก เข้าสู่การเรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิตเกษตรอินทรีย์ให้มีมูลค่า ผลที่ได้คือ การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ สร้างการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และยังทำให้เกิดวงจรการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคอย่างเรานับว่าโชคดี เพราะผลจากการทำงานหนักครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ มีความหลากหลาย…เลือกช้อปได้สบายตามเงินในกระเป๋ากันได้เลย
BY
โครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ครบวงจร
วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ เพจพอใจ ในวิถีพอเพียง
7
“ข้าวเหนียวอินทรีย์” เป็นหน้าตา เป็นต้นทุนที่ดีของจังหวัดสกลนคร แต่ด้วยความคุ้นชินเดิม เกษตรกรยังคงขายข้าวเหนียวได้ในราคาต่ำ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมชุมชน และ ‘บูรณาการ’ ความรู้ทั้งเรื่องการผลิต การตลาด และการสื่อสาร เพื่อช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้ข้าวเหนียวอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ ซึ่งล่าสุดโครงการได้ฯ ขยายช่องทางการตลาดให้มากขึ้น เช่น Facebook Shopee หรือ Lazada รวมถึงร้านค้าในชุมชน
กลยุทธ์สร้างงานตามความถนัดของแต่ละคน เช่น แปรรูปข้าวเหนียวเป็น “ข้าวต้มมัดญวน” และ “mini ข้าวโป่ง” จนทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 – 1,000 ต่อคน
เพ็ญธิยา เดชภูมิผู้ดูแลเพจ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ บอกว่าโครงการนี้ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดของเธอว่าการตลาดออนไลน์ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
“จากเดิมที่เราไม่มีความกล้าที่จะทำเรื่องการตลาดออนไลน์เลย แม้แต่จะกดเข้าไปตอบลูกค้าก็ยังไม่กล้า แต่ตอนนี้สามารถทำได้ทุกอย่างตั้งแต่ตอบลูกค้า สร้างโพสต์ถ่ายรูปขายของ และที่สำคัญรู้สึกว่าตัวเองมีความรอบคอบมากขึ้น จะต้องถ่ายรูปเก็บหลักฐานทุกขั้นตอนไว้เพื่อกันการเกิดปัญหา แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่ก็ไม่ได้กระทบต่อยอดการสั่งซื้อสินค้าของกลุ่มแต่อย่างใด”
ด้วยกระบวนการการเรียนรู้พร้อมกันกับชุมชน รวมถึงการอบรม จัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องเมล็ดพันธุ์ หลักสูตรการแปรรูป หลักสูตรออนไลน์ และหลักสูตรเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ ‘ข้าวเหนียว เดอgrill’ สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
BY
โครงการพัฒนาทักษะผู้ประกอบการที่ใฝ่เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรมชุมชน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ ข้าวเหนียว เดอgrill
8
บางครั้งการที่ชุมชนทำงานเพียงลำพัง อาจจะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีได้เพียงพอ เพราะปัญหาเรื่ององค์ความรู้ กำลังคน หรือวัตถุดิบในท้องถิ่น แต่หากขยายเครือข่ายและมองให้ไกลออกไป ไม่แน่ว่าอาจจะได้เห็นทางออกก็เป็นได้
นี่คือเส้นทางที่มูลนิธิวัชระดวงแก้วได้ค้นพบด้วยตัวเอง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปในแบรนด์ ‘บ้านรักษ์ริมยม’
ด้วยความร่วมมือของภาคีเครือข่าย หมู่บ้านวังทอง อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และหมู่บ้านดงละคร อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครนายก ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป เช่น แชมพูสมุนไพร 9 ชนิด ลูกประคบ และยาหม่องผักเสี้ยนผี ที่ประยุกต์ภูมิปัญญาดั้งเดิม ภายใต้แนวคิด “พาหัวใจใกล้กัน” ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ผลคือวิน-วิน ทั้งสองฝ่าย เพิ่มรายได้ให้ทั้งสองชุมชน และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างครบถ้วน
BY
โครงการพัฒนาทักษะอาชีพการรูปจากสมุนไพรพื้นบ้านใกล้ตัวเพื่อเพิ่มรายได้ของกลุ่มญาติธรรม
มูลนิธิวัชระดวงแก้ว จังหวัดนครนายก
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ Sukhothai Herb
9
นี่คือเรื่องราวของวัฒนธรรมพื้นถิ่น ไปสู่การสร้างอาชีพจากฐานภูมิปัญญาที่ถูกหลงลืม….
เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า เกิดขึ้นโดยคนหนุ่มอย่าง ‘อาทู่’ ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ผู้ก่อตั้ง Athu Akha Home พิพิธภัณฑ์ในเมืองเชียงราย ที่เป็น ‘ลานวัฒนธรรม’ สำหรับพี่น้องชนเผ่าและคนเมืองได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และวัฒนธรรม
“วิถีชีวิตความเป็นอ่าข่า” คือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ไปถึงรากเหง้า เพื่อที่จะหาแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมให้พี่น้องชาวอ่าข่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยไม่สูญเสียตัวตนไปด้วย
เมื่อมีองค์ความรู้จากการวิจัยและทำงานร่วมกันระหว่างพี่น้องชนเผ่าและหน่วยงานต่างๆ แล้ว ก้าวต่อไปก็คือการสร้างรายได้จากสิ่งที่มี สิ่งที่เป็น โดยนำเอา ‘ทุนเดิม’ เป็นฐานความรู้ ทั้งเรื่องประเพณี วัฒนธรรม อาหารการกิน การแพทย์ชนเผ่า เพื่อถางทางไปสู่การสร้างอาชีพ
พี่น้องเครือข่ายหมู่บ้านอาข่าทั้ง 115 คนจาก 5 หมู่บ้าน ได้เห็นว่าภูมิปัญญาที่ถูกแปรเป็นสินค้าและองค์ความรู้ เช่น งานจักสาน ผ้าทอ การแพทย์ชนเผ่า หรือแม้แต่อาหารการกินนั้น มีคนให้ความสนใจไม่น้อย พวกเขาได้รับการส่งเสริมและถูกมองเห็น สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องเป็นแรงงานพลัดถิ่นอีกต่อไป
แต่การสร้าง ETHNIC MARKET ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ แผนต่อไปของ Athu Arkha Home คือการขยายช่องทางการขายออนไลน์ รวมถึงพัฒนาศักยภาพลานวัฒนธรรมให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่อไป
BY
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดในระบบเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาติพันธุ์เชียงราย
เครือข่ายวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยชนเผ่าอ่าข่า
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ AthuAkhahome
10
การอนุรักษ์อาจไม่ได้หมายถึงการรักษารูปแบบเดิมเสมอไป อีกหนึ่งความหมายของการอนุรักษ์อาจหมายถึง “การต่อยอด” เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสิ่งที่มีอยู่ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย
“เครื่องปั้นดินเผาลายเวียงกาหลง” หรือที่เรียกว่าเซรามิก ประเภทสโตนแวร์ มีการใช้น้ำเคลือบผสม “แก้วโป่งข่าม” เข้าไปในผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นแก้วศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชื่อเสียงเรื่อง ช่วยให้ผู้ที่มีในครอบครอง แคล้วคลาดปลอดภัย ช่วยป้องกันเหตุอันตรายต่างๆ ตลอดจนภูตผีปีศาจ อีกทั้งยังสามารถทำให้เกิดโชคลาภ เป็นสิริมงคล ความสุข และความเจริญก้าวหน้าในชีวิต
สินค้าอย่างแก้วน้ำ กาน้ำชา แก้วลายมงคล สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยลวดลายที่เขียนด้วยมือลงบนผลิตภัณฑ์ ซึ่งล้วนมีความหมายที่เป็นมงคลแก่ชีวิต
ทุกชิ้นเป็นงานปั้นแบบโบราณจากช่างฝีมือภายในชุมชน วิจิตรงดงาม สะดุดตาผู้พบเห็น และเพิ่มความนิยมให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นอันเก่าแก่ทรงคุณค่าไปพร้อมกัน
BY
โครงการฟื้นฟูทักษะการปั้นและเขียนลายเวียงกาหลงสู่อาชีพที่ยั่งยืน
วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ เครื่องปั้นลือนาม งดงามเวียงกาหลง
11
บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการอาจไม่ใช่การช่วยเหลือแบบให้เปล่า แต่เป็นการให้องค์ความรู้และช่องทางการทำหากิน เช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ชุมชนบ้านโคกขาม
ที่นี่สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติมาเนิ่นนาน เมื่อได้รับความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้การแปรรูปผลิตภัณฑ์มีความหลากหลายมากขึ้น ผ้ามัดย้อมที่อาจเป็นของพื้นๆ ถูกมองด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ชาวบ้านเข้าใจว่าด้วย Story หรือเรื่องเล่า การสร้างมูลค่าของสินค้าจะตามมา พวกเขาพยายามสร้าง Content สนุกๆ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมกับลูกค้า
เช่น การบอกเล่าเรื่องราวกว่าจะเป็นผ้ามัดย้อม ผ่านประโยคเรียบง่ายว่า “ผ้าดิบธรรมดา” 1 ผืน ถ้าใช้การมัดให้เป็นศิลปะ ผสมกับสีธรรมชาติ ก็เป็นได้มากกว่าผ้าดิบนั่นคือ “ผ้ามัดย้อม” การรวมตัวกันเพื่อสร้างผลงานของชุมชน ยังทำให้เกิดการจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เกิดเป็นเครือข่ายที่นำพาความภาคภูมิใจ รายได้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนอย่างยั่งยืน
BY
โครงการฝึกอบรมอาชีพการทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน
บริษัท M&T ผ้ามัดย้อมบ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ M&T ผ้ามัดย้อม บ้านโคกขาม
12
“มีสินค้าดีๆแต่ไม่สามารถนำเสนอให้ผู้ซื้อรับรู้ได้” เนื่องจากขาดความเข้าใจเรื่องการนำเสนอและช่องทางการขาย เรื่องนี้น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของวิสาหกิจชุมชนหลายแห่ง
โครงการพัฒนานวัตกรรม Platform สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จึงตั้งใจเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
ด้วยความตั้งใจที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่ง และทำการตลาดเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าทางโครงการฯจึงเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลสินค้าเด่น ๆ จากกลุ่มแพรับซื้อสัตว์น้ำต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบสดและผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า
สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจะติดตลาดได้ ด้วยความร่ำลือเรื่องความสดใหม่ โจทย์ใหญ่จึงคือทำอย่างไรจึงจะสามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้รวดเร็วที่สุด คนในชุมชนมีหน้าที่พัฒนาอาหารทะเลสดและแปรรูปให้ได้มาตรฐานความสดและความปลอดภัย สามารถตั้งราคาสินค้าที่เป็นธรรมและเหมาะสมกับคุณภาพได้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการผูกขาดจากพ่อค้าคนกลาง เรียกได้ว่าครบถ้วนทักษะการเป็นผู้ประกอบการในศตวรรษที่ 21 เลยจริงๆ
BY
โครงการพัฒนานวัตกรรม Platform สินค้าชุมชนในเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน
มูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี จังหวัดสตูล
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ ร้านเกลอกัน เกลอเล
13
ก่อนหน้านี้คนในชุมชนตำบลป่าสัก ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะการทำนาและทำสวนลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด โดยใช้สารเคมีซึ่งเป็นอันตราย และมีการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หน้าดินเสื่อมโทรม และเกิดผลกระทบต่อความหลากหลายของระบบนิเวศในท้องถิ่น
เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือ ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อรับรู้ปัญหา อย่างเช่นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติ ได้สำรวจจนพบว่าต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำการเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมี และเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการ
การลงพื้นที่ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติ พบว่าแม้จะยังมีปัญหาใหญ่สองเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็มีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนา เพื่อต่อยอดในทักษะอาชีพต่างๆ ได้ อีกทั้งชุมชนยังตั้งอยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรม มีกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากที่สนใจอาหารอินทรีย์หรืออาหารเพื่อสุขภาพ
โครงการฯ เริ่มด้วยการให้ความรู้เพื่อยกระดับเป็นชุมชนเกษตรอินทรีย์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานนอกระบบและผู้ด้อยโอกาส
วัตถุดิบในท้องถิ่นถูกแปรรูปให้กลายเป็นทั้งของกินและของใช้ เช่น ข้าวเกรียบมะมื่น ข้าวเกรียบจิ้งหรีดที่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมไปถึงสินค้าหัตถกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเรื่องการนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้นอีกด้วย
By
โครงการยกระดับชุมชนเกษตรอินทรีย์บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมตลอดห่วงโซ่ของชุมชน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรธรรมชาติ ตำบลป่าสัก จังหวัดลำพูน
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ คนรักข้าวเกรียบ
14
ในฐานะที่มีพื้นฐานเรื่องสร้างผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทอาหาร และพัฒนาไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์สำหรับเยาวชน กลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง จึงออกแบบหลักสูตรสำหรับพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านเพื่อสืบสานภูมิปัญญาของชุมชน
เริ่มต้นด้วยการนำเอาภูมิปัญญารวมเข้ากับการท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยเชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ ในชุมชนได้แก่ ศาลพ่อพญาช้างนางผมหอม บ้านโบราณเรือน กลุ่มทอผ้าของผู้สูงอายุ ปราสาทฟางและสวนพืชไทย ให้กลายเป็นโครงการ Banana Land ดินแดนกล้วย ๆ แหล่งเรียนรู้ที่ให้ผู้มาเยือนได้สนุกไปกับภูมิปัญญา ได้ประโยชน์ทั้งด้านการอนุรักษ์และสร้างรายได้
นอกจากนี้ยังออกแบบหลักสูตรสำหรับพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะทักษะการทอผ้าฝ้ายและการจักสาน เช่น ผ้าฝ้ายทอมือจากแหล่งปลูกฝ้ายธรรมชาติ ตะกร้าหวายอเนกประสงค์ และกระเป้ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายในท้องถิ่นอีกด้วย
By
โครงการสร้างงานและอาชีพในชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด
กลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง จังหวัดเลย
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ Phuhoecotour
15
ต้นกกและผือเป็นทุนทางธรรมชาติ เป็นพืชที่มีความเหนียว ทนทาน สามารถนำมาทอเป็นเสื่อ ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีทักษะเรื่องการทอเสื่อ ใช้เวลายามว่างจากการทำงาน ทอไว้ใช้ในครัวเรือน หรือไว้ใช้ทำกิจกรรมสอยดาวนำเงินเข้าวัด หรือทอเก็บไว้ใช้ในงานบุญต่างๆ
คุณครูรัศมี อืดผา ครูอาสาสมัคร กศน. อำเภอเมืองบึงกาฬ ผู้รับผิดชอบโครงการจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างอัตลักษณ์แก่ชุมชนผ่านการทอเสื่อ ที่ไม่เพียงแต่สร้างอาชีพ สร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้น
โครงการ ฯ ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ได้หลักสูตรที่ตรงกับความต้องการ เช่น ความรู้เรื่องคุณสมบัติของต้นกกและผือ วิธีดูแลรักษา การพัฒนาทักษะการแปรรูป
ทุกคนต่างเห็นพ้องในการสร้างอัตลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนรากเหง้าของชุมชน ด้วยการทอลายเสื่อเป็น ‘ลายขันหมากเบ็ง’ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดบึงกาฬ และเลือกใช้สีขาวและม่วงเพื่อสะท้อนถึงพื้นที่ชุ่มน้ำและจังหวัดบึงกาฬอีกด้วย
ทั้งนี้ ‘ขันหมากเบ็ง’ คือพานพุ่มดอกไม้ที่ชาวพื้นเมืองบึงกาฬ และในแถบลุ่มน้ำโขงใช้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บูชาพระรัตนตรัยในโอกาสสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แปรรูป ทั้งเสื่อสีธรรมชาติ หมวก กล่องทิชชู แจกัน และกระเป๋าหลากหลายดีไซน์ ที่ถูกถักทอขึ้นจากกกและผือด้วยฝีมือชั้นยอดนั้น ได้สร้างองค์ความรู้ที่ส่งต่อหมุนเวียนในชุมชนจนกลายเป็นอาชีพ และยังเป็นการจุดประกาย ‘สานฝัน’ ชาวบ้านขึ้นอีกครั้ง
By
โครงการยกระดับหัตถกรรมไทยสู่สากล
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดบึงกาฬ
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ ก.กก บึงกาฬ
16
เชียงรายเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ซึ่งชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วจังหวัด ยังคงอาศัยอยู่บริเวณเดิมมาหลายชั่วอายุคน และยึดวิถีดั้งเดิมในการดำรงชีวิต นั่นคือผู้ชายมีหน้าที่ทำงานและหารายได้จากนอกบ้าน ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่จะอยู่ติดบ้านและดูแลความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวเป็นหลัก
จากบทบาทเหล่านี้ ทำให้ภูมิปัญญาด้านการผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของผู้หญิงในชุมชนชาติพันธุ์ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ได้เข้าไปร่วมระดมความคิดเห็นกับชุมชน เพื่อพัฒนาเสื้อผ้าให้มีความร่วมสมัยบนฐานวัฒนธรรมชุมชนชาติพันธุ์ ผลลัพธ์คือสินค้าดั้งเดิมกลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นร่วมสมัย ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้จัดอบรมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้กับชาวบ้านอีกด้วย
นับเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมไทใหญ่ ลาหู่ และคนเมืองพื้นถิ่นอื่นๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนอย่างลงตัว
By
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าร่วมสมัยบนฐานนวัตกรรมชุมชนชาติพันธุ์
เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จังหวัดเชียงราย
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ สีสันพันเผ่า เสื้อผ้าชนเผ่า ชาวไทยภูเขา
17
เมื่อมีผู้ดูแลชุมชน คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือแล้วใครเป็นคนดูแลพวกเขา
คำถามนี้กลายเป็นที่มาของ “ระบบการดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ” ให้พวกเขาหมดความกังวลเรื่องรายได้ เพื่อทำภารกิจช่วยเหลือชุมชนได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบันน้ำผึ้งของผึ้งโพรงกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก ตลาดโดยรวมยังมีกำลังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้น้ำผึ้งมีราคาสูง ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 300 – 500 บาทเลยทีเดียว ยังไม่นับว่าน้ำผึ้งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ที่มีมูลค่าสูงกว่านี้ได้อีกหลากหลายชนิด
นอกจากการขายผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้อาสาสมัคร โดยเริ่มจากกระบวนการต้นทาง ที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของผึ้งโพรง การรู้จักเครื่องมือและอุปกรณ์ประกอบการเลี้ยง การนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ออกจำหน่าย ไปจนถึงการแปรรูปเพื่อต่อยอดรายได้ เช่น ยาหม่องสมุนไพร และสบู่ก้อน
โมเดลที่สำคัญมากประการต่อมาคือ การสร้างเครือข่ายการเลี้ยงผึ้งโพรงโดยอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติ เพื่อเป็นแนวทางในการรับรองรายได้ให้กับอาสาสมัครรุ่นต่อๆ ไป
By
โครงการพัฒนาระบบดูแลครอบครัวอาสาสมัครจัดการภัยพิบัติโดยการเลี้ยงผึ้งโพรง
ห้างหุ้นส่วนสามัญการจัดการภัยพิบัติ จังหวัดนครศรีธรรมราช
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงไทยแปลงใหญ่ :อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
18
กลุ่มอาชีพที่เคยตั้งในชุมชนล้มเลิกไปหลายกลุ่ม ทำให้ชาวบ้านไม่มีรายได้เสริม ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงเรื่อย ๆ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ’ จึงรวมตัวกันเพื่อถอดบทเรียนว่า เหตุใดพวกเขาจึงไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ชาวบ้านช่วยกันมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับประชากรวัยแรงงานที่ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าควรเป็น “เครื่องแกง” ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากต้นตระกูลและเชื้อสายชาววังเมืองปัตตานี ทว่านับวันผู้เชี่ยวชาญในการทำเครื่องแกงเริ่มเหลือน้อยลงไปตามกาลเวลา จนเป็นที่หวั่นใจว่ามรดกภูมิปัญญาจะเลือนหาย
จากนั้นจึงเริ่มถอดความรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เพื่อสำรวจความต้องการว่าเครื่องแกงชนิดใดเป็นที่นิยม พร้อมกับรวบรวมสูตรอาหารที่เป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูปัตตานีได้ทั้งหมด 12 ชนิด จากนั้นเป็นการถอดรสชาติความอร่อย โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการทดลองทำ พร้อมวิเคราะห์ความอร่อย ประชุม พูดคุย ขอความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านเพื่อปรับสูตรให้ที่ดีที่สุด จนได้เครื่องแกง 4 ชนิดที่เป็นที่นิยมและมีรสชาติกลมกล่อม ลงตัว นั่นคือ แกงผัดเผ็ด แกงส้ม ราดพริก และมัสมั่น
เครื่องแกงเหล่านี้ใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ในชุมชนเป็นตัวชูโรง ซึ่งทำให้เกิดการขยายเครือข่ายการทำงาน และสร้างรายได้ไปยังเกษตรกร
จาก ‘พืชสมุนไพร’ ริมรั้วที่ชาวบ้านเพาะปลูกอย่างใส่ใจ ได้ถูกส่งต่อเป็น ‘เครื่องเทศ’ ในการรังสรรค์ ‘เครื่องแกงพื้นบ้าน’ ที่ไม่เพียงขึ้นชื่อเรื่องรสชาติที่โดดเด่น แต่ยังช่วยสืบทอดภูมิปัญญา และนำพารายได้ให้แก่คนในชุมชนอย่างยั่งยืน
By
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควบคู่ช่องทางการตลาดเครื่องแกงและสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มรายได้คนในชุมชน
วิสาหกิจชุมชนนีปิสกูเละ จังหวัดปัตตานี
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ เครื่องแกงเจ๊ะฆูลา
19
บ้านเชิงดอย จังหวัดเชียงใหม่ มีภูมิปัญญาการทอผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ ผลิตด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมมายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบันถูกต่อยอดโดยการนำหินสีจากดอยโมคคัลลานมาเป็นวัตถุดิบในการย้อม สร้างความโดดเด่นและเป็นที่จดจำ
ด้วยความโดดเด่นนี้เอง ทำให้ผ้าทอของบ้านเชิงดอยเป็นที่ต้องการอย่างมาก ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน นั่นเป็นเพราะเมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านถักทอถูกพัฒนาอย่างตั้งใจ สิ่งที่ตามมาคือโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้างนั่นเอง
By
โครงการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือการทอผ้าและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
วิสาหกิจชุมชน กลุ่มผ้าฝ้ายเชิงดอย
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ ผ้าฝ้ายเชิงดอย-Phafaicherngdoi
20
เริ่มจากความต้องการหารายได้เพิ่มของคนไม่กี่คน โดยมองไปที่ “คลุ้ม” พืชท้องถิ่นที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตมากแต่ได้ผลตอบแทนสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหลายประการ
การแปรรูปวัตถุดิบไม้คลุ้มในท้องถิ่น ให้กลายเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่สวยงาม ใช้ประโยชน์ได้จริง มีคุณสมบัติแข็งแรงและทนทานต่อเชื้อรา และออกแบบหลักสูตรให้ตรงความต้องการกลุ่มเป้าหมาย เหล่านี้คือหัวใจของการพัฒนา
เช่น หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านการจักสานคลุ้ม หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านการตลาด หลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะด้านการจัดทำบัญชีและการเงิน หลักสูตรเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับเหลาคลุ้มแบบกึ่งอัตโนมัติ ช่วยเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ และหลักสูตรเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชสมรม ลดพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยว
โดยหวังให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 เมื่อเทียบจากรายได้เดิม มีการเกิดขึ้นของนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้การผลิตจักสานคลุ้มมีคุณภาพและได้ปริมาณมากขึ้น และที่สำคัญเกิดพื้นที่เรียนรู้การปลูกพืชหลากหลาย โดยนำต้นคลุ้มไปปลูกคู่กับสวนเดิมที่มีอยู่ เพิ่มตัวเลือกทางผลผลิต เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้หลายทางมากขึ้น
By
โครงการพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพจักสานคลุ้มของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน
สนใจเลือกชมสินค้าเพิ่มเติมได้ที่ จักสานคลุ้ม บ้านทุ่งใน