ครูรัก(ษ์)ถิ่น ต่อยอดความฝันให้เป็นความจริง พัฒนา เด็ก ชุมชน และโรงเรียน​ ให้เติบโตไปพร้อมกัน

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ต่อยอดความฝันให้เป็นความจริง พัฒนา เด็ก ชุมชน และโรงเรียน​ ให้เติบโตไปพร้อมกัน

“ครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่ดีมากให้โอกาสกับนักเรียนที่มีโอกาสทางการศึกษาน้อยให้มีโอกาสได้เรียนต่อ และยังช่วยต่อยอดความฝันของเด็กที่อยากจะเป็นครูตั้งแต่เล็กให้เป็นความจริงขึ้นมา ที่สำคัญไม่ได้พัฒนาแค่เด็กคนเดียวแต่พัฒนาชุมชน โรงเรียนเปลายทาง ที่เชื่อมโยงให้เติบโตไปพร้อมกัน”​

อิน-อินทรัตน์ รอดภัย นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง คณะครุศาสตร์ สาขาประถมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เล่าให้ฟังว่า เริ่มรู้ตัวว่าอยากเป็นครูตั้งแต่ ป.3 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากครูแนะแนวที่โรงเรียน ที่ดูแลเอาใจนักเรียนทุกคนใครมีปัญหาอะไรก็จะไปปรึกษา ด้วยความที่ท่านเป็นครูที่ใจดี ไม่ได้ถือว่าท่านเป็นครูแต่คิดว่าเป็นรุ่นพี่ทำให้เป็นที่เคารพรักของเด็ก ๆ ตอนนั้นก็คิดว่าสักวันหนึ่งจะเป็นครูเหมือนท่าน

ปัจจุบัน “อิน” เป็นนักศึกษาครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 2 อีก 3 ปีจะกลับไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนสะพานเคียน จ.สงขลา พื้นที่บ้านเกิด ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสเปิดสอนถึง ม.3 มีนักเรียน 147 คน

สังเกตการเรียนการสอนโรงเรียนปลายทาง
เทคนิคการสอนออนไลน์ และ การเยี่ยมบ้านเด็ก

ช่วงปลายปีที่ผ่านมา “อิน”​ ได้ลงพื้นที่สังเกตการสอนที่โรงเรียนสะพานเคียน เป็นเวลา 15 วันตามที่ถูกออกแบบให้ครูรัก(ษ์)ถิ่นจะต้องกลับไปศึกษาเรียนรู้งานที่โรงเรียนปลายทางที่ตนเองจะกลับไปบรรจุ แต่ช่วงที่ลงพื้นที่เป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาดโรงเรียนปรับการสอนมาเป็นออนไลน์ สลับกับให้นักเรียนมารับใบงานกลับไปทำที่บ้าน

“ปีหนึ่งจะเป็นแค่การลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ ตอนนั้นได้เห็นเทคนิคการสอนออนไลน์ที่คุณครูเขาจะไม่สอนเนื้อหาเลยทันที แต่จะมีเกม มีกิจกรรมให้เด็กเล่นก่อนแล้วค่อยเข้าสู่บทเรียน และไม่ใช่แค่สอนแบบเล่าให้เด็กฟังอย่างเดียว แต่เปิดให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ซักถาม พูดคุย และสรุปว่าวันนี้ได้เรียนอะไรไป ทำให้ได้เห็นทริคอะไรหลายในการสอนเด็ก ที่สำคัญคือครูจะต้องมีทักษะการพูดที่ดี ดึงเด็กให้ฟังอยู่ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการสอนแบบออนไลน์”​

ช่วงที่คุณครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเด็กก็ได้มีโอกาสติดตามลงพื้นที่ไปกับคุณครูด้วย ทำให้เห็นว่าครูไม่ได้แค่ทำหน้าที่สอนเฉพาะในห้องเรียน แต่ยังต้องลงไปเยี่ยมบ้านเด็กเพื่อไปดูว่ามีปัญหาอะไรในการเรียนออนไลน์บ้าง และคอยหาทางช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เด็กแต่ละคนเพื่อให้เด็กเรียนได้อย่างเต็มที่ช่วงที่ไม่สามารถเรียนออนไซต์ได้ บางคนเรียนออนไลน์ไม่ได้ก็จะมารับใบงานกลับไปทำที่บ้าน คุณครูก็จะมีเวลาคอยสอนช่วงเอาใบงานมาส่งบ้าง

รู้จักบริบทชุมชนของตัวเอง
เริ่มวางแผนกลับมาเป็นนักพัฒนาในพื้นที่​

สำหรับบทบาทการเป็นนักพัฒนาชุมชน “อิน” มองว่า การเป็นเด็กที่เติบโตในพื้นที่ย่อมรู้จักบริบทของชุมชนเป็นอย่างดี ทำให้รู้ข้อดี ข้อบกพร่อง ที่จะเข้าไปช่วยพัฒนาได้อย่าตรงจุดร่วมกับชุมชน​ ช่วงที่เรียนอยู่ก็สามารถคิดนวัตกรรมเพื่อเตรียมนำกลับไปใช้ในชุมชนวันที่กลับไปเป็นครูในพื้นที่ได้แต่เนิ่นๆ ทำให้ประหยัดเวลาและเริ่มทำงานได้ทันที

หนี่งในปัญหาของชุมชนที่อยากแก้ไขตอนนี้คือเรื่องเศษใบไม้ที่ค่อนข้างเยอะ ชาวบ้านจะกวาดและนำมาเผาทิ้ง จึงคิดว่าอยากจะไปช่วยชาวบ้านพัฒนานำเศษใบไม้เหล่านั้นมาทำปุ๋ยหมักไปใช้ในครัวเรือนเพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านก็ทำการเกษตร ทำสวนยางอยู่แล้ว น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเอาใบไม้ไปเผาทิ้ง

อีกด้านหนี่งยังอยากอนุรักษ์การทอผ้าไหมสะพานพลา ที่เป็นของดีในพื้นที่ไม่ให้สูญหายไป ตั้งใจว่าถ้ามีโอกาสจะเข้าไปช่วยพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายไปขายออนไลน์เพื่อชาวบ้านจะได้มีรายได้เพิ่มเติม

ร่วมส่งต่อ “โอกาส” ค้นหาครูรัก(ษ์)​ถิ่นรุ่น 3 ในพื้นที่

ในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่น  2 “อิน” ยังมีบทบาทสำคัญในการประชาสัมพันธ์ ไปแนะแนวรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่าให้ได้รู้จักกับโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น และคอยส่งข้อมูลรายละเอียดไปให้น้อง ๆ ในพื้นที่ซึ่งสนใจสอบถามอยู่ตลอดว่าทำอย่างไรจะได้ทุน จะต้องสมัครอย่างไร คัดเลือกอย่างไร

ช่วงที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เริ่มลงพื้นที่ค้นหาเด็กเข้าโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 3 ตอนนั้นเป็นช่วงที่อยู่ที่ในหมู่บ้านพอดีก็ช่วยไปค้นหาอีกแรง คอยไปสอบถามชาวบ้านว่ามีเด็กในชุมชมที่เรียนม.6 และสนใจจะเป็นครูไหม เพื่อจะได้ให้เขามาสมัคร ตอนนั้นไม่ได้มีใครมาบอกให้ทำ แต่ทำเพราะผมเคยได้โอกาสมาแล้วก็อยากให้เด็กคนอื่นได้โอกาสเหมือนที่ผมเคยได้โอกาสนี้ ต่อไปเขาจะได้กลับมาช่วยกันพัฒนาชุมชนของเราให้ดีขึ้น