“เมื่อเด็กพ้นจากรั้วโรงเรียน เขาต้องเผชิญกับช่วงเวลาสามเดือนอันตรายที่เส้นทางชีวิตจะเปลี่ยนแปลงสิ้นเชิง ด้วยวัยที่พร้อมผันแปรในความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ส่วนหนึ่งอาจเบี่ยงเข้าสู่วงจรสีเทา ติดเพื่อน ติดเกม สุ่มเสี่ยงในวังวนยาเสพติด อาชญากรรม แล้วก็เวียนวนเข้าออกสถานพินิจฯ จนถึงวัยผู้ใหญ่
“ส่วนคนที่เข้าสู่ชีวิตทำงานก่อนวัยอันควร ความที่ชีวิตประจำวันมันห่างจากรูปรอยเก่าไปเรื่อยๆ แม้วันหนึ่งที่โอกาสทางการศึกษาหาตัวเขาจนพบอีกครั้ง แต่น่าเสียดายว่าเมื่อถึงวันนั้นเขาจะคิดว่า ‘โรงเรียน’ เป็นเรื่องไกลตัวออกไปแล้ว นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สังคมต้องช่วยกันขบคิด ว่าเราจะร่วมมือแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างไรให้ได้เร็วที่สุด ช่วยกันซ่อมแซมชีวิต บรรเทาจิตวิญญาณของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ ให้เขาได้กลับไปยังเส้นทางการเรียนรู้ตามช่วงวัยอย่างปลอดภัย อยู่ไกลจากความเสี่ยงทั้งหลายที่จะทำให้หลุดจากระบบการศึกษาอีก”
สิ่งที่ ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว พ้องกับประสบการณ์ 3 ปีของการทำงานใน ‘โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ จังหวัดยะลา ที่รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา รุ่งกานต์ สิริรัตน์เรืองสุข กล่าวว่า ‘แค่เด็กออกจากรั้วโรงเรียนไปหนึ่งเดือนก็เป็นเรื่องอันตรายแล้ว’ ดังนั้น โจทย์การทำงานเรื่องเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา นอกจากต้องทำควบคู่ระหว่างการให้ความช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกมาให้ได้กลับเข้าเรียนหรือฝึกทักษะอาชีพแล้ว ยังต้องมีการวางแนวทางป้องกันไม่ให้มีเด็กหลุดออกมาเพิ่ม ด้วยมาตรการ ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ (Emergency Classroom) ที่พร้อมรองรับเด็กกลับเข้าเรียนในโรงเรียนได้ทุกช่วงเวลา เพื่อไม่ให้ใจของเด็กถอยห่างไปจากบรรยากาศการเรียนรู้ จนต้องหลุดไปจากระบบอีกครั้ง
รองปลัด อบจ.ยะลาเผยว่า จากการทำงานของโครงการที่เริ่มในปี 2562 บนพื้นที่ 4 อำเภอนำร่อง ทำให้พบว่ามีตัวเลขของเด็กนอกระบบการศึกษา กลุ่มเสี่ยงหลุดจากปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบตรงรอยต่อช่วงชั้น รวมแล้วกว่า 2,800 คน โดยได้บันทึกรายชื่อลงใน iSEE (Information System for Equitable Education) ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเด็กเยาวชนด้อยโอกาสทั้งประเทศ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเป็นรายคนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังมีรายชื่อของเด็กอีกราว 1,000 คน ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหลุด ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยในกลุ่มนี้โครงการให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 377 คน ทำให้ยังเหลืออีกจำนวน 600 กว่าคนที่ต้องเร่งประสานหาแนวทางช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ส่วนในภาพรวมการดำเนินงานโครงการที่ผ่านมาทั้งหมด จังหวัดยะลาได้ช่วยเหลือเด็กไปได้แล้วจำนวน 2,435 คน
‘ปัญหาปากท้อง สาเหตุหลักผลักเด็กออกนอกระบบ’
“ย้อนไปที่การทำงานปีแรก เมื่อได้รับรายงานตัวเลขตั้งต้นของเด็กเยาวชนกลุ่มนี้ผ่านการสำรวจโดยทีม กศน. เราได้ข้อมูลว่ามีเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่ 7,300 กว่าคน ซึ่งเป็นจำนวนค่อนข้างสูง หากมองว่าประเทศเรามีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ตามข้อกฎหมาย จากนั้นพอได้ลงทำงานค้นหาเด็กในระดับชุมชน จนเจอว่าพวกเขามีตัวตนอยู่จริง ก็ยิ่งทำให้มองเห็นสาเหตุของการหลุดจากระบบ และนำมาสู่ความพยายามเชื่อมประสานการทำงานของหน่วยงานทั้งจังหวัด เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาให้ทันท่วงที”
รองปลัด อบจ.ยะลาระบุว่า ‘ปัญหาเศรษฐกิจ’ คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กในพื้นที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยเด็กส่วนใหญ่ต้องออกไปหารายได้เลี้ยงครอบครัว หรือมีอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งทำให้เกิด ‘ปัญหาเชิงพฤติกรรม’ นำไปสู่เรื่องยาเสพติด หรือการชักชวนกันออกมาจากโรงเรียน โดยไม่มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพได้ ขณะที่ในมุมมองของคนทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่ คิดว่าไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม “ถ้าเด็กออกไปอยู่นอกโรงเรียนเมื่อไหร่ เขาจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเข้าสู่วงจรปัญหา ซึ่งจะส่งผลสะท้อนไปถึงสถาบันสังคมในอนาคต”
“จังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาด้านการศึกษาสืบเนื่องมาก่อนจะมีวิกฤตโควิด-19 ก่อนที่โรคระบาดจะเข้ามายิ่งตอกย้ำให้รุนแรงขึ้น เราจะเห็นเหตุการณ์เวียนซ้ำของเด็กที่ต้องดิ้นรนหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว ด้วยความจำเป็นของปากท้องมันดึงเขาออกจากโรงเรียนไปหางานทำ แต่ด้วยความรู้ที่มี งานที่ทำได้จึงเป็นการ ‘ขายแรงงานตามฤดูกาล’ เช่น ไปขนผลไม้ส่งจังหวัดอื่นๆ พอหมดฤดู งานไม่มีก็กลับมาอยู่บ้าน ไม่รู้จะไปทางไหนต่อ หรือบางคนที่เราเข้าไปช่วยกลับมาได้ พอถึงฤดูต้องการแรงงานอีกครั้ง มันก็เสี่ยงว่าเขาจะหลุดออกไปอีก
“มีเคสหนึ่งที่เราพากลับเข้ามาสู่ระบบได้จนเขาจบชั้น ม.3 พอผ่านช่วงรอยต่อขึ้น ม.4 เด็กก็ตัดสินใจไปทำงาน เพราะที่บ้านเขามีน้องๆ อีกหลายคนให้เลี้ยงดู ตรงนี้เราจะเห็นว่า แม้สถาบันการศึกษาหลายแห่งพร้อมให้ความร่วมมือในการรับเข้าเรียน แต่ท้ายที่สุด เด็กจะยังคงเลือกหนทางที่ขึ้นกับสถานการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นตรงหน้าเอาไว้ก่อนเสมอ ดังนั้นเราต้องหาทางว่าทำอย่างไรถึงจะดูแลเขาได้ไปตลอดรอดฝั่ง”
‘พรุ่งนี้ก็สายเสียแล้ว’
เมื่อบทเรียนจากการทำงานสะท้อนให้เห็นว่า การพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาโดยไม่มีแผนการเหมาะสมรองรับ หรือไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กเพียงพอ ความเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบซ้ำๆ ก็จะยังดำเนินต่อไป โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา จึงมองไปถึงความจำเป็นของการสร้าง ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ ที่จะช่วยออกแบบการศึกษาให้สัมพันธ์กับชีวิต และพร้อมรองรับเด็กกลับเข้าสู่ระบบได้ ‘ทุกเวลา’
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าการช่วยเด็กคนหนึ่งให้กลับมาเรียนได้แล้วเขาไปไม่สุดทาง มันเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว มันมีเรื่องของกำลังใจ ทักษะชีวิต เป้าหมายระยะไกลที่เขายังมองเห็น หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าอีกมากมายที่เป็นตัวแปร ดังนั้นเราถึงต้องมีทีมหนุนเสริมในลักษณะ ‘ห้องฉุกเฉิน’ ของโรงเพยาบาล โดยผู้อำนวยการโรงเรียนต้องสามารถบริหารจัดการเคสเร่งด่วน เพื่อส่งเด็กให้ถึงมือครูที่เปรียบได้กับหมอเฉพาะทางคอยให้คำปรึกษาปัญหารอบด้าน ถ่ายเทกำลังใจและถ่ายทอดทัศนคติให้เขาเห็นความสำคัญของการศึกษา รวมถึงออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายคน”
Emergency Classroom
จากแนวคิดเรื่องห้องเรียนฉุกเฉิน นำมาสู่โปรแกรมพิเศษ ที่โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดยะลาได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน ในการรองรับเด็กกลับเข้าเรียนได้ในทุกช่วงเวลาตลอดปีการศึกษา
“หากเรารอให้ถึงรอบปีปฏิทินการศึกษาแล้วทิ้งเด็กไว้ข้างนอก เชื่อเถอะว่าอีกแค่สัปดาห์หนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง มันก็นานพอที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจไม่อยากเรียนต่อแล้ว ดังนั้นสิ่งแรกที่ทุกโรงเรียนต้องเข้าใจให้ตรงกันและหาแนวทางปฏิบัติให้ได้คือ ‘ไม่ว่าเด็กจะมาตอนไหน เราต้องรับเขาไว้ก่อน’ …แต่ทั้งนี้เมื่อรับเด็กเข้ามาแล้ว โรงเรียนจะต้องมีหลักสูตรพิเศษ เช่น เรียนเสริมฟื้นความรู้ ตามเก็บงาน ทำรายงาน มีทีมแนะแนวช่วยปรับสภาพจิตใจ หาทางช่วยให้เด็กได้เรียนกับเพื่อนได้เร็วที่สุด เพราะความสัมพันธ์ทางสังคมจะมีผลต่อสภาพจิตใจของเขาอย่างมาก ส่วนเรื่องของการวัดผลตามตัวชี้วัดนั้น เป็นเรื่องที่เราสามารถขยับไปทำในภาคเรียนถัดไปได้
“นี่เป็นวิธีการที่โครงการได้ทำโดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ จนเกิดเป็นมาตรการแนะแนวการศึกษา พร้อมให้คำปรึกษาช่วยเหลือเด็กในสภาวะวิกฤต อย่างเคสแรกๆ ที่ทำคือ เด็กหลุดไปตอนจะขึ้นชั้น ม.3 ออกไปทำงานในสวนยาง แล้วมี อสม. ไปพบ สอบถามความต้องการ ได้คำตอบว่าเด็กอยากกลับมาเรียน พอเรารู้ความต้องการเขา ก็เข้าไปคุยกับโรงเรียนทันที ซึ่ง ผอ. เขายินดีรับเด็กเข้ากลางเทอม นี่คือตัวอย่างว่าเราใช้เวลาแค่ไม่นานจากที่พบตัวเขา แล้วก็ส่งต่อเข้าไปอยู่ในโรงเรียนได้เลย ต่อจากนั้นจึงค่อยมาช่วยกันวางแนวทางช่วยเหลือให้เขาปรับตัวได้ ทั้งด้านการเรียน สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวที่บ้าน จนเด็กสามารถกลับมาเรียนเป็นปกติ และจบชั้น ม.3 ได้ในสองเทอมการศึกษา”
รองปลัด อบจ.ยะลากล่าวว่า แนวคิด ‘ห้องเรียนฉุกเฉิน’ จะดำเนินไปได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งจังหวัดที่มีใจเดียวกันและมองเห็นเป้าหมายในทางเดียวกัน เพราะปัญหาของเด็กเยาวชนคนหนึ่งนั้นไม่ได้แก้ได้ด้วยโรงเรียน หรือกระทรวงศึกษาธิการเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังโยงใยไปถึงขอบเขตการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องมาร่วมมือกัน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ต้องทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกองคาพยพ ซึ่งจังหวัดยะลาถือว่ามีต้นทุนที่ดีในเรื่องการให้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ที่ช่วยหนุนเสริมการทำงาน ขณะเดียวกันก็ยังเชื่อว่ามาตรการที่จังหวัดยะลาทำสามารถนำไปแลกเปลี่ยนและปรับใช้ขยายผลยังพื้นที่อื่นได้เช่นกัน
“เราเชื่อว่าบทเรียนทางการศึกษานั้นสามารถส่งต่อกันได้ ถ้าเข้าใจแก่นแท้ของการทำงานจริงๆ ทั้งนี้ การสนทนาแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกันทั้งในมุมที่สำเร็จหรือล้มเหลวเองก็ตาม จะเป็นหนทางที่ทำให้ทุกฝ่ายทุกพื้นที่ขยับเข้าใกล้การค้นพบคำตอบของการแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้ในที่สุด
“ท้ายที่สุดแล้ว อยากให้มองว่าเด็กคนหนึ่งที่เรารับเข้ามาเรียน มันไม่จำเป็นว่าเขาต้องได้เกรดสี่ทุกวิชาถึงควรจะได้รับการสนับสนุน เพราะจุดประสงค์จริงๆ ของการศึกษาคือ ถ้าเราประคองเขาให้อยู่ในระบบต่อไปได้จนจบ ระหว่างนั้นก็พยายามสอดแทรกสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็กเรื่องชีวิตและการทำงาน เช่น การฝึกทักษะอาชีพ เสริมการพัฒนาจากภายในให้รู้ถูกผิด คิดได้ รับผิดชอบตนเองได้ดีขึ้น เมื่อถึงตรงนั้นโอกาสชีวิตของเด็กจะเปิดกว้างขึ้น ไม่ว่าจะไปเรียนต่อสายสามัญ สายอาชีพ หรือพัฒนาตนเองไปเป็นแรงงานที่มีฝีมือ สร้างรายได้เลี้ยงชีวิต เลี้ยงครอบครัวตนเองได้ในอนาคต”