ทักษะด้านอารมณ์และสังคมไม่ได้ถูกออกแบบไว้เป็นรายวิชาในหลักสูตรแกนกลางของประเทศฟินแลนด์ แต่เป็นหนึ่งในสมรรถนะที่นักเรียนต้องฝึกฝน โดยด้านที่พูดเรื่อง “การดูแลตนเองและการจัดการชีวิตประจำวันของตนเอง” เป็นสมรรถนะที่เน้นย้ำทักษะด้านนี้
เราสามารถออกแบบให้กลุ่มวิชาในช่วงประถมศึกษาปีที่ 1-2 เช่น วิชาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ด้านชีววิทยา ภูมิศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี และสุขศึกษา แฝงกระบวนการฝึกฝนทางอารมณ์และสังคมเอาไว้ เมื่อนักเรียนโตขึ้น (ประถมศึกษาปีที่ 3-6) ทักษะด้านนี้จะถูกออกแบบให้รวมอยู่กับวิชาเชิงคุณค่า นามธรรม อย่างศาสนา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าใจตนเองและการเคารพผู้อื่น
หัวข้อที่นักเรียนประถมปลายเรียนรู้พร้อมฝึกฝนทักษะด้านทางอารมณ์และสังคมไปพร้อมกันได้ เช่น สิทธิเด็ก ความรับผิดชอบตามช่วงวัย การให้เหตุผลต่อสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เช่น มิตรภาพ หรือแม้กระทั่งเรื่องการเลือกปฏิบัติ ส่วนวิชาอย่างสุขศึกษาของมัธยมต้นก็สามารถถกเถียงกันไปถึงชุดคุณค่า ความเชื่อ ทัศนคติของตนเองและผู้อื่น การฝึกฝนเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง หรือสถานการณ์ที่นักเรียนอึดอัดใจ ความเป็นชุมชน ความเสมอภาคเท่าเทียม หรือการตัดสินใจอย่างรับผิดชอบ
ในสถานการณ์นี้ ทักษะอย่างความแน่วแน่ ความร่วมมือร่วมใจ การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ความรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง ทักษะด้านสังคม การจัดการความเครียด การอดกลั้นต่อความเห็นต่าง และความเชื่อใจ จะได้รับการฝึกฝนโดยปริยายจากกิจกรรมต่างๆ ซึ่งช่วยให้นักเรียนได้เติบโตอย่างมั่นคง
ทักษะที่มีความเป็นนามธรรมสูงจะได้รับการประเมินในชั้นเรียนอย่างไร
ปัจจัยสามด้านที่ต้องตั้งใจสังเกตในกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ได้แก่
- พฤติกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้
- การทำงานร่วมกับผู้อื่น
- พฤติกรรมอื่นๆ ในชั้นเรียน
ซึ่งเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน นอกเหนือจากกิจกรรมในชั้นเรียน กิจกรรมอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ต่างๆ ก็สามารถช่วยให้ครูเก็บข้อมูลพฤติกรรมของนักเรียนเพื่อนำไปช่วยพัฒนานักเรียนได้
เมืองเฮลซิงกิจึงพัฒนาระบบที่ชื่อว่า Ruuti ขึ้นมาเพื่อช่วยให้นักเรียนในระดับมัธยมได้ฝึกฝนทักษะด้านอารมณ์และสังคม โดยพุ่งเป้าที่
- ทักษะด้านความแน่วแน่
- การมองโลกแง่บวก
- ทักษะการเข้าสังคม
- ความรับผิดชอบ
- ความสนใจใคร่รู้
- ความคิดสร้างสรรค์
สภานักเรียน
ได้รับเลือกตั้ง และเป็นผู้แทนนักเรียนในการออกแบบกิจกรรมต่างๆ ตามความสนใจของนักเรียน
กลุ่ม คลับ ทีม ชมรม
การตั้งกลุ่ม คลับ ทีม ชมรม ตามความสนใจของนักเรียน เช่น ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อม กลุ่มชิมอาหาร ชมรมด้านสุขภาวะด้านจิตใจ
การออกแบบงบประมาณอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Budgeting)
เมืองเฮลซิงกิได้ออกแบบงบประมาณเกี่ยวกับโครงการ Ruuti โดยการจัดสรรงบประมาณรายปีให้สภานักเรียนได้ใช้เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองหรือสภาพแวดล้อมในโรงเรียน งบประมาณส่วนนี้นักเรียนอายุ 12-17 ปีต้องนำไอเดียในการใช้งบประมาณมาแลกเปลี่ยนนำเสนอกัน เจรจาเพื่อจัดสรร และโหวตลงมติกัน โดยโครงการนี้ผู้คนในเมืองเฮลซิงกิรวมถึงนักเรียนสามารถยื่นข้อเสนอต่างๆ ได้ โดยงบประมาณโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 8.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 340 ล้านบาท
วันสภานักเรียน
สภานักเรียนเมืองเฮลซิงกิต้องนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำไป โดยมีเป้าหมายเพื่อการแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
สภาเยาวชน
สภาเยาวชนประกอบไปด้วยเยาวชนอายุ 13-17 ปี จำนวน 30 คน ที่จะเข้ามาผลักดันกฎหมายระดับท้องถิ่น โดยทั้ง 30 คนนี้ต้องผ่านการเลือกตั้งทุกๆ สองปี เยาวชนกลุ่มนี้จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ วางแผน และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเมืองเฮลซิงกิ ซึ่งจะต้องพบปะเพื่อพูดคุยกันเดือนละสองครั้ง
ศูนย์รวมไอเดียเยาวชน
เยาวชนอายุ 13-17 ปี สามารถนำเสนอไอเดียต่างๆ ตั้งแต่การขอให้มีสวนสาธารณะข้างโรงเรียน หรือเพิ่มม้านั่งในบางพื้นที่ การแจ้งจุดอันตรายในพื้นที่ การขอสนามบาสเกตบอลใหม่ โดยข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ต้องมีเหตุผลสนับสนุน โดยเฉพาะเหตุผลด้านที่เกี่ยวกับสุขภาวะของเยาวชน
ทุน Sponssi
ชาวเมืองเฮลซิงกิอายุตั้งแต่ 7-28 ปี สามารถขอทุนเพื่อนำไปพัฒนาไอเดียหรือโครงการของตนได้ตามเงื่อนไข เช่น สนับสนุนการเช่าเครื่องดนตรีสำหรับวงดนตรี ขอสนับสนุนทำโปรเจ็กต์สุดท้ายก่อนเรียนจบ ทำโครงการของสภานักเรียน
สื่อสารจากพลังเยาวชน
นักเรียนที่อายุ 13-19 ปี สามารถใช้พื้นที่สื่อต่างๆ ของ Young Voice Editorial Board เพื่อนำเสนอความคิดของตนในประเด็นสังคมต่างๆ ได้
จากตัวอย่างทั้งในและนอกห้องเรียน จะพบว่าเรื่องการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์และสังคม ไม่ใช่เรื่องของการเรียนเนื้อหาวิชาความรู้เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริง ผู้คนในสังคม และการทำความเข้าใจตนเองผ่านปฏิสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ กับผู้อื่น เพื่อพัฒนาทักษะทางสังคมและความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน
อ้างอิง :
Survey on Social and Emotional Skills (SSES) 2021: Helsinki (Finland)
OECD