ผลการศึกษาที่ใช้เวลาต่อเนื่องนานหลายปีของเด็กนักเรียนโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในอิสราเอลบ่งชี้ว่า การสอนพิเศษเพื่อชดเชยให้กับชั่วโมงเรียนที่ขาดหายไปของเด็ก มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กเหล่านี้มีรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่โลกของการทำงานในวัยผู้ใหญ่ แต่กลับต้องยุติลงอย่างน่าเสียดายด้วยความขัดแย้งของผู้ใหญ่
The Hechinger Report องค์การไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อมุ่งรายงานประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษาทั่วโลก เปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งซึ่งพบประโยชน์ของการเข้าไปจัดการเรียนการสอนชดเชยให้กับเด็กคนหนึ่งอย่างเร่งด่วน ในกรณีที่เด็กคนนั้น เรียนไม่ทันเพื่อน หรือขาดเรียนไปเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ แม้จะเป็นที่รู้กันดีในหมู่ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองว่าเป็นเรื่องยากเพียงใดที่จะนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วได้กลับมาเรียนหนังสืออีกครั้ง ขณะที่โครงการที่ป้องกันเด็กดร็อปเรียนก็เป็นสิ่งที่ยากจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะมีปัจจัยละเอียดอ่อนของเด็กแต่ละคนที่ไม่อาจจัดการได้อยู่มากมาย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ค้นพบประเด็นที่น่าสนใจจากโครงการฟื้นฟูรักษาของโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในอิสราเอล ซึ่งตอนนี้ยุติการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นโครงการที่ให้โอกาสเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสอายุระหว่าง 16-17 ปี มาเรียนหนังสือเป็นกลุ่มเล็กๆ นอกเวลาเรียนปกติ คล้ายๆ กับการเรียนเสริมพิเศษ โดยผลการประเมินในปี 2005 พบว่า โครงการดังกล่าวช่วยให้เด็กนักเรียนหลายคนสามารถสอบเอ็นทรานซ์ผ่านเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงได้ใบประกาศนียบัตร Bagrut เป็นสัดส่วนสูงถึง 13% เมื่อเทียบกับเด็กๆ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ผลลัพธ์ข้างต้นทำให้นักวิจัยต่างคิดต่อยอดเพื่อศึกษาต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของเด็กกลุ่มนี้ต่อจากนี้ โดย Victor Lavy นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิสราเอล ผู้ช่วยในการออกแบบวางแผนจัดทำโครงการและดำเนินการประเมิน รวมถึงติดตามเก็บข้อมูลของเด็กกลุ่มนี้ไปจนถึงช่วงวัย 30 ปี โดยเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่ไม่ได้เข้าร่วมในโครงการ after-school program
ข้อมูลจากการเฝ้าติดตามสังเกตพบว่า ประโยชน์ของห้องเรียนพิเศษส่งผลต่อเด็กในระยะยาว โดยเด็กที่เข้าร่วมมีอัตราการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในสัดส่วนที่สูง และใช้เวลาเพียงสามภาคการศึกษาในการเรียนจบ ขณะที่รายได้ต่อปีเพิ่มมากขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ย 4% หรือเทียบเท่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบัน และเด็กเหล่านี้ยังสามารถยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของตนให้สูงขึ้นจากรุ่นพ่อแม่ได้ จากอันดับที่ 37 มาอยู่ในอันดับที่ 30 จากบันไดรายได้แห่งชาติ (national income ladder) และประสบความสำเร็จในชีวิตด้านอื่นๆ เช่น อัตราการสมรสในอัตราที่สูง
“เราติดตามเด็กเหล่านี้จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่คุณต้องการจะรู้ก็คือโครงการที่ว่านี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนๆ หนึ่งได้หรือไม่ มากกว่าผลคะแนนการสอบ ผมยังคงเชื่อว่า การเรียนตั้งแต่วัยเยาว์เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่คุณจะถอดใจกับเด็กโตที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปนานแล้ว มันอาจจะเป็นการลงทุนที่แพงกว่าการลงทุนในการศึกษาของเด็กเล็ก แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับมาก็ยังเป็นประโยชน์ต่อบุคคลและสังคม” Lavy ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Warwick ในอังกฤษ และมหาวิทยาลัยฮิบรูในเยรูซาเล็ม กล่าว
การศึกษาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกผลลัพธ์ทางบวกของการศึกษา ในหัวข้อ “Does Remedial Education at Late Childhood Pay Off After All? Long-Run Consequences for University Schooling, Labor Market Outcomes and Inter-Generational Mobility,” โดยทำร่วมกับนักวิจัยอีกสองคนจากมหาวิทยาลัยบราวน์และมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ซึ่งทีมงานอยู่ในระหว่างการเขียนสรุปรายงานและตั้งเป้าตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2022 ในวารสารเศรษฐศาสตร์แรงงาน (The Journal of Labor Economics)
รายงานระบุว่า โครงการ after-school program ของอิสราเอลนี้มีกลุ่มเป้าหมายที่เด็กเรียนดีในโรงเรียนยากจนใน 130 แห่งทั่วประเทศ และมีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 4,000 คน เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวยิว หรือสืบเชื้อสายมาจากตะวันออกกลางหรือแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมอิสราเอล โดยอุปสรรคจากทางบ้านทำให้เด็กมีความเสี่ยงที่จะสอบไม่ผ่าน International Baccalaureate (IB) exams หรือ Advanced Placement (AP) tests ซึ่งเป็นการสอบที่จำเป็นสำหรับเด็กในการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลาย
ทั้งนี้ในโครงการดังกล่าว จะจ่ายค่าแรงโอทีให้กับคุณครูในการอยู่สอนพิเศษให้กับเด็กที่เข้าร่วม ซึ่งจะแบ่งกลุ่มเรียนให้เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ 2-5 คนต่อกลุ่ม ซึ่งเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้โครงการเรียนพิเศษนี้ประสบความสำเร็จ โดย Lavy อธิบายว่า การที่เด็กได้นั่งเรียนเป็นกลุ่มเล็กๆ ทำให้ครูสามารถชี้จุดอ่อนในการเรียนของเด็กแต่ละคนได้ และแม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อเด็กคนหนึ่งสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ Lavy ก็แย้งว่า เม็ดเงินภาษีที่รัฐจะเก็บเกี่ยวได้จากเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตกลับมีจำนวนมากกว่ามาก และรัฐสามารถคืนทุนจากเด็กเหล่านี้ได้ภายในระยะเวลา 8 ปี
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่า โครงการดังกล่าวไม่อาจดำเนินต่อไปได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของทุกประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ Jill Barshay ผู้สื่อข่าวของ The Hechinger Report กล่าวถึงสาเหตุที่หยิบยกนำการศึกษาของ Lavy มารายงานว่า เป็นเพราะผลการวิจัยดังกล่าวน่าจะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนในหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องหยุดเรียนไปเพราะการระบาดของไวรัสโคโรน่า โดยเฉพาะความวิตกกังวลต่อเหล่าผู้เยาว์จากครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและยากจนที่ดูจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากที่สุด และเสี่ยงถูกทิ้งไว้เบื้องหลังมากที่สุด และการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นเครื่องยืนยันว่าการเรียนการสอนพิเศษเพื่อชดเชยให้กับเด็กคุ้มค่าต่อตัวเด็กและสังคมในระยะยาวแน่นอน เหลือก็เพียงแต่บรรดานักการเมืองและรัฐบาลของแต่ละประเทศ จะยินยอมทุ่มเทงบประมาณหรือไม่เท่านั้น
ที่มา : PROOF POINTS: Even older teens benefit from catch-up classes