สำรวจ​ระบบดูแล 360 องศา โรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง และ “ทีมเคลื่อนที่เร็ว”
สกัดเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

สำรวจ​ระบบดูแล 360 องศา โรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง และ “ทีมเคลื่อนที่เร็ว”

โรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยเฉพาะการดูแลแบบ 360 องศา และ “ทีมเคลื่อนที่เร็ว”  ที่ลงพื้นที่ไปช่วยแก้ไขปัญหาให้นักเรียนได้ทันท่วงที รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา

ระบบดูแลแบบ 360 องศา เริ่มจากฐานข้อมูล โดยครูจะต้องรู้จักเด็กทุกคน มีข้อมูลรอบด้านของเด็ก ทั้งเรื่องครอบครัว อาศัยอยู่กับใคร พ่อแม่แยกทางกันหรือไม่ หรืออยู่กับปู่ย่าตายาย ผู้ปกครองประกอบอาชีพอะไร รายได้เท่าไหร่ มีสมาชิกกี่คน ข้อมูลพื้นฐานของเด็กจะมาจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน คุยกับนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อนบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์​พร้อมกับมีการถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน

ธัญมัย ปรัชญาวุฒิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง อธิบายว่า ฐานข้อมูลที่ดีจะช่วยให้เฝ้าระวังติดตามเด็กเป็นรายบุคคล ทำให้รู้ว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนมากน้อยแค่ไหน หากเร่งด่วนก็ต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือเพราะเราเป็นคนที่ใกล้เด็กมากกว่าหน่วยงานอื่น

“โรงเรียนไม่ได้ดูแลเฉพาะแค่เรื่องการเรียนแต่ดูแลครอบคลุมไปถึงสุขภาพกาย สุขภาพใจ ชีวิตความเป็นอยู่ หากบางเคสไม่สามารถช่วยได้ก็จะประสานส่งต่อความช่วยเหลือ เช่น  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือเทศบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นอย่างดี ​ ที่ผ่านมาได้รับการช่วยเหลือเช่นการสร้างบ้านให้เด็กของเราที่มีหลายฝ่ายร่วมมือกันโดยเริ่มต้นจากฐานข้อมูลของโรงเรียน”

สนับสนุนทุกมิติ ให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข

ระบบดูแลช่วยเหลือจะมีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยทั้งผู้บริหาร ครูประจำชั้น รวม 11 คน ที่จะมาช่วยกันพิจารณากลั่นกรองข้อมูลว่าเด็กคนไหนต้องเข้าไปช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ที่จะทำงานนอกเวลาการสอนของคุณครู ไม่ว่าจะเป็นตอนเย็นหรือวันเสาร์อาทิตย์เพื่อไม่ให้กระทบกับการเรียนของเด็ก ๆ 

“ทีมเคลื่อนที่เร็วของเราจะเข้าไปช่วยเหลือแบบเร่งด่วนบางวันทุ่มสองทุ่มก็เข้าไปหาเด็ก ๆ ถึงที่บ้าน เราไม่ได้ไปมือเปล่ามีข้าวของอาหารแห้งไปให้เขาด้วย เช่น บางเคสโทรมาบอกว่ายายอยู่กับหลานไม่มีข้าวสาร  ครูก็ไปซื้อข้าวสาร ไข่ น้ำมัน ไปให้ก่อนเลยแล้วดูว่าจะช่วยอย่างไรได้บ้าง บางเคสโดนไล่เพราะไม่มีค่าเช่าบ้านก็ต้องไปช่วยหาที่พักราคาถูก ต้องช่วยเหลือให้เขายังกลับมาเรียนหนังสือได้อย่างมีความสุขและไม่หลุดจากระบบการศึกษา”

เด็กหลุดจากระบบเป็นศูนย์ เรียนต่อ  100%

ช่วงที่ผ่านมาทางโรงเรียนสามารถติดตามเด็กกลับมาเรียนหนังสือได้ทุกคน และในส่วนของเด็กจบ ป. 6 ก็เรียนต่อ 100%  แต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมามีเด็กบางคนหายไปไม่เข้าเรียน ไม่ส่งใบงาน ทางโรงเรียนก็จะติดตามตั้งแต่วันแรกที่หายไป ก็จะประสานไปยังผู้ปครองสอบถามว่าบุตรหลานไปไหนทำไมไม่เข้าเรียนเพราะครูประจำชั้นจะมีบันทึกว่าใครเข้าเรียนบ้าง หากยังไม่มาก็จะส่งข้อมูลไปยังฝ่ายธุรการออกหนังสือติตามและสุดท้ายหากติดต่อไม่ได้ก็จะลงไปเยี่ยมบ้าน 

“ทางโรงเรียนต้องทำทุกวิถีทางให้นักเรียนกลับมาเรียนให้ได้ เริ่มจากครูประจำชั้นที่จะหาวิธีก่อน หากยังช่วยไม่ได้ก็จะมาแจ้งหัวหน้าระบบดูแลช่วยเหลือ หรือหากยังช่วยไม่ได้ก็จะแจ้งมายังผู้บริหารมีอยู่เคสหนึ่งติดต่อไม่ได้ โทรไปก็ไม่มีใครรับ ลงพื้นที่ไปเยี่ยมบ้านก็ไม่อยู่ ไม่รู้ว่าหายไปไหนจะตามยังไง คุณครูก็ทำทุกวิธี ไปสอบถามกับทางพนักงานส่งของของแฟลช ว่าเขารู้จักกับผู้ปกครองชื่อนี้นามสกุลนี้ไหม จนรู้ว่าเขาย้ายที่อยู่ไปอีกที่หนึ่ง คุณครูก็ตามไปจนเจอมารู้ทีหลังว่าบ้านที่เคยอยู่เขาจะทุบปรับปรุงใหม่เลยต้องไปอยู่ที่อื่น ก็ประสานให้พาเด็กกลับไปเรียนจนวันนี้กลับมาเรียนได้ตามปกติ”​

ออกแบบสอนเสริมความรู้แต่ละชั้นเรียนก่อนเริ่มเนื้อหาใหม่

ปัจจุบันทางโรงเรียนเปิดกลับมาเปิดสอนที่โรงเรียนได้ตามปกติ แต่พบว่าการเรียนรู้ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาทำให้เด็กหลายคนเกิดสภาพความรู้ถดถอย จึงได้ประสานกับทางคุณครูว่าอย่าใจร้อนกับเด็กแม้อีกสองเดือนจะจะสอบแต่ก็ต้องค่อยสอน ปูพื้นฐานความรู้เก่า ต้องดึงเด็กให้กลับมาเรียนให้เขามีความสุข ไม่เครียด ไม่เช่นนั้นก็จะหายไป​ได้ง่ายเพราะเขาหยุดมานานหลายเดือน

การสอนเสริมความรู้จะขึ้นอยู่กับคุณครูแต่ละชั้นที่จะประเมินและออกแบบการสอนของตัวเอง บางชั้นจะมีสอนเสริมตอนเช้าก่อนเข้าเรียน พักเที่ยง หรือช่วงเย็นหลังเลิกเรียน บางชั้นก็จะสอนเสริมเรื่องการออ่านออกเขียนได้ หรือสอนเสริมสูตรคูณให้คล่องขึ้นก่อนที่จะเดินหน้าสอนเนื้อหาใหม่ต่อไป

เสริม “วิชาชีพ” และ “วิชาชีวิต” คู่กับวิชาการ

โรงเรียนเทศบาล 3 วัดท่ามะปราง เป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนอง TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)​ซึ่งปรับมาใช้รูปแบบการสอนแบบ Active Learning  จิตศึกษา และ กระบวนการ PLC ​ที่ทำให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงไป มีความนิ่งขั้น รับผิดชอบมากขึ้น มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น

คุณครูทำงานกันเป็นทีม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หาวิธีพัฒนาเด็ก ครูไม่ปิดกันการเรียนรู้ เปิดให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น ร่วมเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ ​เสริมทั้ง “วิชาชีพ​” และ “วิชาชีวิต” ให้เด็กไม่ได้เรียนรู้แค่วิชาการเพียงอย่างเดียว

นับเป็นอีกแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้เด็กมีความสุข กับการเรียน เลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียน ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น