การออกหุ้นกู้เพื่อช่วยเด็กๆ ที่จะหลุดระบบการศึกษา ในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)ของ บมจ.แสนสิริ ที่ตั้งเป้าระดมทุน 100 ล้านบาท ปั้น “ราชบุรีโมเดล” จังหวัดต้นแบบ ให้เด็กหลุดระบบการศึกษาเป็น “ศูนย์” ภายใน 3 ปี ซึ่งมีตัวอย่างที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือด้านการศึกษาของเด็กยากจนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและการศึกษาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และเกือบครึ่งเป็นประชากรหญิง แต่ในปี 2557 มีเด็กผู้หญิงกว่า 3 ล้านคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา หรือการสำรวจในปีเดียวกันที่รัฐราชสถาน มีประชากรหญิงสามารถอ่านออกเขียนได้เพียงร้อยละ 52 น้อยกว่าประชากรชายที่สูงถึงร้อยละ 79
แม้กระทั่งปี 2561 การสำรวจโดย NSS 75th round พบจำนวนการรู้หนังสือของประชากรหญิงที่รู้หนังสือไม่เท่าเพศชายอยู่ถึง 187.2 ร้อยล้านคน ตัวเลขดังกล่าวหมายถึงการสูญเสียศักยภาพของผู้หญิงในการหารายได้ มีอาชีพการงานที่ดี การเลี้ยงดูบุตรหลาน และพบปัญหาการแต่งงานก่อนวัยอันควร ทั้งหมดเป็นรากฐานปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและนำมาสู่วงจรความยากจนในที่สุด
การนำนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบ “พันธบัตรเพื่อสังคม” หรือ Social Impact Bond : SIB ทางเลือกในการระดมเงินทุนของภาครัฐจากภาคเอกชนที่มีเป้าหมายในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งเจ้าของโครงการจะจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนตามผลสัมฤทธิ์ของโครงการ (Pay for Success Financing) จึงถูกนำมาแก้ปัญหาการศึกษาในเด็กผู้หญิงอินเดีย
ภารกิจนำเด็กหญิงเข้าสู่ระบบการศึกษา
ภายใต้โครงการ Educate Girls Development Impact Bond ที่เกิดขึ้นในเมืองฮาวราห์ (Bhilwara) ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทในรัฐราชสถาน ครอบคลุม 166 โรงเรียนใน 140 หมู่บ้าน มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (2558-2561) เพื่อระดมเงินทั้งสิ้น 270,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินโครงการได้มีมูลนิธิชื่อ “UBS Optimus Foundation (UBSOF)” สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เพื่อนำมาใช้ดำเนินโครงการ โดยมีองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ชื่อ “Educate Girls (EG)” เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระอื่นในพื้นที่ (Local Implementer) ภายใต้การกำกับดูแลโครงการโดยกลุ่มเครือข่ายทางสังคมชื่อ “Instiglio”
เมื่อสิ้นสุดโครงการองค์กรพัฒนาสังคมชื่อ “IDinsight” จะเข้ามาประเมินผลการดำเนินโครงการ และส่งผลการประเมินโครงการให้แก่องค์กรการกุศลเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กในประเทศกำลังพัฒนาชื่อ “Children’s Investment Foundation (CIFF)” จ่ายเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน ทั้งนี้ CIFF จะจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนให้แก่นักลงทุน หากผลการดำเนิน โครงการเป็นไปตามตัวชี้วัดที่กำหนดไว้เท่านั้น หรือลดหลั่นไปตามผลลัพธ์ที่ได้
ผลตอบแทนหุ้นกู้กว่า 52%
แต่เวลาผ่านไปเพียงปีเดียว Educate Girls ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ทั้ง 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (Learning Outcomes) ใน 3 วิชาได้แก่ ภาษาฮินดี ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ของเด็กผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องมากกว่าเด็กผู้หญิงที่ไม่เข้าร่วมโครงการคิดเป็น 5,592 ระดับ จนเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาโครงการพบว่าทำได้มากกว่า 8,940 ระดับ หรือมากกว่าร้อยละ 160 ของเป้าหมายที่วางไว้
2. ผลการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Enrollment Outcomes) ที่กำหนดว่าจะต้องมีอัตรานักเรียนหญิงเข้าสู่การศึกษาในร้อยละ 79 แต่ผลลัพธ์ภายใน 3 ปีพบเด็กผู้หญิงเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 768 คน คิดเป็นร้อยละ 92 หรือมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้กว่าร้อยละ 116
เป็นผลให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนกว่าร้อยละ 52 ของเงินลงทุน เพราะเมื่อคำนวนจากผลสำเร็จของโครงการมี PEP เท่ากับร้อยละ 151.2 ทำให้ CIFF ต้องจ่ายเงินให้แก่ UBSOF เป็นจำนวน 422,000 เหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินต้นจำนวน 270,000 เหรียญสหรัฐ และผลตอบแทนจำนวน 144,805 เหรียญสหรัฐ
ผลตอบแทนที่มากกว่าเม็ดเงิน
จากจุดเริ่มต้นที่ให้ความสำคัญกับเด็กผู้หญิงเป็นรายบุคคล ด้วยการลงสำรวจในพื้นที่เป็นรายครัวเรือน (Door-to-door Survey) คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ เพื่อที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาและต้องการได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการสุ่มเลือก หรือเปิดรับสมัคร
อีกปัจจัยคือการทำงานของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการพัฒนาการศึกษาที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ และเครือข่ายสังคม รวมทั้งการประเมินผลโครงการยังเป็นอิสระและไม่ได้มีส่วนได้เสียกับนักลงทุน
แต่ที่มากไปกว่านั้นคืออนาคตทางการศึกษาของนักเรียนหญิง ที่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายที่ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาประเทศอินเดียในอนาคต และย่อมหมายถึงการประหยัดงบประมาณของรัฐในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น งบประมาณในการป้องกันการเกิดอาชญากรรม งบประมาณด้านสาธารณสุข งบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการ และงบประมาณในการปัญหาทางสังคมอื่นๆ ก็จะใช้งบที่ลดลง ซึ่งเป็นผลตามมาจากการที่คนในประเทศมีการศึกษาที่ดีขึ้น
ที่มา :
- https://www.educategirls.ngo/dib.aspx
- https://www.youtube.com/watch?v=UqjPwdIsm5s&t=3s
- https://www.facebook.com/educategirls
- National Statistical Office. (2019). Household Social Consumption on Education in India, NSS 75th Round 2017-2018. Ministry of Statistics and Programme Implementation
- Lessons from Educate Girls’ DIB
- สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (2562). รายงานวิจัย พันธบัตรเพื่อสังคม : นวัตกรรมการเงินเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน