การเรียนช่วง “ล็อกดาวน์” เต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายด้าน และส่งผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้เด็กหลุดหายไปจากโรงเรียน บางคนต้องย้ายถิ่นตามผู้ปกครอง บางคนไม่มีอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ บางคนไม่อาจทำความเข้าใจกับบทเรียนแบบออนแฮนด์จนท้อและตัดสินใจเลิกเรียนไปอย่างน่าเสียดาย
โรงเรียนวัดบ้านมุง จังหวัดพิษณุโลก เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นความสำเร็จ ด้วยมาตรการติดตามและปรับการเรียนการสอนแบบยืดหยุ่นให้เข้าถึงเด็กทุกคน เพื่อให้การเรียนเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/01/06-โรงเรียนวัดบ้านมุง-01.jpg)
ครูรุ่งนภา เอี่ยมอ่อน ครูโรงเรียนวัดบ้านมุง เล่าให้ฟังว่า ทางโรงเรียนใช้ระบบสารสนเทศติดตามเด็กเป็นรายบุคคลตั้งแต่ช่วงโรงเรียนปิด โดยปรับใช้การสอนทางไกลแบบผสมผสาน ทั้งเรียนออนไลน์ ออนแฮนด์ ที่สำคัญคือ คอยติดตามว่านักเรียนมาเรียนต่อเนื่องแค่ไหน
“คุณครูแต่ละคนจะต้องสอนทั้งออนไลน์ให้เด็กที่พร้อมจะเรียนออนไลน์ได้ หากเด็กคนไหนไม่พร้อมก็จะมีใบงานที่คุณครูออกแบบและนำไปส่งให้เด็กแต่ละคนที่บ้าน เพื่อจะได้สอนหรืออธิบายเนื้อหาให้เขาพอจะทำใบงานได้เข้าใจ หรือคอยตอบคำถามที่ไม่เข้าใจเวลาไปรับใบงานในแต่ละสัปดาห์ บางครอบครัวย้ายไปอยู่ที่อื่นก็ต้องส่งไปรษณีย์ไปให้ เด็กทำเสร็จแล้วผู้ปกครองก็ถ่ายรูปส่งกลับมาให้คุณครูบ้าง บางทีก็ส่งไปรษณีย์กลับมาทีเดียว ทั้งหมด เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนต่อเนื่อง”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/01/06-โรงเรียนวัดบ้านมุง-02.jpg)
ครูจะมีข้อมูลและคอยติดตามนักเรียนที่หายไป
โรงเรียนวัดบ้านมุงมีนักเรียนแค่ 172 คน เรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึง ม.3 ทำให้ติดตามนักเรียนได้ง่าย เด็กที่เรียนออนไลน์ได้จะมีแค่ 30% โดยแต่ละชั้นมีราว 15 คน เรียนได้ประมาณ 4-5 คน แต่ครูจะเปิดสอนออนไลน์ทุกชั้นเพื่อให้เด็กที่มีศักยภาพได้เรียน เน้นไปที่วิชาหลัก ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บางครั้งก็จะอัดเป็นคลิปส่งไปให้ที่บ้าน สำหรับวิชาอื่นก็จะเป็นการเรียนแบบูรณาการแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน
ปัญหาช่วงที่ผ่านมาคือ เด็กบางคนเงียบหายไป ไม่เข้าเรียน ไม่ส่งงาน ไม่ติดต่อกลับ นัดมารับใบงานก็ไม่มารับ คุณครูซึ่งมีข้อมูลของผู้ปกครองแต่ละคนอยู่แล้วก็จะโทร.ไปสอบถามเหตุผล ส่วนใหญ่ก็จะตามกลับมาได้หมด หรือคนไหนที่ย้ายถิ่น ก็ใช้การส่งใบงานทางไปรษณีย์ไปให้
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/01/06-โรงเรียนวัดบ้านมุง-03.jpg)
ช่วงเปิดเทอมล่าสุดพบเด็กสองคนที่ย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ช่วงปิดเทอม แต่พอเปิดเทอมแล้วยังไม่กลับมา คุณครูจึงต้องโทร.ไปติดตามให้กลับมาเรียน ตอนแรกก็บอกว่ายังอยู่ในช่วงกักตัว 14 วัน ผ่านไป 14 วันก็ยังไม่กลับ ก็ต้องทำหนังสือราชการสอบถามตามระบบ และคอยโทร.ประสานเป็นระยะ จนตอนนี้กลับมาเรียนปกติ
“ต้องคอยติดตามตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่บ้าน ไม่ให้เขาหายไปไหน คอยแก้ปัญหา ปรับแผนให้เขาเข้าเรียนได้ มีงานส่ง พอเปิดเทอมกลับมาเรียนออนไซต์ได้ ก็เริ่มดูข้อมูลว่ามีเด็กคนไหนยังไม่กลับมาเรียน คอยติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่สัปดาห์แรก เพราะกลัวจะเรียนไม่ทันเพื่อน กลัวว่าถ้าปล่อยให้หายไปนานแล้วจะหลุดไปจากระบบเลย”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/01/06-โรงเรียนวัดบ้านมุง-04.jpg)
เด็กเล็กความรู้แทบเป็นศูนย์ เร่งฟื้นฟูก่อนขึ้นบทเรียนใหม่
ครูรุ่งนภาประเมินว่า หลังจากเด็กๆ กลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง เด็กหลายคนลืมสิ่งที่เคยเรียนไปเกือบหมด โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ลืมหมดแล้วว่า ก.ไก่ เขียนยังไง ทำให้ครูต้องนำเนื้อหาเทอมหนึ่งมาสอนซ้ำก่อนในช่วงแรก
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2022/01/06-โรงเรียนวัดบ้านมุง-20.jpg)
“เด็กเล็กนี่กลับมาแทบเป็นศูนย์ เด็ก ป.1 ป.2 จะหนักกว่าชั้นอื่น ถ้าจะให้เรียนต่อไปเลยก็จะไม่รู้เรื่องเพราะลืมของเก่าไปหมดแล้ว ส่วนเด็กโตเขายังพอได้เรียนรู้จากใบงานช่วงที่ผ่านมาได้บ้าง อย่างใบงานก็พยายามตามให้ได้ 100% เพื่อให้ทุกคนมีคะแนนสอบปลายภาค วัดผลจากชิ้นงานของเด็ก ส่งไม่ทันก็ให้ตามส่ง ต้องอะลุ่มอล่วยเรื่องเวลาให้เด็กด้วย”
ทั้งหมดเป็นมาตรการติดตามและการปรับแผนการเรียนการสอนของโรงเรียนวัดบ้านมุง ที่ทำให้นักเรียนยังสามารถเกาะติดเนื้อหาและกลับมาเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดไปจากระบบการศึกษา