“พวกเราชั้น ป.5 ทำสเปรย์แอลกอฮอล์ ปกติเราใช้กันอยู่ก็ไม่ได้คิดว่าจะยากเท่าไหร่ พอต้องมาทำกันเองจริง ๆ กว่าจะผ่านแต่ละขั้นตอนได้ก็ไม่ง่ายเลย แต่ตอนทำก็คิดไปว่าของที่เราตั้งใจทำจะได้ส่งไปถึงคนที่จำเป็นต้องใช้ ก็ยิ่งอยากทำให้ดีค่ะ”
“ตอนที่เราทำของขึ้นเองกับมือก็สนุกอยู่แล้ว ยิ่งพอนึกว่าจะมีคนที่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ ได้มีความสุขเมื่อเขาได้รับ เราก็ยิ่งมีความสุขตามไปด้วย ช่วงโควิด-19 หนูรู้ว่ามีคนที่เขาลำบากมากขึ้น ถ้าสิ่งที่พวกเราทำจะช่วยให้เพื่อน ๆ มีความสุขขึ้นมาได้บ้าง เราก็ดีใจค่ะ”
‘น้องมะตูม’ ปารมิตา สุขทรามร ตัวแทนเพื่อนนักเรียน ชั้น ป.5 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (Satit Kaset IP) เผยความสุขของการเป็นผู้ให้ ในวันส่งมอบสิ่งของที่เด็ก ๆ ช่วยกันจะหา จัดเตรียม และทำขึ้นเองกับมือ พร้อมบรรจุลงถุงกระดาษสีสันสวยงาม และส่งต่อให้กับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อนำไปส่งมอบให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล อันเป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนแห่งการ ‘แบ่งปัน’ (Sharing) และ บ่มเพาะ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ (Empathy) ให้กับน้อง ๆ ชั้น ป.4-ป.6
วิภาวี สุวิมลวรรณ อาจารย์ชั้นประถมศึกษา สาธิตเกษตร ไอพี เล่าว่า ทางโรงเรียนมีโครงการในรายวิชาเรื่องการช่วยเหลือสังคม ซึ่งทำต่อเนื่องทุกปี โดยนักเรียนต้องทำกิจกรรมร่วมกัน ในการรวบรวมสิ่งของจำเป็น หรือสิ่งของที่เป็นประโยชน์ แล้วนำไปส่งมอบของให้กับผู้ยากไร้ขาดแคลน
จนมาถึงช่วงเวลาสองปีที่เกิดวิกฤตโควิด-19 รูปแบบการเรียนรู้ปรับเป็นออนไลน์มากขึ้น นักเรียนมีเวลามาโรงเรียนน้อยลง แต่กิจกรรมยังคงไว้ โดยตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะส่งต่อสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้กับโรงเรียนยากไร้ในพื้นที่ห่างไกลโดยเฉพาะ จนนำมาสู่ความร่วมมือกับ กสศ. ในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงมีฐานข้อมูลของโรงเรียนเป้าหมายที่ตรงกับเจตนารมย์ของโครงการโดยตรง
“เราจึงให้น้อง ๆ ชั้นประถมปลายช่วยกันจัดเตรียมของขึ้นมา และยินดีที่จะมอบให้ กสศ. เป็นตัวแทนส่งต่อสิ่งของไปยังโรงเรียนที่ขาดแคลน”
“ที่น่าสนใจคือ พอเด็ก ๆ รู้ว่าสิ่งของที่เขาเตรียมไว้หรือทำขึ้นมาเองกับมือ จะถูกส่งไปให้โรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ซึ่งเขาได้รับรู้ข้อมูลจาก กสศ. ว่ายังมีเพื่อน ๆ อีกมากมายที่ขาดอุปกรณ์การเรียน หรือยังมีสิ่งป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ไม่พอ เขาก็กระตือรือร้นช่วยกันหาช่วยกันเตรียม อย่างที่บอกว่าแม้จะเรียนจากที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาก็ตั้งใจมาก พับถุงเอง เลือกของกันเอง ทั้งออกแบบสติ๊กเกอร์ ช่วยกันประดับตกแต่งจนสวยงาม แล้วส่งมารวมกันที่โรงเรียน”
“ส่วนของข้างในก็อย่างเช่น ป.4 เป็นเครื่องเขียน ป.5 เขาก็ทำสเปรย์แอลกอฮอล์กันเอง ป.6 ก็มีขนม หน้ากากอนามัย สายคล้องแมสก์ที่ร้อยกันเอง แล้วเขาจะเน้นกันมากว่าถุงต้องทำจากกระดาษสีสดใส เพราะอยากให้ผู้รับเห็นแล้วมีกำลังใจ ยิ้มได้”
ด้าน อนัญญา พรหมชนะ อาจารย์ผู้ดูแลน้อง ๆ ทำกิจกรรม ระบุถึงใจความสำคัญของบทเรียนนี้ว่า “เราอยากให้น้อง ๆ นักเรียนกลุ่มนี้ ที่เขาค่อนข้างคุ้นเคยกับความพร้อมสมบูรณ์ในทุกด้าน ได้มองเห็นสังคมที่กว้างไกลกว่าเพียงมิติเดียว ได้ซึมซับการให้ การแบ่งปัน จากข้อเท็จจริงที่ว่ายังมีเพื่อน ๆ ที่ยังขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา หรือยังมีความยากลำบากในการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้คือการตระหนักถึงความจริงในสังคม ที่จะทำให้หัวใจแห่งการแบ่งปันของเขาเปิดกว้าง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากหลังโควิด-19 เข้ามา มีคนลำบากขาดแคลนรอความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น”
“เชื่อไหมว่ามีน้องบางคนที่ตอนเรียนเราต้องตามแล้วตามอีกให้ส่งงาน แต่พอมาทำกิจกรรมนี้เขาเอาใจใส่มาก หลายคนไปเลือกของด้วยตัวเองอย่างใส่ใจ แล้วไม่ใช่แค่ของชิ้นสองชิ้น ดินสอไม่กี่แท่ง แต่แต่ละคนส่งกันมาทีละหลายกล่อง ผู้ปกครองเขาก็สนับสนุนอยากให้ลูกได้ทำ” อาจารย์อนัญญา กล่าว
เสียงจากตัวแทนเพื่อน ๆ พูดถึงความสุขจากการ ‘ให้’
‘น้องของขวัญ’ นภัทร ธนพันธ์ ตัวแทนเพื่อนชั้น ป.4 กล่าวว่า “ดีใจที่ได้รวบรวมเครื่องเขียนอุปกรณ์การเรียนมาให้เพื่อน ๆ ให้เขาได้มีโอกาสมากขึ้น สะดวกขึ้น มีกำลังใจในการเรียนหนังสือมากขึ้น หนูเองก็สุขใจ พอคิดว่าของพวกนี้จะได้เอาไปใช้เขียนหนังสือและทำการบ้านได้อย่างเพียงพอ”
‘น้องแองจี้’ ปวีณ์พร ปกปักษ์ขาม ตัวแทนเพื่อนชั้น ชั้น ป.6 กล่าวว่า “ทุกปีเราได้ทำของขวัญให้กับเพื่อนโรงเรียนอื่น เรามีความสุขที่ได้ทำของแต่ละชิ้นด้วยมือของเรา ปีนี้หนูได้พับถุงกระดาษ ร้อยสายคล้องแมสก์เป็นสร้อย อยากให้คนที่รับได้รู้ว่าพวกเราตั้งใจทำ และอยากให้เขามีความสุขมากขึ้นด้วยค่ะ”
‘การแบ่งปัน’ เริ่มได้ที่ตัวเรา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในฐานะคนกลางผู้รับมอบความสุข กำลังใจ ที่จะนำไปส่งต่อให้กับน้อง ๆ ในพื้นที่ห่างไกล กล่าวว่า ความ ‘เห็นอกเห็นใจ’ และ ‘เข้าใจ’ ผู้อื่น เป็นทักษะสำคัญที่เด็กเยาวชนต้องได้เรียนรู้ ผ่านประสบการณ์การลงมือทำจริง เพราะพวกเขากำลังเติบโตขึ้น พร้อมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือความขัดแย้งในสังคมที่กินเวลายาวนาน อันเนื่องมาจากความไม่เข้าใจ และความคิดมุมมองที่ต่างกัน โดยเฉพาะหลายคนที่ไม่ได้รับการพัฒนาเรื่อง Empathy หรือ Social-Emotional Skill (ทักษะอารมณ์และสังคม)
“เราจึงต้องบ่มเพาะพื้นฐานความเข้าใจคนอื่น ให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่เมื่อเขาอายุยังน้อย แล้วต้องไม่ใช่การสอนผ่านกระดานหรือเป็นเพียงบทเรียนในหนังสือ แต่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ สอนให้เขาลงมือทำ ได้เขียนบรรยายความคิด ความรู้สึกที่เขามีต่อผู้อื่น แล้วเขาจะพบรายละเอียดเล็กน้อยที่กลั่นกรองเป็นความเข้าใจ เช่นความยากลำบากที่คนอื่นต้องพบเจอในขณะที่เราไม่เจอ ทีนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อแบ่งปันโอกาสให้คนอื่นได้บ้าง เหล่านี้คืออีกหนึ่งภารกิจที่ กสศ. ต้องการส่งเสริมให้เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว ความเสมอภาคทางการศึกษาหรือในสังคมของเรา มันจะเริ่มได้จากการที่คนเรารับรู้ความแตกต่างระหว่างกันได้ ซึมซับความสุขทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ได้ แล้วจากนั้นก็จะไปสู่ขั้นตอนลงมือทำ เพื่อให้ปัญหาในสังคมลดทอนลง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมใด ๆ หรือใครคนหนึ่งเป็นคนทำอยู่ฝ่ายเดียว เพราะเราทุกคนทำได้ แค่เริ่มที่ตัวเราแล้วฝึกให้เป็นนิสัย แล้วการเผื่อแผ่แบ่งปันจะทำให้สังคมของเราดีขึ้น”