รู้หรือไม่ ? เด็กอนุบาลควรมองเห็นตัวเลขบนกระดานวัดสายตาชัดแจ๋วถึงแถวที่ 6 ส่วนเด็ก ป.3 ขึ้นไป ควรชัดแจ๋วถึงแถวที่ 7 จากการตรวจวัดระยะ 8 เมตร หากเห็นเลขเบลอ ควรสวมแว่นตาก่อนสายเกินแก้ ในแว่นมอง “ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ไม่ได้มีกรอบปัญหาเพียงความยากจน หากแต่รวมถึงอุปสรรคอีกหลายข้อ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง “สายตา” ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้เด็ก ๆ มีคุณลักษณะด้านการเรียนรู้ที่ไม่พึงประสงค์ “มองกระดานไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ออก ให้คำตอบไม่ได้” คุณลักษณะเหล่านี้ อาจทำให้เด็กคนหนึ่งถูกมองว่าไม่รักเรียน ขณะที่ตัวเขาเองกำลังอยู่กับอุปสรรคซึ่งรอทางแก้ ยิ่งถ้าหากเด็กคนนี้เป็นเด็กยากจน ไม่ง่ายเลยที่เขาจะมีแว่นสายตาเป็นของตัวเองสักอัน กสศ.อาสาพาไปคุยกับ นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) หนึ่งในจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความผิดปกติทางด้านสายตาและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากทัศนะในการมองเห็น รวมถึงแนวทางแก้ไขซึ่งเริ่มขึ้นแล้วด้วยความร่วมมือ
สั้น ยาว เอียง ขี้เกียจ : ความผิดปกติทางสายตา
นพ.วรภัทร วงษ์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เล่าว่า สายตามนุษย์ก็เหมือนเลนส์กล้อง โดยปกติการมองเห็นภาพของดวงตาจะมีการหักเหของแสงจากวัตถุตกกระทบมาอยู่ที่จุดรับภาพชัดของจอตา หากแสงหักเหมากแล้วแสงตกก่อนถึงจอตา จะทำให้มองภาพไกลไม่ชัดเจน แต่พอนำภาพมาใกล้ ๆ ก็จะดันแสงให้ตกถอยเรื่อย ๆ กระทั่งไปเจอจอตา นี่คือลักษณะการหักเหผิดปกติซึ่งเรียกว่า สายตาสั้น คือมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้ชัด ชัดมากชัดน้อยแล้วแต่ค่าสายตาที่สั้นมากน้อย
ในทางกลับกัน สายตายาว คือการหักเหของภาพไปหลังจอตา ต่อให้นำภาพไปอยู่ไกลสุด ก็จะไม่มีทางชัดเลย เพราะภาพจะตกไปหลังจอตาอยู่ดี ยิ่งภาพมาใกล้เท่าไรยิ่งตกไปหลังจอตากว่าเดิม ไม่ชัดเลยสักระยะเดียว แต่ก็ยังดีกว่ามองไม่เห็น
อีกปัญหาคือ สายตาเอียง ในเลนส์ที่ใช้มองการหักเหแทนที่จะกลมเหมือนเลนส์แว่นขยาย นูนเรียบเท่ากันหมด แต่กลับนูนเป็นรูปรักบี้หรือลูกชิ้นปลา หรือแบบแกนหนึ่งนูนเยอะไป อีกแกนนูนน้อยไป คนกลุ่มนี้จะไม่มีความคมชัดทั้งภาพและแนวของภาพ
“โดยสรุปคือสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่ช่างแว่น จักษุแพทย์ นักทัศนมาตรหรือนักวิชาการด้านสายตา จัดการได้ด้วยแว่น ทำให้คนที่มองไม่ชัดมองเห็นชัดขึ้นได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลมากกว่าอาการหล่านี้คือ ภาวะตาขี้เกียจ หรือ Amblyopia มักเกิดในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 – 7 ปี ภาวะนี้เป็นความผิดปกติถ้าไม่ได้แก้ไขในวัยเด็กจะติดตัวไปจนโต และไม่มีทางแก้ไขได้อีกเลย”
นพ.วรภัทร แสดงความกังวลถึง ภาวะตาขี้เกียจ (Amblyopia หรือ Lazy Eye) โดยอธิบายถึงกรณีที่เด็กคนหนึ่งมองเห็นภาพด้วยตาข้างหนึ่งชัดเจนกว่าตาอีกข้างมาก ๆ หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน เด็กคนนี้จะใช้เฉพาะดวงตาข้างที่ชัดเจนกว่าโดยอัตโนมัติ จนกระทั่งเส้นสมองไม่พัฒนาเส้นประสาท เซลล์ประสาทและเนื้อเยื่อที่ใช้รับภาพข้างที่ไม่ชัดจะเปลี่ยนไปพัฒนาเฉพาะข้างที่ชัด การพัฒนาแบบนี้จะทำให้ดวงตาอีกหนึ่งข้างไม่เจริญเติบโตเมื่อเทียบกับตาอีกข้างที่ถูกกระตุ้นตลอด
“ประเด็นคืออาจทำให้เขาสูญเสียโอกาส เด็กที่เกิดมาในช่วงอายุเลขหลักหน่วยยุคนี้ เขามีสิทธิ์ที่จะอยู่ถึงอายุร้อยปีสบาย ๆ แปลว่าเราอาจทำให้ประสิทธิภาพ ศักยภาพ และโอกาสพัฒนาของเขาตกต่ำลงไปมาก เป็นภาระของผู้ใหญ่ในยุคสมัยนี้ที่จะต้องดูแลเขาในช่วงวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก การเรียนจะทำไม่ได้เต็มที่เพราะว่าสายตาไม่สามารถจะฟื้นฟูระบบประสาททั้งวงจรในสมองได้”
หลักประกันสุขภาพ เส้นทางสู่หลักประกันโอกาสทางการศึกษา
“แว่นสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์เพื่อเด็กไทยสายตาดี”
เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ออกหน่วยให้บริการตรวจวัดการมองเห็นและตัดแว่นสายตา ให้กับเด็กในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านราชาวดี (ชาย) จังหวัดนนทบุรี เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพด้านสายตาที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน
อ่านข่าว – สปสช. ร่วมมือ กสศ. นำร่องตรวจวัดตัดแว่นตา เตรียมขยายโมเดลทั่วประเทศแก้อุปสรรคการเรียนรู้
นพ.วรภัทร จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบอกเล่าว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้น เป็นภาพสะท้อนถึงการมองเห็นปัญหาเดียวกันระหว่างหน่วยงานที่แม้ว่าจะมีภารกิจหลักของตัวเอง แต่สามารถหาสิ่งที่เรียกว่าจุดร่วมได้ โดยโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ มีบทบาทดูแลดวงตาให้กับประชาชนทุกกลุ่มอายุ ขณะที่ สปสช. มีบทบาทการบริการและผลักดันสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่วน กสศ. ก็มีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ซึ่งหนึ่งในหลักประกัน คือ เด็ก ๆ ต้องมีสายตาที่ดีเพื่อพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา
“กสศ. มีฐานข้อมูลเด็กที่ครอบคลุมทั้งระบบ เมื่อ กสศ. ช่วยชี้เป้านักเรียนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความดูแล ทำข้อมูล ทำวิจัย วิเคราะห์และทำข้อเสนอนโยบายบนฐานข้อมูลที่มีอยู่ปัจจุบันให้เกิดการต่อยอดไปเป็นการปฏิบัติ สุดท้ายจะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาสายตาได้”
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มองเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันเชิงระบบ เพื่อทำให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงแว่นสายตาในรูปแบบสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและการศึกษา ข่าวดีขณะนี้ สปสช. สร้างระบบขึ้นแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าไปดูแลเด็กทุกคนได้อย่างครอบคลุมจากข้อจำกัดเรื่องจำนวนจักษุแพทย์ประจำจังหวัดที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการเข้ารับบริการ ขั้นตอนต่อจากนี้ คือยกระดับบริการจากการออกหน่วยเคลื่อนที่เป็นการออกแบบโปรแกรมให้ทุกคนเข้าถึงได้
“ก็หวังใจว่าการทำโครงการหรือการออกหน่วยบริการที่เป็นเฉพาะกิจ จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบการให้บริการปกติทุกพื้นที่ ซึ่งสถานดูแลเด็กด้อยโอกาสจะมีตารางตรวจสุขภาพประจำปี ตารางฉีดวัคซีน มีผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการความพิการเข้ามาประเมิน ในด้านสายตาเราก็จะขอเรียนรู้และเข้าไปดูแลให้เป็นกระบวนการปกติ ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ ที่มีบริบท ทรัพยากร และข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป”
นพ.วรภัทร ยืนยันจากประสบการณ์ที่ได้ตรวจวัดสายตาและตัดแว่นให้เด็ก ๆ ว่าเสียงตอบรับเป็นไปในทางที่ดีตลอดมา เด็กนักเรียนมีความสามารถในการเรียนดีขึ้น มองเห็นกระดานในชั้นเรียนชัดเจนขึ้น มองเห็นครูผู้สอนมีสมาธิในชั้นเรียนมากกว่าเดิม ส่งผลให้มีทักษะด้านการอ่านดีขึ้นด้วย รวมถึงทักษะทางด้านการทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ทำได้คล่องแคล่วขึ้นเพราะการมองเห็นดีกว่าเดิม
“เมื่อไรที่เอาแว่นไปสวมให้เด็ก ๆ จะเหมือนเปลี่ยนชีวิต เด็กจะพัฒนาได้ในเรื่องการเรียน เขาจะเปลี่ยนเป็นเด็กอีกคนหนึ่ง เราจะได้ยินซ้ำ ๆ เสมอมาเลยว่าเราเปลี่ยนชีวิตเด็ก พ่อแม่ก็ชื่นใจ คุณครูก็ชมเชย นอกจากนี้เขาจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดีขึ้น เขาเคลื่อนไหวตัวได้ เขาปลอดภัย เขากะระยะได้ และเขาจะเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยเพราะว่าใช้แว่นแล้วรู้สึกว่าสิ่งนี้จำเป็นเหมือนเครื่องแต่งตัวของเขา เขาจะเรียนรู้การเก็บรักษาของ จะเป็นคนที่มีระเบียบวินัยขึ้น”
ทั้งนี้ นพ.วรภัทร เล่าว่าในทางการแพทย์การสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก ควรมีระบบตรวจวัดสายตาต่อเนื่องทุก 1 – 2 ปี ดังนั้น การให้บริการตรวจวัดสายตาและตัดแว่นตาควรเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กำลังพัฒนารูปแบบการให้บริการเพื่อให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการตรวจวัดสายตาและได้รับแว่นตาแบบไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านการทำงานร่วมกับ สปสช. และ กสศ.