‘แนะแนวทางดูแลคนรุ่นใหม่’ บนโลกใบเก่าที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ ผู้ใหญ่ต้อง ‘พัฒนา ปรับตัว และเปิดใจ’

‘แนะแนวทางดูแลคนรุ่นใหม่’ บนโลกใบเก่าที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ ผู้ใหญ่ต้อง ‘พัฒนา ปรับตัว และเปิดใจ’

“ก่อนอื่น คนเป็นผู้ใหญ่ต้องรับรู้ว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว จากยุคสมัยที่เราเติบโตขึ้นมา ส่วนเด็กในวันนี้ เขาโตขึ้นมากับโลกใบใหม่ ดังนั้นเราจะกักขังเด็กไว้ด้วยชุดความคิดเดิมไม่ได้อีกต่อไป”

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม(องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวในหัวข้อ ‘แนวทางการสอนลูกให้มีความเข้มแข้งทางจิตใจ และสามารถจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง’ โดยเน้นความสำคัญที่การ ‘ดูแลจิตใจ’ บุตรหลาน ซึ่งจำเป็นต้องเสริมเกราะป้องกันภายใน และสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับเด็ก ให้เขารับรู้ว่า ‘จะสำเร็จหรือล้มเหลว ทุกคนล้วนมีความสำคัญ และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ’

“ข้อคิดประการหนึ่งจากธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา คือมากกว่า 90% ของธุรกิจที่เริ่มต้น มักจบลงด้วยความล้มเหลว

“ข้อเท็จจริงด้านหนึ่งของเรื่องนี้สะท้อนว่า โลกเราอยู่ในยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน สิ่งต่าง ๆ ที่เคยเป็นเคยทำกันต่อมาจากอดีต กำลังถอยร่นจากไป พร้อมกับที่มีสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และผันไปเช่นเดียวกันในทุกยุคทุกสมัย เพียงแต่ในปัจจุบัน เรากำลังเจอกับอัตราเร่งที่เร็วขึ้นของการเรียนรู้ ทิศทางธุรกิจ และอาชีพใหม่ ๆ ในขณะที่สิ่งที่ตามมาควบคู่กัน คือ ‘วงรอบของการเริ่มต้นที่ความฝันและจบลงด้วยความเจ็บปวดจากการล้มเหลว’ หมายถึงคนรุ่นใหม่ต้องพบผ่านความผิดหวัง และเจอกับอุปสรรคในแต่ละขั้นตอนของชีวิตที่ทั้งเปลี่ยนหน้าตา และเพิ่มจำนวนขึ้นกว่าเดิม

“ฉะนั้น การจะประคับประคองเด็ก ๆ ให้เขาเติบโตก้าวผ่านสิ่งที่รออยู่ข้างหน้าได้ อย่างแรกที่คนเป็นผู้ใหญ่ต้องระวังที่สุด คือ ‘ต้องไม่เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เขาบาดเจ็บซ้ำเติม’ และต้องเป็นเป็นที่พักพิงและโค้ชชิ่งให้มองไปยังเส้นทางเบื้องหน้าได้ว่า ‘เมื่อล้มลงไปแล้ว เขาจะลุกยืนด้วยความเข้มแข็งอีกครั้งได้อย่างไร’”

เตรียมสภาพแวดล้อมให้มีที่ทางสำหรับ ‘ผู้ผิดหวัง’

การซ้ำเติมบาดแผลของเด็ก ๆ เกิดขึ้นได้ทั้งจากการกระทำและคำพูด เช่นการตัดสิน หรือเปรียบเทียบเด็ก โดยยกเอามาตรฐานสังคมชุดเดียวมาตัดสิน เช่น “ทำไมเธอทำไม่ได้อยู่คนเดียว คนอื่นเขาทำได้กันหมด” เป็นตัวอย่างต้องห้ามของการสื่อสารกับเด็ก ที่ผู้ใหญ่ต้องเตือนตัวเองว่า ‘ไม่ควรทำ’

“อย่าลืมว่าวันนี้ ผู้ใหญ่อย่างเราต้องพร้อมพัฒนาตัวเองให้ทันโลก ‘ปรับตัว’ และ ‘เปิดใจ’ ทั้งกับเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ และความหลากหลายในทุกด้าน …ในเวลาเพียงไม่กี่ปี โลกของเรามีอาชีพใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับหลายอาชีพที่ทยอยสูญหายไป วันนี้ ความสำเร็จหรือล้มเหลวภายใต้บรรทัดฐานของสังคมที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ความหลากหลาย จึงไม่สามารถนำมาใช้กับโลกยุคปัจจุบันได้อีกแล้ว และมาตรฐานสังคมที่จับจ้องส่องแสงไปยังผู้ชนะเท่านั้น จะต้องไม่ใช่ตัวแปรในการตัดสิน หรือลดทอนคุณค่าของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป ผู้ใหญ่ต้องเตือนตัวเองเรื่องการสื่อสาร และช่วยกันคิดหาทางที่จะไม่ทำให้เด็กบาดเจ็บจากคำพูดหรือการกระทำของตนมากไปกว่าเดิม”

ตัวอย่างหนึ่งของการสร้างพลังใจและจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่น่าสนใจ คือกระบวนการฝึกสภาวะจิตใจจากการ ‘ล้มแล้วลุก’ ของเด็กอนุบาลที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งความสำคัญไปที่การลุกให้ไว เข้มแข็ง และหาหนทางให้พบว่าจะลุกขึ้นได้อย่างไร ในกระบวนการนี้ เด็กจะต้องรู้จักการเผชิญปัญหาและหาทางแก้ไข ซึ่งธรรมชาติของเด็กเมื่อแก้ปัญหาในครั้งที่หนึ่งไม่ได้ ครั้งที่สองล้มเหลวอีก จนถึงครั้งที่สามก็ยังไม่สามารถข้ามผ่านได้ ส่วนใหญ่เขาจะร้องไห้ออกมา ประเด็นคือหลังจากนั้นถ้าเป็นที่อื่น ๆ เราอาจจะเห็นครูเข้าไปดูแลปลอบโยน ให้เด็กไปพัก ขณะที่ครูในกระบวนการนี้เลือกที่จะดึงเด็กเข้ามาหา ให้เพื่อน ๆ ในชั้นห้อมล้อมเอาไว้ จากนั้นช่วยกันร้องเพลงปลุกพลังใจอย่างพร้อมเพรียง

ใจความของวิธีการนี้ไม่ได้บอกว่า แค่การปลุกใจโดยเพื่อน ๆ แล้ว จะทำให้เด็กกลับไปแก้ปัญหาได้สำเร็จทันที แต่เป้าหมายแท้จริงอยู่ที่การส่งต่อความพยายาม พลังใจ ความฮึกเหิมที่ช่วยแปรรูปน้ำตาเป็นความมุ่งมั่นในการกลับไปเอาชนะอุปสรรค ซึ่งแม้หลังจากนั้นเราจะได้เห็นคนที่สามารถทำได้จริง ๆ จากแรงใจที่เพิ่มขึ้น แต่ในโลกความเป็นจริง ก็ยังมีเด็กอีกส่วนหนึ่งที่แม้ได้รับการปลุกใจแล้ว เขาก็ยังข้ามผ่านปัญหาอุปสรรคไปไม่พ้นอยู่ดี หากคราวนี้ สายตาที่มองไปยังความล้มเหลวของเขาต่างออกไปแล้ว เพราะเขาได้ถูกเตรียมจิตใจให้พร้อมยอมรับ ร่วมกับการที่มีทั้งครูและเพื่อน ๆ กางแขนโอบรับเขากลับเข้าไปในกลุ่ม ไม่ว่าผลของบททดสอบจะออกมาเป็นอย่างไร

“นี่คือสิ่งที่ครูไม่ต้องพูดหรืออธิบายอะไรเลย เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมที่ทุกคนได้ตระหนักถึงการประคับประคอง ให้กำลังใจ ในสภาพแวดล้อมที่จัดเตรียมให้ทุกคนรับรู้ว่า พวกเขาทุกคนต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน   

  

“เรื่องนี้เองที่เราจำเป็นต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อย้อนกลับมาในประเทศของเรา การใช้ชีวิตในโรงเรียนของเด็กเขาต้องเจอแรงเสียดทานจากมาตรวัดต่าง ๆ มากมาย หรือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว เมื่อต้องกลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง ถ้าไม่มีการเตรียมสภาวะจิตใจ ไม่มีระบบสังคมรองรับ อุปสรรคมากมายที่เขาต้องปรับตัวเข้าหาไม่ว่าจะเรื่องการเรียนหรือการเข้าสังคม ก็จะกลายเป็นความกดดันที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาสู้อยู่เพียงลำพัง แล้วสุดท้ายเมื่อมันหนักเกินกำลัง เขาก็จะยอมแพ้และหลุดออกไปอีก”     

เพราะเราต่างกัน แต่ละคนจึงควรได้พัฒนาชีวิตบนหนทางที่ตนเชื่อ

นพ.สุริยเดว กล่าวเสริมถึงแนวทางในการช่วยเด็กเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบ ในการปรับตัวกลับสู่ห้องเรียนและคืนสู่สังคม โดยยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่า ปัญหาเด็กเร่ร่อนบนท้องถนน เป็นประเด็นใหญ่ที่กัดกินสังคมอเมริกันมายาวนาน รัฐจึงกลับมาทบทวนหาวิธีรับมือโดยร่วมกับภาคเอกชน สร้างกระบวนการช่วยเหลือดูแลฟื้นฟูเด็กกลุ่มนี้ ให้กลับคืนสู่สังคมและพัฒนาศักยภาพที่มีในตนเองได้ โดยสนับสนุนให้แต่ละคนค้นหาตัวตนจนพบ และเดินต่อไปได้ในทิศทางของตนเอง

“มันคือการตั้งคำถามว่า ‘เราเรียนไปเพื่ออะไร’ เมื่อใคร่ครวญแล้ว จึงตระหนักร่วมกันว่าปลายทางของการศึกษาคือทำให้เด็กไปถึงการมี ‘สัมมาชีพ’ และ ‘ใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้’ ก็จะมองเห็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่น มากกว่าแค่เอาเด็กไว้ให้อยู่ในโรงเรียนหรือห้องเรียน

“สิ่งแรกสุดหลังจากนำเด็กกลับมาคือฟื้นฟูจิตใจ บำบัดร่างกายจากยาเสพติด หรือโรคภัยต่าง ๆ จากนั้นจะไปสู่กระบวนการค้นหา ‘จุดแข็ง’ ของเด็ก แล้วโยงเข้ากับสาขาอาชีพต่าง ๆ พร้อมสร้างพื้นที่ที่สวยงามด้วยธรรมชาติและเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ปลอดภัยทั้งร่างกายจิตใจ ให้เด็กได้กินอาหารครบมื้อ ออกกำลังกายเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตนสนใจและความถนัดเฉพาะบุคคล ก่อนนำผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เข้ามาเป็นโค้ช  

“อย่างเด็กที่ชอบพ่นสีสเปรย์ตามกำแพง เขาจะสนับสนุนให้ได้ใช้ความสามารถไปในทางที่ถูก มีมืออาชีพมาแนะนำ พัฒนาทัศนคติ ความรู้ด้านการตลาด เสริมทักษะวิชาการที่จำเป็น สอดแทรกพื้นฐานการบริหารจัดการ เพื่อให้นำสิ่งที่ชอบและถนัดไปใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้”

นอกจากนี้ทางโครงการยังมีข้อตกลงร่วมกับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในการรับเด็กจากศูนย์ดูแลเข้าทำงาน โดยผู้ประกอบการจะได้รับการลดหย่อนภาษี รวมถึงมีข้อตกลงกับเด็กที่ผ่านศูนย์ดูแลและประสบความสำเร็จมีที่ทางไปแล้ว ให้กลับมาเป็นจิตอาสาถ่ายทอดแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของตนไปสู่คนอื่นต่อไป

“จะเห็นว่าโมเดลนี้ทำให้เราสร้างกระบวนการฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คนหนึ่งได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือและลดแรงเสียดทานต่าง ๆ ที่เด็กต้องเจอและก้าวผ่าน ด้วยความเข้าใจ ละเอียดอ่อน และส่งเสริมเด็กจนไปถึงเป้าหมายปลายทางคือ ‘สัมมาชีพ’ และ ‘การอยู่ร่วมในสังคม’ ซึ่งตอบคำถามที่ว่า ‘เราเรียนรู้ไปเพื่ออะไร’ ได้ดีที่สุด”

‘3 ข้อคาถา สำรวจจิตใจเด็ก’

นพ.สุริยเดว มีข้อแนะนำว่าในการเรียนทุกครั้ง ครูควรถามลูกศิษย์ด้วยคำถามสามข้อ คือ

1. เรียนแล้วรู้สึกอย่างไร
2. เรียนแล้วได้รู้อะไรบ้าง
3. สิ่งที่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

โดยคำถามทุกข้อไม่จำเป็นต้องมีคำตอบจากทุกคน หรือคาดหวังว่าจะได้คำตอบที่ดี หากคำถาม 3 ข้อนี้ คือจิตวิทยาพื้นฐานที่จะช่วยเปิดใจของผู้เรียน ว่า ข้อแรกเขาสามารถบอกเล่าความรู้สึกได้ โดยจะไม่ถูกตัดสินจากผู้ถาม ซึ่งต่อเนื่องไปยังข้อสองที่เขาจะยินดีแสดงความรู้สึกที่แท้จริง โดยอาจจะตอบว่า ‘ไม่ได้อะไรจากการเรียนเลย’ แต่ผลที่จะได้รับในภาพรวมของคำถามเหล่านี้ คือการกระตุ้นให้เขาเริ่มคิด และเชื่อมโยงไปยังข้อสาม ว่าแท้จริงสิ่งที่ได้เรียนรู้ จะเอาไปใช้กับชีวิตต่อไปได้อย่างไร

และนอกจากนี้ในกระบวนการถามตอบทุกครั้ง ครูสามารถสังเกตได้ว่าใครเงียบไม่มีบทบาท หรือหลบอยู่ตรงมุมห้อง โดยหลังจบคาบเรียนก็สามารถหาโอกาสเข้าไปคุยส่วนตัว เพื่อสำรวจปัญหาภายในของเด็กเฉพาะคน และหาทางช่วยเหลือได้ทันท่วงที


*เรียบเรียงจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์ โรงเรียนพัฒนาตัวเอง ครั้งที่ 2
แนวทางการสอนลูกของพ่อแม่ และกลไกการหนุนเสริมจากชุมชน เพื่อให้เด็กมีความเข้มแข็งทางจิตใจ และสามารถจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองได้