ผลสำรวจขององค์การยูนิเซฟ (2563) พบว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียด ความวิตกกังวลเนื่องจากผลกระทบต่างๆ จากสถานการณ์โควิด หากเราปล่อยไว้แบบนี้อาจจะไม่เป็นผลดีต่อเด็ก นีทจึงอยากชวนทุกคนมาพูดคุยกันเรื่อง “เรียนรู้” “สำรวจ” “ออกแบบ” ความสุขให้เด็กๆ เพราะความสุขสร้างได้
บางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า การสอนเรื่องความสุขให้เด็กๆ นั้นยาก เพราะเราอาจจะไม่รู้ว่าต้องอธิบายอย่างไร ยกตัวอย่างแบบไหน เพราะมันดูเป็นนามธรรมไปเสียหมด โดยส่วนตัวนีทคิดว่า มีทฤษฎีความสุขหนึ่งที่ทำให้ความสุขสามารถเข้าใจ เห็นภาพ และจับต้องได้ง่าย นั่นคือ ทฤษฎีความสุขของเซลิกแมน (Seligman, 2011)
เซลิกแมนบอกว่า มีด้วยกันอยู่ 5 อย่างนะ ที่หล่อหลอมจนกลายเป็นหน้าตาแห่งความสุขของคนเรา ซึ่งเรียกว่า PERMA โดยมีความหมายดังนี้
(*ในการยกตัวอย่าง นีทจะขอยกตัวอย่างที่เชื่อมโยงกับความสุขของเด็กๆ )
ตัว P เป็นความสุขที่เด็กได้เจอกับเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้เรายิ้มได้ เช่น ฉันมีความสุขมากที่ได้ดูการ์ตูน, ฉันมีความสุขมากที่วันนี้ครูใจดี, ฉันไปซื้อไอติมรสโปรดทัน
ตัว E เป็นความสุขที่เด็กได้ทำงานอดิเรก เช่น ฉันมีเวลาไปปลูกต้นไม้ ฉันมีเวลาไปซ้อมเต้น ฉันมีเวลาไปวาดรูป
ตัว R เป็นความสุขที่เด็กมีคนรัก เช่น ฉันมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ คนในครอบครัว เพื่อน หรือครู เป็นต้น
ตัว M เป็นความสุขที่เด็กมีความตั้งใจในการทำสิ่งต่างๆ เช่น ฉันช่วยแม่ล้างจาน เพราะฉันไม่อยากให้แม่เหนื่อย เป็นต้น
ตัว A เป็นความสุขที่เด็กประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเป็นความสำเร็จเล็กๆ หรือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ เช่น วันนี้ฉันทำการบ้านเสร็จ วันนี้ฉันไม่ลืมของไปโรงเรียน วันนี้ฉันกินข้าวหมด ฉันสอบเปียโนผ่าน ฉันว่ายน้ำได้ที่หนึ่ง
พอเรารู้ว่าความสุขนั้นมี 5 ตัวประกอบกัน แล้วเราจะสอนเด็กๆ อย่างไรดีนะ เพราะจะให้เราพาเด็กๆ มานั่ง แล้วสอนว่า “ลูกฟังนะคะ ความสุขประกอบด้วยกัน 5 ตัว…” ก็คงจะไม่ได้ นีทมี 1 เกมมาแนะนำคือ “เกมแปะกระดาษ” วิธีการเล่นเกมนี้ ไม่ซับซ้อนเลยค่ะ เพียงแค่เรา
- เตรียมกระดาษโพสต์-อิท
- แบ่งกระดาษโพสต์-อิทให้ทุกคนที่จะเล่นเกมนี้
- ให้แต่ละคนวาดสัญลักษณ์ของตนเองบนโพสต์-อิททุกแผ่น โดยขอให้สัญลักษณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
- ให้ทุกคนออกสำรวจรอบๆ บ้านตนเองว่า อะไรที่ทำให้ฉันมีความสุขบ้าง โดยอาจจะตั้งโจทย์ให้สอดคล้องกับ PERMA เช่น อะไรที่ทำแล้วมีความสุข, ใครทำให้ฉันมีความสุข, พฤติกรรมที่ฉันได้ช่วยคนอื่นแล้วมีความสุข (อาจจะแปะกระดาษที่สิ่งของที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้น เช่น ฉันช่วยแม่ซักผ้า อาจจะไปแปะโพสต์-อิทที่เครื่องซักผ้า), สิ่งที่ทำสำเร็จในวันนี้ เป็นต้น
- ชวนทุกคนมาแชร์คำตอบของตนเอง
นีทเชื่อว่าเกมนี้จะช่วยทำให้เด็กๆ เรียนรู้เรื่องความสุขได้อย่างสนุก เข้าใจง่าย และสอดคล้องกับเรื่องราวในชีวิตจริงของตนเองด้วยค่ะ
ถัดมาค่ะ เราควรพาเด็กๆ สำรวจความสุขของตนเองให้เป็นนิสัย โดยเราอาจจะถามเด็กๆ ทุกตอนเย็นว่า วันนี้หนูมีความสุขไหมคะ เพราะว่าความสุขเป็นอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เด็กเจอ ซึ่งหากเราชวนเด็กๆ สำรวจอารมณ์ในทุกวัน ก็จะช่วยให้เราและเขาเห็นว่าอารมณ์ในแต่ละวันเป็นอย่างไร และถ้าหากวันไหนที่เด็กไม่มีความสุข เราจะได้ช่วยเขาดูแลจิตใจได้อย่างทันทีค่ะ โดยนีทก็มีเครื่องมือน่ารักๆ มาแนะนำอีกหนึ่งเครื่องมือในการสำรวจความสุข คือ “emoji ดอกไม้”
ขั้นเตรียมอุปกรณ์
- นำกระดาษแข็งมาตัดเป็นรูปดอกไม้ โดยให้มีทั้งหมด 7 กลีบ (เพื่อให้ดอกไม้ 1 กลีบใช้ได้ 1 สัปดาห์)
- นำกระดาษที่ตัดเป็นรูปดอกไม้มาติดกับไม้ (อาจจะเป็นตะเกียบ ดินสอ และอื่นๆ) เพื่อให้ดูเป็นดอกไม้จริงๆ อาจจะทำใบไม้แปะที่ลำต้นด้วยก็ได้
วิธีการใช้
- ให้เราและเด็กไปหยิบ “emoji ดอกไม้” แล้วสำรวจว่า “วันนี้ฉันมีความสุขไหม” โดยเราอาจจะเขียน หรือวาดสัญลักษณ์ก็ได้ เช่น หน้ายิ้ม หน้าร้องไห้ เป็นต้น
- ให้เราและเด็กมาแชร์กันว่า “วันนี้ฉันมีความสุขไหม”
- หลังจากที่แชร์เสร็จ ขอให้ผู้ใหญ่และเด็กๆ ถามคำถามเพิ่ม แล้วช่วยกันคิดหาคำตอบ ดังนี้
หากเด็กเล่าว่ามีความสุข ให้ถามต่อว่า “ แล้ววันนี้หนูยังอยากทำอะไรให้มีความสุขเพิ่มอีกไหมคะ”
หากเด็กเล่าว่าไม่มีความสุข ให้ถามต่อว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรดีกับสิ่งที่มาทำให้เราทุกข์” - พอเราหาคำตอบได้ ก็อย่าลืมทำนะคะ เพื่อให้เรามีความสุขเพิ่มมากขึ้นค่ะ
เทคนิคการช่วยคิด
นีทเชื่อว่า ในขั้นตอนที่ 3 ของการเล่น “emoji ดอกไม้” อาจจะเป็นขั้นตอนที่ผู้ปกครองต้องช่วยเด็กๆ มากที่สุด (ยิ่งเมื่อเด็กๆ เขาเล่าว่าตนเองไม่มีความสุข) เพราะมันเป็นขั้นตอนการออกแบบ ให้เด็กๆ ค่อยๆ เรียนรู้ว่า ตนเองสามารถสร้างความสุขได้ แม้ว่าวันนี้จะไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร โดยนีทขอสรุปเทคนิคการช่วยเด็กคิดแบบง่ายๆ เป็น 2 ตัวอย่างนี้ค่ะ
- เด็กคิดว่า พอจะแก้ปัญหาที่มาทำให้ตนเองทุกข์ได้
เราลองให้เด็กๆ เขาแก้ปัญหาดูนะคะ แล้วถ้าเขาแก้ปัญหาเสร็จ ให้ชวนเขามาเล่น “emoji ดอกไม้” อีกครั้งค่ะ โดยถามเขาว่า “หนูมีความสุขไหมที่แก้ปัญหาได้” ซึ่งการถามเขาแบบนี้จะเป็นการสอนว่า “ถ้าเราแก้ปัญหาได้ ความทุกข์จะหายไป ความสุขจะค่อยๆ กลับมา” ซึ่งก็เป็นความสุขในตัว A (ความสุขที่เด็กประสบความสำเร็จ) นั่นเองค่ะ
2. เด็กคิดว่า เขาแก้ปัญหาไม่ได้ เขาเหนื่อยมาก
เราอาจจะชวนเด็กๆ ให้ไปพัก ผ่อนคลายอารมณ์ก่อน เพื่อให้เขาได้ปรับใจ เติมพลัง (ซึ่งตรงนี้จะเป็นการสร้างความสุขในตัว P คือความสุขที่เด็กได้เจอกับเรื่องราวดีๆ) พอเขาปรับใจเสร็จ ก็ลองชวนเขาแก้ปัญหาดูนะคะ
นีทเชื่อว่า ความสุขเป็นเรื่องที่เราค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ สร้างขึ้นมาได้ค่ะ นีทจึงอยากชวนให้ผู้ปกครองลองนำเครื่องมือที่นีทแนะนำไปปรับใช้และเล่นกับเด็กดูนะคะ
อ้างอิง :
- Seligman, M. E. (2011). Flourish: A visionary new understanding of happiness and well-being. New York, NY: Atria Paperback.
- เด็กไทยเครียดผลกระทบโควิด-19