“เมื่อเด็กติดเชื้อ เขาจะมีแต่ความกังวล ทั้งอาการป่วย ต้องหยุดเรียน ไม่ได้เล่นสนุก บางคนเครียดสะสม แบกรับความกดดันมายาวนานจากปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ทีนี้พอต้องเข้ามารักษากักตัวในสถานที่ไม่คุ้นเคย มาอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้า มันก็ยิ่งทำให้ความกลัวความกังวลทับถมเข้าไปอีก”
“ดังนั้นที่เราทำได้คือช่วงเวลาสั้น ๆ ตรงนี้ น้อง ๆ ต้องอยู่ในบรรยากาศผ่อนคลาย ได้พักผ่อนจิตใจ ได้รู้สึกเหมือนมาเข้าค่ายทำกิจกรรมรู้จักเพื่อนใหม่ ได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นจากเจ้าหน้าที่ จากอาสาสมัคร แล้วในวันที่กลับออกไป สิ่งที่เขาจะนำติดตัวไปด้วย ก็จะเป็นความทรงจำและประสบการณ์ดี ๆ ที่ประทับอยู่ในใจต่อไป”
‘ครูแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์ ผู้จัดการโครงการคลองเตยดีจัง กล่าวถึงแนวทางการทำงานของ ‘บ้านปันยิ้ม’ ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมกิจการเด็กและเยาวชน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กรมสุขภาพจิต องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กรุงเทพมหานคร คลองเตยดีจัง ไทยพีบีเอส ไลน์แมน กลุ่มธุรกิจ tcp และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในการทำงานเพื่อรองรับเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถกักตัวทำ Home Isolation ที่บ้าน ด้วยข้อจำกัดด้านที่พักอาศัย รวมไปถึงน้อง ๆ กลุ่มเปราะบางจากชุมชนต่าง ๆ
ไม่เพียงดูแลสุขภาพกาย แต่ต้องได้รับการเยียวยาจิตใจ
“มีแนวโน้มว่าเราอาจต้องอยู่กับโควิด-19 ไปอีกนาน และแน่นอนว่าผลที่ตามมาจะไม่กระทบแค่ปัญหาด้านสุขภาพ แต่สิ่งที่การแพร่ระบาดนำมาด้วย คือความเครียดกังวล ความบอบช้ำทางจิตใจที่เด็กเยาวชนซึมซับเข้าไปทุกวัน ทีนี้สำหรับน้อง ๆ ที่ติดเชื้อ ต้องเข้ามาอยู่ในศูนย์ เรามองว่าช่วงเวลา 7-10 วันนี้สำคัญมาก เราสามารถถ่ายทอดข่าวสารความรู้ ความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ชีวิตท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด และในอีกด้านคือกิจกรรมเพื่อเยียวยาจิตใจ การต้อนรับดูแลที่จะทำให้เขาไม่กลัว ไม่เครียดกังวล ได้พัฒนาทักษะการเล่น การสื่อสาร ความรับผิดชอบตัวเองและการอยู่ร่วมในสังคม”
“สถานที่ของเราจึงเน้นสีสันที่สดใส มีการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะกับการทำกิจกรรม มีห้องสมุด มีหนังสือการ์ตูน นิทาน มีของเล่น มีเกมเชิงสร้างสรรค์ มีมุมออกกำลังกาย เพื่อให้ที่นี่เป็นสถานที่ที่เด็ก ๆ จะได้มาทำความรู้จักกัน และเป็นบรรยากาศที่พี่ ๆ น้อง ๆ ได้ดูแลกัน”
‘ปรับ’ สภาพแวดล้อม ‘เปลี่ยน’ สภาวะจิตใจ
‘พี่เบญ’ เบญจวรรณ ธนพรภูริช เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจากคลองเตยดีจัง เล่าว่า สถานที่ที่สวยงาม กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และการสื่อสารพูดคุยด้วยความอ่อนโยนเอาใจใส่ ถือว่าช่วยชุบชูจิตใจเด็กได้มาก โดยจากประสบการณ์ตรงในการดูแลน้อง ๆ พบว่า เด็กจะปรับอารมณ์และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ใน 2-3 วันหลังจากเข้ามาอยู่ในศูนย์ ด้วยความรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ที่ช่วยละลายความแปลกแยก พร้อมทำกิจกรรมทางร่างกายที่ช่วยบำบัดความมั่นคงทางอารมณ์ รวมถึงอาการติดจอโทรศัพท์มือถือ ที่นับวันมีแต่จะขโมยเวลาของน้อง ๆ ไปจากการฝึกทักษะทางสังคม
“ที่เราเห็นคือเด็กจะใช้เวลาทำความคุ้นเคยกันสักพัก แล้วหลังรู้จักสนิทสนมมากขึ้น ก็จะดูแลกันแบบพี่ ๆ น้อง ๆ ทั้งช่วยเหลือ หรือแลกเปลี่ยนคำปรึกษาระหว่างกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมเล็ก ๆ ที่ส่งต่อเมื่อคนเก่าออกไปคนใหม่เข้ามา”
“เกมและกิจกรรมต่าง ๆ ส่งผลอย่างยิ่งต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กด้วยกันเอง รวมไปถึงเด็กกับผู้ดูแลอีกด้วย โดยแม้ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะดูแลเด็กผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ แต่จะคอยสังเกตตลอด เมื่อเห็นว่าเด็กคนไหนเก็บตัว ไม่สื่อสารกับเพื่อน แยกไปกินข้าวคนเดียว ก็จะมีการชักชวนให้น้องเข้ามาสู่กิจกรรมโดยจะไม่มีการบังคับ ถ้าเขายังไม่พร้อม ก็จะแค่ให้ลองมาดูเพื่อนเล่นกันใกล้ ๆ อยู่นอกวงไปก่อน จนกว่าน้องจะพร้อมแล้วสมัครใจร่วมด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องใช้เวลา 1-3 วัน”
ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งของบ้านปันยิ้ม คือจากเดิมที่รับดูแลเด็กติดเชื้อช่วงวัย 6-12 ปี ก็มีการปรับให้ยืดหยุ่นเป็นรายกรณี เช่นสามารถรองรับเด็กเล็กที่มีเงื่อนไขการดูแลเยอะ หรือยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยให้มีคุณแม่เข้ามาดูแลร่วมด้วย ซึ่งข้อดีคือจะมีผู้ใหญ่ในพื้นที่ทมี่คอยช่วยดูแลเด็กคนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ
ชวนเข้าสังคม ลดอาการ ‘ติดมือถือ’
พี่เบญเล่าถึงเคสที่พบบ่อยว่า เด็ก ๆ เมื่อต้องเข้ามาอยู่รวมกันโดยไม่รู้จักกันมาก่อน ส่วนใหญ่เขาจะใช้วิธีหลีกหนีความรู้สึกสึกแปลกแยกเข้าไปสู่โลกส่วนตัว ซึ่งคือการดิ่งดำลงในโลกอินเทอร์เน็ต หรือเกมออนไลน์ต่าง ๆ นานา เช่นเคสหนึ่งที่เข้ามา เป็นน้องที่ติดมือถือมาก มือหนึ่งต้องถือสมาร์ทโฟนพร้อมสายตาต้องจ้องจอตลอดเวลา กระทั่งเวลาวัดไข้ วัดความดัน หรือวัดค่าออกซิเจน
“น้องจะค่อนข้างหงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย โมโหร้ายหน่อย ๆ สิ่งที่เราทำคือพาเขาให้เข้าไปนั่งเล่นมือถืออยู่บริเวณที่เพื่อนคนอื่นเขาทำกิจกรรมกัน เขาก็จะหันมาดูบ้าง แล้วเริ่มสนใจ สักพักพอเห็นว่าน่าสนุก เขาก็ลองลงมาร่วมด้วย จนในที่สุดเขาก็ยอมวางมือถือแล้วเข้ามาเล่นกับเพื่อน ๆ เป็นประจำ”
“ในการดูแลเราจะปฏิบัติกับน้อง ๆ ด้วยความเคารพ ไม่บังคับออกคำสั่งกับเขา คือถ้าเป็นเวลาส่วนตัวของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ที่ไม่ผิดกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกัน แต่อย่างน้อยเราอยากชวนให้เขาได้ลองทำสิ่งแปลกใหม่บ้าง ได้สื่อสารกับเพื่อน ได้ขยับร่างกาย คือแค่ช่วงเวลาหนึ่งของวัน ที่ได้เห็นน้องทิ้งโทรศัพท์ไว้แล้วลงมาเล่นกับเพื่อนบ้าง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง เราก็นับว่าประสบความสำเร็จแล้ว”
“พอเขารับรู้ว่าเราไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นพี่เป็นเพื่อนเป็นคนดูแลเขา ทีนี้มีปัญหาอะไรเขาก็กล้าบอก เช่นคอแห้ง เจ็บคอ ก็จะมาขอยา เรามองว่าการอยู่ด้วยกันในบรรยากาศเช่นนี้ น้อง ๆ จะได้ประโยชน์จากประสบการณ์สั้น ๆ เต็มที่ แล้วปัญหาเรื่องไม่อยากอยู่ อยากกลับบ้าน งอแงร้องหาพ่อแม่ก็ค่อย ๆ หายไป ทุกวันนี้มีแต่เด็กที่เข้ามาอยู่แล้วร้องไห้ไม่อยากออก เริ่มสนุกกับการอยู่กับเพื่อน ได้ฝึกดูแลตัวเอง ส่วนในความสัมพันธ์ระหว่างกันก็แทบไม่มีความแปลกหน้า พอมีเพื่อนใหม่เข้ามาเขาจะออกไปรับที่หน้าประตู ช่วยดูแลแนะนำกัน”
จัดทีมดูแล 24 ชม. สังเกตอาการรายคน
‘บ้านปันยิ้ม’ จะมีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตประจำอยู่ 2 คน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งช่วงเวลางานเป็น 3 กะ คือ 7.00-13.00 น. 13.00-19.00 น. และ 19.00-7.00 น. หน้าที่หลักคือทำประวัติเด็ก ติดตามอาการผู้ป่วยเป็นรายคน เขียนรายงานส่งแพทย์ และทำเรื่องรับส่งเคสจากโรงพยาบาลเด็ก ร่วมกับอาสาสมัครจากคลองเตยดีจัง 3 คน ที่เข้าไปช่วยดูแลน้อง ๆ ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. โดยหลักจะรับผิดชอบเรื่องอาหารหารสามมื้อ ให้ยา ชวนเด็กทำกิจกรรม และช่วยสังเกตอาการป่วยรวมถึงอารมณ์พฤติกรรมต่าง ๆ
“โดยเฉลี่ยแล้วจะมีเคสใหม่เข้ามาวันละ 1-2 คน และมีน้อง ๆ เวียนเข้าออกเกือบทุกวัน โดยเฉลี่ยแล้วช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะมีเด็กรวมถึงแม่ที่เข้ามาร่วมดูแล คราวละ 7-10 คน ส่วนการรับเคสเกือบทั้งหมดจะประสานงานระหว่างสำนักงานเขตกับโรงพยาบาลเด็ก เมื่อทางโรงพยาบาลคัดกรองแล้วว่าเป็นเคสสีเขียว อาการไม่หนัก จะส่งเรื่องมายังเขต แล้วเขตจะส่งต่อเคสมายังบ้านปันยิ้ม ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ทำการสื่อสารกับครอบครัวของเด็กและโรงพยาบาลเพื่อรับตัวเข้ามา โดยเด็กคนหนึ่งจะใช้เวลาอยู่ในศูนย์ประมาณ 7-9 วัน เพราะเราจะนับให้ครบ 10 วัน จากวันแรกที่ผล ATK แสดงว่าพบเชื้อเป็นหลัก” พี่เบญกล่าวสรุปถึงระบบการดูแลน้อง ๆ ที่บ้านปันยิ้ม
ช่องทางติดต่อ ‘บ้านปันยิ้ม’ CI เพื่อแม่และเด็ก ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ติดต่อ ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในสถานการณ์โควิด-19 สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวง พม.
- Line Official ‘savekidscovid19’ แอพพลิเคชั่นคุ้มครองเด็ก และบ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด ตลอด 24 ชั่วโมง
- โทรศัพท์ 065 506 9574 และ 065 506 9352 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น.