ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรีที่เป็นจริง
“โครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีการปรับอัตราค่าใช้จ่ายให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพมาสิบกว่าปีแล้ว และต้องเข้าใจว่าการทำโครงการเรียนฟรี จะให้ฟรีจริง มีค่าใช้จ่ายทางฝั่ง Demand Site หรือฝั่งของผู้ปกครองและเด็กที่ต้องไปช่วยเหลือดูแลให้ได้เต็มที่ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วเราจะสูญเสียเด็กที่ตัวเล็กที่สุดไป เพราะเขามีต้นทุนที่น้อยกว่าคนอื่น”
ดร.ไกรยส ภัทราวาส ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนว่า หากพูดถึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาให้เห็นภาพ อยากให้นึกถึงภาพของเด็ก 3-4 คนที่ยืนอยู่บนกล่องคนละใบ เด็กคนที่ตัวเล็กที่สุดนี้ก็คือตัวแทนของเด็กในครัวเรือนยากจนที่ต้องการการสนับสนุนและความช่วยเหลือโดยด่วน
“เด็กที่ตัวเล็กที่สุดต้องการความช่วยเหลือการสนับสนุนเป็นพิเศษเพื่อไปโรงเรียนได้ เรากำลังพูดถึงว่ามาตรการของรัฐในการช่วยเหลือเด็กคนนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของเด็กในสังคมที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้ใต้เส้นความยากจน ครัวเรือนในประเทศไทยมีความหลากหลายทางรายได้และศักยภาพในการดูแลการศึกษาให้กับบุตรหลาน เด็กที่มีความเสี่ยงที่สุดคือเด็กที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนใต้เส้นความยากจน และปัจจุบันยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่แท้ๆ มีสถานการณ์ที่พ่อแม่แยกกัน ทั้งแบบแยกกันชั่วคราวหรือแยกกันถาวรแบบไปมีครอบครัวใหม่ก็มี กลุ่มนี้ก็เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงมากๆ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาเช่นกัน”
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลมาสิบกว่าปีแล้ว แต่นโยบายเรียนฟรี 15 ปี เป็นการดูแลค่าใช้จ่ายในฝั่ง Supply Side หรือฝั่งอุปทาน คือรัฐบาลให้เงินช่วยเหลือไปที่โรงเรียนโดยตรง
“แต่น้องคนที่อยู่ท้ายสุดของ Curve ตรงนี้ คือน้องที่ครอบครัวมีรายได้น้อย เขาจะมีปัญหาตั้งแต่ตื่นเช้ามาด้วยคำถามว่า แม่จะมีข้าวให้กินไหมวันนี้ ที่บ้านอาจจะไม่มีอาหารอะไรให้กินเลย ตอนเช้าแม่บอกเดี๋ยวไปทานที่โรงเรียนนะลูก นั่นคือชีวิตที่เด็กบางคนต้องเริ่มต้นในแต่ละวันว่าเขาจะต้องไปโรงเรียนโดยที่ไม่มีอาหารเช้าทาน”
ดร.ไกรยศ กล่าวว่า ในส่วนนี้สำหรับโรงเรียนในสังกัด กทม.ยังดีมากที่มีการจัดงบอาหารเช้าให้นักเรียนที่โรงเรียนซึ่งสามารถช่วยได้ในเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับโรงเรียนในต่างจังหวัดอาจจะขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในเชิงงบประมาณ จะพบว่าอาหารเช้ายังไม่เป็นอะไรที่ทั่วไปสำหรับโรงเรียนทุกแห่ง
“อย่าว่าแต่อาหารเช้าเลย อาหารกลางวันของเด็ก ม.ต้น ก็ยังไม่มี เพราะว่างบอาหารกลางวันที่รัฐจัดสรรให้จำกัดไว้เพียงแค่ ป.1-ป.6 เท่านั้นเอง”
เรื่องที่สองคือปัญหาการเดินทางไปโรงเรียนแต่ละวัน เนื่องจากเด็กในหลายครอบครัวที่อยู่ในครัวเรือนยากจนไม่มียานพาหนะสำหรับจะเดินทางไปโรงเรียน ต้องพึ่งพาญาติ พึ่งพาเพื่อนบ้าน ทำให้การเดินทางไปเรียนหนังสือประสบกับความยากลำบากอย่างยิ่ง เด็กหลายคนต้องเดินทางหลายทอดกว่าจะถึงโรงเรียน ซึ่งนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
“ค่าเดินทางเป็นอีกค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ เด็กบางคนต้องมีค่าเรือข้ามฟากจากบ้านไปขึ้นฝั่ง ต้องต่อรถเมล์ มีมอเตอร์ไซค์ มีอะไรอีกกว่าจะไปถึงโรงเรียนได้ วันไหนฝนตก ก็มีปัญหาว่าอาจจะไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะฉะนั้นตรงนี้ กว่าที่จะได้เรียนฟรีก็ผ่านสองด่านแล้ว กว่าจะไปถึงโรงเรียนได้”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า โดยภาพรวมเมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 สิ่งที่ตามมาคือเกิดปัญหารายได้ที่ลดลงอีก มีการจ้างงานที่หายไปของครัวเรือนจำนวนมาก อุปสรรคของเด็กเหล่านี้จะยิ่งหนักขึ้น สุดท้ายกลายเป็นว่าอาจจะต้องออกจากระบบการศึกษาชั่วคราว ใน กทม.จะเห็นปัญหานี้เกิดขึ้นกับโรงเรียนในเขตปริมณฑล เพราะโรงเรียนในสังกัด กทม.เป็นความหวังของคนต่างจังหวัดที่มาหารายได้ มาสร้างเนื้อสร้างตัวที่ กทม.และโรงเรียน กทม.เป็นโรงเรียนแรกๆ ที่เขาจะไป เนื่องจากมีสวัสดิการที่ดีรองรับปัญหาของเขาได้บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 มีการปิดกิจการจำนวนมาก เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ประชากรเหล่านี้ย้ายกลับภูมิลำเนาไป เมื่อย้ายภูมิลำเนาเด็กเหล่านี้ก็จะไม่ได้เข้าโรงเรียนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะคาดหวังในตอนแรกว่า เมื่องานกลับมา เศรษฐกิจกลับมาก็จะย้ายกลับมา กทม.อีก
“แต่หากจะย้ายกลับมา กทม. เขาต้องประเมินว่า ค่าเช่าบ้านสูง ค่าครองชีพสูงมาก ถ้าไม่มีรายได้ ไม่มีอะไรที่มั่นใจพอ เขาจะไม่กล้ากลับเข้ามา เพราะฉะนั้นในช่วงเดือนนี้โรงเรียนใน กทม.เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากที่ต้องเช็คให้ดีว่าเด็กปีที่แล้ว หรือสองปีที่แล้วก่อนโควิด เด็กที่เคยมีชื่อในฐานระบบการศึกษาของ กทม. ได้กลับมาสู่ระบบการศึกษาหรือยัง ถ้ายังไม่กลับมาต้องพยายามติดตามตัวให้เขากลับมาให้ได้ เพราะว่าถ้าเขาไม่กลับมา จะทำให้เราเสียเด็กหรือเยาวชนไปเจนเนอเรชั่นหนึ่ง อันนี้หนักกว่าเรื่อง Learning loss หรือภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เพราะเท่ากับว่าเขาหลุดออกไปจากระบบการศึกษาแล้วและเริ่มหาเส้นทางอื่นๆ ที่บ้านอาจชวนเขาไปทำงาน เขามีรายได้ เส้นทางชีวิตของเขาจะเริ่มเปลี่ยน จากการไปสู่การศึกษาให้มีศักยภาพ กลายเป็นต้องเริ่มมีรายได้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหาเลี้ยงครอบครัว”
เพราะฉะนั้นโจทย์เรื่องของการหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นโจทย์ที่เกี่ยวพันใกล้ชิดโดยตรงกับประชากรที่อยู่ในครัวเรือนรายได้น้อย และโควิด-19 ทำให้ปัญหานี้มีความรุนแรงมากขึ้น ทางเลือกที่เรามีในช่วงนี้คือเมื่อเริ่มกลับสู่ภาวะที่โรงเรียนเปิดได้แล้ว เรามีโอกาสจัดการเรียนการสอนที่ใกล้เคียงความปกติมากที่สุดแล้ว เราต้องตามเด็กที่อาจจะทยอยออกไปจากระบบการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลับมาให้ได้โดยเร็ว
ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า เมื่อตามเด็กกลับมาได้แล้วจะต้องมีการประเมินเป็นรายบุคคลว่าเด็กที่กลับมามีสุขภาพกาย สุขภาพจิตอย่างไร ผอมไปหรือไม่ มีภาวะทุพโภชนาการหรือเปล่า เด็กมีความเครียดหรือไม่ มีปัญหาซึมเศร้าจากการไม่ได้ไปเรียน ไม่ได้เจอเพื่อน ไม่เจอครู หรือเปล่า เมื่อประเมินตรงนี้ได้แล้ว ค่อยไปประเมินต่อเรื่อง Learning Loss ว่า ทักษะทางการอ่านออกเขียนได้ ทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือทักษะทางด้านอื่นๆ ถดถอยไปหรือไม่ จากนั้นจึงออกแบบการเรียนรู้เสริมเข้าไปโดยไม่เป็นการกดดันไปที่เด็ก ไม่ทำให้เขาเครียดหรือยิ่งท้อซ้ำเติมเข้าไปอีก
“ถ้าเราใช้ช่วงเวลาในปีการศึกษา 2565 ในการทำสองสามอย่างนี้ ตามเด็กกลับมา ประเมินคัดกรองเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ประเมินคัดกรองเรื่อง Learning Loss แล้วมีมาตรการที่ช่วยเหลือเขาให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือ Learning Recovery ได้อย่างค่อยไปค่อยไปโดยเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ทำงานร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียนได้ อันนี้จะเป็นส่วนที่เราค่อยๆ ปิดประตูความเหลื่อมล้ำลงได้ในอนาคต”
ดร.ไกรยส เปิดเผยว่า ตอนนี้ในเรื่องจำนวนของเด็กที่หายไปใน กทม.กำลังมีการอัพเดทตัวเลขกันอยู่ การทำข้อมูลนี้จะใช้วิธีการตรวจสอบจากตัวเลข 13 หลัก ที่ทุกสังกัดบันทึกไว้มาตรวจสอบร่วมกัน จนกว่าจะได้คำตอบว่าตัวเลข 13 หลักไหนบ้างที่อยู่ในช่วงวัยเรียน แต่เราไม่เจอเขาในสถานศึกษาสังกัดใดๆ เลย เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะส่งไปให้ต้นสังกัด เพื่อให้ไปติดตามตัวเด็กกลับมาให้ได้
“ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงของการทำงานในแบบนี้ทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะในสังกัด กทม.เพียงอย่างเดียว หวังว่าตัวเลขตรงนี้จะไม่สูงนัก แต่จากการสรุปตัวเลขปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับหลักแสนคน โครงการพาน้องกลับมาเรียนของรัฐบาล ข้อมูลเริ่มต้นสองแสนกว่าคน พอเริ่มเปิดเทอมก็ตามกลับมาได้แสนกว่าคน ตอนนี้เหลือหมื่นกว่าคน เราเองก็ได้เริ่มต้นตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤติการศึกษา ช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมา ทุกๆ เปิดเทอมเราต้องติดตามตัวน้องไปจนถึง 10 มิถุนายน ในเทอมหนึ่ง และ 10 พฤศจิกายน ในเทอมสองเราทำแบบนี้ทุกปี เพราะมาตรการที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่แรก ตอนนี้การสรุปตัวเลขที่กำลังทำมีแนวโน้มว่า เด็กหลุดจากระบบการศึกษาอาจจะกลับไปอยู่ที่เรือนแสนเหมือนเดิม เพราะผลจากโควิด เมื่อตัวเลขออกมาแล้วทาง กสศ.จะเผยแพร่ให้ทราบต่อไป”
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่สะท้อนให้เห็นว่า การมีโครงการเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่เพียงพอ เพราะยังไม่มีการปรับอัตราค่าใช้จ่ายให้มีความสอดคล้องกับค่าครองชีพมาสิบกว่าปีแล้ว และต้องเข้าใจว่าการทำโครงการเรียนฟรี จะให้ฟรีจริงนั้น มีค่าใช้จ่ายทางฝั่ง Demand Side หรือฝั่งของผู้ปกครองและเด็กที่เราต้องไปช่วยเหลือดูแลให้ได้เต็มที่
“ไม่อย่างนั้นแล้วเราจะสูญเสียเด็กคนที่ตัวเล็กที่สุดในภาพนั้นไป เพราะเขามีต้นทุนที่น้อยกว่าคนอื่น” ดร.ไกรยส กล่าว
จะนำเด็กกลับคืนห้องเรียนได้ ต้องให้ครูกลับคืนสู่ห้องเรียนก่อน
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เด็กที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่อพูดถึงผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุดถัดจากพ่อแม่ก็คือครู จากการได้ลงพื้นที่ไปดูในโรงเรียนและการดูแลเด็กในช่วงโควิด เช่น โรงเรียนหนึ่งแถวย่านหัวลำโพง เราพบว่า ช่วงที่มีการเปิดเรียนออนไซต์ใหม่ๆ นักเรียนบางคนมากินข้าวที่โรงเรียนและกินมื้อกลางวันมากจนผิดปกติ จน ผอ.โรงเรียน ต้องถามว่าทำไมเด็กถึงกินจุจัง คำตอบที่ได้ก็คือแม่บอกให้กินไปเลย เพราะเย็นๆ จะไม่มีอะไรให้กินที่บ้าน
“เด็กก็หิ้วท้องไปเพื่อที่จะมากินมื้อเช้าที่โรงเรียนจัดให้ในอีกวัน แล้วกินมื้อเที่ยงก็กินเผื่อไปเลยเพราะว่าคุณจะไม่ได้กินมื้อเย็น นี่คือสิ่งที่โรงเรียนเจอ สะท้อนว่าสถานการณ์มันหนักมาก ทางโรงเรียนต้องมาเช็คเด็กเป็นรายบุคคลเพราะว่ามีประชากรกลุ่มที่เป็นเด็กลูกหลานแรงงานชาวต่างชาติ ที่มาเรียนในสังกัด กทม.ด้วย ระบบการศึกษาของเรากำลังเจอกับสถานการณ์แบบนี้”
เคสที่สองเป็นเด็กที่ตอนนี้ไม่ได้หลุดจากโรงเรียน และเรียนออนไลน์ได้ แต่เรียนออนไลน์ในแบบที่ปิดกล้องปิดไมค์ตลอดเวลา จนคุณครูพากันสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ปกติเด็กกลุ่มนี้ตั้งใจเรียน เพราะเป็นเด็ก ม.ปลาย เป็นความหวังของห้อง เป็นเด็กสายวิทย์ที่ตั้งใจเรียน อาทิตย์แรกยังเปิดกล้องเปิดไมค์อยู่ แต่อาทิตย์ที่สามของการเรียนออนไลน์ เริ่มมีการปิดภาพ ขณะที่โรงเรียนนี้มีวงคุย PLC (Professional Learning Community : ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) ที่เข้มแข็ง ใช้ข้อมูลจัดการเป็นรายบุคคล เมื่อเริ่มมีการติดตามก็พบว่าเด็กมีพฤติกรรมเป็นแบบนี้ทุกรายวิชา จึงส่งสัญญาญให้คุณครูประจำชั้นช่วยติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้น
“สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กบอกว่าเข้าเรียนทุกครั้งเลยนะครับอาจารย์ แต่เค้ากำลังขี่แกร็บส่งอาหารอยู่ โดยฟังคุณครูบรรยายไปด้วย คำถามคือเขาจะเข้าถึงคุณภาพการศึกษาได้อย่างไรในเมื่อเรียนฟิสิกส์ผ่านการฟังเท่านั้น เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กกลุ่มที่หลุดไปอย่างเห็นตัวเห็นตน แต่เป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนแล้วก็ยังไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพทางการศึกษาได้จริงๆ”
ผศ.อรรถพล เปิดเผยอีกว่า ยังมีเคสที่หนักกว่านั้นคือกรณีเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิต หรือประสบปัญหาสุขภาพช่วงโควิด ตอนนี้มีอย่างน้อย 2 เคส ที่เด็กกลายเป็นกำลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ทั้งที่อายุเพิ่ง 17 ปี และกำลังเรียน ม.5 เท่านั้น เด็กคนนี้พ่อเลี้ยงเสียชีวิตไป ส่วนแม่ต้องมากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง เด็กจึงต้องออกมาทำงานพิเศษเพื่อส่งตัวเองเรียนด้วยและดูแลทางบ้านด้วย เด็กกลุ่มนี้ยังอยู่ในระบบ แต่มีความเปราะบางพร้อมที่จะหลุดจากระบบการศึกษาได้ตลอดเวลา
“สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีข้อมูลเด็กเป็นรายบุคคลตามที่ อ.ไกรยส บอก และมีหลายโรงเรียนที่ทำเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง เพราะสเกลของเขาไม่ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การเรียกร้องให้ครูปฏิบัติหน้าที่ให้ดีนั้นเป็นอะไรที่เล็กมากๆ เป็นเรื่องในระดับโรงเรียนแต่ละแห่งพยายามทำอยู่แล้ว แต่เราต้องมองในระดับส่วนรวมให้ได้ มองให้เห็นทั้งระบบทั้งโรงเรียนและระหว่างโรงเรียนด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติของเด็กๆ ว่าตอนนี้เด็กแต่ละคนนั้นต้องแบกอะไรไว้บ้าง”
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้บางโรงเรียนได้วัดเข้ามาช่วย โดยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตของพระในทุกๆ เช้า ได้มาเป็นอาหารที่ไปช่วยเด็กในมื้อเช้า และเด็กยังได้นำอาหารถุงที่วัดให้มากลับไปกินในมื้อเย็นต่อที่บ้าน
“ถ้าจะหาตัวอย่างความเหลื่อมล้ำ ไม่ต้องไปหาที่ไหน ถนนพญาไทเป็นแหล่งที่ย่อให้เห็นความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด ตัวอย่างของโรงเรียนย่านหัวลำโพงที่เล่ามาเห็นได้ชัด โจทย์ทั้งหมดนี้ ตัวละครหลักๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องมากๆ คือคุณครู ที่จะเชื่อมตัวเองเข้ากับเพื่อนครูด้วยกัน เชื่อมตัวเองเข้ากับโลกภายนอก ตอนนี้พยายามเสนอให้คุณครูใช้วงคุย PLC คุยเรื่องเด็กกันให้มากขึ้น สแกนกันทีละห้องเรียนเลย”
ผศ.อรรถพล เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมามีการเช็คข้อมูลในช่วงก่อนปิดเทอม เพื่อติดตามสถานการณ์ของเด็กแต่ละคน ว่าพอเปิดเทอมมาคุณครูได้เจอตัวเด็กแล้วหรือไม่ เด็กแต่ละคน ใครมีปัญหาอะไรอย่างไรบ้าง ข้อมูลตรงกันกับที่ได้เคยเก็บเมื่อก่อนปิดภาคเรียนหรือไม่ มีการต่อเชื่อมข้อมูลกัน ครูจึงเป็นตัวละครที่สำคัญและเครือข่ายครูในแต่ละโรงเรียนเป็นหัวใจหลักที่มีความสำคัญมากในการจะประคองชีวิตเด็กได้
“ตอนนี้ที่พยายามทำคือโรงเรียนที่อยู่ในเขตพื้นที่เดียวกัน เช่นในเขตบางรัก มี 5 โรงเรียน ทำอย่างไรให้ครูมาเติมเต็มระหว่างกันให้ได้เพราะว่าโรงเรียนมีขนาดไม่เท่ากัน จำนวนเด็กไม่เท่ากัน บางโรงเรียนมีเด็ก 5 สัญชาติด้วย ทั้งเด็กกัมพูชา พม่า ลาว เด็กผิวสีที่ตามพ่อแม่มาทำงานอยู่ในโรงงานเจียระไนเพชรพลอย ครูจะต้องมาทำงานเชื่อมโยงกันเพราะโรงเรียนอยู่ห่างกันเพียงสองป้ายรถเมล์ การแก้ปัญหานี้ กสศ. อาจมองจากข้างบนลงมา ส่วนเราก็มองจากข้างล่าง มองจากในระดับห้องเรียนขึ้นไป”
รูปแบบนี้มีกรณีตัวอย่างกลุ่มโรงเรียนที่โคราชที่ทำอยู่ ในเขตเทศบาลจะมีหนึ่งโรงเรียนที่คอยทำหน้าที่วิ่งประสานงานตรวจสอบว่าแต่ละโรงเรียนในเครือข่ายมีสถานการณ์เป็นอย่างไร การทำเรื่องนี้ต้องทำด้วยข้อมูลเป็นรายบุคคล ที่ผ่านมาหลายโรงเรียนอาจจะทำเรื่องนี้ไม่เข้มข้นเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากครูยังไม่โฟกัสมาที่ตัวของเด็กนักเรียนอย่างเพียงพอ
“ถ้าเปิดเทอมมาแล้วคุณครูก็ยังโดนบี้มาให้ทำโครงการต่างๆ ที่ยังไม่ได้ทำในช่วงโควิดที่ผ่านมา รีบปั๊มผลงานผลิตตัวชี้วัดกันโดยที่ไม่ได้เอาปัญหาที่เด็กพบเจอมาเป็นตัวตั้ง ก็จะเกิดการรีบสอนและผลักเด็กไปข้างหน้าโดยที่เด็กไม่ได้เช็คอินด้วยซ้ำว่าเขาอยู่ในจุดที่เรามองเห็นแล้วหรือยัง”
ผศ.อรรถพล ยังกล่าวอีกว่า จากการสะท้อนของครูขณะนี้พบว่า บรรยากาศในห้องเรียนบางแห่งเหมือนมีอะไรที่ขาดหายไป ห้องเรียนเงียบกว่าปกติ ทักษะทางสังคมของเด็กที่ไม่เคยเจอเพื่อน ไม่รู้จะคุยกันอย่างไร หลายโรงเรียนเวลานั่งเรียนยังต้องใส่หน้ากาก อ่านภาษากายกันไม่รู้ว่าเพื่อนแต่คนเขามีความรู้สึกอย่างไร เขายิ้มอยู่หรือเปล่า
“โจทย์หลายๆ อย่างในตอนนี้อยู่ที่คุณครู จะนำเด็กคืนกลับมาสู่ห้องเรียนได้ เราต้องนำครูกลับคืนสู่ห้องเรียนให้ได้ก่อน พยายามเอาชีวิตกลับคืนมาที่ห้องเรียนก่อน ให้เด็กได้อยู่ด้วยกัน อยู่กับคุณครู ให้เด็กได้รู้จักคุณครูมากขึ้น ให้คุณครูได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ของคุณครูจริงๆ คือตามเด็กกลับมาสู่ห้องเรียนให้ได้” ผศ.อรรถพล กล่าว
การศึกษาต้องมองลึกลงไปถึงการพัฒนาคน
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. เป็นความหวังของการเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ นักเรียนทุกคนใน กทม. มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ และเชื่อมโยงอยู่กับปัญหาระดับพื้นที่ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย สิ่งแรกที่ต้องคุยกัน คือ การศึกษาไม่ใช่การพัฒนาผู้เรียน แต่การศึกษาต้องมองไปถึงการพัฒนาคน
“สิ่งสำคัญตอนนี้นอกจากจะคิดว่าดึงเด็กกลับสู่ระบบอย่างไร อีกแนวคิดที่ใหญ่กว่าเด็กหลุดระบบการศึกษา คือหลักสูตร เพราะการหลุดออกจากระบบหมายถึงหลักสูตร ไม่สอดคล้องกับผู้เรียนหรือไม่?”
การพยายามดึงเด็กกลับต้องมีนโยบายทางการศึกษาเพิ่ม มีการศึกษาทางเลือกที่สามารถรองรับผู้เรียนที่ไม่สะดวกมาเรียนในระบบ ขณะเดียวกันก็ยกระดับการศึกษาในระบบไปพร้อมกัน ต้องให้การเรียนรู้มีความทันสมัย และมีให้เลือกมากกว่าแบบเดียวหรือไม่
“ควรมีนโยบายการศึกษาทางเลือกที่รองรับการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่สะดวกจะอยู่ใน กทม. เป็นช่องที่ทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้ทันสมัย ให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยออกแบบการศึกษาเองได้ มีการศึกษาทางเลือก”
ขณะที่นโยบายที่จะลงไปพัฒนาครูจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ปลดล็อก ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง โดยปลดล็อก ตั้งแต่ ครู หลักสูตร สิ่งแวดล้อมโรงเรียน ปรับปรุงโปรแกรมหลังเลิกเรียน (after school) หรือ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ครอบครัวเด็กคนไหนมีปัญหา ก็ต้องให้คิดว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย
รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เข้าถึงเนื้อแท้ของปัญหา
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้องเร่งจัดการเพื่อเข้าไปดูแลนักเรียนนอกระบบให้เร็วที่สุด เพราะหากผ่านพ้นช่วงวัยเด็กไปแล้วจะไม่สามารถเรียกสิ่งที่สูญเสียกลับมาได้ การศึกษา อาจจะมีการฟื้นฟูกลับมาไม่เหมือนเดิม การซ่อมคนมีความยาก ส่งผลต่อการสูญเสียวิวัฒนาการทางสังคมทั้งหมดด้วย เพราะขาดคนที่จะมาขับเคลื่อนและแข่งขันกับอารยะประเทศ
สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือการจัดการกับงบประมาณของ กทม. หรือ กระทรวงศึกษาธิการ การปรับปรุงการเรียนการสอนจัดหลักสูตร เพราะที่ผ่านมา หน่วยงานด้านการศึกษาอย่าง กสศ. ก็เคยประเมินปัญหาความรุนแรงของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามาแล้ว
“มีการคาดการณ์ว่าการเรียนรู้ของเด็กจะถดถอย แต่กลับยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ งบประมาณส่วนไหนที่มีมาก แสดงว่าเป็นปัญหาที่อยากเร่งแก้ แต่ที่ผ่านมางบฟื้นฟูเด็กนักเรียน ไม่มีทุนสำหรับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา”
วิโรจน์ เปิดเผยว่าจากที่รวบรวมข้อมูลด้านทุนการศึกษา พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้เด็กนักเรียน เรียนฟรีอยู่ที่ 9.9 แสนบาท และทุนนักเรียนดีเด่น 5 แสนบาท รวมแล้วอยู่ที่กว่า 1 ล้านบาท คำถามคือ เด็กที่อยากเรียนแม้ว่าเขาอาจจะไม่เก่งอยู่ตรงไหน ประเทศล่มสลาย คือประเทศที่ไม่มีทุนในการอุดหนุนให้เด็กที่อยากเรียน
นอกจากนี้ วิโรจน์ ยังได้ยกตัวอย่างงบประมาณ การจัดสรรชุดลูกเสือที่ยังคงอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ จึงต้องการให้กระทรวงฯ มองเห็นแก่นแท้ของการศึกษา ไม่ต้องสนใจเปลือกและสอนให้เด็กสามารถเอาตัวรอดได้ เพราะงบประมาณที่ทุ่มเทไปกับประเด็นนี้สูงถึง 88 ล้านบาท และในจำนวนนี้สูงถึง 70 ล้านบาท เน้นไปที่การปรับปรุงค่ายลูกเสือ
“หากนำงบประมาณส่วนนี้เกลี่ยไปช่วยเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนจะมีความคุ้มค่ามากกว่าหรือไม่ การทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาไปให้ถึงตัวเด็กจริงๆ จะยิ่งช่วยลดปัญหาคอรัปชั่นได้มากขึ้นอีกด้วย” วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย