โฮมสกูล หรือ “บ้านเรียน” ถูกพูดถึงเพิ่มมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ระบาด เนื่องจากเด็กไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ แต่กระนั้นพ่อแม่หลายคนก็มีคำถามว่า “โฮมสกูลจะแพงไหม ?” “ลูกจะมีเพื่อนหรือเปล่า ?” รวมถึงคำถามสำคัญสุดคือ “ถ้าพ่อแม่สอนหนังสือไม่ได้ แล้วจะจัดการโฮมสกูลให้ลูกได้จริงหรือ ?”
จากคำถามข้างต้น กสศ.จึงต่อสายหาคุณปรียะดา ฉันทะกลาง อดกลั้น หรือคุณอ้อ คุณแม่ผู้ซึ่งจัดทำโฮมสกูลให้ลูก ๆ มาได้ 4 ปีเต็มแล้ว คุณอ้อเป็นอดีตนักข่าวที่ประจำสำนักงานในกรุงเทพ ฯ เริ่มต้นทำโฮมสกูลให้ลูกตั้งแต่สมัยอยู่เมืองหลวง จนปัจจุบันย้ายครอบครัวมาอยู่ศรีสะเกษ
เธอเริ่มสนใจโฮมสกูลตั้งแต่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก่อนจะฝังตัวศึกษาตามกรุ๊ปเฟซบุ๊กโฮมสกูลต่าง ๆ เธอย้ำกับเราว่า การจัดการเรียนรู้แบบโฮมสกูลนั้น พ่อแม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับงบประมาณที่มีได้ การจัดการโฮมสกูลควรเอาความสนใจของลูกเป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ และพยายามอย่าเปรียบเทียบกับลูกบ้านอื่น
“เมื่อเด็กพร้อม เขาจะทำได้เอง” คุณอ้อกล่าวย้ำ
ด้านล่างนี้คือบทสนทนาที่คุณอ้อได้บอกเล่าและแลกเปลี่ยนมุมมองไว้ แน่นอนว่าการเลี้ยงลูกถือเป็นศิลปะเฉพาะตัว แต่หวังว่าการจัดการโฮมสกูลของคุณแม่ท่านนี้จะสามารถมอบอีกมุมมองหนึ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่พ่อแม่ท่านอื่นได้ไม่มากก็น้อย
เริ่มต้นสนใจโฮมสกูลทั้ง ๆ ที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับโฮมสกูลเลย
เรามีลูกสองคน ห่างกัน 6 ปี จริง ๆ เริ่มสนใจโฮมสกูลตั้งแต่มีลูกคนแรกแล้ว แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีความเข้าใจโฮมสกูลเลย เข้าใจว่าคือการเอาลูกไปฝากเขาไว้ จนเริ่มศึกษาถึงได้เข้าใจว่า โฮมสกูลคือ พ่อแม่จะต้องเป็นคนจัดการเรียนรู้ให้ลูก แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเราทำงานเป็นนักข่าวอยู่ที่กรุงเทพ ฯ มีปัจจัยในชีวิตหลายอย่างที่รู้สึกว่ายังไม่พร้อม จึงยังไม่ได้เริ่มต้นทำ
แต่เพราะมีความสนใจด้านนี้ เราเลยศึกษามาเรื่อยๆ อ่านตามเพจต่าง ๆ จนไปเจอแนวทางการเลี้ยงลูกของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่บอกว่า ธรรมชาติของเด็กจะพร้อมเรียนช่วง 7 ปีขึ้นไป คือก่อนหน้านั้นเรามีความเข้าใจอีกแบบว่า ลูกต้องเข้าเรียนอนุบาลนะ จะไม่เข้าเรียนได้ยังไง แต่พอลูกคนเล็กเกิด เราได้ศึกษาเรื่องโฮมสกูลจริงจังมากขึ้น โดยเข้าไปร่วมเฟซบุ๊กกลุ่ม homeschool network ตามอ่านอยู่ 3 ปีเต็ม เจอว่าพ่อแม่ในกลุ่มเขาจะนัดเจอกันทุกสัปดาห์ วันหนึ่งเราเลยตัดสินใจไปร่วมด้วย ก็พาลูกคนเล็กไป ปรากฏว่ามันเปิดโลกเราเลย เหมือนอีกโลกหนึ่ง เด็กโฮมสกูลที่มาเจอกัน เขาไม่พูดภาษาไทยกันเลย เขาจะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ คือเวลาเขาคุยกับเราเขาก็พูดไทยนะ แต่เวลาคุยกันจะใช้ภาษาอังกฤษ
ครั้งนั้นทำให้เราได้ข้อมูลว่า ถ้าทำโฮมสกูลระดับอนุบาลให้ลูก ก็สามารถแจ้งจดและขอใบรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการได้ เราเลยตัดสินใจทำเรื่องจดทะเบียนอนุบาล 2 แบบโฮมสกูลให้ลูกคนเล็ก
ความท้าทายของการทำโฮมสกูลระดับอนุบาลให้ลูก คือการทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว
การทำโฮมสกูลให้ลูกคนเล็กนี่ ความท้าทายคือการทำความเข้าใจกับคนในครอบครัว ตอนนั้นเราทำงานอยู่กรุงเทพ ฯ มีคุณยายซึ่งคือคุณแม่ของเรา ขึ้นมาช่วยดูแลหลานด้วย ตอนแรกคุณยายก็ไม่เห็นด้วยที่เราไม่ส่งน้องศีล (ลูกคนเล็ก) ไปโรงเรียนอนุบาล แต่พอดีจังหวะนั้นมีข่าวเด็กอนุบาลถูกทำร้ายหลายราย คุณยายเลยเปลี่ยนใจ ซึ่งจะบอกว่าคุณยายนี่แหละเป็นหลักในการพาหลานทำกิจกรรม พาปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน เรียนรู้ความรับผิดชอบต่าง ๆ โดยคุณยายไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่พาหลานทำมันเป็นไปตามที่คุณหมอแนะนำเลยว่า เด็กอนุบาลควรจะเรียนรู้ความรับผิดชอบในการช่วยเหลืองานบ้าน
เริ่มต้นทำโฮมสกูลขณะที่ยังทำงานประจำอยู่กรุงเทพฯ
ช่วงแรกของการทำโฮมสกูล ลูกคนเล็กอายุ 3 ขวบ นอกจากคุณยายจะช่วยดูแลแล้ว เรายังพาลูกไปเนิร์สเซอรี่ที่ทำงานด้วย เพื่อสลับให้คุณยายได้มีเวลาว่างบ้าง ตอนนั้นลูกคนโตอยู่ชั้นประถม เขาเข้าเรียนที่โรงเรียน ตอนเช้าทุกคนจะตื่นตีห้าครึ่ง หกโมงเช้าก็ต้องออกจากบ้านเพื่อไปส่งลูกคนโตแล้ว ลูกคนเล็กก็ติดรถมาด้วย เราส่งเขาเข้าเนิร์สเซอรี่ จากนั้นทำงานจนถึงสี่โมงเย็น ก็ไปรับลูกคนโตมานั่งทำการบ้านที่ออฟฟิศ พอห้าโมงเย็นก็เดินไปรับลูกคนเล็ก ก่อนจะทำงานต่อจนถึงสองทุ่ม วนลูปอย่างนี้อยู่ประมาณ 2 ปี
จนวันหนึ่งเราเริ่มรู้สึกว่าตัวเองบริหารจัดการไม่ได้แล้ว อีกทั้งลูกคนโตก็ขอออกมาทำโฮมสกูลกับน้อง เลยเริ่มมองว่าลูกควรจะได้เจอการเรียนรู้ที่หลากหลายกว่าเดิม เราเลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ประกอบกับตอนนั้นเรามีรายได้อีกช่องทางคือจากการขายของออนไลน์ ซึ่งสร้างรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของเงินเดือน มันอาจไม่ได้มากเท่าเดิม แต่เราบริหารจัดการเวลาได้ เราขายออนไลน์เพียงเดือนละ 10 วัน แถมการที่ไม่ต้องเข้างานประจำแล้ว ทำให้เราลดรายจ่ายค่าน้ำมันและค่าอาหารนอกบ้านไปได้ ซึ่งพอคำนวณแล้วถือว่าโอเค เราเลยหารือกับสามี เขาไม่มีปัญหาอะไร จึงลาออกมาทำโฮมสกูลเต็มตัว ตอนนั้นคือปี 2560 หรือเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยช่วงแรกก็ทำโฮมสกูลที่กรุงเทพ ฯ แต่พอสร้างบ้านที่ศรีสะเกษเสร็จ ก็กลับมาอยู่ที่ต่างจังหวัด แต่ยังมีการเดินทางไป ๆ มา ๆ ระหว่างศรีสะเกษกับกรุงเทพ ฯ เพราะมีกิจกรรมเรียนรู้บางอย่างที่ลูกเรายังต้องเรียนที่กรุงเทพ ฯ เช่น สเกต และโขน
เมื่อเริ่มทำเต็มตัว จึงได้เรียนรู้ว่าโฮมสกูลไม่ใช่การยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน แต่คือการเรียนรู้ตามความสนใจของลูก
เมื่อก่อนเราข้าใจว่า การทำโฮมสกูลคือการยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน คือลูกต้องทำอันนั้นได้ ทำอันนี้ได้ แต่ไม่ใช่เลย โฮมสกูลไม่ใช่การยกโรงเรียนมาไว้ที่บ้าน ทว่าเป็นการเรียนรู้ตามความสนใจของลูก ซึ่งพอเราเข้าใจคอนเซ็ปต์ ก็ปรับตามลูกทั้งหมด เขาอยากเรียนรู้อะไร เราก็จะสนับสนุนเขา แล้วสมมติว่า ลูกทำอันนี้ 3 เดือนแล้วเขาไม่ชอบ บอกไม่ใช่ตัวเขา เราก็ไม่ว่ากัน จะบอกเขาเสมอว่าถ้าไม่ชอบให้บอก แล้วที่ผ่านมาก็ให้ถือเสียว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ลูกได้เจอสิ่งที่ไม่ชอบ นั่นก็คือการเรียนรู้อย่างหนึ่งแล้วนะ
การเรียนรู้ช่วงนั้นจะเป็นการออกไปเจอกลุ่มพ่อแม่โฮมสกูลแล้วทำกิจกรรมด้วยกัน พาเด็ก ๆ ไปออกกำลังกาย ไปเล่นสเกต ไปพิพิธภัณฑ์ มันคือเรื่องของการเรียนรู้ตามความสนใจ เขาก็สนุก ได้ไปเจอเพื่อน ๆ กลุ่มโฮมฯ ด้วย
หลังจากทำโฮมสกูลจนถึง ป.6 ลูกคนโต คือ น้องใบบุญก็กลับเข้าโรงเรียน เขาเรียนโรงเรียนใกล้บ้านที่ศรีษะเกษ แล้วพอขึ้นมัธยมเขาก็เลือกเรียนต่อในระบบโรงเรียนเพราะติดเพื่อน ตอนนี้อยู่ ม.2 แล้ว เราให้เขาเลือกและตัดสินใจเอง เพราะการเลือกก็คือกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง
ส่วนลูกคนเล็ก คือ น้องศีล ตอนนี้ 8 ขวบ เขาทำโฮมสกูลมาตั้งแต่เล็ก เราจะเห็นพัฒนาการของเขาค่อนข้างชัดว่าเขาสนใจและชอบอะไร ความชอบของเขายังคงเดิมเหมือนตอนยังเล็ก คือ ชอบเล่นสเกต เราก็จะสนับสนุนความชอบของเขาตรงนี้ เขาขอเรียนสเกตแบบจริงจัง เราก็พาไปเรียนสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง จนตอนนี้ศีลเป็นนักกีฬาสเกตรุ่นเล็กแล้ว และความชอบอีกอย่างของเขาคือชอบโขน ตอนแรกเราพาไปดูโขนแล้วเขาชอบก็ขอเรียน ความชอบโขนของเขาลงลึกแบบที่ว่าเขาแยกแยะลายผ้าบนตัวโขนแต่ละตัวได้ รู้ว่าหัวโขนแต่ละตัวมีรายละเอียดแตกต่างกันยังไง แล้วการชอบโขน ทำให้เขาสนใจเรื่องรามเกียรติ์ จนทำให้เขาอยากฝึกอ่านเขียนเพราะอยากอ่านรามเกียรติ์
หัวใจสำคัญของการทำโฮมสกูลคือ เราไม่ควรเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
ตอนที่ศีลทำโฮมสกูลระดับอนุบาลนี่ เราไม่เน้นเรียนเลย เน้นพัฒนาการตามวัยพอ คือ เล่น ทำงานบ้าน ฝึกความรับผิดชอบ เขาจะมีกิจกรรมที่สนใจคือสเกตและโขน ซึ่งยังต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในแง่การเรียน เราปล่อยเขาตามพัฒนาการ ลูกเราเนี่ยจนเขาจบระดับอนุบาล ศีลก็ยังสะกดชื่อไทยตัวเองไม่ได้นะคะ เขาไม่รู้จัก ก.ไก่ ด้วยซ้ำ มาเริ่มรู้จัก ก.ไก่ ตอน ป.1 เทอมสอง ซึ่งมันตรงกับที่หมอประเสริฐเคยบอกเรื่องพัฒนาการว่าเด็กจะพร้อมช่วงนั้น เพียงแต่ว่ ใครจะมาเร็วมาช้ากว่ากันเท่านั้นเอง แล้วอย่างที่บอกข้างต้นว่า เขาสนใจอ่านเขียนมากขึ้นเพราะอยากอ่านรามเกียรติ์ คือเราฝึกให้เขาอ่านแบบเรียน “มานี มานะ” แล้ววันนึงเขาก็ถามว่าต้องอ่าน “มานี มานะ” ถึงบทที่เท่าไหร่ถึงจะอ่านรามเกียรติ์ออก เราเลย อ๋อ ที่ลูกเราอยากอ่านได้นี่คือเขาอยากอ่านรามเกียรติ์ เราก็เลยหาหนังสือรามเกียรติ์มาให้เขาหลายเล่ม เริ่มจากแบบการ์ตูนก่อน จนพอเขาอ่านได้ เขาก็เลิกอ่านแบบการ์ตูนแล้วมาอ่านเป็นเล่มใหญ่ ๆ แทน
ในส่วนการเรียนรู้ของลูก เราเขียนแผนการเรียนไว้ค่ะ แต่จะไม่ได้กำหนดว่า ป.1 ต้องได้อะไร ป.2 ลูกต้องบวกเลขได้ขั้นนี้นะ หรือ ป.3 ต้องทำสิ่งนี้ได้แล้วนะ ไม่ได้คาดหวังแบบนั้น เราจะมองภาพรวมเป็นช่วงวัยว่าประถมต้นอยากให้เขาได้ตรงนี้ ประถมปลายอยากให้เขาได้ประมาณนี้นะ ซึ่งเราก็เลยจะออกแบบการเรียนให้สอดคล้องตามนี้
แผนการเรียนรู้ที่เราออกแบบให้เขา จะเรียบง่ายตามพัฒนาการ อย่างคณิตศาสตร์ประถมต้นก็จะเป็นแบบง่าย เราก็เอาหลักสูตรคณิตศาสตร์ของไทยกับของต่างประเทศมาเทียบกัน เราเห็นว่าหลักสูตรต่างประเทศ เด็ก ป.1 แทบไม่ได้เรียนอะไรมากเลย บวกลบเลขหลักเดียวได้ก็พอ สำหรับคณิตศาสตร์ เราให้ลูกเรียน Khan Academy ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ที่ฟรีและดี เราก็นั่งเรียนกับเขา ช่วยแปลให้เพราะมันเป็นภาษาอังกฤษ
หัวใจสำคัญของการทำโฮมสกูลคือ เราไม่ควรเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะแม้กระทั่งเพื่อนที่เรียนโฮมสกูลเหมือนกันก็ยังแตกต่างกัน อย่างบางคนบวกลบเลข 2 หลักได้แล้ว แต่เราตั้งเป้าว่าจะไม่เร่งลูก เมื่อเขาพร้อมจะได้เองแล้วเด็กจะไปทันกันตอนประถมปลาย
เป้าหมายของเราคือพอถึงชั้น ป.6 เขาต้องได้เรียนรู้การใช้เงินอย่างคุ้มค่า รู้จักบริหารจัดการเวลาอย่างเหมาะสม มีวินัยในการฝึกซ้อม และด้วยความที่เขาเป็นนักกีฬาสเกต เขาต้องเคารพกฎ กติกา เคารพครู ส่วนภาษาไทย เขาต้องสามารถสื่อสาร และเลือกใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัยได้ รวมทั้งรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควรทำ และอะไรไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง
เด็กโฮมสกูลก็มีเพื่อนได้ แถมหลากหลายวัยเสียด้วย
พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวลว่า ถ้าพาลูกทำโฮมสกูลแล้วลูกจะไม่มีเพื่อน อยากบอกว่าเด็กโฮมสกูลก็มีเพื่อนนะคะ อย่างศีลนี่เพื่อนเขาจะมีหลายแบบเลย จะมีกลุ่มเด็กโฮมฯ ด้วยกัน ซึ่งก่อนโควิดระบาด เด็กกลุ่มนี้จะได้เจอกันเวลาพ่อแม่โฮมฯ พาลูกไปทำกิจกรรมกัน เพื่อนโฮมฯ ของศีลจะคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ แต่เขาจะหันมาพูดไทยกับศีล ความที่ศีลอยากฟังเพื่้อนให้เข้าใจ ตอนนี้ลูกก็เลยหันมาสนใจภาษาอังกฤษ อยากพูดภาษาอังกฤษได้ เราเดาว่าเขาคงอยากสื่อสารกับเพื่อนให้ได้
เพื่อนอีกกลุ่มของลูกคือเพื่อนละแวกบ้าน เลิกเรียนก็มาเจอกัน เล่นด้วยกัน นอกจากนี้เขายังมีเพื่อนที่ไปเจอกันตอนฝึกสเกต ตอนเรียนโขน บางคนก็เป็นเพื่อนที่โตกว่า แต่เจอกันเพราะมาเรียนรู้สิ่งเดียวกัน เป็นเพื่อนที่ชอบเรื่องประเภทเดียวกัน
ที่สำคัญเพื่อนของแม่ก็คือเพื่อนของศีล เวลาที่เราออกไปเจอเพื่อน กินข้าว ดูหนัง เราจะพาลูกไปด้วย เขาจะเป็นเด็กที่มีเพื่อนทั้งวัยเดียวกันและต่างวัย ซึ่งนี่คือความหลากหลาย ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ในสังคมได้
สิ่งที่เด็กโฮมสกูลของบ้านนี้กำลังเรียนรู้
กิจกรรมการเรียนรู้ของลูกจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงค่ะ อย่างช่วงก่อนโควิดระบาด เขาจะทำกิจกรรมเยอะหน่อย โดยวันจันทร์จะเป็นวันพัก แต่บ่ายสองเขาจะขอไปซ้อมสเกต พอวันอังคารช่วงที่อยู่ กรุงเทพ ฯ เราจะพากันไปพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์กับกลุ่มเด็กโฮมฯ วันพุธถ้าเขาอยากไปไหนก็พาไป เช่น ไปวัดพระแก้ว ไปมิวเซียมสยาม วันพฤหัสบดี จะมีซ้อมสเกต วันศุกร์แม่จะนัดเพื่อน ศีลก็จะไปด้วย วันเสาร์จะมีเรียนโขน วันอาทิตย์จะมีกิจกรรมเยอะหน่อย มีเรียนฟุตบอลตอนเช้า ตามด้วยว่ายน้ำ โขน และปิดท้ายด้วยการเรียนบาสเกตบอลตอนเย็น
แต่ช่วงที่โควิดระบาดหนักอย่างตอนนี้ เราก็เลือกปักหลักอยู่บ้านที่ศรีษะเกษกันค่ะ ซึ่งทำให้เขาก็ไม่ได้ไปเรียนสเกตกับครู แต่ยังเรียนโขนออนไลน์อยู่ และมีขอเรียนยิมเพิ่มด้วย ส่วนคณิตศาสตร์ก็เรียนออนไลน์ฟรีกับ Khan Academy ภาษาอังกฤษก็เรียน 2 คอร์ส คอร์สหนึ่งเป็นคนไทยสอน อีกคอร์สเป็นครูฟิลิปปินส์
ค่าใช้จ่ายการเรียนรู้ของเขาที่เราจ่ายเยอะสุดคือสเกต ตกชั่วโมงละ 500 บาท เพราะเขาเป็นนักกีฬา เลยต้องเรียนเทคนิคเฉพาะทาง ส่วนอื่น ๆ ก็จะไม่เยอะมาก ถ้าอันไหนแพง เราก็จะบอกเขา อย่างช่วงนี้เขาสนใจภาษาอังกฤษและสนใจเกม เขาก็มาถามว่ามีใครสอนภาษาอังกฤษแบบพ่วงเกมไหม เขาอยากเรียน เราไปเจอว่า มีสอนนะแต่แพงมาก ก็บอกเขาตามตรงว่าแม่ส่งไม่ไหว ซึ่งเขาก็เข้าใจ
ค่าใช้จ่ายโฮมสกูลนั้นปรับเปลี่ยนได้ตามเป้าหมาย แต่ย้ำว่าเอื้อมถึงได้
ค่าใช้จ่ายโฮมสกูลของบ้านเราจะเปลี่ยนไปตามช่วงเวลา อย่างช่วงนี้จะตกเดือนละประมาณ 2,700 บาท เป็นค่ายิมเดือนละ 1,200 บาท และคอร์สภาษาอังกฤษ 2 คอร์ส รวมกัน 1,500 บาท ซึ่งจริง ๆ จำนวน 2,700 บาท ถือว่าแพงสำหรับบ้านเราแล้วนะ เพราะปกติจะไม่ได้ใช้จ่ายเยอะขนาดนี้ แต่ถ้าคิดในมุมที่ว่า เราไม่ต้องจ่ายค่าเทอมแบบบ้านอื่น มันก็ถัวเฉลี่ยกันไปได้
การเรียนเหล่านี้มันปรับเปลี่ยนได้ ถ้าพ้นช่วงโควิด ศีลกลับไปเรียนสเกต ก็อาจจะลดค่าเรียนบางอย่างลง คือปรับให้เหมาะสม ซึ่งเราว่าแต่ละบ้านก็มีเป้าหมายแตกต่างกันไป ซึ่งเป้าหมายที่ต่างอาจทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำโฮมสกูลแตกต่างกัน อย่างเป้าหมายเราคือปีนี้ลูกต้องอ่านภาษาอังกฤษได้ ปีหน้าเขาต้องนั่งเรียน Khan Academy แล้วแปลเองได้ เราวางเป้าไว้เท่านี้ก่อน ขณะที่อีกหลายบ้านอาจจะมีเป้าหมายอย่างอื่น เราเคยเจอบ้านที่ทำเกษตร ลูกเขาก็เลยสนใจเกษตร เขาก็ให้ลูกทำโฮมสกูลโดยเรียนรู้ผ่านการทำเกษตร เป็นต้น
เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ลูกต้องเลือกเอง
ตอนนี้ลูกคนเล็กอายุ 8 ขวบ ก็อีกหลายปีกว่าเขาจะจบ ป.6 ในส่วนของแผนการเรียนรู้ เราเขียนแผนให้เขาถึงแค่ประถมศึกษา ตั้งใจว่าพอเขาจบ ป.6 แล้วค่อยถามเขาอีกทีว่าเขาจะเอายังไง อยากทำโฮมสกูลต่อ หรืออยากไปโรงเรียนก็แล้วแต่เขาเลย คือเราต้องเอาเป้าหมายของเขาเป็นที่ตั้ง ถ้าเขาอยากไปโรงเรียน แต่ยังอยากเล่นกีฬาสเกตไปด้วย อยากฝึกโขนไปด้วย เขาก็ต้องหัดวางแผนว่าจะจัดการเวลายังไง สิ่งหนึ่งที่เราสอนลูกเสมอคือ ไม่ว่าลูกจะเลือกเส้นทางไหน ลูกต้องเลือกเองและไตร่ตรองให้ดี แล้วถ้ามันไม่โอเค ลูกจะต้องยอมรับสิ่งที่เลือก แล้วหาหนทางจัดการเอง
ขณะเดียวกัน เราก็จะบอกเขาด้วยว่า ในทุกทางเลือกที่เขาเลือกเนี่ย เขาเปลี่ยนใจได้นะ เพราะมันมีเด็กที่อยู่โรงเรียนแล้วกลับมาเรียนโฮมสกูลก็มี หรือมีเด็กโฮมสกูลที่เปลี่ยนไปโรงเรียนก็ยังมี อยากให้เขารู้สึกว่ามันคือทางเลือก และเขามีสิทธิ์เลือกและกำหนดเองได้
สำหรับพ่อแม่ที่สนใจแจ้งจดโฮมสกูล หนทางเปิดกว้างไว้แล้ว
สำหรับครอบครัวที่สนใจทำโฮมสกูล เรามองว่าสามารถทำได้ เดี๋ยวนี้มีกลุ่มในเฟซบุ๊กที่เข้าไปสอบถามหรือปรึกษากับพ่อแม่ท่านอื่นได้ และไม่ต้องกังวลเรื่องใบรับรองการศึกษาของลูก เพราะทำโฮมสกูลก็สามารถจดได้ตามปกติ คือ ถ้าอยากได้วุฒิ พ่อแม่ก็ต้องไปจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยไปหาฝ่ายส่งเสริมการศึกษา แล้วบอกว่า เราอยากยื่นจดทะเบียนการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือบ้านเรียน ซึ่งตอนนี้น่าจะมีเกือบครบทุกจังหวัดแล้ว
อาจ “ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะเป็นครูได้” แต่พ่อแม่ก็ยังสามารถร่วมเรียนรู้กับลูกได้
ช่วงที่ผ่านมา มีคำกล่าวหนึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างคือ “ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะเป็นครูได้” สำหรับเรา มองว่าการเกิดมาของลูกคือเราเป็นครูของกันและกัน ลูกคือครูที่สอนเรา ทำให้เราเรียนรู้ อยากเป็นแม่ที่ดี อยากทำอะไรให้มันเพอร์เฟ็กต์ แต่มนุษย์น่ะไม่ได้เพอร์เฟ็กต์ทุกเรื่องหรอก มันต้องมีผิดพลาด และลูกทำให้เรารู้ว่าการผิดพลาดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราจึงเรียนรู้ที่จะพัฒนาและแก้ไขให้ดีขึ้น เราไม่ได้มองว่าความเป็นครูของพ่อแม่ที่มีต่อลูกคือวิชาการ แต่มองอีกมิติมากกว่าว่าความเป็นพ่อแม่สามารถช่วยประคับประคองลูก สนับสนุน และเป็นลมใต้ปีกของลูก ให้เขาพร้อมบินได้อย่างแข็งแรง มันอาจเป็นคำพูดที่สวยหรู หรือแบบนามธรรม แต่เป้าหมายของเราคือแบบนั้นจริง ๆ
สิ่งที่เราคอยดูแลเขาคือ ให้เขามีทักษะชีวิต สร้างภูมิคุ้มกันให้เขา สร้าง EF ให้เขาเป็นคนที่พร้อมปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ยืดหยุ่นในการใช้ชีวิต และคิดวิเคราะห์เป็น เราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เรากับลูก ใครจะไปก่อนกันไม่รู้ แต่สิ่งสำคัญคือการที่เราและเขาใช้ชีวิตร่วมกัน เวลาตรงนี้สำคัญ และเราอยากทำให้มันมีคุณภาพมากที่สุด
ส่วนเรื่องการเรียนการสอน เรามีทักษะบางอย่างที่เราคิดว่าเราช่วยเขาได้ เราคิดว่าทุกคนต่างต้องเรียนรู้ด้วยกันทั้งนั้น ทุกวันนี้เราก็ยังต้องเรียนรู้อยู่เลย เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกนี่ละ อะไรที่เราไม่รู้ เราก็จูงมือไปเรียนรู้ด้วยกัน พ่อเขาก็สอนลูกเรื่องกรีดยางพารา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่พ่อเพิ่งเริ่มต้น และลูกก็เรียนพร้อมเรา เราพาลูกหาปลา พาเขาไปดูนาที่เราปลูก ไม่มีใครทำอะไรเป็นตั้งแต่เกิด แต่เราพร้อมจะเรียนรู้ร่วมกับลูก