‘บทเรียนคู่ขนาน’ เสริมชีวิต สร้างอาชีพ เตรียมตัวให้พร้อมรับมือโลกยุคโควิด-19
โครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษาโดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ภาคกลาง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ จัดกิจกรรมฝึกอบรมการพัฒนาทักษะอาชีพ การประกอบอาหาร 30 ชั่วโมง ให้กับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในทัณฑสถาน
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพและหนุนเสริมทักษะชีวิตที่จำเป็น ช่วยน้อง ๆ เตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโควิด-19
ดร.วิภาพร นิธิปรีชานนท์ กล่าวว่า ด้วยประสบการณ์ที่เคยทำงานกับเยาวชนกลุ่มนี้พบว่า
“น้อง ๆ อยู่ในวัยที่ต้องการแรงขับด้านการสร้างเป้าหมายชีวิต โดยเฉพาะลู่ทางสร้างอาชีพเมื่อกลับเข้าสู่สังคม ดังนั้นจึงเชื่อมโยงไปยังเรื่องราวของ ‘อาหาร’ อันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับทุกๆคน ทุกๆ วัน และวันละมากกว่า 1 มื้อ บนพื้นฐานความคิดว่าถ้าจะพาเด็ก ๆ ไปค้นหาแรงบันดาลใจและเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ โดยมี ‘วิชาทำอาหาร’ เป็นสื่อนำ จะกระตุ้นความสนใจและยังสามารถสอดแทรก ‘วิชาชีวิต’ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการสอนได้”
ปลุกความเชื่อมั่นในตนเองให้พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่
โครงการดำเนินงานโดยสถาบันสอนศิลปะการทำอาหาร ‘ไอเชฟ’ สร้างกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายราว 800 คน ในทัณฑสถานพื้นที่ภาคกลาง 18 แห่ง โดยออกแบบกระบวนการที่ทุกคนจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง และนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนในกลุ่ม ว่าจะนำความรู้จากบทเรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับชีวิตได้อย่างไร
“ก่อนเริ่มอบรม ขั้นแรกเราต้องโน้มน้าวสร้างพลัง ปลุกใจให้เขาหลุดออกจากหลุมความคิดเดิม ๆ ตระหนักในคุณค่าตนเอง และต้องมั่นใจว่าการเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ ๆ จะช่วยนำพาชีวิตไปข้างหน้าได้ การอบรมเรื่องการทำอาหาร ถ้าฝึกฝนจนชำนาญ เขาจะสามารถทำขายโดยใช้เงินทุนไม่มาก และมีกำไรที่ราว 50-70% หรือแม้เรียนรู้แล้วไม่ได้นำไปประกอบอาชีพ ก็ยังเป็นทักษะติดตัวไว้ทำให้ตัวเองและครอบครัวกินได้”
บทเรียนคู่ขนาน เสริมเกราะป้องกันและปูวิชาชีวิต
‘เตรียมตัวไว้ให้พร้อมเพื่อพบกับโลกที่เปลี่ยนไป’
หลังกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเป็น ‘ปกติ’ เปลี่ยนโฉมหน้าไป ไม่เว้นกระทั่งในทัณฑสถานที่ปิดกั้นจากภายนอก แผนจัดการอบรมที่คณะทำงานโครงการร่างไว้ จึงต้องปรับตัวตาม เพราะจากนี้การพบหน้า พูดคุย ประกบสอนรายคนที่เป็นวิธีหลักในถารถ่ายทอดความรู้ไม่อาจทำได้
ทางโครงการจึงผุดไอเดียใหม่ที่เรียกว่า ‘บทเรียนคู่ขนาน’ วิทยากรจะเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานให้กลายเป็น ‘พี่เลี้ยง’ โดยอบรมหลักสูตรการประกอบอาหารและกลวิธีถ่ายทอดความรู้ให้ จากนั้นพี่เลี้ยงจะนำบทเรียนเข้าไปส่งต่อให้กับน้อง ๆ เยาวชน ส่วนวิทยากรมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อยู่ด้านนอก
“เราสร้างครูพี่เลี้ยงให้เป็นเหมือนครูแม่ไก่ เรียนรู้การเป็นวิทยากร ต้องฝึกปฏิบัติเหมือนจริงทุกอย่าง ตั้งแต่เลือกเมนู จำสูตร วิธีการเลือกวัตถุดิบ การปรุง พอพี่เลี้ยงทำได้ ก็นำเข้าไปจัดอบรมกับน้อง ๆ ข้างใน และเพื่อความมั่นใจเรายังผลิตสื่อประกอบการสอนเป็นคลิปสอนเมนูต่าง ๆ 20 รายการ และหนังสืออีก 24 รายการ สำหรับให้ครูพี่เลี้ยงและน้องๆได้ทบทวนความรู้ย้อนหลัง
“ทางสถาบันมองว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การฝึกอบรมอาชีพยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะบางคนไม่รู้เลยว่าวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal มีหน้าตาเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อโลกข้างนอกเปลี่ยนแปลงไป หลายคนที่กลับออกมา เขาจำเป็นต้องมีทักษะติดตัว ต้องมีความหวัง มีกำลังใจในการอยู่ในสังคมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาด
“แล้วไม่ใช่แค่ความรู้ด้านการทำอาหาร แต่เนื้อหาหลักสูตรในบทเรียนคู่ขนานเรายังเสริมเรื่องการป้องกันตนเองจากโรค การปรับตัวด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ชีวิตในสังคมยุคโควิด-19 ไปจนถึงการวางแผนประกอบกิจการในภาวะที่เรายังต้องต่อสู้กับไวรัสต่อไป ซึ่งโครงการได้ทำชุดหนังสือแบบเรียน มอบให้เขานำไปใช้เป็นคู่มือศึกษาปฏิบัติด้วยตนเองได้”
ธนาคารอุปกรณ์ สำหรับน้องที่ต้องการประกอบอาชีพแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้หยิบยืม
อรันดา เส้นเกษ รองผู้อำนวยการโรงเรียนสอนศิลปะการปรุงอาหารไอเชฟ กล่าวถึงบรรยากาศในบทเรียนคู่ขนานว่า นอกจากได้รับความสนใจจากน้อง ๆ ที่สมัครเข้ารับการอบรมจำนวนมาก กลุ่มพี่เลี้ยงเองก็กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะการทำอาหาร สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจึงเป็นมากกว่าการอบรมทักษะอาชีพทั่วไป เพราะในห้องเรียนคู่ขนานได้สร้างทั้งรอยยิ้ม มิตรภาพ ความหวัง และแรงบันดาลใจกับใครหลายคน
ผลลัพธ์เหล่านี้คือต้นทางของแผนงานขั้นต่อไป โดยหลังจากนี้น้อง ๆ สามารถนำชั่วโมงสะสมในกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ 30 ชั่วโมงแรก มาต่อยอดให้ครบ 90 ชั่วโมง เพื่อสอบเป็นผู้ประกอบการอาหารไทยของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ที่สถาบันไอเชฟ
ในอีกทางหนึ่ง ไอเชฟเตรียมจัดตั้งกองทุน ‘ธนาคารอุปกรณ์’ สำหรับน้อง ๆ ที่ผ่านการฝึกทักษะทำอาหารแล้วสนใจประกอบอาชีพ แต่ขาดทุนสนับสนุน ให้เข้ามาหยิบยืมเครื่องมืออุปกรณ์ไปใช้เริ่มต้นกิจการได้ ซึ่งทางสถาบันมองว่าแผนงานเหล่านี้จะสานต่อกับกิจกรรมฝึกอาชีพ ในทิศทางของการมอบโอกาสเรียนรู้และสนับสนุนต่อเนื่องให้น้อง ๆ นำวิชาความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ในทางที่ยั่งยืน