“แล้วหนูต้องทำอย่างไร ?” นี่เป็นคำถามของเด็ก 11 ขวบคนหนึ่งที่เอ่ยถามคุณอ๋อง-ศิริชัย คุ้มโห้ หนึ่งในทีมนักทัศนมาตรจากสมาคมนักทัศนมาตรแห่งประเทศไทย ในโครงการ ‘I See the Future’ ที่ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาทางสายตาให้กับเด็กไทย โดยคุณอ๋องได้บอกไว้จากบทสัมภาษณ์ทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(วสศ.)
“หนูไม่ต้องทำอะไร แค่อย่าไปทำอะไรที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ถ้าขี่รถมอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อคนะ ถ้ามีโอกาสใส่แว่นตาที่เป็นเลนส์นิรภัยก็จะดี” และนี่คือคำแนะนำที่คุณอ๋องสามารถตอบให้แก่น้องวัย 11 ขวบคนนั้นได้ ซึ่งคุณอ๋องบอกกับเราว่า ที่บอกไปแบบนั้น เพราะน้องเขาเสียตาไปแล้วข้างหนึ่ง โดยที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้เลย มองหาวิธีแล้ว ไม่มี

“มีเด็ก 11 ขวบคนหนึ่ง ดวงตาเขาเห็นแค่ข้างเดียว อีกข้างเห็นไม่ชัด พอเราตรวจก็จะเจอปัญหาตาขี้เกียจ จากอาการตาเข เราเรียกว่า small angle strabismus พอเป็นแบบนี้ ตาข้างที่เขเล็กๆ ของเด็กมองไม่เห็น ทำยังไงก็ไม่ชัด ซึ่งกว่าน้องจะรู้ตัว อายุก็ 11 ขวบแล้ว เกินวัยที่จะรักษาได้ทัน แต่ถ้าเรารู้ปัญหานี้ตอนน้องอายุน้อยๆ 3-4 ขวบ แก้ได้เลย แม้ไม่ง่ายนัก แต่ก็แก้ได้” นี่คือสิ่งที่คุณอ๋องเล่าต่อให้เรารับรู้
และนี่คือตัวอย่างของปัญหาที่กำลังบอกเราว่าปัญหาความผิดปกติทางสายตานั้นเกิดขึ้นได้แม้แต่ในเด็กเล็กๆช่วงวัยไม่กี่ขวบเท่านั้น และเด็กยิ่งเล็กยิ่งไม่สามารถสื่อสารหรือบอกความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเขาให้แก่เรารู้ได้ นั่นอาจทำให้เด็กๆเหล่านั้นสูญเสียช่วงเวลาของการเรียนรู้ที่สำคัญ หรือแม้กระทั้งอาจทำให้สูญเสียดวงตาของพวกเขาได้เลย
ซึ่งปัญหาตาขี้เกียจ (Lazy Eye) คือ อาการที่ตาข้างใดข้างหนึ่งมองเห็นได้ไม่ชัด ไม่ดีเท่าอีกข้างหนึ่งที่มองเห็นได้ชัดปกติ ซึ่งดวงตาข้างที่มองเห็นไม่ชัดเกิดจากการสูญเสียพัฒนาการในการมองเห็น เรียกว่า ตาขี้เกียจ โดยปกติพัฒนาการการมองเห็นในเด็กจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรกคลอดไปจนถึง 7 ขวบ หลังจากนั้นจะหยุดพัฒนา
ปัญหาตาขี้เกียจสามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติไม่เท่ากัน เด็กจะไม่รู้ว่าตาอีกข้างหนึ่งมองเห็นไม่ชัด หากไม่ได้แก้ไขด้วยการสวมแว่นตา พัฒนาการของดวงตาจะไม่เท่ากัน การสวมใส่แว่นตาจึงสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ รวมถึงในเด็กที่มีอาการตาเข ตาเหล่ ที่แสดงว่ากล้ามเนื้อตาผิดปกติ หากปล่อยไว้นานก็จะส่งผลต่อพัฒนาการในการมองเห็น เช่นเดียวกับโรคอี่น ๆ ทางตาที่บดบังการมองเห็น อย่างต้อกระจกในเด็ก แผลที่กระจกตา หนังตาตกตั้งแต่กำเนิด ตาตกข้างเดียว ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลให้พัฒนาการทางการมองเห็นของเด็กไม่ดี ทำให้สายตาไม่เกิดการพัฒนากลายเป็นตาขี้เกียจ และถ้ารักษาไม่ทันปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป อาจทำให้เด็กสูญเสียการมองเห็นได้ในระยะยาว

“ถ้าพบปัญหาเร็ว ก็แก้ได้ง่าย การที่เด็กเป็นตาขี้เกียจแล้ว มาแก้ทีหลังไม่ได้นะครับ รักษาไม่ได้ แค่บรรเทาได้เท่านั้นเอง ถ้าพ้นจากวัยนี้ไปแล้วพบปัญหาสายตาทีหลัง นั่นไม่เป็นไร เพราะนั่นไม่ใช่ตาขี้เกียจ แก้ไขได้ไม่ยาก แล้วโอกาสในการเรียนรู้ทักษะพื้นฐานชีวิตของเขามันผ่านมาแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องการหาประสบการณ์แล้ว” การตรวจวัดค่าสายตาให้เด็กทุกๆ ปี เป็นเรื่องปกติที่เด็กทุกคนควรได้รับ และนี่คือสิ่งที่คุณอ๋อง ศิริชัย บอกกับเรา
ดังนั้นการผลักดันโอกาสในการมองเห็นได้อย่างชัดเจนของเด็กไทยควรเกิดขึ้น ที่สำคัญต้องฟรี เด็กและผู้ปกครองต้องไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสมองเห็นโลกใบนี้ด้วยสายตาของพวกเขาเพื่อความพร้อมในเรียนรู้ เด็กทุกคนควรได้รับความเสมอภาคในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นย่อมรวมไปถึงการได้มองเห็นโลกได้ชัดเจนอย่างเท่าเทียมกัน
สามารถอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : ‘I See the Future’ แว่นตาที่ดี ต้องฟรีสำหรับทุกคน