“เรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง” ภัยเงียบ “ผลัก” เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

“เรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง” ภัยเงียบ “ผลัก” เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

ที่ผ่านมาทางโรงเรียนปทุมคงคาจัดการเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ เช้าถึงเย็น มีสลับให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้างในบางวัน  และมีนักเรียนหลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์

การเรียนออนไลน์กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้  เมฆ-สิทธิพล เปี่ยมบุญ กำลังเรียนอยู่แค่ชั้น ม.1 ตัดสินใจหยุดเรียน และ​มีแนวโน้มที่จะหลุดจากระบบการศึกษาหากไม่มีใครเข้าไปช่วย 

ในแง่ความพร้อม “น้องเมฆ” ถือว่าได้เปรียบนักเรียนคนอื่นหลายคน เพราะมีทั้งมือถือ สัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมทั้งฐานะทางบ้านก็ไม่ได้มีปัญหา แต่เป็นเพราะรูปแบบการเรียนที่แตกต่างไปจากห้องเรียนปกติ ทำให้เขาเรียนไม่รู้เรื่อง พอไม่ได้เข้าเรียนเป็นเวลานานก็ยากที่จะกลับไปเรียนต่อได้อีก 

“ตอนเริ่มปรับมาเรียนออนไลน์ แรกๆ ก็เข้าไปสองสามครั้ง เรียนรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตอนหลังไม่รู้เรื่องเลย มันมึน งงไปหมด ก็เลยไม่เข้าไปเรียนอีก ผมไม่ชอบเรียนออนไลน์ ชอบเรียนที่โรงเรียนมากกว่า ตอนไปเรียนที่โรงเรียนก็ไปตลอด จนต้องมาเรียนออนไลน์ มันเรียนไม่รู้เรื่องก็เลยไม่เข้าเรียน นอนอยู่บ้านเฉยๆ”

เสียดายโอกาส
วุฒิการศึกษา ป.6 สมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้

ช่วงที่หายไปแรกๆ ก็มีเพื่อนมาตาม บอกว่าครูให้มาตามกลับไปเรียน ถ้าไม่เข้าเรียนจะถูกปรับตก ตอนนั้นก็ไม่สนใจ คิดแค่ว่าไม่อยากเรียน  ไม่ชอบ ไม่เข้าใจ ต้องเข้ามาโหลดแอป กรอกอีเมล ตั้งพาสเวิร์ด พอเข้าไปเรียนยิ่งเนื้อหาวิชายากๆ ยิ่งไม่เข้าใจ  อย่างคณิตศาสตร์เข้าไปเรียนก็ไม่รู้เรื่อง ก็เลยไม่เข้าดีกว่า 

“ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรก็แค่หยุดเรียนไป แต่ตอนนี้เริ่มมองแล้วว่าเสียดายโอกาส เพราะเรียนยังไม่จบ ม.1  วุฒิการศึกษายังเป็นของ ป.6  เอาไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้  กลับไปเรียนตอนนี้ก็คิดว่าเรียนไม่ทันเพื่อนแล้ว เลยไม่อยากกลับไปเรียนแล้ว อยากทำงานมากกว่า ตอนนี้มารับจ้างทำสวนอยู่ แต่อนาคตก็ไม่แน่ เคยคิดว่าอยากกลับไปเรียนบ้าง ถ้ากลับไปเรียนได้ก็อาจจะกลับไปเรียน อาจจะเรียนซ้ำชั้น ม.1 ใหม่อีกรอบ”

ล้าจากการเรียนผ่านหน้าจอมือถือทั้งวัน

ในขณะที่ ​มาร์คคริษฐ์ สอนแสง ​นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนปทุมคงคา  เป็นอีกคนที่ประสบปัญหาเรื่องการเรียนออนไลน์  เรียนรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง  ช่วงเทอมหนึ่งที่ต้องเรียนออนไลน์ตลอด 5 วันต่อสัปดาห์ 7.30 -15.00 น. วิชาละ 50 นาที  รวม 7 วิชา เป็นไปด้วยความยากลำบาก

ถึงจะ​มีมือถือและสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ใช้ของที่บ้าน และซิมฟรีที่ได้รับแจกสำหรับเรียนออนไลน์ ที่ทำให้การเรียนเป็นไปได้สะดวกขึ้น แต่การเรียนผ่านจอมือถืออย่างเดียวตลอดทั้งวันก็ทำให้ล้าและเรียนไม่รู้เรื่องเท่ากับการเรียนในห้องเรียน 

“ถ้าเรียนไม่ไหวก็โดดเรียนบ้างแต่ไม่บ่อย ถ้าขาดบ่อยครูประจำชั้นก็จะมาตามกลับไปเรียน แต่ผมยังขาดไม่บ่อย นานๆ ขาดบ้าง ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย บางวันก็ไม่ไหว เพื่อนๆ ก็มีหายไปบ้างคนสองคน การเรียนออนไลน์ก็เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้บ้าง  เทอมที่แล้วสอบก็พอทำได้  คะแนนออกมาก็กลางๆ

“อีกปัญหาที่ตามมาช่วงโควิดระบาดคือเรื่องฐานะของครอบครัว  เพราะที่บ้านทำธุรกิจขนส่ง ช่วงโควิดระบาดมีการห้ามขนส่งก็เลยทำให้ธุรกิจแย่ ที่บ้านต้องเอาเงินเก็บมาใช้ ไม่รู้ว่าจะกลับไปสู่สถานการณ์ปกติเมื่อไหร่  เป็นอุปสรรคที่ส่วนตัวคิดว่ารุนแรงกว่าการเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง”

เน็ตหลุด เน็ตกระตุก เรียนไม่ต่อเนื่องตามไม่ทันเพื่อน

ส่วน ดั๋งพรพรรณ บุญจันทร์  นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนพระโขนงพิทยาลัย  มองว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง มีเนื้อหาที่ตามไม่ทัน เดิมเคยต้องจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ต 400-500 บาทต่อเดือน แต่ภายหลังได้รับซิมเรียนออนไลน์ฟรีก็ลดภาระไปได้มาก ซึ่งแต่ละวันครูจะส่งลิงก์มาทางไลน์กลุ่มว่าจะเรียนผ่าน ZOOM  หรือ Google Meet

การเรียนออนไลน์ที่บ้านทำให้รู้สึกว่าไม่มีอะไรกระตุ้นให้เข้าเรียน เวลาเจอวิชายากๆ อย่างคณิตศาสตร์ ก็ไม่เข้าใจ ทำงานไม่ทัน  บางครั้งอินเทอร์เน็ตกระตุกหรือสัญญาณมีปัญหาก็เด้งออกจากห้อง ZOOM พอกลับเข้ามาอีกทีก็ตามไม่ทันแล้ว ตอนนี้ก็พยายามไล่ส่งงานย้อนหลังให้ครบ

“เคยมีบ้างที่เรียนไม่รู้เรื่องจนท้อใจไม่อยากเรียนต่อ  ก็มีหายไปบ้างเป็นบางวัน แต่ก็ยังกลับมาเรียนต่อ คิดว่าอีกแค่ปีกว่าก็จะจบ ม.6 แล้ว  ถ้าหยุดเรียนไปตอนนี้จะเสียดาย เลยกัดฟันกลับมาเรียนต่อ เวลาหายไปเพื่อนๆ ก็จะคอยตามว่าหายไปไหน ให้กลับมาเรียน ตอนนี้ก็เริ่มกลับมาเรียนออนไซต์ได้แล้ว เริ่มได้ถามเพื่อนถามครูในสิ่งที่ไม่เข้าใจ สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น”

และนี่คือเรื่องราวบางส่วนของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ ที่ส่งผลรุนแรงต่อเส้นทางการศึกษาของเยาวชน