บนเนื้อที่เล็ก ๆ ที่มีตึกสูงใหญ่ล้อมรอบแห่งชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน มีผู้คนลงหลักปักฐานอยู่ราว 1,800 คน ทำเลที่ตั้งของชุมชนแออัดใจกลางเมืองแห่งนี้อยู่ใกล้ย่านธุรกิจการค้าและอาคารสำนักงาน ทั้งตลาดประตูน้ำ สถานีรถไฟฟ้าชิดลม ซอยนานา รวมถึงตลาดนีออน เรียกได้ว่าเป็นทำเลที่คึกคักและเต็มไปด้วยผู้คน โดยเฉพาะคนทำงานและนักท่องเที่ยว
คนวัยทำงานที่อาศัยชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ประกอบอาชีพค้าขายอาหารตามตลาดและริมทางย่านการค้าบริเวณไม่ไกลจากชุมชน มีบางส่วนประกอบอาชีพค้าขาย เป็นลูกจ้างร้านขายเสื้อผ้า (ตลาดประตูน้ำ) ขับรถรับจ้าง หรือเป็นลูกจ้าง รับจ้างทำงานทั่วไปตามสถานประกอบการ
อย่างไรก็ตาม คำว่า “คึกคักเต็มไปด้วยผู้คน” ใช้ไม่ได้อีกแล้วกับพื้นที่ละแวกนี้ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 คืบคลานเข้ามา จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นศูนย์ สถานประกอบการ กิจการร้านรวงต่างๆ หลายแห่งได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นโดมิโนคือ การตกงานและปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน
ด้วยเหตุนี้ สมาคมส่งเสริมพัฒนาความรู้เพื่อชุมชน จากการรวมกลุ่มของผู้มีความรู้ความชำนาญด้านการจัดการเรียนรู้และกระบวนการพัฒนาชุมชน จึงได้เข้ามาสนับสนุน “โครงการพัฒนาและยกระดับการประกอบอาชีพทำอาหารขายหลังวิกฤตโควิด-19 ในชุมชนเมืองริมทางรถไฟมักกะสัน กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ชีวิตและคิดทางรอดให้ชุมชน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ไม่ลดราวาศอกลงไปง่ายๆ
โดยโครงการไม่ได้ไปสอนแค่ทำอาหารหรือประกอบธุรกิจให้เพียงครั้งเดียวแล้วก็จบเท่านั้น แต่เริ่มโครงการตั้งแต่การเข้าไปสำรวจความต้องการของคนในชุมชน พร้อมกับคอยสอบถามข้อมูลของแต่ละบ้านจากผู้นำชุมชน ทำให้รู้ถึงทักษะพื้นฐานที่คนชุมชนมี จากนั้นจึงค่อยทำงานร่วมกันกับคนในชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดต่อยอดจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว มีการวางแผนอบรมในขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายช่วยกันคิดและวางแผน พร้อมลงมือปฏิบัติ เพื่อให้ทุกคนทำได้ด้วยตัวเอง สร้างเป้าหมายด้วยตัวเอง เห็นความสำคัญและตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง พร้อมกันนั้น การพบปะเป็นประจำยังสร้างเครือข่ายเพื่อให้คนในชุมชนได้ช่วยเหลือกันภายในกลุ่ม
โครงการนี้เข้ามาส่งเสริม พัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการ “ฝึกทักษะอาชีพ” พร้อมเติม “ความรู้” และ “วิธีคิด” เช่น การวางแผนชีวิตอย่างเป็นระบบ หลักปฏิบัติในการประกอบอาชีพทำอาหารในยุคนิวนอร์มอล การทำบัญชีครัวเรือน การคำนวณต้นทุนและราคาขาย และการใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียเพื่อขยายโอกาสทางการค้าขาย จนสามารถปรับตัวในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่พอจะนำมาจุนเจือครอบครัวท่ามกลางวิกฤตนี้ได้
การฝึกอบรม “ทักษะ” การทำอาหารที่มีความหลากหลายกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านประกอบอาหาร ทั้งหมด 8 ครั้ง 7 เมนู (กำหนดให้เลือกเรียนอย่างน้อย 3 ครั้ง) ได้แก่ หมูฝอยกับไก่ฝอย ทาโกะยากิ น้ำพริกกากหมู แคบหมูกับหมูเชียงฮาย น้ำจิ้มต่าง ๆ เช่น น้ำจิ้มปิ้งย่าง ลูกชิ้น และสุกี้ วุ้นกับขนมกล้วย และก๋วยเตี๋ยวลุยสวนกับสลัดโรล นอกจากนี้ยังสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายพร้อมลงมือทำและตั้งหลักชีวิตได้ทันที ทั้งยังติดตามและประเมินผลเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่อย่างใกล้ชิด
สำหรับการฝึกทักษะการใช้สื่อและเทคโนโลยีจะเน้นไปที่การให้ความรู้ 3 เรื่อง คือ
1. แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ต่าง ๆ
2. ช่องทางการขายอ่านออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เป็นต้น เพื่อรับออร์เดอร์สินค้า
3. การจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยให้กลุ่มเป้าหมายเลือกใช้ตามความเหมาะสมของประเภทสินค้าและศักยภาพของตนเอง เช่น หากแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ไม่สามารถทำได้ ให้กลุ่มเป้าหมายลองคิดว่าจะใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่แทนได้หรือไม่ แต่เท่าที่ติดตามการดำเนินงานพบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะใช้แค่แอปพลิเคชันสำหรับจ่ายเงินเท่านั้น เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและศักยภาพของชุมชน
หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ อาศัยอยู่ชุมชนริมทางรถไฟมักกะสันมาประมาณ 20 ปี ก่อนนี้ทำอาชีพแม่บ้านทำความสะอาดโรงแรม มีรายได้เดือนละประมาณ 15,000 บาท เมื่อธุรกิจโรงแรมไม่สามารถไปต่อได้ด้วยพิษโควิด-19 จึงถูกเลิกจ้างกะทันหัน พร้อม ๆ กับที่คู่ชีวิตก็กลายเป็นคนตกงานเช่นกัน แม้ได้รับเงินมาจำนวนหนึ่งจากการถูกเลิกจ้าง แต่การดูแลครอบครัวรวมลูกอีก 3 คนซึ่งอยู่ในวัยเรียน ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตที่รายจ่ายเท่าเดิม แต่ไม่มีรายได้เสริม เป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวและทำให้เป็นกังวล หลังถูกเลิกจ้าง สองสามีภรรยาจึงเลือกเปิดร้านอาหารตามสั่ง ไม่ใช่เพราะทำอาหารเก่ง แต่เพราะอับจนหนทาง สิ่งที่คิดได้ตอนนั้นคือ อย่างน้อยคนยังต้องทานอาหารทุกวัน โดยใช้อุปกรณ์เครื่องครัวที่พอมีอยู่ เปิดขายอาหารตามสั่งหน้าบ้านเป็นทางเลือกพอประทังชีวิต ตั้งแต่ราวเดือนมิถุนายน ปี 2563
จนกระทั่งมีการเปิดอบรม ทำให้ทั้งคู่มองเห็นโอกาสที่คุ้มค่ากับเวลาและรายได้ที่เสียไป จึงสละเวลายอมปิดร้านมาร่วมเรียนหลักสูตรทำอาหารเมนูต่าง ๆ ครบทั้ง 8 ครั้ง จากเดิมเปิดร้านขายอาหารตามสั่งเพียงอย่างเดียว ตอนนี้ร้านเล็ก ๆ ของพวกเขาขายก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือก และกำลังหาเวลาทำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไก่ฝอย น้ำพริก และแคบหมู มาวางขายอย่างจริงจัง หลังจากได้ทดลองทำให้คนในชุมชนชิมจนมีความมั่นใจในฝีมือปลายจวัก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและช่วยเสริมรายได้ให้ครอบครัวต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
นอกจากการค้าขายแล้ว หลายคนในชุมชนยังยอมรับว่าโครงการได้ทำให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีและมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจใช้เทคโนโลยีมือถือมากนัก เมื่อมีโครงการต่าง ๆ ของรัฐเข้ามาสนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชัน ในช่วงต้นยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก แต่ความรู้จากการอบรมการใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์จากโครงการ เป็นแรงกระตุ้นให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้แล้วลงมือปรับเปลี่ยนตัวเอง ปัจจุบันร้านค้าในชุมชนเริ่มรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด และแอปพลิเคชัน เช่น ไทยชนะ คนละครึ่ง ยกระดับการให้บริการให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งอาหารง่ายขึ้น แอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการสอนมา และทำให้มีช่องทางรายได้เพิ่มขึ้น
สามารถติดตามข้อมูลโครงการเพิ่มเติมได้ที่ : ทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน