วรยศ บุญทองนุ่ม หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ‘แพท พาวเวอร์แพท’ อดีตนักดนตรีชื่อดังที่เริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่อายุยังน้อย และเริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปี 2543 ในบทบาทนักร้องนำของวงพาวเวอร์แพท (POWER PAT) ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น เป็นช่วงวัยที่หลายคนกำลังศึกษาเล่าเรียน แต่ก็มีบางคนที่ค้นเจอตัวเองเร็ว และแพทก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้เดินตามความฝันตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก
ทว่าอีก 3 ปีให้หลัง เขาต้องพบกับจุดเปลี่ยนชีวิตชนิดที่ใครก็ยากจะจินตนาการได้ เมื่อถูกจับในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลพิพากษาให้จำคุกนานถึง 50 ปี ปรับอีก 1 ล้านบาท
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับคดียาเสพติดในเยาวชน จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า ระหว่างปี 2561-2565 เด็กและเยาวชนอายุ 12-18 ปี กระทำผิดรวมทั้งหมด 134,747 คดี โดยประมาณ 40.07 เปอร์เซ็นต์เป็นคดียาเสพติดทั้งสิ้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่ง
ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ แพทตั้งใจปรับปรุงตัวเอง เริ่มประพฤติตนดีขึ้น ขณะที่อยู่ในเรือนจำ เขาเริ่มศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อีกทั้งยังเป็นครูสอนดนตรีให้เพื่อนนักโทษ และเริ่มสนใจงานด้านวิจิตรศิลป์ เขาใช้เวลากับการทำงานศิลปะวาดรูป จนผลิตผลงานออกมามากมาย กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนนักโทษและผู้ที่มองหาโอกาสในชีวิต จะเห็นได้ว่าการศึกษาได้เปลี่ยนชีวิตของแพทอย่างแท้จริง ทั้งในฐานะนักศึกษาและในฐานะครูผู้สอนด้วย
ในที่สุดคุณงามความดีจึงเกิดดอกออกผล แพทเลื่อนขั้นนักโทษชั้นดี ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และค่อยๆ ลดโทษลงมาจนสุดท้ายได้โอกาสออกมาใช้ชีวิตอยู่นอกรั้วเรือนจำ รวมเวลาทั้งหมดในเรือนจำ 16 ปี 8 เดือน
แพทเปิดใจให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องราวการกลับตัวกลับใจ การได้รับโอกาส และการส่งมอบโอกาส เพื่อแบ่งปันแรงบันดาลใจและหวังว่าจะเป็นกำลังใจให้กับใครต่อใครได้อีกหลายคน
ย้อนกลับไปตั้งแต่แรกเริ่มก่อนจะก้าวเดินผิดพลาด อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เข้าไปพัวพันกับยาเสพติด มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
หลายเหตุผลเลย ในความเป็นวัยรุ่นก็อยากรู้อยากลองด้วย มันเป็นช่วงที่คาบเกี่ยวระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เราก็อยากเลียนแบบผู้ใหญ่ อยากให้คนมองเราว่าเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า พอเริ่มจากตรงนี้ก็เขยิบไปเรื่อยๆ เริ่มมีกลุ่มก๊วนที่พาเข้าไปยุ่งทั้งกัญชาและสารเสพติดอื่นๆ
มีบางช่วงก็เคยหยุดไป แต่บางช่วงที่เครียด หรือรู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจ เราก็จะกลับไปหามัน วนอยู่แบบนี้ เดี๋ยวเดียวก็หยุดไป แล้วก็กลับไปหามันใหม่ เป็นแบบนี้
จนเราได้ทำงานดนตรี พอเริ่มประสบความสำเร็จ ก็เริ่มเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าเราเลือกเส้นทางมาถูกต้องไม่งั้นคงไม่สำเร็จหรอก จนกลายเป็นอีโก้ คิดว่าชีวิตเราสามารถกำหนดเองได้ ไม่มีใครเข้าใจเราดีกว่าตัวเรา ไม่ว่าจะมีผู้ใหญ่ตักเตือน หรือมีคนหวังดีกับเราก็ตาม สุดท้ายเราก็เลือกทางเดินผิดๆ
ในเมื่อตอนนั้นชีวิตมีครบทุกอย่าง ทั้งชื่อเสียง เงินทอง หน้าตา อาชีพ ทำไมถึงต้องหันไปพึ่งพายาเสพติด
มีจุดหนึ่งที่เหมือนกับว่าเราเหงา อาจจะด้วยระบบการดูแลศิลปินในสมัยนั้น เราไม่สามารถปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อยๆ ได้ เขาอ้างว่า เดี๋ยวคนเห็นเราบ่อย แล้วพอเจอบ่อยก็จะรู้สึกไม่ตื่นเต้น ไม่พิเศษ มีผลต่อเรื่องการตลาด เป็นเรื่องของการดูแลศิลปิน และตัวเราเพื่อนน้อย ทำให้รู้สึกไม่มีใคร ผมเองออกจากบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย อายุประมาณ 17 เรียนจบ ปวช. หิ้วกีตาร์หนึ่งตัวออกมาตามหาความฝันเหมือนในหนังฝรั่งเลย มาหาที่อยู่เอง ใช้ชีวิตเอง เล่นดนตรีกลางคืน ดูแลตัวเอง มันก็ง่ายที่จะเข้าถึงอบายมุขพวกนี้
ถือว่าได้รับโทษที่หนักมาก ตกใจไหม สถานการณ์ชีวิต ณ ตอนนั้นเป็นอย่างไร ต่อสู้คดีอย่างไร
ใช่ ตกใจมาก เป็นคนที่จะว่าโชคร้ายก็โชคร้ายเหมือนกัน พอเกิดเรื่องอะไรทีก็มักจะรุนแรง คือ ณ ตอนนั้นพอเริ่มติดยาหนักขึ้น ก็เริ่มรู้จักคนในวงการมากขึ้น กลุ่มใหญ่ขึ้น อิทธิพลเยอะขึ้น เราไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่จะมาทำลายตัวเรามันจะเข้ามาถึงเราเมื่อไหร่ แล้วสุดท้ายมันก็มา
พอรู้ตัวว่าต้องติดคุกนานถึง 50 ปี ช่วงแรกก็ยังต่อสู้คดีไปจนถึงชั้นฎีกา รอการตัดสินนานถึง 7 ปี มันก็ยังพอมีความหวังจะได้ลดโทษหน่อย สักเดือนสองเดือนก็ยังดี มันก็ทำให้เรามีกำลังใจ ทีนี้พอศาลตัดสินออกมาไม่ได้ลดโทษ ตอนแรกก็เสียใจ ผิดหวัง ครอบครัวก็ผิดหวัง
ช่วง 7 ปีแรกที่รอฎีกา เริ่มวางแผนปรับเปลี่ยนตัวเองเลยไหม
ใช่ เริ่มเลย เริ่มเรียนหนังสือ เริ่มทำอะไรต่างๆ ระหว่างที่ใช้ชีวิตในเรือนจำ เพราะไม่รู้จะต้องอยู่ต่ออีกนานแค่ไหน อาจจะเร็วจะช้าก็ได้ ถ้าเราได้ลดโทษ มันก็พอจะมีความหวัง ก็คือทำตัวดีไว้ก่อนแล้วกัน
แต่พอรู้แล้วว่าไม่ได้ลดโทษ ต้องอยู่เต็มๆ (50 ปี) มันก็ทำใจอยู่พักหนึ่งเลย มันก็เอ๊ะ จะยังไงต่อไป มันหนักมากทั้งกับเราและครอบครัว
เราก็เลยอยู่กับตัวเอง บอกตัวเองว่า เอาวะ มันต้องมีความหวังสิ บวกกับการใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำเขามีการปลูกฝังเรื่องธรรมะ เรื่องพุทธศาสนา ได้ศึกษาธรรมะ ฝึกวิปัสสนา การทำสมาธิ ไหว้พระสวดมนต์ อยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้รู้คำสอนขององค์พระพุทธเจ้า ถึงสิ่งที่มันหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีสิ่งใดหยุดนิ่ง
แม้กระทั่งความทุกข์ หรือสิ่งเลวร้ายที่เราเจอ เรามีความเชื่อมั่นตามคำสอน ว่ามันจะไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราไปตลอดเวลา วันหนึ่งมันก็ต้องหมดไป ต้องแปรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น มันต้องมีวันที่เป็นของเราแน่นอน เราเชื่อแบบนี้ เลยมุ่งไปว่า วันที่เรารอคอยมันต้องมี ตั้งเป้าเอาไว้ก่อน แม้จะเป็นแสงสว่างเล็กๆ แต่มันก็ยังมี
เชื่อว่าต้องมีวันที่เป็นของเรา แม้คนอื่นอาจจะไม่เชื่อในตัวเรา คุณแพทรักษาความเชื่อมั่นนั้นเอาไว้ได้อย่างไร
คือ เราต้องเชื่อมั่นก่อน ส่วนใครไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร เราไม่ว่าเขา เพราะเขาก็ไม่ได้รู้จักเราดีพอเท่าตัวเราเอง เราจะรู้ตัวเองว่าเราคาดหวังอะไร เราอยากจะทำอะไร แล้วทุกวันนี้เราทำอะไรอยู่ คนอื่นไม่ได้มารู้กับเราว่าเรากำลังทำอะไร จากสิ่งนี้จะไปสู่สิ่งไหน แล้วเราทำมันอยู่ทุกวันๆ พอมองย้อนกลับไปมันจะเริ่มสะสม พอผ่านไปเป็นเดือนเป็นปี มันจะเริ่มเห็นเอง
ตัวเราเองจะเห็นการเปลี่ยนแปลงนั้น คนอื่นที่เขาไม่ได้ใส่ใจ เขาก็จะไม่เห็น แล้วทุกครั้งที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น มันจะเป็นกำลังใจให้เรา ว่าเรามาถูกทางนะ เราสะสมมันไปเรื่อยๆ 1 ปี 2 ปี 3 ปี แล้วเราก็เรียนจนจบ พอเราเรียนวาดรูป มันเริ่มพัฒนา ก็เริ่มมีคนเห็น เริ่มมีคนชอบ
คุณแพทเคยพูดไว้ว่า การศึกษาได้เปลี่ยนตัวเราทั้งจากภายในและภายนอก อยากให้ขยายความสักนิดหนึ่ง
คือมันเปลี่ยนแน่ๆ จากคนที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนการศึกษา จุดเริ่มต้นเลยที่เข้าไปเรียนปริญญาตรีตอนแรกก็ไม่ได้อยากจะรู้อะไรในสิ่งที่จะเรียนหรอก แค่เริ่มต้นคิดว่าอยากจะทำอะไรบางอย่างให้คุณพ่อ คุณแม่ และครอบครัวภูมิใจ มีปริญญาตรีสักใบให้คุณแม่คุณพ่อเป็นการตอบแทนเขาบ้าง จากสิ่งที่เราทำหนักหนากับเขามาตลอดชีวิต นี่เป็นจุดเริ่มต้น
พอได้มาเรียนแล้ว ก็รู้สึกว่ามันเปลี่ยนความคิดของเราไปเลย แน่นอนบางทีความรู้ที่เราได้เรียนมาก็อาจไม่ตรงสาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วินัยของตัวเองในการฝึกสร้างกิจวิตรประจำวัน การบังคับตัวเอง
เพราะการเรียนอยู่ในเรือนจำไม่ได้มีครูเข้ามาสอน เราต้องเรียนกับหนังสือ ถึงเวลาทำแบบทดสอบ ส่งไปรษณีย์เก็บคะแนน ถึงเวลาเปิดสนามสอบในเรือนจำก็มีครูมาคุมสอบ ไม่มีใครมาบอกให้เราอ่านอะไร
เราต้องวางแผนชีวิตของเรา นี่คือสิ่งแรกๆ ที่ได้คือ ระเบียบวินัย การบังคับตัวเอง การทำสิ่งที่บางทีเราก็ไม่อยากทำ แต่เราจำเป็นต้องทำ
ทำไมคุณแพทเลือกศึกษาด้านศิลปศาสตร์
ตอนแรกเลือกเรียนด้านศิลปศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ ก็ไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร พอได้ลองเปิดใจเรียน มันก็ดีนะ มันก็ทำให้เรามีความรู้รอบด้านมากขึ้น ก็ลองเรียน ลองศึกษาดู นี่ก็เป็นสิ่งที่เราบอกและแนะนำน้องๆ เพื่อนๆ ในเรือนจำว่า ลองหาอะไรเรียน หาอะไรพัฒนาตัวเองในเรือนจำดู แต่ก็ต้องยอมรับว่า บางทีมันก็อาจจะไม่ได้ตรงตามความต้องการของเขาทั้งหมดหรอก
แล้วทำอย่างไรจึงจะค้นพบทางที่ตัวเองชอบ
ก็ต้องลองอย่างเดียวเลย ต้องเปิดใจลองดู บางทีสิ่งที่เขาเปิดให้เราเรียนก็ไม่ได้ตรงตามความต้องการของเราหรอก แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นเราหรือไม่ เราจะค้นพบบางอย่างในตัวเรา เราจะเจอเส้นทางใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้หรือเปล่า เหมือนที่เราเรียนศิลปะ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเราจะทำได้ แต่ถ้าลองไปเรียน ลองไปศึกษา แล้วมันไม่ใช่จริงๆ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็รู้มากกว่าเดิมใช่ไหมล่ะ อย่างน้อยก็รู้ว่านี่ไม่ใช่ทางเรา แล้วเราก็ยังได้ความรู้ในสิ่งใหม่ๆ บ้าง ซึ่งเราอย่าไปมองว่ามันเป็นสิ่งเล็กน้อยที่ไม่สำคัญนะ หลายๆ อย่างมันประกอบกันเป็นจิ๊กซอว์ ทำให้ความรู้รอบตัวมันก็รอบด้านขึ้น ถึงบางสายเราอาจไม่ได้รู้ลึกอะไรมากมาย แต่เราก็รู้บ้าง
ในแง่ของสภาพแวดล้อมในเรือนจำช่วยเอื้อให้ได้รับการศึกษาแค่ไหน
สภาพแวดล้อมก็เป็นส่วนหนึ่งนะ แต่สำคัญกว่าคือตัวเรานี่แหละ ความมุ่งมั่น ความใฝ่รู้ของตัวเรา ความที่เรามีวินัย มีสมาธิกับสิ่งที่เราจดจ่อ
ผมเห็นหลายคนอยู่ในเรือนจำก็จบเกียรตินิยมเยอะแยะนะ จบปริญญาตรี 3-4 ใบก็มี บางคนก็นั่งอ่านนั่งหนังสือใต้ต้นไม้ ริมทางเดิน ก็มีเยอะแยะไป
คือ อย่าไปตั้งข้อแม้กับสถานที่เลย เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้ทุกที่ แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมก็มีผล มีผลแน่นอน แต่ในเมื่อเราต้องอยู่ เราลองคิดหาทางดูสิ ว่าเราจะทำยังไงให้มันเกิดผลกับเรามากที่สุด
ที่จริงก็มีน้องๆ ที่ชอบพอนิสัยกัน กินอยู่ด้วยกัน เขาก็มาเรียนดนตรีกับเรา เขาก็ได้เรียนต่อปริญญาตรี ด้านนิเทศฯ ทางสายโฆษณาอะไรพวกนี้ เราก็พอจะให้คำปรึกษาได้บ้าง อย่างน้อยเราก็เคยทำงานในวงการมาบ้าง
เวลามีงานอะไรที่เขาต้องส่งครู เช่น เขียนสตอรีบอร์ดโฆษณา เราเป็นคนที่พอวาดรูปได้ เราก็พอจะให้คำแนะนำได้บ้าง
ได้ยินว่ามีโครงการที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้นักโทษในเรือนจำด้วย เป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงหลายปีหลัง ตอนที่ผมอยู่ในเรือนจำ ก็เริ่มมีโครงการ TO BE NUMBER ONE เริ่มมีกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ผมได้รับความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่เรือนจำให้เปิดคลาสสอนดนตรี ผมได้เป็นครูเต็มตัวเลย สอนมาหลายรุ่นมากๆ มีนักเรียนเป็นร้อยๆ คน
ทุกวันนี้เวลาไปเล่นดนตรี หรือไปพูด ไปบรรยายที่ต่างๆ ก็จะมีลูกศิษย์มาไหว้ เรียกผมว่า “อาจารย์ครับๆ หวัดดีครับ” ก็เป็นเหมือนสิ่งที่เราหว่านเมล็ดไว้ หลายคนเข้ามาหาเรา บอกว่า “โห สิ่งที่อาจารย์บอก อาจารย์สอน ทุกวันนี้มันใช้ได้จริงๆ นะ” ผมเริ่มเห็นว่ามันต่อยอดอะไรได้มากเลยทีเดียว ในเรือนจำมีทั้งสอนดนตรีด้วย สอนกีตาร์ด้วย สอนศิลปะด้วย
วินาทีที่รู้ตัวว่าจะได้ออกจากเรือนจำ มีภาพจินตนาการหรือความคาดหวังอย่างไรบ้าง พอออกมาแล้วเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม
ต้องเท้าความแบบนี้ว่า (ก่อนจะเข้าเรือนจำ) ผมอยู่ในยุคเมื่อเกือบ 17 ปีก่อนนะ นึกย้อนไปมันก็เหมือนเราถูกตัดขาดจากโลกไปเลย ตัดขาดจากเทคโนโลยีไปเลย อยู่ตั้งแต่ยุคสมาร์ตโฟนก็ไม่มี ตอนนั้นยังไม่เคยมีโอกาสขึ้นรถไฟใต้ดินเลย มันยังไม่มี
เพราะฉะนั้นตอนที่รู้ว่าใกล้จะออก ก็ไปหาข้อมูลเท่าที่พอจะหาได้ อย่างเช่นจากน้องๆ ที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ก็ไปถามเขาว่าข้างนอกมันเป็นยังไง มีเทคโนโลยีอะไร ไลน์คืออะไร ยูทูบ เฟซบุ๊ก มีไว้ทำไม โทรศัพท์ทำอะไรได้บ้าง แล้วก็พวกถนนหนทางเปลี่ยนไปยังไง หรือดูจากที่เจ้าหน้าที่เปิดบ้าง ซึ่งเขาก็ค่อนข้างจำกัด ไม่มีเนื้อหาล่อแหลมหรืออะไร
ผมก็พยายามเสาะหาข้อมูลเท่าที่มี ก็พอจะจินตนาการภาพได้เท่าที่เรารู้เท่านี้ ซึ่งผมก็มักจะบอกกับทุกคนเวลาไปบรรยายในเรือนจำสำหรับคนที่เขาใกล้ปล่อยตัวนะว่า อย่าไปคิดมากนะ อย่าไปจินตนาการเยอะ ใครที่ยิ่งอยู่นานๆ ภาพที่เราเห็น สิ่งที่เราเจอ มันไม่เหมือนสิ่งที่เราคิดหรอก คิดไปก็ฟุ้งซ่านเปล่าๆ เครียดเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ เตรียมความพร้อม เตรียมตัวเตรียมใจไปเจอกับสิ่งใหม่ แล้วปรับตัวให้ได้เร็วที่สุดดีกว่า
สิ่งที่เราเจอ ณ วันที่ได้ออกไปจริงๆ มันกว้างใหญ่ และมันมหาศาลกว่าที่คิดไว้มากๆ เลย บังเอิญว่าเราโชคดีที่มีครอบครัว พี่ๆ น้องๆ ที่เขาคอยซัพพอร์ตเรา คอยเป็นพี่เลี้ยงเราในทุกอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การเดินทางเอย เทคโนโลยีเอย เราก็เริ่มฝึกเอา แล้วเราก็เป็นคนชอบศึกษาเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย คนเขาบอกว่าค่อนข้างหัวไวพอสมควร แล้วก็ปรับตัวค่อนข้างไว ก็ยังเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
มีความท้าทายอย่างไรบ้างในการปรับตัวเข้ากับสังคมข้างนอก
คิดว่าเป็นความสนุกมากกว่าเป็นความท้าทาย เพราะว่าเราสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำมาตั้งนาน แล้วมันทำได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ
อย่างเช่น ด้านเทคโนโลยี เราเขียนเพลงเก็บไว้เยอะ เราอยากทำเพลงให้ไปสู่คนฟัง ถ้าเป็นสมัยก่อน การทำโปรดักชันเกี่ยวกับเพลงมันใช้ต้นทุนสูงมากนะ ในการเข้าห้องอัด ในการบันทึกเสียงต่างๆ ขั้นตอนมันเยอะมาก ใช้เงินสูงมาก
ปัจจุบันนี้การจะทำเพลงเพลงหนึ่ง เราสามารถทำได้ในบ้าน ในห้องนอน อุปกรณ์ไม่ต้องเยอะ ทุกอย่างที่เป็นฮาร์ดแวร์ถูกย่อให้เป็นซอฟต์แวร์อยู่ในคอมพิวเตอร์ เราแค่ต้องให้เวลากับมันในการศึกษาเรียนรู้ เดี๋ยวมันก็จะง่ายขึ้น
เดี๋ยวนี้ทุกคนมีช่องทางของตัวเอง สามารถมีช่องยูทูบ มีอะไรต่ออะไร คือมันง่ายมากขึ้น แล้วมันก็ท้าทายให้เราอยากเรียนรู้ ผมเองก็ยังเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
ในแง่ของสภาพจิตใจ ยังมีความท้าทายในการปรับตัวบ้างไหม
ในเรือนจำเขาก็สอนเราหลายอย่างนะ ก็มีสิ่งดีๆ ที่เขาหล่อหลอมให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวินัย การประหยัดอดออม เพราะเขาให้เราใช้จ่ายจำกัด การรู้จักพอเพียง เรื่องเสื้อผ้าของใช้ก็มีจำกัด ล็อกเกอร์เก็บของก็มีคนละใบ ระเบียบวินัยที่ได้เรารับ การฝืนใจทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำ เพื่อระเบียบ เพื่อความสงบเรียบร้อยในคนหมู่มาก เช่น พวกทำความสะอาด ล้างห้องน้ำ ตื่นมานั่งสวดมนต์บางทีเราก็ขี้เกียจ แล้วการอยู่ร่วมกับคนหมู่มากเราก็ต้องเรียนรู้ในการปรับตัว คนมันหลากหลาย ไม่รู้ที่มา แตกต่างวัย แตกต่างพื้นฐานความรู้ แต่ต้องมาอยู่ร่วมกัน หนีก็ไม่ได้ งั้นเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับ รู้วิธีประนีประนอม ถ้อยทีถ้อยอาศัย รู้จักความเกรงใจกัน แบ่งปันเอื้อเฟื้อ อดทนอดกลั้น สิ่งทั้งหมดนี้มีประโยชน์กับเราในการปรับตัวกับสังคมข้างนอก ทำให้สภาพจิตใจเราแข็งแรง เราก็เก็บเกี่ยวแล้วนำมาใช้กับชีวิตข้างนอกได้
ในความเห็นคุณแพทมองว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ
มันต้องเริ่มที่ตัวเองก่อน ความมุ่งมั่นตั้งใจกระทำความดี การเชื่อว่าทำดีแล้วจะได้รับผลดี และการรักตัวเอง อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งยากนะ ตอนติดคุกใหม่ๆ ตัวเราเองยังไม่เท่าไร แต่การได้เห็นพ่อแม่เขาเศร้า เสียใจ อับอาย นี่มันเจ็บใจมากเลย
มันก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ มันผ่านไปแล้ว เราย้อนไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่วันพรุ่งนี้ วันมะรืนนี้ เราสามารถกำหนดได้ เพราะฉะนั้นเราเริ่มต้นใหม่ อาจจะใช้เวลา ใช้ความพยายาม อาจต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่างในความเพียรพยายามกว่าจะกลับมาได้ เหมือนแก้วที่แตกแล้วค่อยๆ ประกอบขึ้นมา แต่ถ้าไม่เริ่มเลย มันก็ไม่สำเร็จสักที เราก็ต้องค่อยๆ เริ่มเก็บเกี่ยวประกอบมันขึ้นมา วันหนึ่งก็จะสำเร็จ
มันอาจจะต้องอดทนหน่อย ต้องแลกหน่อย แต่ถ้ามุ่งมั่นจริงๆ มันกลับมาได้ มันจะค่อยๆ ปลูกฝังเราเป็นคนใหม่ขึ้นมา เราเชื่อว่าการที่เราได้รับโอกาสต่างๆ ในสังคม ก็เพราะว่าคนในสังคมมองเห็นแหละว่าเราปรับเปลี่ยนแล้ว เราเป็นคนใหม่แล้ว เรามุ่งมั่นตั้งใจทำสิ่งที่ดีจริงๆ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ
อยากให้ฝากถึงหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายต่างๆ ทางสังคมว่า จะมีส่วนช่วยให้ผู้กระทำผิดไม่หวนกลับไปสู่วงจรเดิมอย่างไรได้บ้าง
ผมว่าหลากหลายโครงการสามารถช่วยประคับประคองพวกเขา อุ้มชูพวกเขา เปิดโอกาสให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้
แน่นอน อย่างที่ผมบอกว่า พวกเขาก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเองด้วย มุ่งมั่นที่จะปรับเปลี่ยน พัฒนาตัวเอง ใฝ่หาความรู้ เชื่อมั่นในความดี แต่สุดท้ายจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ทุกคนในสังคม ครอบครัว ทุกๆ องค์กร ทุกภาคส่วน จะต้องมีส่วนช่วยกันหมด ต้องให้โอกาสพวกเขา
ผมยังเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า คนข้างใน (เรือนจำ) เขาไม่ได้เลวร้ายกันทุกคน ส่วนใหญ่ต้องการเป็นคนดี ต้องการกลับตัว ต้องการโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเอง
ส่วนใหญ่คนที่ก้าวพลาด มันต้องมีปม มีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เขาก้าวพลาด ณ วันที่เขาเข้าไปอยู่ตรงนั้น ถ้าเขาค้นพบตัวเองและพัฒนาบ้างแล้ว แล้วเราไม่ช่วยกัน ถ้าสังคมไม่ให้โอกาสเขา ไม่ประคับประคองหรืออุ้มชูเขา ยิ่งกับเด็กๆ ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ เขาก็มีโอกาสจะกลับไปทำพลาดซ้ำ มันคือปัญหาสังคม มันไม่ใช่กระทบแค่เด็กคนนั้น แต่กระทบทั้งครอบครัวของเขา สังคมที่เราอยู่ด้วย และผมเชื่อว่าเด็กเหล่านี้ถ้าถูกพัฒนาไปในทางที่ดี เขาก็มีโอกาสจะกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมของเราด้วย
ผมจะบอกกับทุกคนเสมอ เวลาบรรยายในเรือนจำหรือพูดกับคนที่เขาอยู่ข้างในว่า มันต้องเริ่มจากตัวเองก่อนนะ ก่อนจะไปขอโอกาสจากใคร เริ่มจากตัวเองก่อนเสมอ โอกาสในการเปลี่ยนแปลง โอกาสในการจะยึดมั่นในความดี และไม่กลับไปกระทำสิ่งที่เราเคยทำพลาดแล้ว ถ้าเราทำได้แบบนี้ สังคมภายนอกเขาก็พร้อมจะยื่นมือช่วย เราต้องทำในส่วนของเราให้ดี ต้องคอยสำรวจตัวเอง แล้วก็ไม่ไปคาดหวัง หรือตั้งต้นว่าจะต้องมีคนมาเห็นนะ เราต้องค่อยๆ ทำของเราไป
อยากจะบอกว่า ทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้หมด แต่การให้โอกาสคือสิ่งสำคัญ มันเปลี่ยนชีวิตคนได้จริงๆ ถึงอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเองก่อนเสมอนะครับ
กิจกรรม ‘Wayfinder: เส้นทาง-โอกาส-จุดเปลี่ยน’ บอกเล่าเรื่องราวและแรงบันดาลใจ จากผู้กระทำความผิดสู่การกลับใจ ในงาน ‘โอกาส Open House สร้างโอกาสการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่’ จัดโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายการศึกษากว่า 20 องค์กร เพื่อผลักดันวาระทางสังคมและความเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนทุกคนมีศักยภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร ระบบการศึกษาต้องสร้างโอกาสและไม่ละทิ้งเด็กและเยาวชนคนใดไว้ข้างหลัง (Education For All) เมื่อวันที่ 8-10 กันยายน 2566 ณ ลิโด้ คอนเน็คท์ กรุงเทพฯ