“โครงการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชนในชุมชนคลองเตย” โดย “กลุ่มคลองเตยดีจัง” ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือการดูแลและช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนที่เสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษา
เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในชุมชนคลองเตยอยู่ในสภาวะวิกฤต จำนวนเคสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มเยาวชนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นกำลังสำคัญช่วยเหลือผู้กักตัวและผู้ติดเชื้อจากโรคโควิด-19 ในชุมชนคลองเตย
พวกเขารวมตัวกันเป็นจิตอาสาของ “ศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต กสศ.” คอยทำหน้าที่แพ็ค “ถุงปันยิ้ม” “ถุงปันอิ่ม” และส่งความช่วยเหลือนี้ไปยังผู้ป่วยและผู้กักตัวในชุมชน
ณัฐพล ถนอมจันทร์ (ณัฐ)

อายุ 19 ปี เคยได้รับโอกาสในการเรียนดนตรีและเล่นดนตรี กับโครงการ “Music Sharing” ตอนนี้เขาอาสามาเป็นผู้ส่งอาหารและถุงยังชีพให้กับผู้ป่วยและผู้กักตัวในชุมชน
“ตอนนี้จบ ม.6 เเล้วครับ แต่ยังไม่ได้รับวุฒิ นอกจากจิตอาสาก็ยังไม่มีงานอื่นเลยครับ เเต่ก่อนหน้านี้เคยเป็นไดรเวอร์พิซซ่าคอมปะนี
“ช่วงนี้ผมรับหน้าที่ส่งข้าว น้ำ ยา และถุงยังชีพสำหรับผู้กักตัวและผู้ป่วยครับ รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะผมส่งข้าวเคสผู้ป่วยด้วย ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อก็มีกลัวๆ บ้างครับ เเต่ผมยังไหวครับ ไม่ห่วงตัวเองเท่าไหร่ เเต่จะห่วงครอบครัวที่บ้านมากกว่า
“สถานการณ์ก็ยังไม่มีวี่แววจะเบาลงเลยครับ มีเคสเพิ่มขึ้นต่อวัน บางวันก็มีครอบครัวผู้ติดเชื้อโทร.หาทีมงาน บอกว่าผู้ติดเชื้อไม่ไหวเเล้ว ก็ตกใจครับ ชีวิตคนทั้งคนเลย”
วิทวัส กรสวัสดิ์ (หมอก)

เคยได้รับถุงยังชีพตอนอายุ 13 ปี ปัจจุบันอายุ 14 ปี และไม่ได้เรียนต่อ เขาเข้าร่วมเป็นจิตอาสาด้วยความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากตนเองเคยผ่านสถานการณ์ยากลำบากมาก่อน
“เคสหนักก็มีทุกวันครับ ตอนผมนี้ทำหน้าที่แพ็คถุงยังชีพและส่งข้าวให้ผู้กักตัวครับ ก็รู้สึกดีที่ได้ทำครับ เพราะผมก็เคยได้รับถุงยังชีพ ตอนนี้เหมือนได้ให้ตัวเองในเมื่อก่อน”
ประภาพร ฉัตระเนตร (เอิร์น)

อายุ 18 ปี เคยได้รับความช่วยเหลือในการทำงาน สร้างอาชีพ ก่อนหน้านี้เอิร์นรับหน้าที่ขายเสื้อผ้ามือสองที่ “กลุ่มคลองเตยดีจัง” ได้รับบริจาค เธอเพิ่งเข้ามาทำงานกับ กลุ่มคลองเตยดีจังได้ราว 5 เดือน หลังจากตกงานเพราะการแพร่ระบาดวิกฤตขึ้น
“ที่นี่คอยซัพพอร์ตหนูทุกอย่าง ช่วงนี้ตกงาน สมัครที่ไหนไม่ได้เลย พอได้พี่จืดกับครูอ๋อมแอ๋มช่วยไว้ก็รู้สึกดีใจ เหมือนรอดตายเลยค่ะ
“ตอนนี้รับหน้าที่ขายเสื้อผ้ามือสองแล้วก็แพ็คถุงยังชีพค่ะ รู้สึกดีใจที่ได้ทำหน้าที่นี้ พวกพี่ๆ ทีมงานเป็นกันเองและใจดีมากค่ะ สถานการณ์ตอนนี้มีเคสหนักอยู่เรื่อยๆ เลขผู้ติดเชื้อยังพุ่งขึ้นทุกวันค่ะ ไปไหนก็ระแวงทุกที่ เพราะคนติดกันเยอะมาก”
ลักษิกา อ่วมอรุณ (มิ้นท์)

อายุ 18 ปี เป็นผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นทุนการศึกษามาตั้งแต่อายุ 14 ปี และได้อาสามาทำหน้าที่ส่งอาหารให้ผู้กักตัวในชุมชน เธอเล่าถึงเคสผู้ป่วยที่ได้ยินจากเพื่อนจิตอาสาด้วยกันว่า
“เจอเคสที่มีอาการหนักแต่รอผลตรวจออกมาห้าวันแล้ว ค่าออกซิเจนก็เหลือต่ำ ขนาดให้ออกซิเจนแล้ว แต่ขึ้นมาไม่ถึง 80 ค่ะ มันก็สะเทือนใจมากๆ เพราะเคสนี้อยู่ชุมชนเดียวกับหนู แล้วบ้านห่างกันไม่ถึงห้าหลังเลยค่ะ”
แม้จะทำงานด้วยความหวาดหวั่นและสะเทือนใจ แต่เพราะมิ้นท์เป็นผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือตลอดสี่ปีที่ผ่านมา เธอจึงยืนยันที่จะอาสามาทำงานตรงนี้
มิ้นท์คาดหวังว่าเธอจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้คนในชุมชนคลองเตยมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเธอเองมีภาพความหวังของบ้านเกิดไว้ว่า
“รู้สึกดีมากๆ ค่ะ ที่ได้ร่วมทำงานครั้งนี้ มันอาจจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ยินดีที่จะทำค่ะ อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงสิทธิ์ในการรักษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากให้รู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ไม่ใช่บ้านเป็นที่ที่เราไม่อยากอยู่ที่สุดค่ะ”
แม้สถานการณ์การระบาดจะสร้างความหวั่นใจให้กับเหล่าจิตอาสา
แต่พวกเขายืนยันที่จะส่งต่อความช่วยเหลือนี้ไปยังผู้อื่น
ด้วยความหวังว่าผู้ที่ได้รับจะมีความหวังในชีวิตได้อีกครั้ง
เฉกเช่นเดียวกับตอนที่พวกเขาได้รับความช่วยเหลือจาก “กลุ่มคลองเตยดีจัง” จนพาชีวิตและครอบครัวของตนเองก้าวผ่านสถานการณ์ยากลำบากมาได้