SET : LEARNING@HOME การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยมัธยมศึกษา แนะนำโดยครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

SET : LEARNING@HOME การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยมัธยมศึกษา แนะนำโดยครูเม-เมริษา ยอดมณฑป (เพจตามใจนักจิตวิทยา)

คำถาม “เด็กมัธยมศึกษามีความจำเป็นต้องเรียนรู้อะไรบ้าง?”

คำตอบ “ถ้าอ้างอิงตามระบบการศึกษา เนื้อหาที่วัยรุ่นต้องเรียนในโรงเรียนจะมีความยากและซับซ้อนมากขึ้นจากเดิม ยิ่งในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายที่เด็กต้องเลือกเรียนสายการเรียนรู้ที่ชัดเจน เนื้อหามีความลึกและเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ซึ่งบ่อยครั้งเราจะพบว่า เด็กที่มีพื้นฐานการเรียนรู้ไม่แน่นจะเผชิญปัญหาในการเข้าใจเนื้อหาที่เรียน ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ทำให้จำเป็นต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ปัญหาความไม่เข้าใจบทเรียนนั้นอาจจะทำให้เด็กบางคนไม่สามารถทำการบ้านหรือเรียนรู้ได้อย่างราบรื่น ก่อให้เกิดความเครียดต่อตัวเด็กและพ่อแม่

ในบทความนี้จะกล่าวถึงแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ช่วยเอื้อให้วัยรุ่นสามารถเรียนรู้ได้ตามจังหวะของตัวเองมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การเรียนรู้รายบุคคลเป็นหลักและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจและช่วยวัยรุ่นให้เขาได้เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพของตัวเอง

ทำความเข้าใจวัยรุ่นตามพัฒนาการตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของ (Psychosocial Development) ของอีริก อีริกสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน

บันไดขั้นที่ 5 พัฒนาการอัตลักษณ์ของตนเอง (Identity) ให้ชัดเจน และสร้างการยอมรับจากตัวเองและผู้อื่น

ช่วงวัยรุ่น (12-18 ปี) เป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหา “อัตลักษณ์ของตัวเอง” (Identity) ผ่านการสำรวจตัวตน ทั้งความรู้สึก ความต้องการ ความเชื่อ คุณค่าภายในตนเอง หากวัยรุ่นสามารถค้นพบตัวตนที่สอดคล้องกันระหว่างภายนอกและภายใน เขาจะสามารถเติบโตต่อไปโดยไม่รู้สึกติดค้างในช่วงวัยดังกล่าว

ในทางกลับกัน หากวัยรุ่นไม่สามารถรับรู้ความต้องการที่มีต่อตัวเอง หรือแม้จะค้นพบความต้องการนั้น แต่ไม่สามารถทำตามที่ใจต้องการได้ อาจจะเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อ เช่น สังคมไม่ให้การยอมรับ ขัดกับค่านิยมของครอบครัว พ่อแม่ห้ามปรามไม่ให้เลือกในทางที่เป็นตัวเขา หรือเป็นเพราะตัวเขาเองที่ไม่สามารถเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการได้ สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความกังวลและความคับข้องใจ ถ้าหากไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ปมที่ติดค้างจะนำไปสู่ “ความสับสนในบทบาทของตัวเอง” (Role Confusion) วัยรุ่นจึงพยายามสุดกำลังเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพื่อตัวเอง และคนที่เขารัก เมื่อพยายามเต็มที่แล้วทำไม่ได้ วัยรุ่นมีสองทางเลือก คือ การเปลี่ยนเส้นทาง หรือปล่อยวาง ในวัยรุ่นบางคนที่หาทางออกให้กับปัญหานี้ไม่ได้ สุขภาพจิตของเขาจะได้รับการบั่นทอนลง

หัวใจสำคัญของบันไดพัฒนาการในเด็กวัย 12-18 ปี คือ “อิสระในการเป็นตัวเอง” “การค้นหาตัวเอง” และ “การยอมรับจากสังคม”

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กมัธยมศึกษา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลกใบนี้

ในทางจิตวิทยาพัฒนาการแล้ว วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเข้าใจด้านนามธรรมเทียบเท่าผู้ใหญ่ แต่อาจจะได้เปรียบผู้ใหญ่อย่างเราในด้านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยี ภาษา หรือการเข้าใจสิ่งต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่วัยรุ่นต้องการอาจจะไม่ใช่การสอนเนื้อหาวิชาการแบบแน่นขนัดให้กับเขา เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ วิธีการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ออกมาต่างหาก เพื่อที่เขาจะสามารถย่อยเนื้อหาในแบบฉบับที่ตนเองสามารถเข้าใจและนำไปใช้ได้

ก่อนจะจัดการเรียนรู้ให้วัยรุ่น เราควรเข้าใจธรรมชาติของสมองของเขาก่อน วัยรุ่นต้องการการนอนหลับมากกว่าวัยเด็กและผู้ใหญ่ แม้ว่ามันอาจดูเหมือนวัยรุ่นขี้เกียจ แต่หลักวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า “ระดับเมลาโทนิน” (ระดับฮอร์โมนการนอนหลับ) ในเลือดของวัยรุ่นเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติในเวลากลางคืน และลากยาวมาถึงตอนเช้ามากกว่าวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ นี่อาจอธิบายได้ว่าทำไมวัยรุ่นจำนวนมากนอนดึกและมีความยากลำบากในการตื่นนอนในตอนเช้า วัยรุ่นควรนอนประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อคืน แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้นอนหลับเพียงพอ เนื่องจากตารางเวลาที่ขัดกับธรรมชาติของร่างกายวัยรุ่น กล่าวคือ “ต้องตื่นเช้าตรู่มาเรียน” 

การนอนหลับไม่เพียงพอในวัยรุ่นสามารถส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้า หรือการบกพร่องในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งนานวันอาจจะส่งผลต่อการเป็นโรคทางจิตได้ ดังนั้นตารางเวลาเรียนที่ควรจะเป็นอาจจะปรับให้ตรงกับธรรมชาติของวัยรุ่นมากขึ้น โดยอาจจะให้เริ่มเรียน 9.00 น. หรือ 10.00 น. เป็นต้นไป และควรเรียนไม่เกิน 4-5 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญระหว่างคาบเรียน (ประมาณ 1 ชั่วโมง) เด็กควรพักอย่างน้อย 15-20 นาที ก่อนจะเรียนคาบต่อไป เพราะเกินไปจากนั้น ตัวเด็กเองอาจจะล้าเกินกว่าจะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ” และ “สุขภาพกายใจที่พร้อมส่งผลให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

บางกรณีที่เด็กมีปัญหาด้านการจดจ่อเป็นระยะเวลานานๆ การเรียนรู้ควรแบ่งช่วงเวลาให้สั้นลง เช่น 30-45 นาที แล้วพัก เพื่อให้เขาสามารถจดจ่อได้อย่างเต็มที่เมื่อกลับเข้ามาเรียนใหม่อีกครั้ง

แนวทางการจัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกที่ 

“ตัวเด็ก” คือ ผู้สร้างการเรียนรู้ให้ตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ

ข้อที่ 1 พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้

การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อเด็กอยู่ในสภาวะที่เปิดรับ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเด็กรับรู้ว่า “พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา” พื้นที่ไม่หมายถึงสถานที่ แต่หมายถึงบุคคลที่รายล้อมเขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูผู้สอน หรือเพื่อนๆ 

พื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ประกอบด้วย

  1. กติกาหรือข้อตกลงร่วมกัน เช่น 
  • เราจะให้เกียรติซึ่งกันและกัน เวลาที่ใครพูดเราจะฟัง เวลาที่เราพูดทุกคนจะฟังเช่นกัน
  • สิ่งที่เราจะ “พูด” หรือ “ทำ” ต้องไม่ทำให้ตัวเราหรือใครเดือดร้อน 
  • การสงสัยและการถามคำถามเป็นเรื่องที่ดี และความเห็นที่ไม่ตรงกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ขอเพียงเรานำมาพูดคุย ถกเถียงกันด้วยเหตุผล
  • ถ้าหากต้องการความช่วยเหลือ สามารถขอความช่วยเหลือได้เสมอ
  1. รับฟังและยอมรับในความแตกต่าง เช่น เด็กบางคนอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา เราควรให้โอกาสเขาได้พูดถึงสิ่งที่เขาคิด และยอมรับในความแตกต่างนั้น 
  2. ไม่ตัดสินเด็กจากการที่เขาทำไม่ได้ ไม่เข้าใจ ทำผิดพลาด แต่ให้โอกาสและให้การสอนในวิธีการที่เขาสามารถเข้าใจได้
  3. ไม่ทำให้เด็กอับอายต่อหน้าคนอื่น เช่น การตำหนิเขาต่อหน้าคนอื่น 
  4. ให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ข้อที่ 2 การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ กระบวนการคิด วิเคราะห์ และการค้นหาความรู้ด้วยตนเอง

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เนื้อหาทางวิชาการนั้นมีปริมาณมากและหลายหลาก หากต้องการให้เด็กสามารถเรียนรู้เนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างเข้าใจและนำไปใช้ได้ เด็กต้องมีกระบวนการคิดที่นำไปสู่การวิเคราะห์ และสังเคราะห์มาเป็นเนื้อหาที่ตัวเองเข้าใจ นำไปสู่การสร้างความรู้สำหรับตัวเอง และต่อยอดเป็นความรู้ใหม่ได้ 

ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่อเป็นการเรียนรู้แบบทางเดียว (Passive Learning) กล่าวคือ ผู้สอนอาจจะบรรยายเนื้อหาไปเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้เรียนฟังและจดจำเพียงอย่างเดียว 

แต่การเรียนรู้ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นการเรียนรู้แบบสองทาง (Active Learining) กล่าวคือ ผู้สอนและผู้เรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือพูดคุยกันเพื่อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาดังกล่าว ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหานั้นหลายมิติ เพราะการนำเนื้อหามาถกเถียงด้วยเหตุผลได้ เด็กจำเป็นต้องฟังและจดจำเนื้อหานั้นก่อน เพื่อนำไปผ่านกระบวนการคิดและเข้าใจ ก่อนจะนำมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้อื่น ความรู้นั้นจึงถูกบดเคี้ยวและย่อยหลายครั้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กๆ จะสามารถจดจำเนื้อหาเหล่านั้นได้อย่างขึ้นใจ

ยกตัวอย่างการเรียนรู้แบบสองทาง (Active Learing)

  1. การใช้คำถามปลายเปิดมากกว่าคำถามปลายปิด เพื่อให้เด็กๆ เสนอความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่
  2. การใช้เกมหรือโจทย์ที่ท้าทาย เช่น บอร์ดเกม หรือการจำลองสถานการณ์ และให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้นๆ 
  3. การทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานที่ตั้งไว้ เช่น เมื่อเด็กๆ อยากสงสัยเรื่องใด เราสามารถให้เขาคิดการทดลองเพื่อพิสูจน์สิ่งที่เขาสงสัยได้ โดยมีเราเป็นผู้ช่วยและดูแลความปลอดภัยเท่านั้น
  4. การโต้วาที เพื่อถกเถียงถึงสิ่งที่ตนเองเชื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล และให้เกียรติอีกฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับตนเอง
  5. การให้เด็กๆ ไปสืบค้นความรู้ด้วยตนเอง และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ข้อที่ 3 การทดสอบความรู้ที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การใช้มาตรวัดเพียงมาตรวัดเดียว แต่คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้สังเคราะห์ และประมวลความรู้ออกมานำเสนอผ่านรูปแบบที่ตนเองถนัด

การสอบผ่านออนไลน์นั้นมักทำให้เด็กๆ และพ่อแม่เกิดความเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากบางบ้านอาจจะไม่พร้อมทั้งในเรื่องของอุปกรณ์ และระหว่างการสอบอาจจะเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดได้ เช่น ไฟดับ หรืออินเทอร์เน็ตหลุด 

นอกจากนี้ การสอบในรูปแบบที่วัดผลผ่านข้อสอบฉบับเดียว อาจจะทำให้เด็กบางคนตกหล่นไป ดังนั้นการทดสอบความรู้ที่ดีที่สุดอาจจะไม่ใช่การสอบเพื่อวัดผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ทางเดียว แต่คือการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความรู้ที่ตนเองมีผ่านการนำเสนอในรูปแบบที่ตนเองถนัด ยกตัวอย่างเช่น

การทำโครงการที่ตนเองสนใจ และนำความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์หรือบูรณาการเข้าไปในโครงการนั้น

  • เด็กบางคนอาจจะทำโครงการเกี่ยวกับ “การทำขนมขาย” แล้วนำวิชาคณิตศาสตร์มาคำนวณสัดส่วนของขนมแต่ละสูตร และต้นทุน-กำไร รวมทั้งการคิดวิธีการประชาสัมพันธ์หรือกิมมิค (Gimmick) ในการวางขาย ผ่านการใช้ความรู้ทางด้านภาษาและการออกแบบในวิชาศิลปะ
  • เด็กบางคนอาจจะทำโครงการเกี่ยวกับ “ท่าชู้ตลูกบาสให้ลงห่วง” เขาต้องหาว่าองศาใดมีแนวโน้มที่สามารถชู้ตได้แม่นยำกว่าองศาอื่นๆ ความรู้ทางด้านฟิสิกส์และคณิตสตร์เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ผนวกกับการทดลองกับคนที่มีขนาดตัว น้ำหนัก-ส่วนสูงที่ต่างกันมีผลต่อการชู้ตบาสไหม 
  • เด็กบางคนชอบเล่นเกมมาก เขาอาจจะคิดโครงการ “เล่นเกมอย่างไรให้ไม่เสียการเรียน” เพื่อให้พ่อแม่บ่นเขาน้อยลง เด็กนำปัญหาที่ตนเองเผชิญมาทำเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหานั้น ในโครงการนี้เด็กต้องศึกษาเรื่องจิตวิทยาเพื่อเข้าใจผลกระทบของเกมที่มีต่อเขา และพฤติกรรมเล่นเกมของเขาที่ส่งผลต่อพ่อแม่ เด็กต้องเข้าใจผู้อื่น และหาแนวทางตรงกลางเพื่อให้ตนเองได้เล่นเกม และไม่กระทบกับการเรียนของตนเอง

จะเห็นได้ว่า สิ่งที่เด็กๆ อยากรู้และสงสัยอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าหากทำเป็นโครงการอย่างจริงจัง พวกเขาจะได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างทีเดียว ความรู้ที่พวกเขาสังเคราะห์ขึ้นมาใหม่ จะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปได้นานกว่าความรู้ที่จำไปเพื่อสอบเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น หากผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์” เด็กๆ จะได้เรียนรู้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ เรียนรู้ได้เต็มศักยภาพของเขา และที่สำคัญที่สุด เด็กจะได้เรียนรู้ว่า ตนเองมีความชอบและความถนัดในเรื่องใด แม้วันนี้อาจจะยังทำได้ไม่ดี แต่ถ้าเขามีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถของเขาไปได้อย่างไม่สิ้นสุด เพราะ “ความอยากเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ” คือเชื้อเพลิงที่ดีที่สุดที่ขับเคลื่อนการเรียนรู้ของเขา

ถ้าหากกังวลเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยมีทางเลือกในการเข้ามากขึ้น ทั้งการแสดงแฟ้มผลงานและการสอบตรง ซึ่งเด็กๆ จะสอบเฉพาะวิชาที่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้นหากเด็กๆ เข้าใจตัวเองและรู้ว่าตนเองถนัดและต้องการเรียนอะไร คงไม่เป็นการยากเกินไปสำหรับพวกเขาที่จะเข้าสอบในระดับมหาวิทยาลัย 

นอกจากนี้ หากเด็กๆ ไม่ได้ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัย เพราะเขาค้นพบแล้วว่าตนเองชอบทำสายอาชีพ หรือทำอย่างอื่นมากกว่า ณ จุดนี้ พ่อแม่ควรรับฟังถึงแผนการของลูก และพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา เรามีสิทธิ์ที่จะเป็นห่วงลูกได้ แต่ชีวิตลูก เขาต้องเป็นคนเลือกและรับผิดชอบต่อการเลือกด้วยตัวเขาเอง

สุดท้าย ในวันที่ลูกจะตัดสินใจเลือกทางเดินในชีวิตของตัวเอง วันนั้นพ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่ตัดสินใจแทนเขา แต่มีหน้าที่แบ่งปันประสบการณ์ พูดคุยกับเขาอย่างตรงไปตรงมา หากลูกไม่สามารถเลือกเองได้ พ่อแม่สามารถพาเขาไปเรียนรู้หรือให้ข้อมูลแก่เขา เพื่อให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเองได้

สิ่งสำคัญสำหรับลูกวัยรุ่นคือ “คนสนับสนุน” เขาเลยวัยที่จะต้องให้พ่อแม่มาบอกเขาทุกเรื่องแล้ว (ถึงแม้เราจะบอกเขาเหมือนเดิม เขาก็อาจจะไม่ฟังอยู่ดี) เขาต้องการผู้ฟังมากกว่าผู้พูด และต้องการคนที่เขาสามารถปรึกษาเรื่องต่างๆ ได้ โดยไม่ตัดสินเขาหรืออย่างน้อยฟังเขาพูดจนจบถ้าหากพ่อแม่สามารถรับฟัง ไม่ตัดสินเขา และไม่พูดขัดเขาก่อนเขาพูดจบ วัยรุ่นจะกล้าพูดคุยกับเรา ที่สำคัญ ไม่ว่าลูกจะโตมากแค่ไหน เขายังต้องการพ่อแม่ที่รักและสนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ เขาจะรู้สึกภูมิใจมาก หากพ่อแม่ยินดีกับสิ่งที่เขาทำและเป็นอยู่

อ้างอิง : Widick, C., Parker, C. A., & Knefelkamp, L. (1978). Erik Erikson and psychosocial development. New directions for student services, 1978(4), 1-17.