สมุทรสาครเป็นจังหวัดแรกที่โดนผลกระทบโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้ต้องปิดโรงเรียนทั้งจังหวัด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ด้วยสภาพพื้นที่เขตอุตสาหกรรมจึงเป็นกลุ่มจังหวัดท้ายๆ ที่ได้กลับมาเปิดเรียนปกติ ทำให้ช่วงเวลาที่เด็กๆ เรียนรู้ด้วยเครื่องมือวิธีการทดแทนค่อนข้างยาวนาน เกิดปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้และหลุดออกจากระบบการศึกษา
องค์การยูนิเซฟ และ กสศ. เล็งเห็นความสำคัญของการมีโปรแกรมดูแลเด็กรอบด้าน จึงได้ร่วมมือกันสร้างต้นแบบ “สมุทรสาครโมเดล” ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น นำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ถดถอย กลายเป็นที่มาของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Research and Development) ครั้งนี้
กสศ. และภาคีเครือข่าย อย่างเช่น มูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่นมีหน้าที่คอยช่วยเหลือ และสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อเทคโนโลยีการศึกษา ผ่านบทเรียนออนไลน์ในแพลตฟอร์ม Starfish Labz เพื่อให้คุณครูพัฒนาตัวเองและได้แนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้แก่นักเรียน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในโรงเรียน และภายนอกโรงเรียน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศึกษานิเทศก์จากศึกษาธิการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดสมุทรสาคร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยผ่านกระบวนการ PLC (Professional Learning Community) ในรูปแบบของออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ และท้ายที่สุด ยังสนับสนุบงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อให้โรงเรียนได้จัดซื้อสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมและบริบทของโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในสื่อที่โรงเรียนเห็นว่ามีประโยชน์และสามารถช่วยฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนได้ คือ Learning Box หรือ Learning Bag แล้วแต่โรงเรียนจะสร้างสรรค์สื่อออกมาในรูปแบบใด
รู้จัก Learning Box
Learning Box ในแบบฉบับของมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น คือ กล่องบรรจุเครื่องมือการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์การเรียนพร้อมใบงาน แบบบันทึกและแบบประเมินผล เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และฝึกทักษะของตนเองที่บ้าน โดยเฉพาะนักเรียนที่มีข้อจำกัดด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี เช่น ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ หรือคอมพิวเตอร์ และเด็กเล็กที่ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์แบบต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาจากบริบทอื่นๆ ที่ไม่อาจควบคุมได้ เช่น ไฟฟ้าดับต่อเนื่องบ่อยๆ
แนวคิดในการออกแบบ Learning Box ถูกออกแบบสำหรับเด็กแต่ละช่วงชั้น เพื่อให้ได้รับความรู้และทักษะเหมาะสมกับอายุและช่วงวัย โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยศิลปะ เพื่อพัฒนาสมรรถนะ ทักษะการเรียนรู้ และทักษะด้านสังคมและอารมณ์ โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning
ผลที่ได้จาก “สมุทรสาครโมเดล” จะถูกนำกลับไปประเมินอีกครั้งในเชิงลึก เพื่อวางแนวทางขยายผลไปยังพื้นที่จัดการตัวเอง (Area-based Education: ABE) ในความร่วมมือกับ กสศ. เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาระดับประเทศ และองค์การยูนิเซฟจะนำไปขยายผลสู่พื้นที่อื่น รวมถึงแสดงสู่สายตานานาประเทศ ในฐานะโมเดลต้นแบบของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน
5 มาตรการการเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย
คือกรอบตั้งต้นและเป็นกลยุทธ์ในการออกแบบการเรียนรู้ควบคู่กับการเรียนออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้แนวทางแก่ทุกโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาครที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้สามารถวางแผนช่วยเหลือนักเรียน คุณครู และชุมชนได้ครอบคลุมในทุกมิติ
มาตรการที่ 1. ประเมินสภาพแวดล้อมทั้งระบบ (Landscape Assessment) มีจุดประสงค์เพื่อให้โรงเรียนทำความเข้าใจปัญหาและประเมินสถานการณ์ บริบทแวดล้อมตัวเด็ก โดยการวัดความรู้เพื่อทดสอบว่า เด็กมีความรู้ถดถอยลงหรือไม่ และถดถอยลงในลักษณะอย่างไร อีกทั้งต้องสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว โดยครูจัดทำตารางเยี่ยมตามบ้าน และสำรวจเพื่อประเมินความพร้อมในการเรียนออนไลน์ว่าแต่ละครอบครัวสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี สัญญาณอินเทอร์เน็ต และการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ต่างๆ เป็นอย่างไร รวมทั้งสำรวจความต้องการพื้นฐานที่โรงเรียนจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก
มาตรการที่ 2. การวางแผนของโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Planning) มีจุดประสงค์เพื่อนำข้อมูลพื้นฐานของเด็กไปสู่การวางแผนโดยจัดทำเป็นทีมโรงเรียน เพื่อสร้างความพร้อมและความมั่นใจให้แก่บุคลากรของโรงเรียน เนื่องจากการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยไม่สามารถทำเฉพาะครูบางคน หรือบางชั้นเรียน เพราะเด็กทุกคนได้รับผลกระทบทั้งหมด ดังนั้น การวางแผนระดับโรงเรียนจะสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กแต่ละระดับชั้นและรายวิชา นอกจากนี้ยังได้วางมาตรการความปลอดภัยในการดำเนินงาน วางแผนบริหารจัดการทรัพยากร งบประมาณ และระยะเวลา เพื่อดำเนินการให้เกิดความสอดคล้องกับการบริหารงานของโรงเรียน โดยมีผู้บริหาร ครู ชุมชน และผู้ปกครองร่วมกันวางแผน
มาตรการที่ 3. การสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครู (Professional Development Support for Teachers) มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning), การจัดการเรียนการสอนเชิงรุก (Active Learning), การใช้เทคโนโลยีการสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการจัดการเรียนการสอนและให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่มีความต้องการพิเศษในด้านต่างๆ (Children with special need) เพื่อลดช่องว่างของความสามารถในการจัดการเรียนสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้สถานการณ์ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
มาตรการที่ 4. การช่วยเหลือเด็กเรียนรายบุคคล (Intervention and Support for Students) มีจุดประสงค์เพื่อหนุนเสริมให้โรงเรียนสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และการสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยกิจกรรมและรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยมีการสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองหรือบุคลากรอาสาในพื้นที่ และครูผู้สอนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการออกแบบนวัตกรรม เครื่องมือ หรือวิธีการในการจัดการเรียนรู้และวัดประเมินผลผู้เรียน รวมทั้งบันทึกหลังการสอนเพื่อสะท้อนผลที่เกิดจากการเรียนรู้และประเมินคุณภาพเครื่องมือและสื่อการสอนที่ครูใช้หลังจบบทเรียน
มาตรการที่ 5. (การติดตามปรับปรุงและผลสะท้อนกลับ (Monitoring and Intervention Redesign) มีจุดประสงค์เพื่อให้ทิศทางการวัดผลของโรงเรียนมีความเป็นระบบ โรงเรียนจะต้องติดตาม ประเมินจากสิ่งที่ทำตามมาตรการต่างๆ โดยประเมินควบคู่ไปกับการทำงาน เช่น การถอดบทเรียนที่ได้จากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ความก้าวหน้า หรือพัฒนาการของนักเรียนโดยมีผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง และการบันทึกหลังการสอน เพื่อนำเสนอในช่วงเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูในโครงการทั้งในระดับโรงเรียนและระดับเครือข่ายในเขตพื้นที่การศึกษา โดยทั้ง 5 มาตรการนี้ โรงเรียนสามารถนำไปปรับใช้ ออกแบบ และวางแผนให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนได้