โควิดพราก 2 ปีอันเป็นช่วงเวลาทองแห่งการเรียนรู้ของเด็กรุ่นหนึ่งไป แทนที่เด็กรุ่นนั้นจะสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ พวกเขากลับต้องเจอภาวะการเรียนรู้ถดถอย ร่างกายอ่อนแรง ไม่พร้อมเรียนรู้ จนชวนให้คิดว่าพวกเขาเกียจคร้าน
ทว่านี่คือสัญญาณของวิกฤตที่เด็กอนุบาลและเด็กประถมของไทยกำลังเผชิญอยู่ ไม่ใช่แค่ในภาคใดภาคหนึ่ง แต่เป็นทั้งประเทศ ซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนไม่ต่ำกว่าหลักล้านคน
เรื่องที่ชวนใจชื้น คือ โอกาสที่จะกอบกู้และฟื้นฟูศักยภาพของเด็กไทยยังมี ซึ่งโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน คือตัวละครที่สำคัญในการฟื้นฟูครั้งนี้
ในบทสัมภาษณ์นี้ ทาง กสศ.ได้รับเกียรติจาก ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ โค้ชโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งได้ร่วมดำเนินการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยที่เกิดกับเด็กไทย โดยร่วมมือกับ กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และจากการพูดคุยครั้งนี้ ผศ.อัมพร ได้ช่วยอธิบายเกี่ยวกับการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยผ่านฐานกาย รวมทั้งสะท้อนเสียงอันน่ารับฟังออกมาว่า “ไม่ว่าจะอย่างไร เด็กสำคัญที่สุด”
และครอบครัว โรงเรียน รวมถึงชุมชน สามารถมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยในเด็กไทยได้
การฟื้นฟูฐานกายคืออะไร และทำไมถึงสำคัญ
ฐานกาย หมายถึง ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ระบบ ได้แก่ กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ ระบบการทรงตัว และสมอง ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จะพัฒนาได้ผลดีที่สุดในช่วงอายุไม่เกิน 7-8 ปี
“มนุษย์ทุกช่วงวัย ชีวิตต้องพัฒนาทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกัน คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ซึ่งทั้งหมดนี้ เริ่มตั้งแต่ต้นทางของชีวิต คือ ชั้นอนุบาล และจะได้ผลดีที่สุด ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อนอายุ 7 ปี” ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ เปิดเผยข้อมูล
“ช่วงเวลานี้เรียกว่า ‘ช่วงทอง’ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดของวัยเด็ก ที่เราต้องวางรากฐานตรงนี้ให้ดี” ผศ.อัมพร กล่าวย้ำ
แต่สำหรับเด็กไทยรุ่นที่ถูกโควิดพราก ‘ช่วงทอง’ ไปนั้น แม้จะน่าเสียดาย ทว่าก็ยังกอบกู้และฟื้นฟูการเรียนรู้ได้
“การกอบกู้และฟื้นฟูการเรียนรู้เด็กหลังอายุ 7 ปี ยังทำได้ แม้จะได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ต้องทำ” ผศ.อัมพร ยืนยันหนักแน่น
เป้าหมายคือ ต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“เป้าหมายของโรงเรียนพัฒนาตนเอง คือโรงเรียนสามารถดูแลคุณภาพการศึกษาในทุกมิติด้วยตัวเองได้ ซึ่งหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า โรงเรียนนี้ทำคุณภาพการศึกษาได้ดีหรือไม่ ก็คือ ‘คุณภาพของเด็ก’ ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ กล่าวย้ำความสำคัญของคุณภาพของเด็ก
“นี่เป็นจุดร่วมสำคัญ ไม่ว่าจะมองจากฝั่งของ ม.อ. ซึ่งเป็นคนที่ลงไปทำงานในพื้นที่ รวมถึงมองจากฝั่งของเขตพื้นที่การศึกษา หรือฝั่งโรงเรียน จุดร่วมที่สำคัญคือ คุณภาพเด็ก เพราะหากด้านอื่นของโรงเรียนดีหมด ตึกอาคารดี ป้ายสวยงาม ผู้ปกครองสบายใจ แต่คุณภาพเด็กไม่ดี ก็จะไม่สามารถบอกได้เลยว่าโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพราะผลงานจะปรากฏอยู่ที่ตัวเด็ก ส่วนอื่นจะเป็นองค์ประกอบที่เข้ามาค้ำจุนการพัฒนาคุณภาพเด็ก”
“เพราะฉะนั้น เมื่อทีมโค้ช ม.อ. ได้รับโจทย์ให้ทำงานร่วมกับโรงเรียนพัฒนาตนเอง เราจึงเข้ามาด้วยเป้าหมายคือ สร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างเด็กที่มีคุณภาพ ซึ่งนี่คือเป้าหมายก่อนที่จะเกิดเหตุโควิด-19 ระบาด”
“ในช่วงสถานการณ์ปกติ เราก็ทำงานโดยมุ่งไปที่คุณภาพของเด็ก ซึ่งมนุษย์ทุกช่วงวัย ต้องได้รับการพัฒนาทั้ง 4 ด้านไปพร้อมกัน คือ กาย ใจ สติปัญญา สังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ควรเริ่มตั้งแต่ต้นทางของชีวิต คือ วัยอนุบาล และควรทำก่อน 7 ขวบ เพราะเด็กจะพัฒนาได้ดีที่สุด ตรงนี้เรียกว่า ‘ช่วงทอง’ของการพัฒนา
“พอโควิดระบาดจนเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน บางคนแทบไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการถึง 2 ปี พอเขากลับเข้ารั้วโรงเรียน เด็กก็ไม่พร้อม ซึ่งพอเราลงพื้นที่เยี่ยมโรงเรียน เราพบว่า แม้คุณภาพการเรียนการสอนจะดี แต่ถ้าเด็กไม่พร้อม ก็ไปต่อไม่ได้
“เด็กอนุบาลยังมีโอกาสได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ เนื่องจากตัวหลักสูตรอนุบาลมุ่งไปที่พัฒนาการทั้ง 4 ด้านเป็นหลัก แต่เด็กประถม หลักสูตรจะเน้น 8 สาระวิชาแล้ว ทว่าหลังโควิด เราพบว่าเด็กไม่พร้อม โดยเฉพาะในด้านฐานกาย ซึ่งกลไกลในการเรียนรู้ส่วนสำคัญอยู่ที่ร่างกาย นั่นเป็นเหตุผลที่การฟื้นฟูฐานกายถึงจำเป็น
“ที่พูดมานั้น ไม่ใช่ว่าเราจะทำการฟื้นฟูฐานกายแค่ในกลุ่มเด็กประถมนะคะ เพราะเด็กอนุบาลก็สูญเสียโอกาสที่จะได้รับการกระตุ้นไปเหมือนกัน โดยเราทำงานร่วมกับครูอนุบาลไปจนถึงครูประถม 3 เพียงแต่อาจจะเน้นฟื้นฟูช่วงประถมต้นเป็นหลัก เนื่องจากครูประถมยังไม่มีเครื่องมือหรือองค์ความรู้ตรงนี้ อย่างครูเจอเคสเด็กเดินลงบันไดโดยไม่เกาะราวไม้ไม่ได้ หรือเด็กกระโดดไม่เป็น ครูประถมก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร ทำให้การฟื้นฟูเด็กอาจช้าและไม่ทันการณ์ เราจึงเน้นช่วงประถมอย่างเข้มข้นก่อน
“สุดท้าย แม้เราจะเข้ามาดูแลโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองด้วยเป้าหมายอีกอย่าง แต่เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เราก็ต้องยึดเด็กเป็นหลัก ไม่ว่าจะอย่างไร เด็กสำคัญที่สุด”
บทบาทครอบครัว ต่อการฟื้นฟูฐานกาย และฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็ก
“บ้านเป็นพื้นที่ซึ่งเด็กมีโอกาสจะฝึกฝนทักษะและท้าทายศักยภาพฐานกายได้หลากหลายมาก สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองหรือครอบครัวต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ทดลองทำและเรียนรู้ แน่นอนว่าเวลาที่เด็กทำอะไร อาจแตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น เด็กอาจจะพับผ้าห่มไม่เรียบร้อยเท่าผู้ปกครอง เด็กอาจจะวางจานชามไม่เป็นระเบียบเหมือนผู้ใหญ่ เป็นต้น แต่การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำนั้นสำคัญกว่า เด็กทำอะไรได้หลากหลาย แต่ผู้ใหญ่ไม่ควรไปคาดหวังว่าเด็กต้องทำอะไรเนี้ยบเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำ หากเปิดโอกาสให้เขาทำไปเรื่อยๆ สักพักเขาจะเกิดทักษะและมีความชำนาญเอง นอกจากนี้ผู้ใหญ่ยังสามารถพูดคุยเพื่อเรียนรู้ร่วมกับเด็กได้ อย่างเช่น ผู้ปกครองอาจถามเด็กๆ ว่า มีวิธีพับผ้าห่มหลากหลายวิธี ทำไมวันนี้เด็กถึงเลือกวิธีนี้ หรือทำไมเด็กถึงจัดวางจามชามแบบนั้น เป็นต้น การถามไถ่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและฝึกทักษะสื่อสารกันในครอบครัว สิ่งสำคัญคือผู้ใหญ่ต้องไว้วางใจเด็กให้โอกาสเขาได้ฝึกทำด้วยตัวเอง” ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ ให้ข้อมูล
“การเปิดโอกาสให้เด็กได้บอกเล่าถึงสิ่งที่เขาทำ ยังเป็นความภาคภูมิใจของเขา ผู้ใหญ่ต้องไม่บอกว่า วิธีของผู้ใหญ่เท่านั้นที่ถูกต้องที่สุดในโลก แต่ควรเปิดโอกาสให้เด็กคิด แล้วเดี๋ยวเขาจะเริ่มเปรียบเทียบเหตุผลได้ เขาจะสามารถเลือกวิธีที่เหมาะกับตัวเขาได้เอง สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ คือแลกเปลี่ยน “ลูกทำแบบนี้ใช่ไหม แต่แม่ทำแบบนี้นะ ลูกมีวิธีคิดของลูก แม่ก็มีวิธีคิดของแม่ งั้นเรามาเรียนรู้ไปด้วยกัน” เป็นต้น เมื่อเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เด็ก เขาจะสร้างวิธีการของเขาเอง จากความคิดและการตัดสินใจของเขา
“พอเขาเลือกวิธีการเอง ลงมือทำเอง ร่างกายเขาจะได้เรียนรู้ สมองก็ได้ทำงาน นอกจากนี้เขาจะเกิดความภูมิใจ และรู้สึกมีตัวตน ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก เด็กต้องมีตัวตนตั้งแต่ในบ้าน เพราะเด็กไม่ใช่ตุ๊กตา เด็กไม่ใช่ทรัพย์สินของพ่อแม่ แต่เขามีชีวิตของเขา เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง นอกจากนี้ พอเด็กเกิดความภูมิใจ รู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับ มันจะส่งผลดีต่อด้านอื่นของเด็กด้วย ไม่ใช่แค่ฐานกายอย่างเดียว แต่ฐานอารมณ์ ฐานสังคม ฐานสติปัญญา เด็กจะได้รับการดูแลให้เกิดการพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน”
บทบาทของชุมชนและท้องถิ่น ต่อการฟื้นฟูฐานกาย และฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยของเด็ก
“องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกลสำคัญมาก เพราะเป็นกลไกลที่ใกล้ชิดกับหน่วยระดับเล็กอย่างครอบครัว ทั้งนี้โดยทั่วไปแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีฐานข้อมูลประชากร จะรู้ว่าแต่ละปีในชุมชนมีเด็กแรกเกิดกี่คน แต่ละปีมีเด็กต้องเข้าศูนย์เด็กเล็กกี่คน มีเด็กอยู่ในช่วงวัยไหนกี่คน เป็นต้น และโดยบทบาท ต้องมีหน้าที่ในการดูแลการพัฒนาคุณภาพของเด็กในชุมชนทุกคน ทุกช่วงวัย
“ข้อมูลประชากรเหล่านี้ สามารถนำมาวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรในชุมชนได้ ที่ผ่านมา เราอาจคุ้นเคยกับการที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนำงบมาพัฒนาถนนหนทาง ไฟฟ้า แต่อีกส่วนที่ช่วยเสริมพัฒนาการเด็กในช่วงวัยกำลังเติบโต คือ สนามเด็กเล่นที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะในเด็กวัยประถมต้น ชั้น ป.1 – ป.3 เรามักพบว่า ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เด็กกลุ่มนี้ได้เล่นเสริมพัฒนาการ
“พื้นที่เสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกันไป สนามเด็กเล่นบางแห่งอาจถูกออกแบบมาสำหรับพัฒนาการวัยเด็กอนุบาล ส่วนสนามฟุตบอลหรือลานกีฬา อาจเหมาะสำหรับเด็กประถมตอนปลาย ชั้น ป.4 ขึ้นไป แต่เด็กกลุ่มประถมต้น ชั้น ป.1 – ป.3 มักจะไม่มีพื้นที่เล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการในวัยของเขา จะให้เขาไปเล่นสนามเด็กเล่นของน้องอนุบาล เขาก็อาจไม่อยากไป แต่จะให้เขาไปขอแบ่งพื้นที่เล่นกับ พี่ ป.4 ขึ้นไป เขาก็อาจไม่กล้าเอ่ยปาก
“การพัฒนาพื้นที่เพื่อให้เด็กในชุมชนได้ฟื้นฟูหรือพัฒนาฐานกาย ถือเป็นการลงทุนพัฒนาคุณภาพประชากร เพราะเด็กจะอยู่และเติบโตในชุมชน เมื่อเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพ ย่อมส่งผลดีต่อชุมชนและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตรง”
ผศ.อัมพร ศรประสิทธิ์ กล่าวปิดท้าย