โรงเรียนบ้านคลองช้าง จังหวัดปัตตานี พื้นที่ซึ่งไม่ละเลยปัญหาเล็ก ๆ ของเด็กนักเรียน

โรงเรียนบ้านคลองช้าง จังหวัดปัตตานี พื้นที่ซึ่งไม่ละเลยปัญหาเล็ก ๆ ของเด็กนักเรียน

เป็นเวลากว่า 3-4  ปี ที่การระบาดของโควิด ได้ขโมยช่วงเวลาทองไปจากเด็กนักเรียนหลายรุ่นในโรงเรียนบ้านคลองช้าง จังหวัดปัตตานี แต่ที่ส่งผลรุนแรงที่สุด คือ เด็กระดับชั้น ป.2 ปีการศึกษา 2565 (ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ระดับชั้น ป.4)

“วัยทองของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่เด็กจนถึง 7 ปี” ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ จาก ม.อ. ให้ข้อมูล

การที่เด็กช่วงอนุบาลและประถมตอนต้นไม่ได้ไปเรียนรู้ที่โรงเรียนเพราะเกิดโรคระบาดโควิด จึงส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ถดถอย โดยจุดที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือที่ลดลง จนเด็กจำนวนหนึ่งจับดินสอเพื่อเขียนตัวหนังสือไม่ได้

เขียนไม่ได้ ก็เท่ากับเรียนรู้ไม่ได้

นี่คือเรื่องใหญ่และเรื่องหลักที่โรงเรียนบ้านคลองช้างเผชิญในช่วงที่ผ่านมา

เรื่องใหญ่ที่ถ้ามองไม่ละเอียดละออและสังเกตไม่ถี่ถ้วนพอ ก็จะมองไม่เห็นความใหญ่โตของปัญหาตรงหน้า

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราคงไม่ได้มองว่าจุดเล็กๆ จุดเดียวของนักเรียนจะเป็นปัญหาต่อการเรียนรู้ แต่ว่าหลังจากที่ได้รับการโค้ชจากทีมอาจารย์ ม.อ. ทำให้โรงเรียนบ้านคลองช้างเห็นว่าจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว สามารถส่งผลต่ออนาคตของนักเรียน และอาจตัดโอกาสในการเรียนรู้หรือตัดโอกาสบางอย่างในชีวิตเด็กได้เลย” นายมะลาเซ็น  อาสัน  ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองช้าง เปิดเผย

เมื่อปรับมุมมองจนเห็นปัญหาชัดเจน ทางโรงเรียนจึงเริ่มลงมือฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กๆ โดยเน้นฟื้นฟูผ่านกิจกรรมฐานกายเป็นหลัก

และนี่คือการถอดบทเรียนที่โรงเรียนค้นพบ

สภาพปัญหา

โรงเรียนบ้านคลองช้าง ตั้งอยู่จังหวัดปัตตานี เป็นโรงเรียนสองระบบหรือโรงเรียนอิสลามแบบเข้ม เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมชุมชน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 โดยถือเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เด็กส่วนมากฐานะยากจน พ่อแม่ออกไปทำงานรับจ้างหรือไปทำงานต่างประเทศ เด็กส่วนหนึ่งจึงอยู่ในความดูแลของปู่ย่าตายาย ซึ่งอาจดูแลด้านการเรียนรู้ของเด็กได้ไม่เต็มที่ในช่วงโควิดระบาดเมื่อปี 2563 – 2564

“ปีการศึกษา 2565 พอเปิดเรียนออนไซต์ ชั้น ป.2 มีนักเรียน 38 คน ถือเป็นรุ่นที่มีปัญหามากที่สุดที่เคยพบ คือ เด็กบางส่วนไม่ได้เรียนออนไลน์ในช่วงที่โควิดระบาดเพราะขาดแคลนอุปกรณ์ หรือบางส่วนเขาต้องโยกย้ายตามผู้ปกครองไปทำงานที่มาเลเซีย พอกลับมาเรียนก็พบว่าเด็กเกือบทั้งระดับชั้นอ่านเขียนและฟังภาษาไทยไม่ได้เลย ครูให้ทำงานหรือทำกิจกรรม  นักเรียนก็ไม่เข้าใจ” นายอับดุลรอซะ สะแลแม ครูที่ปรึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 บอกเล่า

“การเขียนก็เจอปัญหา นักเรียนจับดินสอไม่ถูกวิธี ใช้เวลานาน ให้เขียนคำ 10 คำ เด็กใช้เวลาเกือบ 30 นาทีก็ยังเขียนไม่เสร็จ บางคนต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเลย ซึ่งสะท้อนว่าเขามีปัญหากล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง และทักษะการเขียนเขายังน้อยเพราะไม่ได้ผ่านการฝึกฝนในช่วงที่เรียนออนไลน์ตอนอยู่ชั้น ป.1 ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต่อเนื่องไปยังเรื่องอื่นด้วย พอเขียนไม่ได้ กำลังใจในการเรียนการเขียนจะน้อยลง สมาธิจะไม่มี และปัญหาหลักที่เจอในรุ่นคือ นักเรียนจะขาดเรียนบ่อยมาก” ครูอับดุลรอซะ  เล่าต่อ

ด้วยปัญหาที่หนักหน่วงของ ป.2 ทำให้ครูประจำชั้นและทางโรงเรียนเริ่มพูดคุยหาทางแก้ ประกอบกับได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากทีมโค้ช ม.อ. และ กสศ. จึงนำไปสู่การนำเครื่องวัดแรงบีบมือมาวัดผล จากนั้นเมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาแรงบีบมือน้อยกว่าเกณฑ์ จึงได้เริ่มนำกิจกรรมฐานกายมาฟื้นฟู โดยนำร่องที่ ป.2 เป็นหลัก

ฟื้นฟูเด็กบนฐานข้อมูลที่วัดผลได้ชัดเจน และใช้กิจกรรมแบบผสมผสานหลากหลายมาแก้ปัญหาโรงเรียนบ้านคลองช้างเล็งเห็นว่า ในการจะเริ่มฟื้นฟูเด็กนั้น ควรทำงานบนฐานข้อมูลที่วัดผลได้ จึงเริ่มต้นด้วยการนำเครื่องวัดแรงบีบมือมาวัดผลก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากทีมโค้ช ม.อ. ซึ่งพบว่า เด็ก ป.2 จำนวนมากมีแรงบีบมือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรเป็น โดยมีเพียง 2 คนจาก 38 คนเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ เมื่อผลลัพธ์น่ากังวล จึงรีบดำเนินการขั้นต่อไปทันที นั่นคือการส่งเสริมกิจกรรมฐานกายยามเช้า และการส่งเสริมการเขียนหรือจับดินสอ


Learning Recovery

1. กิจกรรมยามเช้า

ในเทอมแรกของปีการศึกษา 2565 ทางโรงเรียนบ้านคลองช้าง ได้ยกเลิกคาบโฮมรูมคาบแรก และให้เด็กชั้น ป.2 ทำกิจกรรมช่วงเช้าโดยเน้นฟื้นฟูฐานกาย โดยโรงเรียนจัดพื้นที่ให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อ พัฒนาการทรงตัว และพัฒนาทักษะสังคม โดยสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิดหลักคือให้เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อต่างๆ โดยไม่เน้นแค่มือเท่านั้น

  • บอลบีบเข้า : ให้เด็กขยำลูกบอล โดยนับเป็นเซ็ต เซ็ตละ 20 ครั้ง เด็กจะได้บริหารมือและแขน โดยการยืดแขนไปข้างหน้าและด้านข้าง พลางบีบบอลไปด้วย
  • ดอกไม้ยืดออก: นำยางซิลิโคนรูปดอกไม้ มาใส่นิ้ว ใหเด็กยืดนิ้วยืดมือ โดยทำท่าต่างกันออกไป สลับสับเปลี่ยนท่าเพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกจำเจ นับเป็นเซ็ต เซ็ตละ 20 ครั้ง
  • เต้นแอโรบิก : จัดกิจกรรมในวันที่เครื่องแต่งกายเด็กเหมาะสม (วันพฤหัสบดี) เด็กได้บริหารจากศีรษะ ลำตัว ลงมาถึง
  • วิ่ง : ชวนเด็กวิ่งเล่นในสนามหญ้า ได้สัมผัสธรรมชาติ และบริหารร่างกาย
  • กายบริหาร : เด็กได้บริหารกล้ามเนื้อที่เหมาะสมกับวัย

ในการส่งเสริมฐานกาย นอกเหนือจากบริหารมือแล้ว เด็กๆ ยังควรได้บริหารกล้ามเนื้อส่วนอื่นด้วย เป็นเพราะเวลานั่งเขียนในชั้นเรียน เด็กต้องใช้กล้ามเนื้อหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งที่ต้องใช้แกนกลางร่างกายในการพยุงตัว หรือกล้ามเนื้อที่คอยพยุงคอ ไหล่ หรือแขน การที่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ แข็งแรง จะทำให้เด็กไม่เมื่อยล้าเวลาจับดินสอเขียนหรือเรียนรู้นั่นเอง

“ดังนั้นครูจึงไม่ได้ชวนเด็กบริหารนิ้วมือแค่อย่างเดียว แต่ต้องบริหารร่างกายทุกส่วน เพราะว่าเด็กต้องได้รับการกระตุ้นไปพร้อม กัน” ทีมโค้ช ม.อ. กล่าวเสริม  ทั้งนี้กิจกรรมฐานกายเหล่านี้ เมื่อทำอย่างถูกวิธี สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง 15-30 นาทีต่อวัน เด็กจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก

2. การส่งเสริมการเขียนหรือจับดินสอ

การจับดินสอไม่ถูกวิธีนั้น ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะเมื่อจับผิดวิธี นักเรียนจะเกิดความเมื่อยล้าเพิ่มขึ้นระหว่างเขียน ทำให้เด็กเบื่อ เหนื่อย และมีแนวโน้มในเชิงลบต่อการเรียนรู้ในระยะยาว เมื่อเห็นความสำคัญในจุดนี้ ทางโรงเรียนบ้านคลองช้างจึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการจับดินสอให้ถูกวิธีในเด็กนักเรียน โดยให้ครูช่วยดูแลและฝึกนักเรียนทุกคน ผ่านการใช้ตัวช่วยอย่างก้อนสำลี ลูกบอลขนาดเล็ก หรือตัวช่วยยึดนิ้ว เป็นต้น ทั้งนี้การจับดินสอถูกวิธีจะลดความเมื่อยล้า และส่งผลให้เด็กเขียนและเรียนรู้ได้เร็วขึ้น


ผลลัพธ์

1.ค่าแรงบีบมือที่เพิ่มขึ้น

ที่โรงเรียนบ้านคลองช้าง จะมีการวัดแรงบีบมือของเด็กทุกเดือนเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง โดยหลังจากเสริมกิจกรรมฐานกายและส่งเสริมการเขียน ในเด็กครบ 1 เทอม พบว่าแรงบีบมือของเด็ก ป.2 เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.26 กก. ซึ่งตอนต้นเทอมค่าเฉลี่ยอยู่ประมาณ 9 ก.ก.  ทั้งนี้แม้แรงบีบมือในเด็ก ป.2 ที่วัดได้ จะยังไม่ถึงค่ามาตรฐานซึ่งคือ 19 กก. (สำหรับ ป.2) แต่ค่าเฉลี่ยที่แตกต่างระหว่าง 9 กก. และ 10 กก. นั้น ส่งผลต่อความเร็วในการเขียนของเด็กมาก โดยเด็กที่มีค่าแรงบีบมือ 9.2 กก. จะใช้เวลาเขียนคำศัพท์ 25.21 นาที ขณะที่เด็กที่มีค่าแรงบีบมือ 11.2 กก. จะใช้เวลาเขียนเหลือเพียง 10.34 นาที ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิมเท่าตัว ดังนั้นจึงระบุได้ว่า การที่แรงบีบมือในเด็กเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้เด็กไม่เกิดความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ และเสริมให้เขาพัฒนาการเรียนรู้ได้ดีขึ้นกว่าเดิม

2.ความสนใจการเรียนเพิ่มขึ้น และขาดเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

หลังจากเสริมกิจกรรมฐานกายและการเขียนให้ถูกวิธี พอผ่านไป 1 ปี พบว่า เด็กมีวุฒิภาวะและสนใจการเรียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังมีความรับผิดชอบในการทำงาน อาจด้วยความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ จึงทำให้เด็กทำงานได้ดีและเสร็จเร็วตามเวลา นอกจากนี้ครูยังเห็นความสุขที่ฉายประกายออกมาจากตัวเด็กอย่างแจ่มชัด โดยสะท้อนผ่านการที่เด็กขาดเรียนน้อยลงมาก จากเดิมที่ในระดับ ป.2 เมื่อเปิดเรียนใหม่ๆ จะมีเด็กขาดเรียนวันละ 8-10 คนต่อวัน แต่เมื่อผ่านมา 1 ปี ส่วนใหญ่เด็กจะมาเรียนเต็มชั้นเรียน หรือหากขาดก็จะขาดแค่ 3-4 คนเท่านั้น

กรณีศึกษา

ความมั่นใจที่เพิ่มขึ้น ความสุขที่ทวีขึ้น เมื่อเด็กคนหนึ่งเขียนได้คล่อง

“ในช่วงปีการศึกษา 2565 มีเด็ก ป.2 คนหนึ่งที่ครูสังเกตว่าเขากล้าตอบคำถามในวิชาต่างๆ แต่เวลาทำงาน เขาจะเขียนช้า จึงกลายเป็นคนไม่มั่นใจในการเขียน และในด้านสังคมก็ส่งผลให้เขาดูหน้าบึ้งตึง ดูไม่ค่อยมีความสุข แต่พอเขาได้ฟื้นฟูผ่านกิจกรรมฐานกายและฝึกจับดินสอให้ถูกวิธี เมื่อเวลาผ่านไป เขาดูเปลี่ยนแปลง มีความสุขมากขึ้น จากเดิมที่เคยกล้าตอบคำถามอยู่แล้ว เขาก็ยิ่งกล้าตอบยิ่งขึ้น ส่วนการส่งงาน จากเดิมที่ครึ่งๆ กลางๆ ตอนนี้กลายเป็นส่งงานครบและอยู่หัวแถวของห้อง เคสนี้ครูเห็นพัฒนาการชัดอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งคิดว่าเขามีความพร้อมด้านสติปัญญาอยู่แล้ว พอได้พัฒนาฐานกายและมั่นใจขึ้น เขาก็ก้าวกระโดดเลย” 

ครูพัทธ์ธีรา สิทธิเสรีสุวรรณ
ครูที่เคยช่วยดูแล ป.2

ความภาคภูมิใจของครู

“ด้วยความโชคดีที่โรงเรียนเราได้รับการพัฒนาจากทีมโค้ช ม.อ. สิ่งนี้เป็นเหมือนแรงกระตุ้น ให้เรากลับมาพัฒนาตนเอง ให้หัดสังเกตเด็ก เพิ่มการสังเกตของเราไปที่เด็กมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นถึงปัญหา และได้รับคำปรึกษา มันทำให้เราปรับเปลี่ยนวิธีการ ลองผิดลองถูก ปรับเปลี่ยน มองว่าเป็นโอกาสดีที่เราในฐานะครูได้รับโอกาสนี้”

นายมะลาเซ็น อาสัน
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองช้าง

“รู้สึกภูมิใจที่เห็นเด็กเปลี่ยนไปในทางดีขึ้น เดิมทีเราเป็นครูประจำชั้น ป.2 ก็ได้ส่งเสริมเขา พอเขาขึ้น ป.3 ผมก็ตามไปสอนภาษาอังกฤษ เห็นได้ชัดเลยว่าเด็กๆ คล่องกันขึ้นมาก ต่างจากปีการศึกษา 2565 ที่เขามีปัญหากันหนักจริงๆ แล้วยิ่งตอนนี้ เราให้เขาทำแบบฝึกหัดภาษาอังกฤษ เด็กส่งกันทุกคน เขากล้าคิดกล้าตอบเพิ่มขึ้น ทั้งยังสามารถสื่อสารภาษาไทยกับครูได้ถึง 80-90% เลย” 

ครูอับดุลรอซะ สะแลแม
ครูที่ปรึกษา ป.2

ก้าวต่อไป

การพัฒนาฐานกายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ในปัจจุบันโรงเรียนบ้านคลองช้างได้เริ่มหารือเพื่อนำกิจกรรมฐานกายขยายไปยังชั้นเรียนอื่นที่กำลังพบเจอปัญหาเช่นกัน เช่น ชั้น ป.1 ของปีการศึกษา 2566 นี้ นอกจากนี้โรงเรียนยังได้วางแผนว่า นอกจากพัฒนาฐานกายแล้ว เรื่องสังคม อารมณ์​ ปัญญา ก็ยังต้องทำควบคู่กันด้วย และอีกจุดที่โรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญ คือ การสร้างนักเรียนให้มีคุณภาพต่อสังคม ให้นักเรียนรู้จักเคารพกติกา และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยการสร้างเสริมเรื่องนี้ควรปลูกฝังในวัยเด็กซึ่งนับเป็นช่วงเวลาทองนั่นเอง