โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์

โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เกิดจากปาฏิหาริย์

ปีการศึกษา 2565 หลังโควิดเริ่มซา และเด็กๆ เริ่มกลับมาเข้าชั้นเรียน คุณครูที่โรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส พบว่า มีเด็กหลากหลายชั้นปีที่ยังสะกดพยัญชนะหรือผสมคำไม่ได้ ปัญหานี้พบได้แม้กระทั่งในเด็กชั้นระดับโตเช่นเด็ก ป.4 และยังพบมากเป็นพิเศษในเด็กชั้น ป.2 

นอกจากสะกดและผสมคำพื้นฐานไม่ได้ เด็กๆ ยังมีปัญหาจับดินสอผิดวิธี, ไม่สามารถนั่งเรียนนิ่งๆ ได้, รวมถึงพบว่าเด็กบางคนขาดเรียนบ่อยครั้ง 

ปัญหานี้คลี่คลายและเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอีก 1 ปีถัดมา, ไม่ใช่ด้วยปาฏิหาริย์ – แต่ด้วยการเปิดใจกว้างและวิเคราะห์ปัญหาอย่างตรงจุดของผู้อำนวยการ และคุณครูโรงเรียนบ้านค่าย 

เส้นทางการคลี่คลายทั้งหมดถูกถอดบทเรียนไว้แล้วในบทความนี้

สภาพปัญหา

โรงเรียนบ้านค่าย ตั้งอยู่ชานเมืองของอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เด็กส่วนมากมาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่ต้องโยกย้ายไปรับจ้างทำงาน ทำให้เด็กๆ ต้องอยู่กับปู่ย่าตายายหรือเครือญาติ ในช่วงโควิดระบาดปี 2563 – 2564 แม้เด็กจะได้เรียนออนไลน์ แต่ต้องยอมรับว่าพวกเขาเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยชัดเจน สิ่งนี้ปรากฏชัดเจนในภาคการศึกษา 2565

“เด็กเปิดเทอมมาใหม่ๆ เขียนชื่อตัวเองไม่ได้ จับดินสอยังไม่ถูกวิธี ส่วน ป.2 และ ป.3 พบว่าเด็กไม่มีสมาธิ นั่งนิ่งๆ กับที่ได้ไม่มากพอ” นางสาวมัลลิกา รัตนกุล ครูประจำชั้น ป.2 แห่งโรงเรียนบ้านค่าย เล่าย้อนประสบการณ์เมื่อต้นปีการศึกษา 2565 ให้รับทราบ

เมื่อแรก ครูเข้าใจไปว่า การที่เด็กเขียนไม่ได้ และลายมือไม่สวย เพราะเด็กไม่ได้ฝึกฝนการเขียนมาจากบ้าน จนเมื่อทางโรงเรียนได้หารือกับทีมโค้ช ม.อ. และ กสศ. จึงค้นเจอว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งเกิดจากเด็กขาดพัฒนาการทางฐานกาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในวัยอนุบาลและประถมต้น แต่เกิดชะงักงันไปจากภาวะโรคระบาดโควิด

“เหมือน ‘ช่วงทอง’ ของเด็กกลุ่มนี้ทั้งรุ่นถูกขโมยไป” ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ ทีมโค้ช ม.อ. ให้ข้อมูลเสริม

สำหรับผู้บริหารและทีมครูโรงเรียนบ้านค่าย แม้จะไปทวงคืนช่วงเวลาทองที่โควิดขโมยไปจากเด็กๆ ไม่ได้ แต่โรงเรียนสามารถแปลงร่างเป็นเซฟโซนและพื้นที่ฟื้นฟูให้เด็กได้ 

“สิ่งที่เราคุยกันคือ เราต้องทำพื้นที่โรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน เด็กๆ ต้องไว้วางใจและปรึกษาหารือกับครูได้ และเด็กต้องมีความสุข”  อมร นาคปก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย เปิดเผย


Learning Recovery

แทรกกิจกรรมฐานกายเข้าในวิชาเรียน วิชาเล่น และวิชาชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนบ้านค่าย เริ่มจากครูสังเกตและเข้าไปทำความรู้จักเด็กรายบุคคล จากนั้นแทรกกิจกรรมฐานกายเข้าไปเสริมในวิชาเรียน วิชาเล่น และวิชาชีวิต โดยทำตลอดทั้งปีการศึกษา ดังนี้

1. เปิดแคมป์ฟื้นฟูเด็ก 1 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนเปิดเทอมจริง

โรงเรียนบ้านค่ายเปิดแคมป์ให้เด็ก ป.1 – ป.3 มาฟื้นฟูการเรียนรู้ก่อนเปิดเทอมจริง ซึ่งแคมป์นี้จะไม่เน้นวิชาการมากนัก แต่เน้นให้ครูสังเกตเด็ก ซึ่งครูได้ตระหนักว่าเด็กจำนวนมากยังสะกดคำไม่ได้ บางคนแทบไม่มีแรงจับดินสอเขียน หรือจับไม่ถูกวิธี ซึ่งนำมาสู่การฟื้นฟูฐานกายเมื่อช่วงเปิดเทอมเริ่มต้น

2. สวนเกษตรที่เด็กๆ ใช้มือไม้ช่วยกันปลูก

เดิมทีโรงเรียนบ้านค่ายมีพื้นที่เกษตรไว้ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงไก่ไข่เพื่อเป็นอาหารกลางวันอยู่แล้ว ซึ่งนักเรียนในโรงเรียนจะมีบทบาทช่วยดูแล โดยแบ่งหน้าที่และตารางรับผิดชอบตามเหมาะสม ในปีการศึกษา 2565 ทางโรงเรียนได้ใช้สวนเกษตรเป็นหนึ่งในกิจกรรมส่งเสริมฐานกายแก่นักเรียน เพราะการพรวนดินและรดน้ำแปลงผัก ทำให้เด็กได้ออกแรงใช้กล้ามเนื้อ ทั้งยังฝึกความรับผิดชอบตามงานที่ถูกแบ่งปันด้วย

3. แทรกกิจกรรมฐานกายในห้องเรียนอนุบาล ประถมต้น ประถมปลาย

พัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กอนุบาล ประถมต้น และประถมปลายจะแตกต่างกัน ดังนั้นครูในแต่ละช่วงชั้นจึงมีการแทรกฐานกายด้วยกิจกรรมแตกต่างกันไป แต่สิ่งสำคัญคือทำให้เด็กได้ฟื้นฟูทั้งกายและหัวใจ

อนุบาล: ชวนเด็กเขียนบนทราย และหัดรินนม

  • เขียนบนทราย – ฐานกายไม่ใช่แค่การออกแรง ยังเป็นเรื่องประสาทรับรู้ด้วย ในกิจกรรมเขียนบนทรายนี้ ครูจะนำลังนมมาใส่ทรายจากทะเล ให้เด็กที่มีปัญหาได้ฝึกเขียนบนทรายก่อน การที่เด็กอนุบาลได้สัมผัสและเล่นกับทราย เป็นการส่งเสริม sensory หรือประสาทการรับรู้ของเด็ก ทำให้เด็กหัดแยกผิวสัมผัสที่ต่างกันได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนรู้อันสำคัญสำหรับวัยนี้ 
  • หัดรินนม – การหัดรินนม อาจดูเป็นกิจกรรมธรรมดา แต่ช่วยฝึกประสาทสัมพันธ์เรื่องมือกับตา และเรื่องความแม่นยำในเด็ก

ประถมต้น: ชวนเด็กบีบขวดน้ำ และสร้างเรือ

  • บีบขวดน้ำ – เด็กๆ จะนำขวดน้ำมาใส่น้ำ แล้วต้องคิดหาวิธีเจาะรูและคำนวณองศาในการบีบขวด เพื่อให้น้ำพุ่งไกลที่สุด นอกจากใช้แรงมือแล้วยังได้ฝึกการวางแผนด้วย
  • สร้างเรือ – พับกระดาษให้เป็นเรือ แล้วนำลูกแก้วใสๆ เป็นตัวแทนผู้โดยสาร หย่อนลงในเรือ เด็กต้องคิดและวางแผนว่าจะหย่อนลูกแก้วแบบไหน ด้วยน้ำหนักเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ผู้โดยสารบนเรือมากที่สุด โดยที่เรือกระดาษไม่ล่ม นี่เป็นกิจกรรมที่ได้ใช้ทั้งฐานกายและการวางแผน

ประถมปลาย: Free Writing เขียนปล่อยใจปล่อยจอย

  • Free Writing – ครูจัดหากระดาษหลากสี และเชิญชวนให้เด็กเขียนบอกเล่าความรู้สึกทุกวัน โดยไม่จำเป็นว่าต้องเล่าเป็นตัวหนังสือ จะวาดรูปก็ได้ ผลลัพธ์คือมีเด็กมาขอกระดาษไปเขียนทุกวัน เด็กบางคนพัฒนาจากที่แต่งประโยคไม่คล่อง มาสู่การเขียนประโยคที่ซับซ้อนขึ้นได้ นอกจากนี้ครูยังแทรกการเขียนในวิชาอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยให้นักเรียนเขียนสรุป ข้อดีของการฝึกให้เด็กเขียน นอกจากเด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมือ (ฐานกาย) แล้ว ยังส่งผลให้เด็กรักการเรียนรู้ เพราะเวลาเขียน นอกจากเด็กจะต้องใคร่ครวญความรู้สึกตนเองเพื่อกลั่นออกมาเป็นประโยคแล้ว เขายังต้องฟังหรืออ่านเรื่องราวเพิ่มเติม เพื่อเติมวัตถุดิบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเติมทักษะสื่อสารให้แก่เขา 

4. จัดสรรพื้นที่ให้เด็กเล่นได้ตลอด

เนื่องจากอาคารเรียนบ้านค่ายจะมีลานโล่งหน้าห้องเรียน จึงมีการออกแบบพื้นที่ให้เด็กเล่นสนุกได้ในช่วงเวลาพักหรือเวลาที่เด็กนึกสนุก กิจกรรมได้แก่ การสะกดรอย กระโดดห่วง เดินต่อเท้า เป็นต้น


ผลลัพธ์

เมื่อแทรกกิจกรรมฐานกายในการเรียนรู้ตลอดปีการศึกษา 2565 โรงเรียนบ้านค่ายพบว่า เด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เริ่มแรกคือ อยากมาโรงเรียน อยากมาหาครู อยากส่งงานที่ได้รับมอบหมาย และอยากเล่าถึงกิจกรรมที่เขาได้ทำและได้เรียนรู้ให้ครูฟัง ในส่วนการเขียน ก็เริ่มมีสัดส่วนเด็กที่จับดินสอถูกวิธีเพิ่มขึ้น ลายมือดีขึ้น เริ่มอ่านออกเขียนได้ รวมถึงสามารถนั่งนิ่งๆ เพื่อเรียนรู้ได้นานขึ้น

กรณีศึกษา

พลังแห่งการเรียนรู้ ซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน
รอแค่เพียงผู้ใหญ่สังเกตพบ

การฟื้นฟูภาวะเรียนรู้ถดถอย ผ่านกิจกรรมฐานกายนั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการออกแรงอย่างเดียว การฝึกใช้มือวาดภาพและเขียนบันทึก ก็สามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้เช่นกัน เช่นกรณีของเด็กชาย ป.2 ที่มีคุณพ่อเป็นต่างด้าว ความที่ครอบครัวเด็กไม่พร้อมส่งเสริม ทำให้เด็กเขียนอ่านได้ช้ากว่าเพื่อน จนเด็กไม่อยากมาโรงเรียน เมื่อครูประจำชั้น ป.2 สังเกตเห็น จึงไปเยี่ยมบ้าน แล้วได้พบว่าเด็กมีความสนใจในการเลี้ยงนก ครูจึงให้เด็กวาดรูปนกมาส่งที่โรงเรียน เด็กก็วาดรูปนกโดยแยกเป็นนกตัวเมียและนกตัวผู้ได้ สะท้อนถึงการช่างสังเกต จากนั้นครูจึงส่งเสริมให้เด็กวาดรูปนกเพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของเด็ก เมื่อเด็กได้ทำสิ่งที่เขาสนใจ และได้รับเสียงชื่นชมจากครู เด็กก็อยากมาโรงเรียน และเริ่มหัดเขียนอ่าน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครูและเพื่อนร่วมห้องมากขึ้น จนปัจจุบันเด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้นและมีความสุขกับการมาโรงเรียน

ความภาคภูมิใจของครู

“เริ่มแรก ครูเข้าใจว่าเด็กเขียนไม่ได้ ลายมือไม่สวย อาจจะเพราะเด็กไม่ได้ฝึกเขียนที่บ้าน ครูไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า สาเหตุมาจากฐานกาย หรือว่าอะไร” ครูมัลลิกา ครูประจำชั้น ป.2 เปิดเผย

“แต่เมื่อได้รับข้อมูล ได้รับความรู้จากหลายๆ ส่วน จึงได้เริ่มทดลองสอนฐานกาย ได้ลองทำ แม้ว่าตอนแรกจะแอบสงสัยบ้างว่า การฝึกฐานกายจะพัฒนาเด็กได้จริงเหรอ? แต่พอตัดสินใจลองดูสักตั้งแล้ว ก็พบว่าเด็กๆ มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงดีขึ้นจริงจนครูสังเกตได้”

“เมื่อพบว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดและความเชื่อของครู สามารถเปลี่ยนแปลงเด็กได้ ยิ่งทำให้เราภูมิใจ ดีใจที่ได้เป็นครู และทำให้เราอยากเป็นครูที่ดูแลทุกส่วนของเด็ก ไม่ใช่แค่เฉพาะสอนคัดลายมือ ไม่ใช่เฉพาะการจับดินสอ แต่อยากช่วยดูแลความทุกข์ความสุขในใจของเด็กด้วย” ครูมัลลิกา รัตนกุล กล่าวปิดท้าย

อมร นาคปรก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่าย

ก้าวต่อไป

1. เพิ่มการคัดกรองรายบุคคล เพื่อจะได้ดูแลได้ตรงจุดมากขึ้น

เดิมทีโรงเรียนบ้านค่ายก็มีการประเมินและคัดกรองระดับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนเป็นห้องอยู่แล้ว แต่ตอนนี้สิ่งที่โรงเรียนตัดสินใจทำเพิ่ม คือการคัดกรองรายบุคคล ซึ่งกำหนดให้ครูทดสอบนักเรียนและทำการประเมินผล โดยต้องเขียนระบุปัญหาและสาเหตุว่า ที่เด็กคนนี้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งหากทำต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ จะทำให้ครูมีข้อมูลการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กนักเรียนอยู่ในมือ ทำให้สามารถช่วยดูแลและเสริมจุดแข็งได้รวดเร็วขึ้น เด็กก็ไม่ถูกปล่อยลอยแพเคว้างคว้าง ครูก็ดูแลเด็กได้ต่อเนื่องและตรงจุดมากขึ้น

2. ทำการบันทึกข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กในฐานข้อมูลกลาง เพื่อเก็บเป็นข้อมูลชุดใหญ่ต่อไป

การบันทึกและเก็บข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กนั้น เดิมทีครูอาจจะแยกกันทำ แต่เมื่อทางผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านค่ายส่งเสริมให้ครูทำอย่างจริงจังและเป็นระบบ ก็เอื้อให้การลงมือทำเรื่องนี้คืบหน้าเร็วขึ้น โดยข้อดีของการบันทึกข้อมูลการเรียนรู้ของเด็กในฐานข้อมูลกลางของโรงเรียนคือ ทำให้ครูและผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลตรงนี้ในการวางนโยบายและแผนการรับมือที่ช่วยฟื้นฟูการเรียนรู้ หรือหัดเขียนอ่านของเด็กในโรงเรียนได้รวดเร็ว ทันที และมีมาตรฐานกลางมากขึ้น

อันจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและไม่หลงทางนั่นเอง