“พรุ่งนี้ทำกิจกรรมอะไรต่อคะครู” คือเสียงจากเด็กหญิงประถมต้นที่หันมาถามครูกัสมาวาตี อาแวยอ ด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและแฝงไปด้วยความอยากเรียนรู้
ก่อนหน้านี้เด็ก ป.2 เกือบทั้งชั้นเรียนยังดูไม่สดชื่น เขียนหนังสือไม่คล่อง ไม่กล้าออกเสียงคำศัพท์ภาษาไทยตามที่ครูกัสมาวาตีสอน รวมถึงเด็กยังนั่งนิ่งๆ บนโต๊ะนานไม่ได้
แต่หลังจากครูลองนำกิจกรรมฐานกายมาแทรกในวิชาเรียน รวมถึงเริ่มเปิดใจพาเด็กไปเรียนรู้และเล่นสนุกนอกห้องเรียนบ้าง ความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกก็ค่อยๆ เริ่มก่อตัว จนเห็นได้ชัดเจนเมื่อเวลาผ่านไปเพียง 1 เทอม และยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเมื่อ 1 ปีการศึกษาผ่านไป จำนวนเด็กที่เคยขาดเรียนสม่ำเสมอ ก็เริ่มลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนจำนวนเด็กที่รบเร้าให้ผู้ปกครองพามาโรงเรียนกลับเพิ่มขึ้น
ไม่มีปาฏิหาริย์ใดอยู่เบื้องหลัง มีเพียงการปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดของครูและผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้
ซึ่งเรื่องราวถูกร้อยเรียงไว้แล้วดังนี้
สภาพปัญหา
โรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้น ป.6 ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ด้วยสภาพพื้นที่ติดทะเล ทำให้อาชีพหลักของคนในพื้นที่คือการทำประมงชายฝั่ง มีบางส่วนทำธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย ทำเกษตร หรือเป็นลูกจ้างโรงงาน เด็กนักเรียนมาจากพื้นเพครอบครัวที่หลากหลาย ส่วนมากมีฐานะปานกลาง แต่มีส่วนที่ฐานะดีและฐานะยากจนด้วยเช่นกัน
ในช่วงโควิดระบาดปี 2563 – 2564 โรงเรียนได้เปิดสอนด้วยระบบออนไลน์และออนแฮนด์ (แจกใบงาน) ครั้นเมื่อเปิดเรียนออนไซต์ในปีการศึกษา 2565 พบว่า เด็กนักเรียนมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยพบในเด็กทุกชั้นปี แต่เด่นชัดสุดในเด็กประถมต้น โดยอาการคือ ติดมือถือ ไม่มีแรงเขียนตัวหนังสือ ง่วงนอนบ่อย และมีท่าทีเบื่อหน่ายการเรียน
“เปิดปีการศึกษา 2565 ทาง ผอ.โรงเรียนได้ขอให้คุณครูทุกชั้นเรียนเริ่มสแกนนักเรียนก่อนเลย ว่าเด็กเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเขาห่างหายจากการเรียนออนไซต์เป็นปีเลย ซึ่งพอครูเริ่มสแกนเด็ก ก็พบว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้ต่อเนื่องได้ มีภาวะการเรียนรู้ถดถอย แถมเขายังติดมือถือ ไม่มีแรงเขียน เบื่อหน่ายการเรียน และง่วงนอนบ่อย” กัสมาวาตี อาแวยอ ครูประจำชั้น ป.2 บอกเล่า
ปัญหานี้พบทุกชั้นเรียน นั่นย่อมสะท้อนว่านี่ไม่ใช่เหตุปกติ ทางผู้บริหารและคุณครูจึงหารือกัน ก่อนเริ่มปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำงาน และใช้วิธีประเมินผลแบบใหม่ โดยยึดหลักสำคัญว่า ต้องทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเด็กและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ปีนั้น เด็ก ป.2 จะมีทั้งหมด 45 คน เราก็แบ่งเด็กเป็น 2 ห้องเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง และครูดูแลอย่างใกล้ชิด ช่วงแรกๆ โรงเรียนยังไม่ได้ร่วมกิจกรรมฐายกายอย่างเป็นระบบของ ม.อ.มาใช้ ครูนำกิจกรรมเข้าสู่บทเรียนด้วย brain gym บ้างร้องเพลงบ้าง สิ่งที่สังเกตได้คือ เด็กบางคนยังง่วงนอน สนุกกับการเรียนบางช่วง ไม่เป็นห้องเรียน Active” ครูกัสมาวาตี เล่าต่อ
“กลางภาคเรียน ทีมโค้ช ม.อ.ได้เข้ามาวัดค่าแรงบีบมือของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีค่าแรงบีบมือ ต่ำกว่ามาตรฐาน (19 กิโลกรัม) ส่งผลต่อทั้งการจับดินสอ และการเรียนรู้ของเด็ก โค้ชให้คำนำแนะ นอกจากนี้ ทีมโค้ชได้จัดการอบรมกิจกรรมฐานกาย มีกิจกรรม PLC นำกิจกรรมฐานกายไปใช้ในชั้นเรียน ระหว่างโรงเรียนในโครงการ และครูประถมต้นได้นำกิจกรรมฐานกายสู่ชั้นเรียน ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็จัดซื้อเครื่องวัดแรงบีบมือ และให้ครูวัดค่าแรงบีบมือ ทุกเดือนเพื่อนำค่ามาแปรผล” มาลินี หมันเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา เปิดเผย
Learning Recovery
1. ปรับตัว ไม่ยึดติดวิธีการ เป้าหมายคือเด็กต้องไม่ถูกทิ้งขว้าง
การฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กนักเรียน โดยนำกิจกรรมฐานกายเข้ามาคู่ขนานกับกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ถือเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของครูผู้สอนหลายคน โดยเฉพาะครูประถมต้น เพราะเดิมที การเรียนรู้ระดับประถมต้นจะเน้นไปที่การอ่านออกเขียนได้ของเด็ก ด้วยวิธีการอ่านเขียนเรียนตามครูเท่านั้น ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ทำให้เด็กเครียด เบื่อหน่าย จนไม่อยากมาโรงเรียน แต่เมื่อครูได้รับการ coaching และนำกิจกรรมฐานกายเข้าสู่ชั้นเรียน ครูเปิดใจรับวิธีการใหม่ๆ และผู้บริหารให้ความสำคัญและสนับสนุน ส่งเสริม ทำให้เด็กทุกคนได้รับการดูแล และพัฒนาซึ่งนี่คือแนวทางการปรับตัวที่ทางโรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลาได้ลงมือทำทั้งในปัจจุบันและในช่วงที่ผ่านมา
2. เปิดพื้นที่คุย และปั้นแกนนำครู ก่อนขยายแนวร่วม
หลักคิดในการพัฒนาคือ การปรับมายเซ็ตของครู และการสร้างครูแกนนำ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ นอกจากนี้การใช้กระบวนการ PLC (Professional Learning Community) ให้ครูมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยครูแกนนำ เป็นวิธีที่จะทำให้ครูเกิดการเรียนรู้โดยไม่จำเป็นต้องไปเสียเวลาเข้ารับการอบรม เป็นแนวทางที่คุ้มค่า และส่งผลต่อประสิทธิภาพการพัฒนาครู
3. สนับสนุนให้ครูเสริมกิจกรรมฐานกาย โดยไม่เน้นหรู แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์
เป้าหมายของกิจกรรมฐานกาย คือ เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครู จึงต้องจัดกิจกรรมเสริมให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง สามารถทรงตัวได้ มีความแคล่าวคล่องว่องไว และได้เล่นสนุกนั้น กิจกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เด็กกล้าเรียนรู้ และกล้าลงมือทำ ซึ่งกิจกรรมที่ครูกัสมาวาตี ซึ่งเป็นครู ป.2 ได้ออกแบบและนำมาปรับใช้ก็ได้แก่กิจกรรมที่ใช้อุปกรณ์หาง่ายทั่วไป ไม่เน้นหรูหราราคาแพง แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญ เด็กต้องรู้สึกสนุกด้วย อันได้แก่
กายบริหาร: ยืดเส้นยืดสายง่ายๆ ก่อนเข้าชั้นเรียน สลายความง่วงซึมให้หายไป
กรรไกรในมือฉัน: ให้เด็กหัดใช้มือจับกรรไกรตัดกระดาษชิ้นงาน เป็นการเรียนรู้และฝึกออกแรง
เดินกะลา: เด็กได้ฝึกทรงตัว และเป็นการท้าทายขีดจำกัดเล็กๆ ในการเคลื่อนไหวของเขา
เดินวิ่งซิกแซก: การวิ่งซิกแซกฝึกการเคลื่อนไหวและการตัดสินใจของเด็กๆ ได้
เปตอง: กีฬาที่ให้เด็กได้ใช้มือหยิบจับ, คาดคะเนน้ำหนักมือ, และออกแรง
หมากขุม: การละเล่นที่เด็กได้ฝึกเล่นเป็นคู่ และได้ใช้มือซ้ายขวาขณะที่ต้องฝึกคิดไปด้วย
กระต่ายขาเดียว: ในวิชาภาษาอังกฤษ ครูจะส่งเสริมให้เด็กกระโดดแบบกระต่ายขาเดียวไปหยิบใบคำศัพท์
กิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น จะนำไปใช้ในชั้นเรียนก่อนเริ่มเรียน หรือระหว่างเรียน บางครั้ง นอกห้องเรียนยามว่าง หรือยามพักกลางวัน ในวิชาเรียน เช่น วิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่เล่นในสนามหญ้า หรือใต้ต้นไม้อีกด้วย
ผลลัพธ์
กิจกรรมฐานกายที่โรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลาส่งเสริมนั้น จะเน้นให้ครูและเด็กทำอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เมื่อผ่านไป 1 ภาคการศึกษาก็พบความเปลี่ยนแปลง และพอครบรอบ 1 ปี ความเปลี่ยนแปลงยิ่งชัดเจนเด่นชัด โดยผลลัพธ์ที่สังเกตได้มีดังนี้
“ครูคะ/ครับ พวกเราอยากเรียน”
ต้นปีการศึกษา 2565 ครูกัสมาวาตี พบว่า เด็กชั้น ป.2 จำนวน 45 คนนั้น เบื่อหน่ายการเรียน ไม่มีสมาธิ เขียนคำศัพท์ช้า และจับดินสอผิดวิธี เมื่อครูนำกิจกรรมฐานกายเข้าสู่ชั้นเรียน ผ่านไป 1 ปี มีเด็กที่สามารถนั่งตัวตรงเวลาเขียน และจับดินสอได้ถูกวิธี จำนวน 38 คน ขณะที่ 7 คนอาจยังขาดเรียน และเรียนช้าอยู่ กระนั้น ครูก็วางเป้าหมายว่าจะดูแลกลุ่มนี้ในปีการศึกษาต่อไป
จากเขินอาย สู่การกล้าคิดและร่วมมือเป็นทีม
ช่วงสถานการณ์โควิดระบาด นักเรียนชั้น ป.2 เรียนออนไลน์ จนทำให้ส่งผลกระทบถึงขั้นติดมือถือ ติดเกม ทำให้เด็กหลายคนขาดทักษะการเข้ากับสังคมไม่คุ้นเคยกับเพื่อนในชั้น บางรายพบพฤติกรรมเก็บตัว ไม่พูดจา หรือไม่สื่อสารในบางกลุ่ม ครูกัสมาวาตีสังเกตเห็นพฤติกรรมดังกล่าว จึงชวนเด็กๆ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น ทำกิจกรรมสนุกๆ ในลานกว้างนอกห้อง หรือไปเรียนใต้ต้นไม้ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็ก ป.2 หันมาพูดคุย ทักทาย ถามไถ่กันมากขึ้น และเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้เด็กยิ่งอยากมาโรงเรียน อยากพบปะทั้งครูและได้เล่นกับเพื่อนๆ นั่นเอง
กรณีศึกษา
จากเด็กคอเอียง ลายมือโย้เย้ สู่เด็กที่ชอบเรียนรู้
“ในชั้นเรียนจะมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อาศัยอยู่กับตายาย ซึ่งในช่วงก่อนหน้านี้ที่เขาต้องเรียนออนไลน์ เขาก็เข้าเรียนบ้างไม่เข้าเรียนบ้าง ทำให้เรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ พอเปิดเทอม ป.2 เขาก็เลยจะมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย แล้วเวลาเขียนจะชอบเอียงคอ เหมือนเด็กไม่มีแรงนั่งตัวตรง ลายมือก็จะเขียนเอียงไปด้วย ลายมือโย้เย้ ยิ่งเขียนเด็กจะยิ่งเมื่อย สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเขา ครูกัสก็พยายามช่วยปรับ ผ่านกิจกรรมฐานกาย จนเขามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งการอ่าน การเขียน การทรงตัว ทุกวันนี้เวลาเขียนสามารถนั่งเขียนได้นานขึ้น และยังชอบระบายสีอีกด้วย เราเห็นถึงความชอบเรียนรู้และมุ่งมั่นในการเรียนของเขา ก็ดีใจมาก” ครูกัสมาวาตี กล่าว
ความภาคภูมิใจของครู
“โรงเรียนได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP รุ่น 2 กลางปีการศึกษา 2563 ตอนนั้นครูกัสยังคงสอนแบบรูปแบบเดิม คือเน้นสอนตามตำรา แต่เราก็รู้สึกว่าการสอนแบบนั้นไม่มีประสิทธิภาพเท่าไหร่ แถมผู้เรียนยังไม่เกิดความสุขตอนที่เขามาโรงเรียนอีกด้วย ครั้นพอเกิดโควิด เด็กๆ ต้องเรียนผ่านออนไลน์และออนแฮนด์ (ใบงาน) เราก็ได้คิดว่า ถึงเวลาที่เราต้องปรับตัว คือครูก็จะมีการปรับตัวไปรอบนึงแล้วช่วงโควิด แต่พอเปิดเทอมมาสอนแบบออนไซต์ ปี 2565 เราก็พบว่าเด็กเกิดภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) หนักมาก เมื่อเจอสถานการณ์นี้ การปรับตัวยิ่งจำเป็น ครูกัสก็ดีใจที่ตัวเองได้นำกิจกรรมฐานกายรวมถึงแนวการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) มาใช้ในห้องเรียน จนเราพบว่าเด็กเรากล้าคิด กล้าเสนอว่าเขาอยากเรียนรู้อะไร และเขาอยากมาเรียนมากขึ้น” -นี่คือเสียงสะท้อนจากหัวใจของจากครูกัสมาวาตี
ก้าวต่อไป
นางมาลินี หมันเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลอิสลามสงขลา เปิดเผยว่า โรงเรียนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนและพัฒนาครู และเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ นอกจากการฟื้นฟูเด็กผ่านกิจกรรมฐานกายที่ได้ทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในปีการศึกษา 2565 แล้ว ในปีการศึกษาปัจจุบัน (2566) รวมถึงอนาคต ทางโรงเรียนได้วางแผนพัฒนาครู และพัฒนาเด็ก ดังนี้
ปรับกิจกรรม PLC ที่เน้นให้ครูได้ L (Learning) มากขึ้น
“ที่ผ่านมา เรายังเข้าใจกระบวนการ PLC ได้ไม่ตรงประเด็นยังนำไปปะปนกับการประชุม ทั้งนี้เป้าหมายหลักของกระบวนการ PLC คือเพื่อเป็นพื้นที่ให้คุณครูเกิดการเรียนรู้ มีการเติมเต็ม และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้กับห้องเรียนตัวเอง ดังนั้น กระบวนการ PLC ในปีการศึกษา 2566 คือ PLC กลุ่มย่อย กำหนดประเด็นให้ชัดแต่ละครั้ง ตอนนี้เริ่มในกลุ่มครูอนุบาล และกำลังขยายไปยังกลุ่มครูประถม”
เพิ่มพื้นที่เล่นและเรียนรู้ให้เด็กมากขึ้น
“จากการได้ร่วมหารือกับทีมโค้ช ม.อ. ทำให้เรา พบว่า กิจกรรมฐานกาย มีความสำคัญ ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก พลังกายส่งผลจิตใจของเด็ก ในปีนี้ทางโรงเรียนจึงได้วางแผนเพิ่มพื้นที่เล่นให้แก่เด็ก โดยนำร่องที่เด็กอนุบาลก่อน แต่ขณะเดียวกันก็จะขยายผลให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ซึ่งเด็กประถมต้นสามารถมาเล่นและเรียนรู้ร่วมกันได้”
ขยายแนวร่วมแกนนำครู ผ่านการจีบรายตัว
“การได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ยังผลทำให้ครูสามารถจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning)ได้ 5 คน ในจำนวนครูทั้งหมด 14 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ครูบางคนไม่เปิดใจ ไม่อยากเปลี่ยนวิธีสอน มองการสอนแบบใหม่เป็นเรื่องยาก ของเดิมคิดว่าดีอยู่แล้ว ในปีการศึกษา 2566 นี้ ทางทีมผู้บริหารใช้กลยุทธ์ประกบครู โดยจะจีบครูตัวต่อตัวเลย จะโน้มน้าวให้ครูหันมาร่วมกับทีมแกนนำ เพื่อเปลี่ยนการสอนแบบ Passive ให้เป็นแบบ Active ทั้งระบบ ในอนาคต”
ทั้งหมดนี้คือแนวทางและกลยุทธ์ที่ทางโรงเรียนเชื่อมั่น เพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้บรรลุผล โดยไม่ทิ้งเด็กสักคนไว้ข้างหลังนั่นเอง