โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี สังเกต เจาะลึก ลงมือลุย เปิดเส้นทางการฟื้นฟูภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) จังหวัดปัตตานี สังเกต เจาะลึก ลงมือลุย เปิดเส้นทางการฟื้นฟูภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้

ไม่กี่สัปดาห์หลังปีการศึกษา 2565 เริ่มเปิดห้องเรียน ครูจรรยารักษ์ สมัตถะ สังเกตเห็นว่าเด็กชั้น ป.2 ในโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) ที่ครูต้องดูแลนั้น มีพัฒนาการที่น่ากังวล ตั้งแต่จับดินสอผิดวิธี นั่งแล้วฟุบกับโต๊ะ ไม่มีสมาธิ เขียนช้า จำพยัญชนะและสระไม่ได้ รวมถึงตอบคำถามเป็นคำหรือประโยคสั้นๆ 

ครูจรรยารักษ์ นำสิ่งที่สังเกตได้ไปปรึกษาวง PLC ร่วมกับผู้อำนวยการและครูท่านอื่นในโรงเรียน จากนั้นจึงหารือกับทางทีมโค้ช ม.อ. จนพบว่า พฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก ป.2 ไม่ได้เกิดจากความเกียจคร้าน แต่เป็นเพราะพวกเขากำลังเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยเฉพาะด้านฐานกายที่ไม่แข็งแรง จนกระทบต่อการใช้ชีวิตและการเรียนรู้ด้านอื่นๆ

“จากการสังเกตของครูจรรยารักษ์ จึงนำมาสู่การพูดคุยในวง PLC ของครูและผู้บริหาร จากนั้นจึงเจาะลึกเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์มากขึ้น ต่อมาโรงเรียนได้ร่วมมือกับทีมโค้ช ม.อ. เพื่อทดสอบสมรรถนะฐานกายของเด็ก ป.2 ทั้งนี้จากการสังเกต เจาะลึก จนได้ผลประจักษ์ว่าเด็กนักเรียนมีฐานกายที่ไม่พร้อม ทำให้โรงเรียนลงมือลุยเพื่อฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กอย่างเร่งด่วน” นางนารีรัตน์ เศียรอินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าว

ซึ่งเรื่องราวการฟื้นฟูภาวะฉุกเฉินทางการเรียนรู้ ของโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) ถูกร้อยเรียงไว้แล้วในบทความนี้

สภาพปัญหา

โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้น ป.6 ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เด็กนักเรียนมีทั้งเด็กที่นับถือศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม มีฐานะยากจนถึงปานกลาง โดยอยู่กับปู่ย่าตายาย 24% และอยู่กับพ่อแม่ที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาจำนวน 23% 

ในช่วงโควิดระบาดเมื่อปี 2563 – 2564 เด็กต้องเรียนด้วยระบบออนไลน์และออนแฮนด์ (แจกใบงาน) จากที่บ้าน ซึ่งด้วยปัจจัยครอบครัวที่ไม่พร้อม เด็กจำนวนหนึ่งจึงเรียนรู้ไม่เต็มที่

“เด็กรุ่นนี้เหมือนเจอสุญญากาศทางการเรียนรู้” ผู้อำนวยการกล่าว 

จนเมื่อกลับเข้าสู่โรงเรียนในปีการศึกษา 2565 ปัญหาชัดขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก ป.2 ที่ถือว่าถดถอยด้านการเรียนรู้อย่างหนัก ผู้บริหารและครูไม่รอช้า นำร่องทดสอบสมรรถนะฐานกาย 7 ฐาน ซึ่งพบว่าเด็กไม่ผ่านฐานกระโดดเชือกถึง 76% ซึ่งสะท้อนว่าเด็กมีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว นอกจากนี้เด็กยังประสานสายตาเข้ากับร่างกาย เพื่อทำการคาดคะเนจังหวะกระโดดเชือกได้ไม่ดีนัก

ฐานกระโดดเชือก สะท้อนให้เห็นปัญหาฐานกายหลายอย่าง เมื่อประกอบรวมจากผลลัพธ์จากฐานสมรรถนะฐานอื่น รวมถึงค่าแรงบีบมือของเด็กนักเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อผลเชิงประจักษ์ปรากฏตรงหน้า โรงเรียนจึงตัดสินใจเพื่อฟื้นฟูเด็กอย่างเร่งด่วน


Learning Recovery

1.วัดผลและประเมินสมรรถนะของเด็ก โดยให้ครูผู้เชี่ยวชาญเป็นแกนนำ

เมื่อตระหนักว่าเด็กนักเรียนมีปัญหาด้านฐานกาย สิ่งที่ผู้อำนวยการและครูร่วมมือกันทำ คือ นำร่องจัดการทดสอบสมรรถนะฐานกาย โดยให้ครูพละศึกษาซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องนี้เป็นแกนนำในการจัดทดสอบ

ทั้งนี้การการทดสอบสมรรถนะฐานกาย แบ่งเป็น 7 ฐาน ซึ่งประกอบด้วย ฐานการเดินทรงตัว, ฐานกระโดดเท้าชิดเท้ากาง, ฐานโยนรับบอล, ฐานกระโดดไกล, ฐานกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง, ฐานกระโดดเชือก, และฐานยืดหยุ่น (ม้วนหน้าและวัดแรงบีบมือ) ซึ่งผลลัพธ์คือ เด็ก ป. 2 จำนวน 73 คน มีผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์แต่ละฐานดังต่อไปนี้ 26%, 15%, 42%, 23%, 10%, 76%, และ 42% ตามลำดับ

2.แบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม เพื่อให้ฟื้นฟูตรงจุดอย่างได้เต็มที่

เมื่อผลจากการทดสอบสมรรถนะฐานกาย เผยให้เห็นว่าเด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยมีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ร่างกายไม่ได้ฝึกฝนและพัฒนาไม่เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อทำการฟื้นฟูให้เกิดประสิทธิภาพ โรงเรียนจึงแบ่งเด็ก ป.2 ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่ม 1 กลุ่มที่ต้องพัฒนาเฉพาะด้านเร่งด่วน เช่น ในส่วนของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ การเคลื่อนไหว และประสาทหูตาต่างๆ 

กลุ่ม 2 กลุ่มที่พัฒนาฐานกายและสังคมมิติ โดยพัฒนาทักษะในเรื่องของการเคลื่อนไหวประสาทสัมผัส และมีการออกแบบกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ให้แก่นักเรียน 

3.ทุ่มฟื้นฟูฐานกาย โดยครูจัดสรรเวลาให้อย่างเต็มที่

เมื่อได้แนวทางแล้วว่าต่อไปนี้โรงเรียนจะเน้นฟูฟื้นฐานกายในเด็กนักเรียน นำร่องในชั้น ป.2 ก่อน ขั้นต่อไปซึ่งสำคัญมากก็คือการจัดสรรและวางกรอบเวลาให้แก่กิจกรรมฟื้นฟูฐานกาย ซึ่งทางผู้อำนวยการและครูได้หารือและเห็นพ้องกันว่า จะเปิดให้มีการฟื้นฟูฐานกายอย่างเต็มที่ โดยใช้เวลาก่อนเข้าเรียน ก่อนกลับบ้าน รวมถึงบูรณาการเข้ากับวิชาเรียนด้วย ดังนี้

ก่อนเวลาเข้าเรียน

ยามเช้าก่อนเข้าวิชาเรียน ครูจะพานักเรียนทำกายบริหาร เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาในส่วนกล้ามเนื้อมือ เช่น นำยางเส้น ให้เด็กฝึกบริหารนิ้วมือและข้อต่อ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น จากนั้นจึงจัดกิจกรรมเข้าจังหวะต่างๆ 

ก่อนกลับบ้าน

ช่วงบ่าย ครูได้จัดกิจกรรมชื่อ “ฐานกายสบายใจจัง” โดยใช้ระยะเวลา 1 ชั่วโมงก่อนโรงเรียนเลิก ซึ่งกิจกรรมนี้จะแบ่งเป็นฐานต่างๆ ที่ผสานความสนุกและความท้าทายเข้าด้วยกัน ได้แก่ ฐานทูนสิ่งของไว้บนศีรษะแล้วเดินบนเส้นเชือก, ฐานเดินกะลา,​ฐานตั้งเตหรือเดินทรงตัว เป็นต้น 

บูรณาการฐานกายในรายวิชา

เนื่องจากโรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) เน้นให้เด็กได้ฝึกกระบวนเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ครูจึงได้แทรกกระบวนการวิทย์เข้าไปอยู่ในรายวิชาอื่นด้วย ได้แก่ วิชาภาษาไทย และวิชาคณิตศาสตร์ ทั้งนี้เมื่อนำกิจกรรมฐานกายมาเสริม กิจกรรมที่เสริมเข้าไปจึงเน้นให้เด็กได้สังเกต เรียนรู้ ควบคู่กับการฝึกพัฒนากล้ามเนื้อ

กิจกรรมบูรณาการฐานกายในรายวิชา มีตั้งแต่ให้เด็กนำกรรไกรไปตัดกระดาษ พับกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือปั้นดินน้ำมัน แล้วผสานการเรียนรู้เข้ากับรายวิชานั้น ซึ่งผลทางกายที่ได้รับคือ เด็กได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อข้อต่อ


ผลลัพธ์

โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ) ได้ดำเนินการฟื้นฟูฐานกายเด็กนักเรียนชั้น ป.2 (ปีการศึกษา 2565) มาครบ 1 ปี และปัจจุบันก็ยังดำเนินการอยู่ ซึ่งเกิดผลลัพธ์ดังนี้ 

จำนวนการขาดเรียนน้อยลง 

หลังเริ่มกิจกรรมฟื้นฟูฐานกาย โรงเรียนพบว่า สถิติการขาดเรียนลดลง และเด็กสนุกกับการมาโรงเรียนมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสถิติการมาเรียน 87%

จับดินสอถูกวิธี

การผสมผสานกิจกรรมฐานกาย ควบคู่กับการดูแลใส่ใจการเขียนของเด็ก ทำให้จำนวนนักเรียนชั้น ป.2 มีการจับดินสอที่ถูกวิธี มากขึ้นถึง 67% ทั้งนี้การจับดินสออย่างถูกต้อง ส่งผลให้ไม่เมื่อยมือ เขียนคล่อง และสนุกกับการเรียน

เด็กกินอาหารได้หลากหลายและแข็งแรงขึ้น

เดิมทีเด็กชั้น ป.2 จะกินอาหารกลางวันเหลือเกินครึ่งค่อนชาม จนแม่ครัวประจำโรงเรียนเคยปรารภเชิงน้อยใจให้ครูจรรยารักษ์ฟัง แต่เมื่อโรงเรียนเริ่มดำเนินกิจกรรมฐานกาย เด็กก็กินข้าวได้เยอะขึ้น อาหารเหลือค้างจานน้อยลง โดยเด็กให้เหตุผลว่า เพราะอยากมีแรงไว้เล่นสนุกกับกิจกรรมฐานกายในคาบบ่าย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ค่าน้ำหนักส่วนสูงของเด็ก ป.2 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ในช่วงระยะเพียง 1 ภาคเรียน

กล้าคิดและมนุษยสัมพันธ์ดีขึ้น

หลังเพิ่มกิจกรรมฐานกาย และใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการฝึกฝนนักเรียน พบว่า เด็ก ป.2 กล้าแสดงความคิดเห็น กล้าสงสัย กล้าถาม นอกจากนี้ ยังอารมณ์ดีขึ้น และไม่กลัวกับการเผชิญเหตุการณ์ใหม่ๆ 

กรณีศึกษา 

เมื่อฐานกายเพิ่มความมั่นใจ จนเด็กคนหนึ่งเขียนอ่านได้ดีขึ้น

ปีการศึกษา 2565 มีเด็ก ป.2 คนหนึ่งที่มาจากครอบครัวยากจน เด็กอาศัยอยู่กับแม่และน้องซึ่งมีภาวะออทิสซึ่ม เด็กคนนี้มีน้ำหนักส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ เนื่องจากได้รับอาหารไม่เพียงพอ จึงเจ็บป่วยบ่อย มีปัญหาสุขภาพ ร่างกายไม่แข็งแรง ที่เห็นได้ชัดคือ เขาเดินขึ้นลงบันไดไม่ได้ เวลาจะลงบันไดต้องนั่ง แล้วค่อยๆ ประคองตัวลงทีละขั้นแทน

เมื่อเริ่มเรียน ป.2 เด็กนักเรียนคนนี้อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ จำพยัญชนะและสระไม่ได้เลย ประกอบกับเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ทำให้เวลาทำงานกลุ่ม เพื่อนในชั้นเรียนจึงไม่ค่อยยอมรับเข้ากลุ่ม แต่พอครูจรรยารักษ์เริ่มแทรกกิจกรรมฐานกายเข้ามาในชั้นเรียน เด็กคนนี้พบกิจกรรมบางอย่างที่ตนเองทำได้ดี ทำให้มั่นใจในตนเอง และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมชั้น

“เมื่อค้นพบกิจกรรมฐานกายที่เหมาะกับตนเอง และครูได้เข้าไปชี้แนะเพิ่ม เด็กจึงเกิดความภูมิใจ จนต่อยอดในกิจกรรมการเรียนรู้อื่นได้ดีขึ้น ปัจจุบัน เดินลงบันไดคล่อง และอ่านและสะกดคำได้แล้ว” ครูจรรยารักษ์ กล่าว

ความภาคภูมิใจของครู

“หลังจากได้ลองแทรกฐานกายเข้ามาในการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้ครูได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง อย่างแรก มุมมองเปลี่ยนไป ครูตระหนักว่าปัญหาภาวะเรียนรู้ถดถอยนั้นไม่ได้เกิดจากตัวเด็ก สิ่งนี้ทำให้ครูศึกษาค้นคว้ามากขึ้นด้วย เพื่อมาหาทางออก อันทำให้เราเข้าใจเด็กเพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็อยากเป็นครูที่เข้าใจเด็ก” ครูจรรยารักษ์ เล่าถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปของตนเอง ก่อนจะเสริมว่า

“ด้านผลลัพธ์ เมื่อเราเห็นเด็กเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ครูก็ดีใจ ทำให้อยากเพิ่มความสังเกต และหาวิธีที่เหมาะสมในการพัฒนาเด็กรุ่นต่อไป โดยคงไม่ได้เน้นแค่เพียงฐานกาย แต่จะแทรกการเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาเด็ก โดยให้เด็กมีความสุข และครูก็สนุกกับการสอน” 

ครูจรรยารักษ์ สมัตถะ
โรงเรียนวัดมุจลินทวาปีวิหาร (เพชรานุกูลกิจ)

ก้าวต่อไป

“สำหรับเป้าหมาย จากที่โรงเรียนได้ดำเนินการฟื้นฟูในเรื่องการเรียนรู้ถดถอย ซึ่งปัจจุบันทำในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ทางโรงเรียนได้วางแผนไว้ว่า ในปีถัดๆ ไป จะขยายไปถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” ผู้อำนวยการกล่าว ก่อนเสริมว่า

“ผลลัพธ์ของการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย โดยเน้นกิจกรรมฐานกาย ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดี นักเรียนพัฒนาในทางที่ดีขึ้น เป้าหมายตอนนี้ของเราจึงเน้นไปที่การรักษาคุณภาพการศึกษา รวมถึงคุณภาพการเรียนการสอนของครู โดยตั้งเป้าให้เกิดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และชอบมาโรงเรียน”

“อีกอย่างที่เป็นเป้าหมายคือ อยากสร้างพื้นที่และบรรยากาศที่เอื้อให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น ซึ่งคิดว่าหากโรงเรียนจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยเน้นฐานกายนำร่อง ต่อยอดไปถึงการพัฒนาด้านอารมณ์ ด้านจิตใจ ด้านสังคม จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนผ่านพื้นที่โรงเรียนได้ โดยที่เราไม่ต้องบังคับแต่อย่างใด และเขาจะเกิดความสุข นั่นคือเป้าหมายที่อยากเห็น”  ผู้อำนวยการกล่าว