“สะกด ‘ร. เรือ’ แบบหันหลัง และเขียนสระ ‘ใ’ ไม้ม้วนแบบหันหัวออก”
เหล่านี้คือสิ่งที่ครูสุมาลี จำนงค์ฤทธิ์ ผู้สอน ป.1 พบเจอเมื่อเด็กเปิดเทอม
แม้ว่าการที่เด็กชั้น ป.1 เขียนพยัญชนะและสระยังไม่ได้ อาจดูเป็นสถานการณ์ทั่วไปของวัยกำลังเรียนรู้ แต่หากพิจารณาอย่างละเอียด นี่อาจไม่ใช่ความปกติเสียทีเดียว
การร้างราจากการเรียนแบบออนไซต์เกือบ 2 ปีเต็มในช่วงโควิดระบาด ส่งผลให้เด็กอนุบาลและเด็กประถมทั้งประเทศเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย เด็กๆ ในโรงเรียนวัดพังยอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เมื่อเปิดเทอมปีการศึกษา 2565 ครูและผู้บริหารโรงเรียนพบว่า เด็กจำนวนไม่น้อยเรียนรู้ช้ากว่าที่ควรเป็น จึงมีการปรึกษาหารือในวง PLC ก่อนจะพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อให้ครูแต่ละชั้นเรียนนำไปปรับใช้ ส่งผลให้ภารกิจฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยคืบหน้าได้ไว และเด็กมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดใน 1 ปีการศึกษา
หัวใจสำคัญที่ช่วยให้เด็กฟื้นฟูการเรียนรู้ได้ไว้ คือ การแทรกกิจกรรมฐานกายให้เด็กได้เรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดูแลด้านวิชาการและด้านจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูในทุกระดับชั้นของโรงเรียนวัดพังยอมยึดถือปฏิบัติ จนเกิดความเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อตัวเด็ก และส่งผลต่อความภาคภูมิใจต่อตัวครู
สภาพปัญหา
โรงเรียนวัดพังยอม เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงชั้น ป.6 ตั้งอยู่ในตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครศรีธรรมราช เด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติ โดยพ่อแม่ออกทำงานนอกพื้นที่ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปและรับจ้างสวนเกษตร สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวจัดอยู่ในกลุ่มยากจนไปจนถึงปานกลาง
ในช่วงโควิดระบาดปี 2563 – 2564 เด็กโรงเรียนวัดพังยอมต้องหันมาเรียนผ่านระบบออนไลน์และออนแฮนด์ (แจกใบงาน) ส่งผลให้เรียนรู้ไม่เต็มที่ เมื่อเปิดเรียนแบบออนไซต์ในปีการศึกษา 2565 จึงพบว่าเด็กบางส่วนเรียนรู้ถดถอย เด็กเล็กชั้น ป.1 และ ป.2 ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ จับดินสอผิดวิธี ทำให้เมื่อยมือเวลาเขียน ยิ่งส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้ ส่วนเด็ก ป.3 – ป.6 แม้จะพบปัญหาน้อยกว่า แต่ก็ยังน่ากังวล ส่วนเด็กอนุบาลเจอปัญหาทรงตัวด้วยการยืนขาเดียวหรือกระโดดขาเดียวไม่ได้ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ช้ากว่าที่วัยนี้ควรจะเป็น
“แรกสุด เรามีการประเมินในแต่ละระดับชั้นก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมีมากน้อยเพียงไหน เมื่อทราบข้อมูลแล้ว จึงทำ PLC ระหว่างครูกับผู้บริหาร ว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ซึ่งการที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ในเด็กเล็ก ป.1-ป.2 เขาต้องมีทั้งความรู้และความพร้อมทางกาย ถ้าเราต้องการส่งเสริมให้เด็กจับดินสอ เขียนอักษร ก.ไก่ ข.ไข่ แต่เด็กยังไม่มีความพร้อมเรื่องกล้ามเนื้อ เขาจะไม่สามารถเขียนได้” ครูเชาวลี ทองสุข ฝ่ายวิชาการโรงเรียนวัดพังยอม บอกเล่า
Learning Recovery
ร่วมมือผลักดันภารกิจ เติมวิชาให้ครู ก่อนต่อยอดเป็นกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาเด็ก
เมื่อเจอสถานการณ์ว่าเด็กมีความไม่พร้อมทางกาย ทางโรงเรียนวัดพังยอมจึงได้หารือกับทางทีมโค้ช ม.อ. อันนำมาสู่การนำเครื่องมือลงพื้นที่เพื่อวัดแรงบีบมือเด็ก จนได้หลักฐานเชิงประจักษ์ ว่าเด็กในโรงเรียนมีกล้ามเนื้อมือไม่แข็งแรง การพบสาเหตุดังนี้ ทำให้โรงเรียนเล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมฐานกาย จนจัดอบรมร่วมกับทีมโค้ช ม.อ. จากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้ครูในแต่ละชั้นเรียนนำความรู้จากการอบรม ไปพัฒนาและเสริมศักยภาพเด็กแต่ละชั้นเรียนตามความเหมาะสมต่อไป
ด้านการต่อยอดเพื่อพัฒนาเด็กนั้น ครูแต่ละชั้นปีนำความรู้ไปต่อยอด รวมถึงสร้างสรรค์ใหม่ เพื่อพัฒนาเด็กนักเรียน ดังนี้
อนุบาล: เน้นการพัฒนากล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กมัดใหญ่
ครูกาญจนา คงแสง โดยเฉพาะด้านการทรงตัว ผ่านการละเล่นดังนี้
- เก้าอี้ดนตรี
- มอญซ่อนผ้า
- ปีนเครื่องเล่นบันไดโค้ง
- เดินซิกแซก
- กระโดดกระต่ายขาเดียว
- เดินถอยหลังโดยไม่ต้องกางมือ
ป.1: เน้นฐานกายเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมือ
ครูสุมาลี จำนงค์ฤทธิ์ ประจำชั้น ป.1 ออกแบบกิจกรรมง่ายๆ แต่สนุกและทำได้สม่ำเสมอ ได้แก่
- กรรไกรตัดกระดาษ โดยให้ตัดเป็นรูปง่ายๆ จนต่อมาขยับเป็นรูปที่ซับซ้อนขึ้น
- ยางยืดหยุ่น นำหนังยางมาประยุกต์ทำได้ง่ายๆ ฝึกให้เด็กได้ใช้นิ้วและมือ กิจกรรมแทรกอยู่ก่อนเข้าวิชาเรียน ระหว่างพักเที่ยง และยามว่างต่างๆ
ป.2: เน้นแพ็กคู่ ทั้งเพิ่มสมาธิและสร้างความแข็งแรง
ครูวรรณิตา ทองเติม ครูศิริพร ยอสิน ประจำชั้น ป.2 ออกแบบกิจกรรมเพื่อต้องการเพิ่มสมาธิ เสริมความแข็งแรง ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์และวางแผนไปในตัว ได้แก่
- วางเหรียญ เพิ่มสมาธิ ช่วยให้เด็กจดจ่อกับเหรียญ ฝึกคิดและวางแผนโดยหาวิธีวางเหรียญไม่ให้ล้มและวางได้นาน โดยการวางเหรียญนี้จะแทรกในกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ทุกวันอังคาร
- กระโดดข้ามรั้ว เพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ทั้งยังได้ฝึกวิธีวางแผน ว่าจะกระโดดอย่างไร ใช้ความเร็วแบบไหน เพื่อไม่ใช้โดนรั้วและไม่ให้รั้วล้ม ทั้งยังต้องกระโดดได้เร็วอีกด้วย
ป.3: เสริมพัฒนาการทางกายและทางจิตใจเด็ก ผ่านปมเชือก
ครูเชาวลี ทองสุข ประจำชั้น ป.3 เลือกกิจกรรมที่ซับซ้อนขึ้น เพื่อท้าทายเด็กโต ขณะเดียวกันก็เน้นพัฒนาการทางกายและทางจิตใจแก่เด็กไปพร้อมกัน ผ่านกิจกรรมและแนวคิดเหล่านี้
- แก้ปมเชือก เป็นกิจกรรมง่ายๆ แต่นอกจากช่วยพัฒนาฐานกายแล้วยังช่วยพัฒนาความคิด เด็กต้องวางแผนว่าจะแก้ปมเชือกอย่างไร ปมเชือกที่แต่ละคนได้รับจะแตกต่างกัน จึงไม่สามารถลอกเลียนกันได้
- เชื่อมโยงกับพัฒนาการจิตใจ การแก้ปมเชือก เป็นความท้าทายต่อเด็ก เราจะเห็นการจัดการภาวะอารมณ์ของเขา เด็กบางคนเมื่อเจอปมปัญหาที่ซับซ้อน เขาจะมือสั่น ร่างกายสะท้อนอารมณ์ ซึ่งครูสามารถช่วยเสริมทักษะตรงนี้ให้เขาได้
ผลลัพธ์
ตลอดปีการศึกษา 2565 โรงเรียนวัดพังยอมได้แทรกกิจกรรมฐานกายให้เด็กได้เรียนรู้ ควบคู่ไปกับการดูแลด้านวิชาการและด้านจิตใจ โดยเปิดกว้างให้ครูแต่ละชั้นเรียนเลือกกิจกรรมได้ตามความเหมาะสม เพราะเข้าใจว่าครูที่ใกล้ชิดเด็ก ย่อมเข้าใจเด็กมากที่สุด ผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลง ได้ออกดอกผลดังนี้
เด็กเล็กทรงตัวได้ตามวัย
เมื่อเปิดเทอมใหม่ๆ เด็กอนุบาลจำนวนไม่น้อยทรงตัวตามวัยไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่แข็งแรง แต่เมื่อเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมเข้าไป เด็กอนุบาลโรงเรียนวัดพังยอมสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น กระโดดขาเดียวได้ วิ่งซิกแซกได้ เดินถอยหลังโดยมือแนบลำตัวได้ เป็นต้น
นอกจากนี้เด็กอนุบาลยังจับอารมณ์ตนเอง และสื่อสารบอกครูได้ เช่น เด็กวิ่งอยู่แล้วเขารู้สึกกลัว ครูถามว่าทำไมเขากลัว เด็กตอบว่า “คุณครูคะ ถุงเท้ามันลื่น” สะท้อนว่า ในระหว่างเล่นหรือวิ่ง เด็กรู้สึกตัวได้ ทำให้เขาเพิ่มความระมัดระวังในการเล่นได้ ซึ่งนี่เป็นอีกทักษะที่เขาพัฒนาขึ้นนอกเหนือจากการทรงตัวได้ดี
เด็กโตเรียนรู้ได้ดีขึ้น
การที่กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง ส่งผลให้เด็กเมื่อยล้าเวลาเขียนตัวอักษร หรือเหนื่อยเวลาต้องนั่งเรียนนานๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว อาจทำให้เด็กหมดกำลังใจที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่เมื่อครูชั้น ป.1-ป.3 โรงเรียนวัดพังยอม ได้แทรกกิจกรรมฐานกาย พร้อมไปกับดูแลด้านวิชาการและใส่ใจจิตใจเด็กมากขึ้น ผลลัพธ์คือ เด็กเขียนอ่านได้ดีขึ้น รู้ทันอารมณ์ตนเอง กระตือรือร้นอยากเรียนรู้ และสนุกกับการมาโรงเรียน
กรณีศึกษา
เกิดนักกีฬาหน้าใหม่จากการที่ครูเปิดโอกาสให้ฝึกฐานกาย
“ในชั้นเรียน ป.2 ครูจะแทรกกิจกรรมกระโดดข้ามรั้วมาให้นักเรียนฝึก เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ซึ่งการกระโดดรั้วนี้ ยังส่งผลให้เด็กมีวินัยในการฝึก รู้จักวางแผนการวิ่งและการกระโดด เพราะต้องกระโดดให้เร็วและไม่ทำรั้วล้ม ซึ่งพอเด็ก ป.2 ทำกิจกรรมนี้ ร่างกายแกนกลางเขาก็แข็งแรงขึ้น ที่สำคัญมีเด็กคนหนึ่งที่ฝึกไปเรื่อยๆ จนทำสถิติการกระโดดและความเร็วได้ดีขึ้นมาก จนเขาผ่านคัดเลือกเป็นนักกีฬาโรงเรียนได้ ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาได้เป็นนักกีฬา คือเขามีวินัย ฝึกซ้อมสม่ำเสมอนั่นเอง”
ความภาคภูมิใจของครู
“แน่นอนว่าช่วงที่เด็กต้องเรียนออนไลน์ในสถานการณ์การระบาดโควิด สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อเขาโดยตรง ทำให้เขาเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย พอเขากลับสู่ชั้นเรียน ครูก็ต้องผจญความท้าทายนี้ร่วมกับเด็ก ซึ่งในฐานะครู พอเราได้รับโอกาสให้ลองใช้วิธีการหลากหลายมาเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็ก พอเขาทำได้ดีขึ้น มีพัฒนาการด้านการเรียนการเขียนการอ่านดีขึ้นมาก ความรู้สึกของครูย่อมเป็นความดีใจและภูมิใจในตัวเด็ก” ครูวรรณิตา ทองเติม ตัวแทนครูโรงเรียนวัดพังยอม สะท้อนความรู้สึกให้ทราบ
ก้าวต่อไป
“โรงเรียนวัดพังยอมได้วางแผนและดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา 3 ข้อดังนี้
1.โรงเรียนจะพูดเสมอว่า คุณครูอย่าหยุดพัฒนาตนเอง หากมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านการศึกษา โรงเรียนจะส่งเสริมให้ครูทุกคนได้รับการพัฒนา เพราะเมื่อครูพัฒนาและมีทักษะเพิ่มแล้ว ครูสามารถเลือกได้ว่าจะนำความรู้และกิจกรรมแบบไหนมาใช้กับเด็ก
2.โรงเรียนกำลังมุ่งเน้นในเรื่องของจิตใจเด็ก โดยเน้นกิจกรรมจิตตปัญญา ซึ่งครูสามารถเลือกกิจกรรมจิตตปัญญาไปพัฒนาเด็กในแต่ละชั้นเรียนที่ครูดูแลได้ โดยสามารถแทรกเข้าไปในช่วงเช้า พักกลางวัน หรือในรายวิชาสอน
3.กระบวนการสอน จากที่โรงเรียนวัดพังยอมได้เรียนรู้กับทีมโค้ช ม.อ. เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ในองค์ความรู้ด้านกระบวนการวิทย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะคิดวิเคราะห์ เมื่อครูได้รับองค์ความรู้ ครูจะนำกระบวนการวิทย์นี้ไปต่อยอดกับเด็กต่อไป
นี่คือเป้าหมายและแผนการที่ได้ดำเนินไปแล้ว และยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาคุณภาพการจัดการศึกษาให้เกิดประโยชน์แก่เด็กนักเรียนสูงสุด” ครูเชาวลี ทองสุข ฝ่ายวิชาการโรงเรียนวัดพังยอม บอกเล่าปิดท้าย