คลุกวงในกับเส้นทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากโรงเรียนวัดดอนโฆสิตาราม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

คลุกวงในกับเส้นทางฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากโรงเรียนวัดดอนโฆสิตาราม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

โรงเรียนวัดดอนโฆสิตาราม เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 102 คน มีครูจำนวน 6 คน แต่มีห้องเรียนทั้งหมด 8 ห้อง นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียนที่กำลังเผชิญอยู่ คือ ครูไม่ครบชั้น ทำให้ห้องเรียนอนุบาลไม่มีครูสอน 

โรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยการให้ครูธุรการเข้าสอนชั้นอนุบาล ส่วนครูท่านอื่นๆ มีจำนวนชั่วโมงสอน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นชั่วโมงการทำงานที่เยอะมาก บวกกับสภาพครอบครัวของนักเรียน 80 % ของผู้ปกครองประกอบอาชีพชาวสวนและรับจ้างทั่วไป จึงไม่มีเวลามาสอนการบ้านให้กับลูกๆ  ภารกิจทุกอย่างจึงตกเป็นหน้าที่ของคุณครูเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ข้อดีคือด้วยจำนวนนักเรียนที่น้อย ครูสามารถดูแลเด็กๆ ได้ทั่วถึง ทำให้เห็นพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่มีการปิดเทอมยาวในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 

และนี่คือเส้นทางการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จากโรงเรียนวัดดอนโฆสิตาราม ที่ถูกถอดบทเรียนไว้ในบทความนี้แล้ว

สภาพปัญหา

1. นักเรียนเกือบ 100% อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้ จากการประเมินแบบคัดกรองการอ่านออกเขียนได้ พฤติกรรมที่สังเกตเห็นคือ นักเรียนหลงลืมสระ และนักเรียนอ่านสะกดคำไม่ออก 

2. นักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป พูดคำหยาบกับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นช่วงพักเที่ยง หรือพูดในที่สาธารณะ อย่างเช่น ในวัด จนกระทั่งพระคุณเจ้าและผู้ปกครองมาฟีดแบ็กกับครูว่านักเรียนพูดจาไม่เพราะเลย ซึ่งเป็นคำสบถที่ใช้ในเวลาเล่นเกม 

3. นักเรียนบางคนมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สังเกตจากอาการที่อยู่ไม่นิ่ง และหลงลืมสิ่งที่สอนอย่างรวดเร็ว 


Learning Recovery

จากปัญหาที่พบ ผู้อำนวยการและครูทั้งโรงเรียนจึงตั้งเป้าหมายร่วมกันในการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย โดยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟู คือ การอ่านออก-เขียนได้ ทำควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทักษะอารมณ์และสังคมของนักเรียน ดังนี้

1. ประเมินการอ่านออก-เขียนได้ของนักเรียนทุกเดือน 

ในปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา โรงเรียนมีแผนฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีการเก็บสะสมผลงานการอ่านออกเขียนได้ มีการอ่านซ่อมเสริมทุกครั้ง ซึ่งแตกต่างการประเมินอ่านออกเขียนได้จากที่เคยทำมา เมื่อก่อนครูจะประเมินนักเรียนแค่ภาคเรียนละ 1 ครั้ง แต่ ณ ปัจจุบันครูจะต้องประเมินการเรียนรู้และการอ่านของนักเรียนเข้มข้นและถี่มากขึ้น กลายเป็นประเมินทุกเดือน หรือทุกหน่วยการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถติดตามพัฒนาของเด็กได้อย่างต่อเนื่อง 

เช่น การใช้บัญชีคำพื้นฐาน ที่เป็นแบบฝึกหัดให้นักเรียนฝึกอ่าน หลังจากนั้น นักเรียนจะได้คัดตาม และเขียนตามคำบอก เป็นการเพิ่มระดับความยากของการอ่านและเขียนขึ้นไป ซึ่งหลังจากใช้บัญชีคำพื้นฐานแล้ว ครูจะรู้เลยว่านักเรียนมีพัฒานาการดีขึ้นหรือไม่ อ่านคำไหนได้หรือไม่ได้ หรือจะต้องกลับมาอ่านซ้ำที่คำไหน ครูจะได้ช่วยนักเรียนแก้ปัญหาได้ถูกจุด

2. ทำประเด็นท้าทายใน วPA ควบคู่กับการบูรณาการเรื่องการอ่านออกเขียนได้ 

ผู้บริหารคนก่อนมีนโยบายเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โดยให้ครูทำประเด็นท้าทายควบคู่กับการพัฒนานักเรียนเรื่องการอ่านออกเขียนได้ไปด้วย ทำให้ครูมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนา เพราะถ้านักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ นักเรียนจะไม่สามารถเรียนวิชาอื่นๆ ได้เลย เช่น เราทำประเด็นท้าทายในวิชาวิทยาศาสตร์ โดยมีธีมเรื่อง อาหาร ครูได้จัดทำแบบฝึกสำเร็จรูป 1 เล่ม ที่มีการทดสอบเรื่องการอ่านและเขียน โดยอิงจากธีมเรื่องอาหารอยู่ในนั้น เป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาให้ใกล้ตัวเด็กมากขึ้น เพิ่มคลังคำศัพท์ที่นอกเหนือจากวิชาภาษาไทยที่ได้เรียนอยู่แล้ว เพิ่มสีสันในเล่มเพื่อให้เด็กรู้สึกอยากเรียนมากยิ่งขึ้น โดยที่นักเรียนจะต้องทำแบบฝึกสำเร็จรูปนี้จนกว่าจะจบ 1 บท แล้วนำมาส่งครู อีกทั้งการมีนโยบายนี้ทำให้ทั้งครูและนักเรียนได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งคู่ (Win-Win Situation) เพราะว่าครูจะต้องทำวิทยฐานะเพื่อเลื่อนขั้นอยู่แล้ว และเด็กก็จะได้พัฒนาการอ่านภาษาไทยในรูปแบบอื่นๆ ด้วย 

3. การจัดค่ายวิชาการ และจัดค่ายคุณธรรม คนคุณธรรม 

โรงเรียนมีการจัดค่ายวิชาการ จำนวน 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้เรียน แต่ไม่ต้องเครียด ได้ความรู้และมีความสุขในการเรียนรู้ด้วย โดยที่ครูได้พาวิทยากรภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ นำนักศึกษาครูและชาวต่างชาติมาจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียน โดยกิจกรรมได้ช่วยพัฒนาทั้งในแง่ของวิชาการ และการพัฒนาทักษะสังคมกับผู้อื่น  

นอกจากนี้ การจัดค่ายที่ชื่อว่า “ค่ายคุณธรรม คนคุณธรรม” ก็ได้ช่วยลดพฤติกรรมที่เด็กพูดคำหยาบ ผ่านการใช้กลไกประธานนักเรียน โดยมีวิธีการคือ ครูพาประธานนักเรียนและน้องๆ มาร่วมกันคิดว่า โรงเรียนของเรามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เด็กๆ ก็บอกว่า เรื่องขยะ เรื่องไม่เก็บรองเท้า เป็นต้น แต่มีเด็กบางคนพูดออกมาว่า ปัญหาเรื่องคำหยาบ หลังจากนั้นก็มีการออกแบบแผนการแก้ไขมาเป็น Mind Mapping และได้สร้างกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกขึ้นมา เช่น บอร์ดชื่นชมคนเก่งประจำเดือน มีการติดสติ๊กเกอร์คนที่ไม่พูดคำหยาบ และมีการจัดเวทีคนเก่ง เพื่อเป็นการเสริมแรงให้เด็กๆ ในโรงเรียนมีพฤติกรรมเชิงบวกที่ดีขึ้น โดยมีรุ่นพี่ประธานนักเรียนคอยติดตามน้องๆ 

4. จัดการเรียนรู้แบบรายกลุ่ม หรือรายบุคคล 

ตั้งแต่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย ยิ่งทำให้ครูต้องรู้จักเป็นรายบุคคลเป็นมากยิ่งขึ้น เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน มีความสามารถที่แตกต่างกัน และครูต้องสามารถประเมินผลนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ โดยครูอาจจะแบ่งนักเรียนออกมาเป็น 3 กลุ่ม โดยที่ไม่ได้บอกให้นักเรียนให้รู้ว่าเขากำลังถูกแบ่งกลุ่มอยู่ และหลังจากนั้นก็เตรียมการสอนที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละกลุ่ม เช่น 

กลุ่มแรกคือกลุ่มเด็กที่ต้องการพัฒนามาก หรือมีความล่าช้ากว่านักเรียนคนอื่นๆ เยอะ สิ่งที่ครูจะต้องทำสำหรับเด็กกลุ่มนี้คือ ลด หรือตัดทอนเนื้อหาของแบบฝึกหัดออกไปก่อน เหลือไว้แค่เพียงประเด็นสำคัญและจำนวนข้อแบบฝึกหัดน้อยๆ เพื่อให้เขาค่อยๆทำความเข้าใจและตามเพื่อนได้ทัน บทบาทของครูสำหรับเด็กกลุ่มนี้คือ การประกบติดชิดใกล้ ทำให้เขาผ่อนคลายเมื่อครูอยู่ใกล้ และใช้เวลาอยู่กับเขามากๆ 

กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่พอจะมีพื้นฐานอยู่บ้าง จะใช้วิธีเพื่อนช่วยเพื่อน โดยขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่ทำได้แล้ว ไปช่วยสอนเพื่อนเพิ่มเติม 

กลุ่มที่สามคือกลุ่มเด็กที่มีความสามารถ ครูต้องเสริม เพิ่มเติมเนื้อและแบบฝึกหัดให้เขา ถ้าเขาทำเสร็จเร็วกว่าเพื่อน 

นอกจากนี้ สำหรับเด็กกลุ่มนี้ มีเครื่องมือที่ครูสามารถใช้ส่งเสริมความสามารถของเขาได้ก็คือ เครื่องมือสำรวจแววผู้มีความสามารถพิเศษ แต่ข้อคำนึงที่ครูจุฑารัตน์ฝากไว้สำหรับการใช้เครื่องมือนี้คือ “ครูจะต้องไม่ใช้เครื่องมือนี้ในการตัดสินความสามารถของเด็กแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเครื่องมือจะมีลักษณะคำถามบางข้อที่ตอบใช่ หรือไม่ใช่  ซึ่งเป็นคำถามปลายปิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะใช้เครื่องมือ ครูจะต้องรู้จักนักเรียนก่อน และพูดคุยกับนักเรียนให้มากที่สุดเกี่ยวกับความชอบและความถนัดควบคู่กับการใช้เครื่องมือไปด้วย ถึงจะเป็นวิธีการที่เหมาะสม” 

5. ประสานงานกับผู้ปกครอง 

สื่อสารความเป็นจริงที่เกิดกับนักเรียน และช่วยหาทางแก้ไขจะสามารถช่วยเหลือนักเรียนได้ทันท่วงที 

ครูจุฑารัตน์ยกกรณีตัวอย่างให้ฟัง “เด็กหญิงพิยะดา วงศ์นามสันต์ ช่วงปี 64 ที่ต้องเรียนออนไลน์ นักเรียนคนนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้เหมือนเพื่อน เนื่องจากฐานะยากจน ครูจึงเข้าไปขอความร่วมมือกับผู้ปกครอง และผู้ปกครองให้ความเข้าร่วมมือ แต่ติดเงื่อนไขว่าผู้ปกครองสามารถสอนหนังสือและทำกิจกรรมร่วมกับน้องได้ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เลิกงานของครูแล้ว แต่พอมองไปที่ผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำว่า จะเกิดประโยชน์อะไรกับนักเรียน ครูก็ยินดีที่จะทำ โดยมีหน้าที่จัดเตรียมสื่อการสอนให้ และหลังจากเปิดเทอมมา นักเรียนคนนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ทำให้สอบ NT (การสอบ National Test) ระดับชั้นป.3 วิชาภาษาไทยได้เต็ม 100 คะแนน เป็นคะแนนที่มากที่สุดในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจมาก เรารู้สึกดีที่ได้ช่วยเหลือนักเรียนและสามารถการันตีได้เลยว่าเมื่อผู้ปกครองกับครูร่วมมือกัน จะสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนได้จริง”


ความภาคภูมิใจของครู

ความภาคภูมิใจของครู คือ เวลาเห็นผลสอบปลายภาคหรือข้อสอบส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น NT หรือ ONET พบว่านักเรียนได้คะแนนดี สิ่งนี้การันตีว่าเขามีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ครูถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว” 

1. เด็กมีผลลัพธ์ด้านวิชาการที่ดีขึ้น 

จากเด็กร้อยละ 80 ที่ได้รับการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ณ ปัจจุบัน รายงานสรุปการดำเนินงาน ปี 2565 พบว่า นักเรียนร้อยละ 92 มีการอ่านออก เขียนได้เพิ่มมากขึ้น ถือว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จนับจากปีแรกที่ได้เริ่มฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน” 

โดยมีการวัดผลสัมฤทธ์จากการเรียน ข้อสอบกลาง และผลจากแบบคัดกรองการอ่านออกเขียนได้ของเขตพื้นที่ นอกจากนี้ ในวิชาคณิตศาสตร์ มีกรณีตัวอย่างของนักเรียนชื่อ เด็กชายณัฐพงค์ พัฒนศรีวงค์ เด็กคนนี้สูญเสียความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไปช่วงที่ปิดเทอมนานๆ เขาหลงลืมวิธีการตั้งหลักการคูณ และการหารไป แต่พอครูกลับใช้วิธีการสอนแบบ Active Learning ให้เด็กเรียนรู้จากกิจกรรม ได้ลงมือทำจริง ฝึกทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ทำให้นักเรียนคนนี้ได้กลับมาเข้าใจบทเรียนมากขึ้น จากสอบเคยได้ 5 คะแนน ตอนนี้ได้ 15 คะแนนแล้ว 

2. เด็กกล้าพูด กล้าถามและอยากมาโรงเรียนมากขึ้น

 การที่ครูไม่ตำหนิในสิ่งที่เขาถามหรือตอบช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของเขามากขึ้น ครูจุฑารัตน์เล่าให้ฟังว่า 

มีนักเรียนคนหนึ่ง ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ชั้น ป.2 ไม่อยากมาโรงเรียน พอปีที่เขาได้มาอยู่ห้องเรา เขามาโรงเรียนทุกวัน เมื่อก่อนต้องไปตามถึงบ้าน แต่ตอนนี้ดูเขามีความสุขมากขึ้น จากเด็กไม่ค่อยพูด ตอนนี้พูดเก่งมาก กล้าพูดมากขึ้น เขากล้าพูดให้เราฟังว่า “หนูอ่านไม่ออก”  เพราะเราอาจจะเป็นครูใจดีที่เด็กกล้าเข้าหา และบอกปัญหาได้ แต่ถ้าเราดุเด็กว่า “ทำไมถึงไม่อ่าน อ่านสิ!” เด็กก็จะไม่ตอบเพราะว่ากลัว ซึ่งครูบางคนก็ยังเป็นอยู่ แต่เด็กของเรากล้าพูดว่า “ไม่รู้ว่ามันคือสระอะไร” เมื่อเด็กกล้าถาม เขาจะมีความมั่นใจ มีตัวตน และอยากมาโรงเรียนมากขึ้น เพราะเราไม่เคยตำหนิในคำตอบหรือคำถามของเขาเลย” 

ก้าวต่อไป

โรงเรียนวางแผนและระบบการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กิจกรรมของโรงเรียนดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าผู้บริหารจะย้ายไปแล้วก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ครูก็เห็นผลจากสิ่งที่ทำว่าการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยช่วยเหลือเด็กนักเรียนได้จริง ผู้ปกครองก็ส่งฟีดแบ็กที่ดีกลับมา ทำให้ในอนาคตอาจจะมีเด็กนักเรียนอยากมาเรียนที่โรงเรียนนี้เพิ่มมากขึ้น 

ก่อนที่ผู้บริหารจะย้ายไป ท่านได้วางระบบและสื่อสารกับครูว่า “ในปีการศึกษานี้ ขอให้ครูทุกคนทำแบบประเมินการอ่านเขียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีการสอนซ่อมเสริมให้เด็กทุกเดือน” นอกจากนี้ ผู้บริหารได้ริเริ่มการทำแบบบันทึกพฤติกรรมจากบ้านไปสู่โรงเรียน แบบบันทึกนี้จะช่วยให้ครูและผู้ปกครองช่วยกันสังเกตเห็นการเรียนรู้ของนักเรียน จะได้ช่วยกันพัฒนาได้อย่างถูกจุด และต้องมีการเยี่ยมบ้านครบ 100% เพื่อคงความต่อเนื่องของการฟื้นฟูความรู้ถดถอยให้แก่นักเรียน