เคสฟื้นฟูที่ท้าทาย แต่ไม่ท้อถอย Learning Recovery ที่จริงใจ ของโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุบราษฎร์นุสรณ์) อำเภอ บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

เคสฟื้นฟูที่ท้าทาย แต่ไม่ท้อถอย Learning Recovery ที่จริงใจ ของโรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุบราษฎร์นุสรณ์) อำเภอ บ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร

โรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุบราษฎร์นุสรณ์) เป็นโรงเรียนขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2-มัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีนักเรียนประมาณ 600 คน มีครู 30 คน จำนวนครูครบชั้น แต่ปัญหาของโรงเรียนนี้คือ ครูประจำวิชาไม่ครบ เช่น ครูเลขมี 3 คนทั้งโรงเรียน ทำให้เกิดปัญหาครูสอนไม่ตรงเอกที่จบมาเยอะ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของคุณครู อีกทั้ง ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดนี้ ทำให้ไม่มีเวลามาสอนการบ้านลูก และบางครั้งนักเรียนต้องย้ายตามผู้ปกครอง จึงส่งผลให้การเรียนรู้ของนักเรียนไม่มีความต่อเนื่อง

แม้จะเจอความท้าทาย แต่ด้วยใจมุ่งมั่นที่ไม่ท้อถอยของทั้งโรงเรียน ทำให้โรงเรียนวัดยกกระบัตร (ชุบราษฎร์นุสรณ์) ได้พบแนวทางการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย จนทำให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น และในบทความนี้ได้เรียบเรียง Learning Recovery ที่จริงใจของโรงเรียนไว้ดังนี้

สภาพปัญหา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้นักเรียนต้องเรียนออนไลน์ ถึงแม้ว่าในช่วงที่เรียนออนไลน์นั้น ครูทุกคน รวมถึงครูณัฐฐาพร วงษ์คำ (ครูกุ้ง )ครูประจำชั้นป.3 ได้พยายามทุ่มเท ให้ความรู้ที่มีแก่นักเรียนไปเท่าไหร่ แต่เมื่อเปิดเทอมมากลับพบว่า ‘ทุกอย่างที่สอนไปต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หมด’ ครูณัฐฐาพรกล่าวว่า “เด็กประถมอย่างแรกคือต้องอ่านได้ และคิดคำนวณเป็น เราคาดหวังว่าเด็กต้องคำนวณได้ แต่พอเปิดมาสิ่งที่เราต้องเจอคือ อะไรที่เคยไปตอนเรียนออนไลน์ เปิดเทอมมาคือต้องตั้งต้นใหม่ เริ่มจากศูนย์ จากที่เราตั้งเป้าหมายจะต้องได้สอนต่อเนื่อง แต่เราต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่” 

นอกจากความรู้ด้านวิชาการของนักเรียนถดถอยแล้ว พฤติกรรมของนักเรียนก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “เด็กไม่มีระเบียบวินัย พอเปิดเทอมมาแล้วอาการหนัก อาการหนักที่ว่า คือ ซนมากกว่าปกติ พูดไม่ฟัง คำสั่งแรกไม่ฟัง ต้องย้ำถึง 3 ครั้งจะฟัง ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนตรงที่ว่า เด็กมาโรงเรียน เขาจะรู้ว่า 8.00 น. ต้องเข้าแถว แต่พออยู่บ้านนานๆ ทำให้เด็กมาไม่ทันเข้าแถว เพราะยังไม่ตื่นนอน มาสายมาก 9.00-10.00 น. บางคนก็ไม่มาเลย แล้วผู้ปกครองก็ตามใจ เลยพยายามคุยกับผู้ปกครองว่าสายยังไงก็ให้มา เพราะอยู่บ้านก็ไม่ได้เรียน” 

จากปัญหาที่พบ ครูณัฐฐาพรจึงตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียนทั้งหมด 2 ด้าน ด้านที่ 1 คือ ด้านวิชาการในวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนด้านที่ 2 คือ ด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียน ดังนี้ 


Learning Recovery

1.ย้อนทวนเนื้อหาเก่าที่ง่าย เพื่อกระตุ้นการต่อยอดเนื้อหาใหม่ 

ตั้งแต่เปิดเทอมมา ครูตั้งความหวังว่าจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาต่อเนื่องจากการเรียนออนไลน์ แต่เมื่อพบว่านักเรียนจดจำสิ่งที่สอนไม่ได้เลย ทำให้ต้องเริ่มต้นสอนใหม่ ซึ่งครูจึงได้ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์โดยใช้วิธีการย้อนทวนเนื้อหาเก่าที่ง่ายก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนรู้สึกอยากเรียน ยกตัวอย่าง จากเดิมนักเรียนชั้นป.3 ต้องเรียนเลขจำนวนไม่เกินกว่าหลักแสน แต่ครูจะต้องพานักเรียนย้อนทวนเนื้อหาจากหลักร้อยก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับความยากขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าปกติ แต่เราต้องย้ำจนกว่าเขาจะทำได้ ไม่อย่างนั้นจะต่อยอดต่อไปไม่ได้เลย

2.ใช้เกมเพื่อดึงความสนใจของนักเรียน

จากเดิมที่เคยสอนเน้นให้ทำแบบฝึกหัดเยอะๆ แต่หลังจากเกิดโควิดมา ในวิชาคณิตศาสตร์ของเราเปลี่ยนมาเล่นเกมมากขึ้น เนื่องจากเด็กอยู่บ้านนาน ทำให้เขาขาดความสนใจในการเรียน และการจดจ่อในสิ่งที่เรียนก็ไม่เท่าเดิม ดังนั้น ครูจึงต้องหาเกม เช่น เกมบิงโก เกมบันไดงู มาดึงดูดความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กไม่เบื่อกับการเรียน และเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เรียนด้วย

3.ทำแบบฝึกหัดเสริมเพิ่มมากขึ้น 

จำนวนข้อในแบบฝึกของหนังสือเรียนปกติไม่เพียงพอ สำหรับเด็กที่หยุดเรียนไปนานๆ เพราะเด็กกลุ่มนี้จะต้องได้ผ่านกระบวนการของการคิดย้ำ และทำบ่อยๆ การที่ได้งบสนับสนุนจากกสศ. โรงเรียนก็ได้นำมาจัดทำแบบฝึกทักษะออกมาเป็น 4 เล่ม ได้แก่ การบวก การลบ การคูณ และการหาร นักเรียนทุกคนจะได้ทั้งหมด 4 เล่ม โดยที่ครูจะต้องย้ำซ้ำทวนบ่อยๆ พอเขาทำได้แล้ว เราก็เอาเกมเข้ามาแทรกกับเนื้อหาที่เรียนในห้องปัจจุบัน นักเรียนก็จะมีส่วนร่วมกับห้องเรียนมากขึ้น เขาจะไม่รู้สึกว่าตามเพื่อนไม่ทัน

4.แบบฝึกหัด 5 ข้อก่อนเข้าเรียน 

ในทุกๆ วันก่อนที่จะเริ่มเรียนวิชาแรก ครูจะขึ้นโจทย์ที่หน้ากระดานในวิชาเลขทุกครั้ง เพื่อฝึกกระบวนการคิดจากการตอบโจทย์ปัญหาทุกเช้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการให้นักเรียนทำโจทย์เพิ่ม แต่หลังจากที่เปิดเทอมมา ครูอยากสร้างนิสัยให้นักเรียนได้ฝึกคิดทุกวันตอนเช้าจนเกิดความเคยชิน วันไหนที่ไม่ได้ขึ้นโจทย์ นักเรียนก็จะเดินมาถามว่า ‘วันนี้มีโจทย์อะไรบ้าง’ และเขาก็จะตีเส้นหน้ากระดาษรอให้เราขึ้นโจทย์ ยิ่งพอเขาได้ลงมือทำบ่อยๆ เขาก็จะชำนาญการคิดเลขมากขึ้น 

5.ทำให้คณิตศาสตร์เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

แนวคิดของวิชาคณิตศาสตร์ค่อนข้างเป็นนามธรรม เช่น การยืม ครูมักบอกเด็กๆว่าให้ยืมมา ซึ่งจริงๆ เด็กไม่เข้าใจว่า “ยืม” คืออะไร ครูจึงออกแบบสื่อใน Learning Box ให้เป็นรูปแบบที่เด็กจับต้องได้ เช่น เราสอนเรื่องการกระจาย เราจะมีสื่อกระดาษรูปกล่อง 1 ใบใหญ่ และจะมีรูปกล่องเล็กๆ อีก 10 ใบ ใช้คู่กัน เด็กก็จะได้จับและนับกล่องกระดาษตามโจทย์ที่เรากำหนดให้ โดยที่ไม่ใช่แค่เขียนคำตอบลงสมุดเท่านั้น แต่เรามีสื่อให้เด็กจับต้องได้ ช่วยเพิ่มเรื่องกระบวนการคิดให้เป็นขั้นตอนมากขึ้น

6.ใช้สื่อใน Learning Box

 โรงเรียนเรียกว่า Math Box ในกล่องประกอบไปด้วย เกมบันไดงู เรื่องการบวกลบคูณหาร เกมบิงโกคูณหาร และเป็นสื่อกระดาษที่สอนเรื่องแยกหน่วย และการกระจาย นอกจากนี้ ยังมีเชือกกระโดดเพื่อฟื้นฟูการถดถอยของร่างกายด้วย โดยมีหลักการการเลือกสื่อ คือ จะเลือกสิ่งที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน เป็นพวกเกมต่างๆ เช่น รูบิค บิงโก หรือโดมิโน่ เป็นการให้นักเรียนเรียนปนเล่น เพราะเด็กจะรู้สึกว่าการเรียนรู้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด เหมือนเขาได้เรียนรู้โดยที่ไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือ เด็กจะสามารถจดจำเนื้อหาได้ โดยไม่ได้รู้สึกเครียด

7.นั่งสมาธิก่อนเข้าเรียน

จะให้นั่งสมาธิที่ไม่ใช่แค่หลับตาเฉยๆ แต่จะให้นักเรียนสังเกตลมหายใจเข้าและออกตัวเอง เพื่อให้เขาสงบและสามารถกำกับตัวเองได้ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มเรียนในแต่ละวัน 

8.จัดรูปแบบการเรียนเป็นกลุ่มมากขึ้น 

จากสถานการณ์โควิดที่นักเรียนไม่ได้เจอเพื่อน ทำให้เมื่อเปิดเทอมครูจะพยายามให้นักเรียนนั่งเรียนด้วยกันเป็นกลุ่ม เพื่อให้ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมของเขาได้ชัดเจนขึ้น เช่น เขาสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนได้ไหม เขาช้ากว่าเพื่อนหรือเปล่า เพื่อนสามารถสอนการบ้านได้ไหม เป็นต้น และหลังจากนั้น เราจึงต้องจัดกลุ่มใหม่ เพื่อแยกว่ากลุ่มไหนเรียนได้ หรือกลุ่มไหนยังต้องพัฒนาด้านใดอีก ทำให้ครูเข้าถึงเด็กได้มากขึ้น 


ความภาคภูมิใจของครู

1.นักเรียนมีพัฒนาด้านภาษาและคณิตศาสตร์ที่ดี 80% เมื่อเปิดเทอมมาช่วงแรกนักเรียนทุกคนต้องเริ่มจากศูนย์พร้อมกันเกือบทั้งหมด มีนักเรียนเป็นบางคนเท่านั้นที่ไม่ต้องเริ่มใหม่ ครูณัฐฐาพรได้ยกตัวอย่าง “เด็กชายวราวุธ สามัญ จากเดิมคือตั้งหลักตัวเลขไม่ได้ ไม่รู้เรื่องการบวกและลบเลย แต่หลังจากที่ได้ดำเนินการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย โดยให้เขาทำแบบฝึกทักษะบวกลบเลขบ่อยขึ้น จนนักเรียนสามารถทำได้ และทำได้ดีมากด้วย จนตอนหลังเขารักในวิชาคณิตศาสตร์ไปเลย” 

2.นักเรียนรู้สึกอยากที่จะเรียนรู้  และชอบที่จะเรียน สมมติวันไหนที่ครูติดธุระ จะมีเด็กนักเรียนเดินมาตามให้ขึ้นโจทย์กระดาน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกชื่นใจมาก “มันชื่นใจมาก เมื่อเด็กที่เราสอนเขาสามารถทำได้ และพอทำได้เขาก็จะมีความสุขกับการเรียนเลข เราเลยรู้สึกดีที่ทำให้เด็กที่ไม่ชอบเลข กลับมาชอบเลขได้ทั้งที่เราไม่ใช่ครูเลข เด็กเดินมา

บอกว่า ‘ครูหนูอยากเรียนเลขจังเลย’ มันทำให้เรารู้สึกปลื้มใจ มันรู้สึกดีที่เด็กมาตาม เพราะเราสามารถทำให้เขารู้สึกว่าเลขเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำของเขา ซึ่งเรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำประสบความสำเร็จแล้ว” 

ก้าวต่อไป

ครูณัฐฐาพรยังคงมีปณิธานกับตัวเองว่า จะยังคงรักษาคุณภาพการสอนของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยให้นักเรียนได้เรียนปนเล่น ผ่านการใช้สื่อต่างๆ ที่ได้รับการสนุบสนุนจากกสศ. เช่น Learning  Box จนกระทั่งทุกวันนี้ เด็กรุ่นปัจจุบันก็ยังคงใช้งานอยู่ เพราะการพัฒนาด้านการเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันจบสิ้น 

“ถ้าไม่มีโควิด เราคงไม่สอนแบบนี้ เพราะปัญหาของเด็กคงไม่เยอะขนาดนี้ เด็กเข้าใจยากขึ้น เราเลยต้องหาอะไรที่ทำให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น อยากเปลี่ยนให้เด็กหนึ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ให้มีความอยากรู้ อยากที่จะเรียน และรักที่จะเรียนรู้มากขึ้น และเราเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพและสามารถทำได้ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของตัวเอง เหมือนกับตัวเองที่ไม่ได้จบเลขมา แต่สามารถสอนเลขได้ เพราะการเป็นครูนั้นต้องหมั่นพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ” ครูณัฐฐาพรกล่าว