ปลดล็อกและฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย เรื่องราวชวนใจฟู จากโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ปลดล็อกและฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย เรื่องราวชวนใจฟู จากโรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาคร เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด และเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 2,000 กว่าคน เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล 2 – ประถมศึกษาปีที่ 6 มีครูทั้งหมด 80-100 คน และแน่นอนว่า โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครพบความท้าทายเรื่องการเรียนรู้ถดถอยไม่ต่างจากโรงเรียนอื่นๆ ในจังหวัดเช่นกัน  

ด้วยเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ แต่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน นักเรียนส่วนใหญ่จึงต้องอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นหลัก ซึ่งปู่ย่าหรือตายายก็ไม่มีความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยี ไม่รู้วิธีในการเข้าเรียนออนไลน์ ทำให้นักเรียนเกิดช่องว่างทางการเรียนรู้ เด็กเรียนไม่ต่อเนื่อง การเรียนรู้หยุดชะงักไปในช่วงปิดภาคเรียนจากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา

ดังนั้น หลังจากเปิดเทอม โรงเรียนอนุบาลสมุทรสาครจึงมุ่งเน้นฟื้นฟูการเรียนรู้ที่ถดถอยอย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมายว่า “เปิดเทอมใหม่นี้ เราจะสอนแบบเดิมไม่ได้” และในบทความนี้ได้ถอดบทเรียนการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอยของโรงเรียนไว้ดังนี้


Learning Recovery

ครูสุทธิลักษณ์ ตรองใจ  ซึ่งเป็นครูระดับชั้น ป.3 และสอนวิชาภาษาไทย ได้มีบทบาทในการหาแนวทางการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย โดยได้วิเคราะห์ ปลดล็อก และทำการฟื้นฟูดังต่อไปนี้ 

1.วางแผนการสอนและหลักสูตรใหม่ 

“จากเดิมที่จะเริ่มต้นสอนเนื้อหาที่อยู่ในระดับสมวัยของป.3 เราต้องปรับเนื้อหาใหม่ สำหรับกลุ่มเด็กที่มีการเรียนรู้ถดถอย โดยเริ่มปรับจากแผนการสอนเลย เช่น เนื้อหาในแผนการสอนจะต้องย้อนถอยลงมาเป็นเนื้อหาของระดับชั้นป.2 ในช่วงแรกๆ และค่อยเพิ่มระดับความยากขึ้นเป็นเนื้อหาของชั้นป.3 เมื่อมั่นใจว่านักเรียนสามารถทำได้แล้ว”

เหตุผลที่จะต้องปรับเนื้อหา เพราะว่านักเรียนส่วนใหญ่ ประมาณ 30 คนจากนักเรียน 40 คน ทำไม่ได้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องการให้เด็กมีส่วนร่วม เด็กต้องมีความรู้สึกอยากมาโรงเรียนก่อน เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่เด็กรู้สึกว่าเนื้อหายาก เขาจะไม่อยากมีส่วนร่วม ไม่อยากโรงเรียน และเราจะไม่สามารถช่วยเหลือเขาได้เลย

2.การประเมินการอ่าน การเขียน 

ครูจะใช้แบบประเมินการอ่านออก เขียนได้ จากหน่วยงานสพฐ. ร่วมกับข้อสอบเก่าของโรงเรียน ซึ่งเนื้อหาในแบบทดสอบนั้น ประกอบไปด้วย การอ่านออกเสียง การอ่านรู้เรื่อง การเขียนคำ การเขียนเรื่อง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า นักเรียนระดับชั้นป.3 มีปัญหาเรื่องการอ่านออก เขียนได้กว่า ประมาณ 100 กว่าคน จากนักเรียนทั้งระดับชั้น 300 คน ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข นอกจากการใช้แบบประเมินการอ่านออกเขียนได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ครูต้องทำอีกอย่างหนึ่ง คือ การสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนควบคู่ไปกับการดูผลลัพธ์จากแบบทดสอบด้วย เพราะนักเรียนบางคนคะแนนอาจจะดูต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ก็สามารถสื่อสารกับครูได้

3.สอนซ่อมเสริมตอนเย็น

การซ่อมเสริมตอนเย็น เป็นการช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออก อ่านไม่คล่อง หรือเขียนไม่ได้ ซึ่งแนวคิดของการสอนซ่อมเสริมตอนเย็น คือ ครูจะต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสนุก ไม่เคร่งเครียดกับสิ่งที่จะต้องอ่าน ไม่อย่างนั้นนักเรียนจะต่อต้านและไม่อยากอ่านหนังสือเข้าไปอีก วิธีการที่ใช้คือ การให้อ่านนิทาน หรือใช้สื่อใน Learning Box แทน

4.ใช้สื่อใน Learning Box เพื่อส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้

หนึ่งในปัญหาที่พบคือ นักเรียนไม่รู้จักสระ ไม่รู้ว่าสระตัวนี้จะต้องออกเสียงอย่างไร ดังนั้น ครูจะต้องเริ่มสอนให้นักเรียนรู้จักพยัญชนะก่อน ต่อมา คือ สระ หลังจากนั้นจึงเป็นเรื่องการผสมคำ ที่เป็นตัวสะกดตามมาตราก่อน แล้วค่อยปรับเปลี่ยนเป็นตัวสะกดตัวอื่น เช่น คำว่า “บาท” นักเรียนจะรู้จักแค่การใช้ตัวสะกด “ด เด็ก” เท่านั้น แต่จะไม่ใช้ “ท ทหาร”

เพราะฉะนั้น ครูจึงใช้สื่อใน Learning Box ที่เรียกว่า “วงล้อผสมคำ” มีลักษณะสีสันสวยงาม สามารถหมุนเปลี่ยนสระ และตัวสะกดได้ นักเรียนที่มีปัญหาเรื่องอ่านไม่ออก เมื่อเล่นวงล้อผสมคำ จะรู้ว่าคำไหนคือประธาน กริยา หรือกรรม ช่วยแก้ปัญหาเรื่องเด็กเขียนหนังสือไม่มีประธานได้ด้วย เช่น เด็กบางคนอยากแต่งประโยคว่า “ฉันมีดินสอ” แต่เขาจะเขียนแค่ “มีดินสอ” ขาดประธาน คือคำว่า “ฉัน” เป็นต้น นอกจากนี้ วงล้อผสมคำ ช่วยให้นักเรียนอยากอ่านมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับการอ่านหนังสือเรียนปกติที่มีขนาดใหญ่และหนา โดยที่ครูมีหลักการเลือกสื่อที่จะไปใส่ใน Learing Box คือ 1. ง่ายกว่าระดับเนื้อหาที่เรียนปกติ 2. มีสีสันเหมาะสมตามช่วงวัย 3. สื่อที่เป็นเกม 4. เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

5.เปลี่ยนจากสอนท่องจำ เป็น Active Learning ในคาบเรียน ครูจะใช้สื่อเทคโนโลยี เช่น ทำพาวเวอร์พ้อยท์เป็นเกม ประเภท WordWall หรือใช้สื่อทำมือมากขึ้น เน้นกิจกรรมที่เด็กได้ลงมือทำเอง เป็น Active Learning  ซึ่งครูสุทธิลักษณ์อธิบายความหมายของคำนี้เพิ่มเติมว่า “Active Learning คือ การที่เด็กได้ลงมือทำและเราเป็นที่ปรึกษา เช่น ถ้าเราสอนเรื่องมาตราตัวสะกด เราจะมีเกมที่เป็นแผ่นติดตีนตุ๊กแก แล้วให้เด็กออกไปติดหรือผสมคำ และแยกมาตราตัวสะกด เด็กๆ สนุกมากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเราจะสอนแบบไม่มีเกมเลย แต่ช่วงโควิดที่พบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องการอ่านและการเขียน เราก็พยายามเข้าอบรมเรื่องเกมการศึกษา เพราะคิดอย่างเดียวว่าจะต้องทำยังไงก็ได้ ให้เด็กกลับมาสนใจครู” ครูสุทธิลักษณ์กล่าว

6.ประสานงานกับผู้ปกครอง เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยพัฒนาทักษะการอ่านออก เขียนได้ของนักเรียน จนเกิดเป็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นชม โดยมีแนวทางต่อไปนี้ 

1. สื่อสารพฤติกรรมที่เป็นจริงและสิ่งที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับนักเรียนให้ผู้ปกครองฟัง
2. นำผลการประเมินจากแบบคัดกรอง หรือแบบทดสอบ ต่างๆ มาเป็นหลักฐานให้ผู้ปกครองเห็นข้อเท็จจริง
3. ออกแบบแนวทางแก้ไขร่วมกันกับผู้ปกครอง เช่น ให้นักเรียนนำ Learning Box กลับไปที่บ้าน และมอบหมายแบบฝึกหัดให้นักเรียนทำเพิ่มเติม
4. มีการติดตามร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ครูขออนุญาตให้ผู้ปกครองอัดวิดีโอการอ่านของนักเรียนมาให้ครูดูพัฒนาการทุกครั้ง


นักเรียนสามารถอ่านออกเขียนได้ การเรียนรู้ได้ถูกฟื้นฟูให้กลับมาเหมาะสมตามช่วงวัย 

ครูสุทธิลักษณ์เล่าว่า “เป็นเคสของนักเรียนหญิง ชื่อว่า ภัธษนัณฑ์ ปัญหาแรกเริ่มของนักเรียนคนนี้ คือ ไม่พูด และเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเอง หลังจากนั้นครูใช้แบบทดสอบการอ่านออกเขียนได้ พบว่านักเรียนคนนี้ไม่สามารถอ่านได้ตามระดับความสามารถที่ควรจะเป็นตามช่วงชั้น ซึ่งผลการทดสอบในครั้งแรกและครั้งที่สอง อยู่ในระดับ ‘พอใช้’ แต่พอเราได้ทำกิจกรรมสอนซ่อมเสริมในช่วงเช้าและช่วงเย็น มีการติดตามกับผู้ปกครอง และเปลี่ยนกิจกรรมในห้องเรียนให้เด็กได้ลงมือทำมากขึ้น ผลการสอบครั้งที่สาม พบว่าการการอ่านออกเสียงอยู่ในระดับ ‘ดีมาก’ และนักเรียนเริ่มตอบคำถามในห้องเรียนมากขึ้น จากที่ไม่เคยตอบเลย ซึ่งกรณีนี้ ครูรู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่มีส่วนช่วยให้เขาเกิดการพัฒนา นอกจากนี้ ได้มีการส่งข้อมูลของเขาไปให้ครูในระดับชั้นต่อไป จนครูบอกว่าตอนนี้เขาไม่ตกซ่อมเสริมแล้ว เราจึงภูมิใจว่าสิ่งที่เราทุ่มเทนั้นเกิดผล” 

ก้าวต่อไป

ในช่วงแรกของการปรับแผนการสอนใหม่ ครูสุทธิลักษณ์เล่าให้ฟังว่า เกิดความรู้สึกท้อมาก เพราะต้องเตรียมตัวเยอะกว่าปกติ แต่ก็ไม่มีความรู้สึกว่าอยากถอย เพราะไม่อย่างนั้นนักเรียนจะไม่สามารถต่อยอดความรู้ในระดับชั้นต่อไปได้เลย ครูจึงหมั่นศึกษาหาความรู้จากภายนอกเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้กับห้องเรียนของตัวเองให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการสานต่อภารกิจของโรงเรียน คือ “โรงเรียนจะต้องปลอดเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ซึ่งจากในปีที่ผ่านมา โรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกสศ. แล้วนำมาจัดทำสื่อการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น Learning Box หรือ แบบฝึกหัดใหม่ๆ ที่นำมาย่อยให้ง่ายขึ้นสำหรับนักเรียนกลุ่มการเรียนรู้ถดถอยโดยเฉพาะ จนปัจจุบันก็ยังสามารถนำแบบฝึกหัดกลับมาใช้อีกครั้งกับนักเรียนรุ่นต่อไปได้ เพราะการฟื้นฟูการเรียนรู้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่โครงการที่เมื่อจบงบประมาณแล้วต้องจบไป แต่คือการส่งต่อความรู้ให้กับนักเรียนในรุ่นต่อๆไปในอนาคตด้วยเช่นกัน