จูน วรรษมน…เด็กทุนจบใหม่ ผู้ฝันอยากให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQ+ อย่างแท้จริง

จูน วรรษมน…เด็กทุนจบใหม่ ผู้ฝันอยากให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQ+ อย่างแท้จริง

“เราเขียนแผนในอนาคตตอนสมัครทุนว่า เราอยากทำสื่อประเด็นสิทธิเพื่อ LGBTQ+ จนวันหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีเรา คือเราไม่จำเป็นต้องมาต่อสู้เพื่อสิ่งนี้แล้ว”

ว่ากันด้วยเรื่องความฝันของมนุษย์คนหนึ่ง และสิทธิในการทำฝันนั้นให้เป็นจริง

ความฝันของ จูน วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพในวัย 32 ปี คือการทำงานสื่อไปเรื่อย ๆ จนประเด็นสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ กลายเป็นเรื่องที่เธอไม่ต้องบากบั่นต่อสู้กับมันอีกแล้ว เพราะสังคมไทยได้ถูกยกระดับในภาพรวมจนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

ตั้งแต่เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จูนทำงานเป็นช่างภาพที่เน้นประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเวลา 8 ปีที่สำนักข่าวออนไลน์ The Coconuts และ The Standard และเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ขับเคลื่อนประเด็นทั้งการเข้าถึงสิทธิทางกฎหมายของ LGBTQ+ มายาคติเรื่องเพศ หรือโพรเจก Photo essay ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น โพรเจก 7465 ที่เน้นเรื่องการแสดงออกทางอัตลักษณ์ทางเพศผ่านชุดนักเรียนที่ได้เดินทางไปจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเอเชีย ผลงานของจูนได้ถูกเผยแพร่ในสื่อต่างประเทศ ทั้งในเอเชียและต่างประเทศ เช่น Financial Times หรือ Washington Post 

ปลายเดือนมกราคม ปี 2023 จูนเพิ่งกลับจากสหราชอาณาจักรมาหมาด ๆ ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทสาขาเพศสภาวะและเพศวิถีศึกษา สื่อ และวัฒนธรรม (Gender, Media and Culture) จากโกลด์สมิธ มหาวิทยาลัยลอนดอน (Goldsmiths, University of London) หลังจากสอบติดทุนชีฟนิง (Chevening) หรือทุนเต็มจำนวนสำหรับการศึกษาปริญญาโทในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นทุนที่เน้นเรื่องการขับศักยภาพความเป็นผู้นำ มีความหนักแน่นทางวิชาการ โดยผู้สมัครสามารถเลือกหลักสูตรและมหาวิทยาลัยได้ทั่วสหราชอาณาจักร 

แต่ก็แน่นอนว่าทุนการศึกษาแต่ละทุนเองก็มีเป้าหมายของมัน ระดับความยากและความเคี่ยวในการคัดนักศึกษาก็หลากหลายและเข้มข้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ทุนชีฟนิงถือเป็นหนึ่งในทุนต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูง เพราะทุนฯ สนับสนุนค่าใช้จ่ายทุกด้าน ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงกิจกรรมต่าง ๆ การฝึกงาน หรือโอกาสที่จะได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายระดับโลกผ่านการประชุมหรือการปะทะสังสรรค์ระหว่างที่ศึกษาเล่าเรียน

จูนต้องสมัครสอบชิงทุนฯ ถึง 4 ครั้งกว่าจะผ่าน ปรับเปลี่ยนแผนการในอนาคตไปมาขณะที่ทำงานเชิงสังคมไปด้วย เพราะรู้ว่าจุดเด่นของตัวเองไม่ใช่เรื่องความเป็นเลิศทางวิชาการ แต่เป็นเรื่องประสบการณ์การทำงานและอุดมการณ์บางอย่างในการนำความรู้เชิงสังคมศาสตร์มาพัฒนาสังคมมากกว่า

 การอธิบายความฝันอย่างเป็นรูปธรรมให้แหล่งทุนเข้าใจ และความพยายามระหว่างทางในการศึกษาต่อเองก็ต้องใช้ ‘ต้นทุน’ ไม่น้อย ทั้งต้นทุนเชิงปัจเจก การงานอาชีพ การศึกษาที่มีอยู่แล้ว และต้นทุนแห่งการไม่หยุดพยายามหลังจากที่ได้ทุนการศึกษามาพัฒนาความรู้และพัฒนาตัวเอง

วันนี้จึงเป็นบรรยากาศของบทสนทนาเกี่ยวกับผู้ที่มุ่งมั่นเพื่อชิงทุนต่างประเทศ ความชัดเจนและความพยายามขวนขวายทุกอย่างภายในระยะเวลา 1 ปี เพื่อนำสิ่งที่เรียนทั้งในและนอกห้องมาจัดระเบียบความฝัน 

ทำไมถึงอยากได้ทุน แล้วทำไมถึงสนใจทุนชีฟนิง

ตอนที่เราทำงานเป็นช่างภาพ คนรอบตัวเราก็ไปเรียนต่อโทกันเยอะมาก เราเลยรู้สึกว่าน่าไป แต่ไม่มีต้นทุนไป แล้วสายที่เราสนใจมันไม่ใช่สายที่จะได้ทุนง่าย ๆ พื้นเพเราไม่ใช่เด็กเก่งเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง เราเป็นคนส่วนน้อยในคณะฯ ที่ไม่ได้เกียรตินิยม แล้วเราจะไปสู้อะไรกับใครได้ จึงต้องพยายามเพื่อให้ได้ทุนเต็มจำนวนเท่านั้น

เงินก้อนใหญ่ ๆ ที่จะใช้ไปเรียนต่างประเทศคือทุนค่าเรียนกับทุนค่ากินอยู่ ยังไม่รวมรายละเอียดยิบย่อย เราเลยคิดว่าถ้าเราจะไปเรียนต่อ เราต้องได้ทุนฯ เต็ม ถ้าไปอังกฤษ เราได้เรียน 1 ปี เพราะฉะนั้นเนื้อหาคอร์สมันจะค่อนข้างเฉพาะเจาะจง ตรงกับที่เรารู้อยู่แล้วว่าเราอยากไปต่อด้านไหน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสอบทุนอย่างอื่นไปด้วย แต่ไม่ผ่าน

หนึ่งในเงื่อนไขของการสมัครทุนชีฟนิง คือต้องการคนที่มีประสบการณ์การทำงาน 2 ปีขึ้นไป ซึ่งประสบการณ์การทำงานของเราก็เกินอยู่แล้ว และความน่าสนใจของทุนนี้คือ มันอยู่ภายใต้หน่วยงานของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เราเลยจะเห็นว่าอังกฤษเองเห็นความสัมพันธ์ด้านไหน หรืออะไรที่เขาอยากส่งเสริมในประเทศนั้น ๆ

พยายามขนาดไหนเพื่อให้ได้ทุน

เราสอบชิงทุนหลายปีจนได้ทุนในการสมัครปีที่ 4 ปีแรกนี่มั่นใจมาก ผ่านการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยและได้จดหมายเรียบร้อย เลยสอบ IELTS ก่อนเลย แต่ก็ไม่ได้ รอบที่ 2 ได้เข้ารอบสัมภาษณ์ แล้วก็ไม่ได้ เพิ่งจะมาได้ทุนในรอบที่ 4 

หนึ่งในกระบวนการสำคัญของทุนชีฟนิง คือเขาจะให้เขียนเรียงความ ถามเรื่องความเป็นผู้นำ เรื่องแผนการของเราในอังกฤษ คอร์สที่เราจะเรียนคืออะไร มีประสบการณ์อะไรบ้าง และ Your future plan ว่าตอนที่เรากลับมา เรามองอนาคตไว้อย่างไร

เราไม่ได้ทำงานเพื่อทุนอย่างเดียว แต่เรามีเป้าหมายของเราอยู่แล้ว ตามตำแหน่งงานเราคือช่างภาพ แต่เราเขียนงานเอง โปรดิวซ์ และค้นคว้าเองตั้งแต่ต้นน้ำจนจบ เรามองว่าการทำสื่อมันเป็น privilege อย่างหนึ่งที่สามารถสื่อสารกับมวลชนได้ ตอนที่เราเป็นฟรีแลนซ์ เราได้โอกาสทำงานกับองค์กรหลากหลาย ได้ทำงานกับหลายสื่อหรือ NGO เราจึงอยากใช้โอกาสนี้ในการสื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชน

จูน วรรษมน ไตรยศักดา ช่างภาพในวัย 32 ปี

เขียนความมุ่งหมายอะไรลงไปในเรียงความ

เรารู้สึกว่าเราต้องรู้จุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง แล้วเราก็รู้ว่าจุดอ่อนของเราคือ เราไม่ได้มีความเป็นเลิศทางวิชาการขนาดนั้น เราเลยจะเน้นประสบการณ์ทำงานเพราะทำงานมาเยอะมาก

ตอนสมัครทุน เราเลยเขียนแผนในอนาคตว่า เราอยากทำสื่อประเด็นสิทธิเพื่อ LGBTQ+ จนวันหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีเรา คือเราไม่จำเป็นต้องมาต่อสู้เพื่อสิ่งนี้แล้ว เราทำสื่อเพราะเราอยากหาพื้นที่ให้ LGBTQ+ ได้ค้นพบตัวตน สิ่งที่เราทำอาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมในวันนี้ แต่เรารู้สึกว่า ถ้ามันเปลี่ยนชีวิตหรือช่วยชีวิตใครสักคนหนึ่งได้จะดีมาก

คนที่สมัครทุนก็ค่อนข้างหลากหลาย มีคนที่ดูทรงมีความเป็นผู้นำแห่งอนาคตที่วันหนึ่งเราคงเห็นเขาในสภา ในองค์กรชั้นนำ ในขณะที่เรา ยังไงล่ะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่า เราอาจจะเป็นคนหนึ่งที่เป็นเป็ดที่สุดแล้ว คือทำงานได้หลากหลายอย่าง แต่มันก็ยากตรงที่เราจะทำให้เขาเชื่อได้ยังไงว่าความเป็ดนี้สามารถเป็นผู้นำได้นะ แม้ว่าจะเป็นผู้นำของเป็ดก็ตาม

คอร์สที่เรียนส่วนใหญ่เปิดโลกเราในด้านไหน

อังกฤษมีการศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาวะและเพศวิถีศึกษา (Gender Studies) ค่อนข้างเยอะ เราเรียนด้านสื่อทางสังคมวิทยา (Socialogy) และ สื่อ (Media) ที่นี่ และมหาวิทยาลัยก็สอนประวัติศาสตร์เควียร์ (Queer history) เป็นที่แรกของโลกด้วย 

ตอนแรกเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาพูดอะไร เพราะพื้นฐานเราไม่ได้เรียนแบบคนอังกฤษ เราก็ต้องกลับไปขุดว่าเขาสอนอะไร บางคลาสเป็นคนท้องถิ่นหมดเลย มีเราเป็นเอเชียหัวดำอยู่คนเดียว (หัวเราะ)

วิชาเลือกที่เรียนก็หลากหลายมาก เช่น เรื่องการล้มล้างอำนาจอาณานิคม (Decolonization)  มีหลายคลาสมากที่เราได้ learn to relearn เรียนเพื่อจะเรียนรู้อีกครั้ง คือ ต่อให้ทุกคนเรียนเหมือนกัน งานที่ทำออกมาก็จะต่างกัน อย่างเรามีประสบการณ์ทำงานและพื้นฐานเป็นคนไทย เราก็จะมองประเด็นที่เรียนอีกแบบ เช่น มีเพื่อนบอกว่าการเดินทางคือการเปิดโลกเสรีภาพให้ LGBTQ+ แต่เราจะรู้สึกว่าน่าสนใจแต่ฉันไปประเทศเธอไม่ได้เพราะว่าไม่มีวีซ่า มันเป็นเสรีภาพสำหรับคนขาวนะ แล้วคนในห้องก็สะท้อนว่า เขาไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยเพราะเขาเดินทางไปไหนก็ได้  เราก็รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ จากเขา

ภาพส่วนหนึ่งจาก Photo essay โพรเจก 7465

เมื่อได้ทุนไปเรียนแล้วเป็นยังไงบ้าง

การไปเรียนในวัย 30 ต้น ๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน ปวดหลังกว่าคนอื่นเมื่อเทียบกับวัยรุ่น (หัวเราะ) เราเรียนสายสังคมศาสตร์ พอไปเรียนจริง ๆ แล้วเราเสียเปรียบเด็กจบใหม่มาก ๆ เพราะเราห่างหายไปจากการเรียน องค์ความรู้หลาย ๆ อย่างล้ำไปจากที่เราเคยรู้ ก็เลยต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า

เราพยายามไปศึกษานอกห้องเรียน เรามองว่าสังคมอังกฤษมีความอนุรักษ์นิยม (conservative) เมื่อเทียบกับสังคมยุโรป คือไม่ได้เปิดขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ negative เสมอไป เราสนใจว่าทำไมเขาถึงผ่านกฎหมายคู่ชีวิตก่อนที่จะมีสมรสเท่าเทียม จนสมรสเท่าเทียมผ่านมาเป็นสิบๆ ปี เราสนใจว่าแล้วทำไมสังคมมันก็ยังฟังก์ชันอยู่ได้ ไม่ได้ล่มสลายแบบพวกอนุรักษ์นิยมชอบอ้างกัน สนใจว่าสังคมอยู่ร่วมกันอย่างไร แล้วอย่างงาน Pride (กิจกรรมต่าง ๆ ที่เฉลิมฉลองและร่วมรำลึกของชาว LGBTQ+) ตลอดช่วงซัมเมอร์ มีงาน Pride แทบจะทุกเมือง ทุกเขต ผู้เดินขบวนเป็นตัวแทนจากบริษัท หรือคนในวงการ LGBTQ+ ทุกที่ก็โพรโมตหนักมาก ทั้งเมืองเป็นสีรุ้งหมดเลย แต่ความเซอร์ไพรส์สุดก็คืองาน London Pride มันใหญ่มาก เดินขบวนกันครึ่งวัน คนเป็นล้านคนมาเข้าร่วมงานในลอนดอน

ในงาน Pride บางงานที่ทุกคนบอกว่ามันดูบ้า บางที่เราก็ไม่ชอบเพราะมันดูเป็นเชิงของการโฆษณา (pinkwashing) แต่สำหรับบางงานเรารู้สึกปลอดภัยมาก ๆ ว่าที่นี่คือที่ของเรา

เราไปอยู่ที่นู่น เราดูละครเวทีเยอะมาก ดูทุกอย่างเลย แล้วค้นพบว่ามันมีพื้นที่สำหรับเควียร์หรือละครเควียร์เยอะมาก เรามีแพชชันในการดูหนังอยู่แล้ว เราก็เลยไปเชื่อมต่อกับงานสายฟิล์มได้ 

พอได้ไปเห็น ออกไปเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ที่อังกฤษ เราจึงพยายามและวาดหวังให้คนเห็นว่าขบวน Pride เป็นพื้นที่สำหรับทุกคนที่ประเทศไทย คุณจะแต่งตัวยังไงก็ได้ โป๊ก็โป๊ได้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ถึงคุณไม่ใช่ LGBTQ+ แต่คุณอยากสนับสนุนก็ได้

ในฐานะเควียร์ เรารู้สึกปลอดภัยอย่างไรเมื่อไปอยู่ที่นั่น ขยายความหน่อยว่างาน Pride หรือพื้นที่ที่ดีเป็นบรรยากาศแบบไหน

เรามาเรียนต่อเพราะเราอยากจะไปศึกษาชุมชน LGBTQ+ ที่นี่ อย่างที่ไทยพวกศูนย์บริการหรือพื้นที่ของ LGBTQ+ เช่น London LGBTQ+ Community Center จะดูเป็นอะไรที่คนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงง่ายนัก แต่ที่นี่มัน friendly มีงานศิลปะ มีการจัดฉายหนัง คุณไม่จำเป็นต้องใช้เงินเข้าไป ก็ไปยืมหนังสือเขามาได้ฟรี ถ้ามีเงิน คุณก็ซื้อของในคาเฟ่ได้ หรือเดินเข้าไปนั่งเงียบ ๆ ก็ได้ มันคือพื้นที่สำหรับทุกคน และมีหลากหลายพื้นที่มาก ๆ ไม่ใช่พื้นที่ที่เป็น nightlife แสงสีอย่างเดียว เพราะว่าคนชอบผูก LGBTQ+ กับชีวิตกลางคืน พวกเควียร์อินโทรเวิดที่อยากได้พื้นที่กินกาแฟ ดื่มชา เล่นกับแมวก็มี เลยเป็นพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยมาก

ภาพส่วนหนึ่งจาก Photo essay โพรเจก 7465

ได้เรียนรู้อะไรที่ชัดเจนแบบไม่คิดฝันมาก่อนไหม

เรื่องชีวิตนี่แหละ เราเริ่มเรียนยุคที่โควิด-19 ยังส่งผลต่อการใช้ชีวิต รุ่นเรายังเป็นการเรียนแบบเล็กเชอร์ออนไลน์ จังหวะที่เราไปถึง ก็มีภาวะเงินเฟ้อ ราคาทุกอย่างขึ้นหมดเลย เลยรู้สึกว่าต้องหางานทำที่นั่น เพราะค่าใช้จ่ายรายเดือนตึงและไม่ได้ขยับตามเงินเฟ้อ ถามว่าอยู่ได้ไหม มันก็อยู่ได้ คนอาจจะบอกว่ามันก็แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ แต่เด็กทุนก็อาจจะมีค่าเข้าสังคมที่เป็นค่าใช้จ่ายประมาณหนึ่ง

เรารู้สึกว่าสิ่งที่ได้คือดีเทลนอกคลาสมากกว่า หรือเครือข่ายตามงานเทศกาลภาพยนตร์ LGBTQ+  ต่าง ๆ ที่เราก็ไม่คิดว่าอยู่ ๆ จะได้ไปดูหนังของเควียร์ 100 เรื่องในวีคเดียว และไปเข้าเวิร์กช็อปเป็นนักเขียน

หรือเรื่องวิทยานิพนธ์ที่เรามีเรื่องอยากเขียนเยอะมาก เพราะประเทศไทยมีเรื่องให้คุณเขียนเยอะ ตอนนั้นที่ปรึกษาก็บอกว่า write something that annoys you the most คือ เขียนอะไรก็ได้ที่กวนใจคุณที่สุด แล้วสิ่งหนึ่งที่กวนใจเราก็คือ เวลาคนมาชี้หน้าบอกว่า ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBTQ+ เราแบบ สวรรค์อะไรล่ะ ถ้าเป็นสวรรค์ เราจะมาอยู่ที่นี่ทำไมตั้งแต่แรก 

เราอยากให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์จริง ๆ แต่มันไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับเรา แล้วมันไม่ได้เป็นสวรรค์สำหรับใครหลาย ๆ คน คำถามก็คือ แล้วเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ก็เลยเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์

ข้อท้าทายของการไปลุยคนเดียว เรียนคนเดียว หรือการทำวิทยานิพนธ์คืออะไร

เรารู้สึกว่าวิทยานิพนธ์ของแต่ละคนเองมันก็จะแต่งประสบการณ์ในการอยู่ใน 1 ปีนั้น แล้วจริง ๆ 1 ปีสั้นมาก ช่วงปลายปีก็จะรู้สึกว่าทำไมไม่เริ่มทำงานเร็วกว่านี้ ยังอ่าน reading ไม่ทันเลย (หัวเราะ) จะเอาเวลาไหนไปทำงานส่ง เราเริ่มทำงานพาร์ตไทม์ช่วงจบเทอม 2 พอดี แล้วพอจบเทอม 2 นี่เหมือนถูกลอยคอเลยนะ เพราะว่าช่วงซัมเมอร์ไม่มีคลาสเลย รุ่นเราทุกคอร์สแทบจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด ดังนั้นมันจะค่อนข้างต้องพึ่งตัวเองมาก ๆ ทำยังไง เราต้องวางแผน ทำตาราง อย่างน้อยต้องไปทำงาน ต้องเข้าร้าน มีโอกาสได้ไปร่วมงานกับสำนักข่าว BBC ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่คิดว่าวันหนึ่งจะได้ทำ ตอนที่เราทำงานที่ The Standard ก็เป็นสำนักข่าวออนไลน์ที่ใหญ่มากแล้วสำหรับตอนนั้น มีคนหลักร้อย แต่ที่ BBC คนหลักพัน และเราไม่เคยร่วมงานกับสายโทรทัศน์เลย มันก็จะเปิดโลกหลาย ๆ อย่าง

หรือช่วงที่เราไปเป็นช่วงเงินเฟ้อ ค่ากิน ค่ารถไฟขึ้นหมดเลย ก็ต้องบริหารจัดการเงินทุนที่ได้มาและไปทำงานเพิ่มในช่วงหลัง เราคิดว่าเรื่องทุนมันไม่ใช่เรื่องบุญคุณเพราะว่าจริง ๆ มัน win win ทั้งสองฝ่าย เขาไม่ได้ให้เราด้วยทัศนคติที่สงสารเรา เราคิดว่าว่าทุนมันมีหลายแบบ แต่ทุนส่วนใหญ่จะเป็นทุนที่ส่งเสริมบางอย่าง อาจจะให้เพื่อต่อยอดโอกาสสำหรับคนที่ขาดโอกาส หรือเห็นศักยภาพ แล้วก็เลยให้ทุน

โอกาสจากการได้ทุนไปเรียน ทำให้เราได้ไปดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ มันช่วยได้มากขนาดไหน เราเห็นลู่ทางการทำงาน หรือในแง่ของชีวิตส่วนตัวในอนาคตอย่างไร

ความยากจริง ๆ อาจจะเป็นหนึ่งในความท้าทายว่าทำไมต้องใช้เวลาหลายครั้งกว่าจะได้ทุน เรารู้สึกว่างานของเราไม่เหมือนบางสายงานที่เห็นภาพชัดเจน เรารู้สึกว่างานสายสื่อเหมือนการค่อย ๆ ปลูกต้นไม้ อาจจะใช้เวลา หรืออาจจะยังไม่ถึงเวลาในการเติบโต อาจจะใส่ปุ๋ยผิด ชนิดของดินผิด หรือปลูกผิดที่ แล้วยิ่งเรากลับมาอยู่ในฐานะฟรีแลนซ์ หรือคนจะมองว่าว่างงานก็ได้ ก็ใช้เวลากว่าที่มันจะเห็นผล

เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก อาจจะใช้เวลาของเราเองในการตกตะกอนในสิ่งที่ได้มา อาจจะเป็นข้อท้าทายของหลาย ๆ คนที่ได้ทุนไปเมืองนอก ว่าไปเรียนต่อแล้วได้อะไร พอกลับมาไทยเราก็จะมีความรู้สึกว่า แล้วเราจะทำยังไงต่อ บางเรื่องอาจจะไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันที เพราะต้องมีระบบหรือบริบทหลายอย่างที่พร้อมรับ และส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

บริบทที่ไม่พร้อมคือแบบไหน

เรารู้สึกว่าโรงเรียนทำให้ทุกคนต้องออกมาเหมือนกันแทบจะเป็นตราปั๊ม ผมทุกคนต้องทรงเดียวกัน แล้วเราจะมาเรียนรู้ หรือทะนุถนอมอัตลักษณ์ของตัวเองตอนไหน ตอนวัยรุ่น ช่วงเวลาที่เราอยู่โรงเรียนคือทั้งชีวิต เป็นช่วงเวลาที่เราถูกชี้ตลอดว่า you ห้ามเป็นตัวเอง you ห้ามแตกต่าง ทุกคนต้องเป็นเหมือนกัน แล้วเราจะใช้เวลาไหนมาเติบโตหรือมาเรียนรู้ตัวเอง 

สิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือ เรารู้สึกว่าประเทศไทยอยากสอนให้ทุกคนเหมือนกัน ย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่า เราไม่อยากเป็นคนที่แต่งตัวประหลาดไปเรียน ไม่อยากเป็นคนที่วันนี้ทุกคนใส่ชุดพละแต่เราลืมใส่ แต่ที่อังกฤษคือ ทุกคนไม่อยากเหมือนกัน เราเลยรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง ทุกคนมีรอยสัก ทุกคนกัดสีผม ทุกคนเจาะจมูกเจาะหู ทุกคนอยากเสนอความเป็นตัวเองออกมา

หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศเข้าได้ฟรี ถ้าคุณมีเงิน ก็สามารถบริจาคได้ เลือกจ่ายตามราคานักเรียนหรือเรตรายได้ของเรา ว่างงานก็เข้าได้ ทำงานเป็นแพทย์ พยาบาลมีส่วนลดให้ แล้วที่อังกฤษไม่มีการตัดสิน หรือถามคำถามเยอะแยะ คุณสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้เลย ช่วยส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงของคนหลากหลายกลุ่ม ในขณะที่เรารู้สึกว่าเมืองไทยหลาย ๆ กิจกรรมที่น่าสนใจมันต้องเสียเงิน หรือแค่เดินทางก็ยากแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะมีโอกาสเข้าไป

นักเรียนทุนปริญญาโทแบบจูนที่เพิ่งกลับมาหมาด ๆ มีความฝันหลังจากไปติดเครื่องมือทั้งเชิงความรู้และวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง

เราอยากให้ประเทศนี้เป็นสวรรค์จริง ๆ อยากให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของ LGBTQ+ แต่ไม่ได้แปลว่าต้องเป็นพื้นที่ทางกายภาพเสมอไป มันอาจจะเป็นบทความหนึ่งที่คนอ่านแล้วรู้สึกว่าเขาไม่แปลกแยกก็ได้ หรือเทศกาลหนึ่งที่เขาสามารถไปข้าร่วม หรือสื่อ ๆ หนึ่งที่เขาไว้ใจได้ว่าสื่อนี้จะเป็นเพื่อนเขา 

มันก็เลยเป็นข้อได้เปรียบของเป็ดอย่างเรา เพราะเรามีประสบการณ์และความสนใจหลากหลาย เราก็เลยอาจจะเห็นอะไรหลาย ๆ แง่มุม

พอไปเรียนต่อแล้วเรามีพื้นฐานด้านสื่อ บวกกับแพชชันในด้านศิลปะ เคยมีประสบการณ์ไปแสดงงานที่แกลเลอรี แล้วเราเองก็ชอบดูหนัง ชอบดูละครเวที เรารู้สึกว่าศิลปะก็เป็นการแสดงออกเชิงสิทธิอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งเป้าว่า วันหนึ่งเราอาจจะอยากทำแพลตฟอร์มหรือพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา เราก็แค่อยากสร้างหรือทำพื้นที่ปลอดภัยอะไรก็ได้ให้กับ LGBTQ+

หลังจากที่เราพยายามสมัครทุนหลายรอบ ได้ทุนมา และไปเรียนมาสำเร็จแล้ว มองคำว่า ‘ทุนการศึกษา’ อย่างไร

เรามองว่าทุนเหมือนใบเบิกทาง การเปิดประตูบานใหม่ เป็นเหมือนสะพาน เราเขียนไปในใบสมัครว่า 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ทำงานเพื่อเป้าหมายในการทำสื่อเพื่อความเท่าเทียม แต่เชื่อว่าการได้ทุนไปเรียนอาจเปิดโอกาสให้เราไปเจออะไรใหม่ ๆ ทำให้เราได้เข้าใกล้เป้าหมายเร็วขึ้น 

อยากบอกคนที่กำลังมีความฝันหรืออยากสมัครทุนว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามอยู่ที่นั่นจริง ๆ  เพราะถ้าเราล้มเลิกไป มันก็ไม่มีทางทำได้ แต่เป็ดอย่างเราทำได้ ไม่กลัวความผิดหวังสมัครรอบที่ 4 จนมันสำเร็จเปิดประตูไปสู่อีกเส้นทางได้

ว่ากันด้วยเรื่องของความฝันของมนุษย์คนหนึ่ง และสิทธิในการทำฝันนั้นให้เป็นจริงหลังจากได้ทุนการศึกษา

บทสนทนากับจูนทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่ากว่าที่จะได้โอกาสมานั้นไม่ง่าย ทุนต่างประเทศที่อาจจะมีคนมองว่าเป็น privilege หรือมีต้นทุนบางอย่างก็มีความยากในรูปแบบของมันเอง 

และเมื่อได้โอกาสนั้นมาแล้ว ก็ต้องหาโอกาสเพิ่มเติมในการเรียนรู้มากขึ้น เหมือนที่จูนต้องเรียนหนักในระยะเวลา 1 ปีในช่วงโควิด-19 ออกไปนอกห้องเรียนเยอะ ๆ หาเครือข่าย และบริหารจัดการชีวิตทั้งการเงินและการเรียนให้ได้ในต่างแดน 

เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ก็ยังมีอีกโจทย์ให้แก้ไขในด้านของอาชีพการงานและการต่อยอดประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เธอปักหมุดไว้ว่าต้องพัฒนาไปไกลกว่านี้ 

ทุนการศึกษาสำหรับจูน จึงเป็นบันไดขั้นสำคัญที่ต้องอาศัยการก้าวขึ้นไปอีกหลาย ๆ ขั้นของปัจเจก การได้มาซึ่งเวลา โอกาส และการเรียนรู้ที่แตกต่างไปจากประเทศไทย ทั้งบ่มเพาะและสอนให้เธอเรียนรู้ที่จะปรับตัว และไม่ละทิ้งเป้าหมาย

อย่างที่จูนบอก “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น” จริง ๆ 

*กสศ. ให้การสนับสนุน ทุนสร้างโอกาส ที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมความต้องการที่แตกต่างกันของความฝันร้อยพันรูปแบบ บทสนทนาของจูน วรรษมน เป็นหนึ่งรูปแบบที่มีความชัดเจนและท้าทาย การให้ความสำคัญกับเส้นทางที่ท้าทายนี้ และออกแบบระบบการศึกษาที่หลากหลายและสอดคล้องกับชีวิตของเด็ก จึงเป็นสิ่งที่ กสศ. ทำงานอยู่ เราสนับสนุนทุนตามความต้องการและความจำเป็นรายบุคคล และเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นใบเบิกทาง บันได และเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างโอกาสในการเดินทางตามความฝันของเด็กทุกคน