การจัดการเรียนรู้เมื่อทักษะพื้นฐาน (Literacy) ถดถอยเพราะโควิด-19
โดยครูจุ๊ย กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

การจัดการเรียนรู้เมื่อทักษะพื้นฐาน (Literacy) ถดถอยเพราะโควิด-19

เพียงช่วงระยะเวลา 6 เดือน หากเด็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่างๆ ในการเข้าถึงการไปเรียน  ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนในวิถีชีวิต เช่น ไม่ได้ไปโรงเรียน ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทักษะการอ่านออกเขียนได้ (Reading skills) และทักษะการคำนวณ (Numerical skills) จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

จากการประเมินของ UNICEF ในปี 2020 ช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สูงที่สุด เด็กจำนวน 1.6 พันล้านคนไม่ได้ไปโรงเรียนโดยปริยาย และอีก 463 ล้านคนไม่สามารถเรียนแบบทางไกลในรูปแบบใดๆ ได้เลย

ทักษะพื้นฐานทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของความเสียหายที่เกิดจากภาวะความรู้ถดถอย หรือ Learning Loss เมื่อโรงเรียนปิดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะมีนักเรียนเพียงร้อยละ 70 เท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการเรียนรู้ทักษะการอ่าน และอีกร้อยละ 50 เท่านั้น  สามารถฝึกฝนจนได้ทักษะการคำนวณ 

ส่วนนี้หมายความถึงนักเรียนที่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนทางไกลในรูปแบบต่างๆ ได้เท่านั้น ส่วนนักเรียนที่เข้าไม่ถึงกระบวนการเรียนรู้ใดๆ ทักษะเหล่านี้อาจได้รับความเสียหายมากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางช่วงชั้นทักษะการคำนวณอาจถดถอยได้ถึงเกือบหนึ่งปี 

นอกจากนั้นการปิดโรงเรียนยังทำให้จำนวนนักเรียนในช่วงชั้นมัธยมต้นที่มีทักษะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานประมาณร้อยละ 25 และนักเรียนในช่วงชั้นเล็ก ได้รับผลกระทบจากภาวะความรู้ถดถอยมากกว่า ท้ายที่สุดคือทักษะการคำนวณมักได้รับผลกระทบจากสภาวะถดถอยทางการเรียนรู้มากกว่าทักษะการอ่าน

ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุดคือ การระบุปัญหาทางการเรียนรู้ของนักเรียน โดยทักษะทั้งสองประเภทนั้น สามารถใช้แบบฝึกหัดเก่าที่นักเรียนเคยทำได้ หรือเรียนไปแล้วในช่วงก่อนให้นักเรียนทดลองทำ  ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ทั้งในแง่ความรู้ และความสามารถหรือสมรรถนะ (ทำได้หรือไม่ เร็วช้าขนาดไหน) 

และต้องไม่ลืมว่า การดูแลสภาพจิตใจและสุขภาวะทางกายและทางใจ (well-being) เป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการฟื้นฟูภาวะความรู้ถดถอย ดังนั้นระหว่างที่ประเมินด้านงานวิชาการ การประเมินสุขภาวะของนักเรียนก็สำคัญไม่แพ้กัน 

ตัวอย่างวิธีการประเมินด้านวิชาการไปพร้อมๆ กับการประเมินด้านสุขภาวะและสภาวะด้านทักษะอารมณ์และสังคม

-การประเมินการอ่านแบบรายคนพร้อมกับการประเมินทั้งชั้นเรียน
หากมีการประเมินทักษะการคำนวณทั้งชั้นเรียนอยู่ ในช่วงนั้นครูสามารถเรียกนักเรียนทีละคนมาประเมินทักษะการอ่านจากแบบฝึกหัดสั้นๆ รวมถึงการประเมินสภาวะด้านอารมณ์และสังคมผ่านการพูดคุยตัวต่อตัวได้ 

-การฝึกทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่ม 
เพื่อให้ครูสังเกตทักษะพื้นฐานของนักเรียนอย่าง การจัดการสถานการณ์ที่เป็นปัญหา การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี (ถ้ามี) ทักษะการจัดการตนเอง และการสื่อสารในกลุ่มย่อย (เช่น การสื่อสารความต้องการของตนเอง)

ข้อมูลที่ได้มาจากการประเมินนี้ ครูสามารถนำผลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินภาพรวมของความเข้มข้นของปัญหาภายในชั้นเรียนของตนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 

1. ทักษะพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิชาการอย่างการอ่านและการคำนวณ 
2. ทักษะด้านอารมณ์และสังคม 
3. ทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี ผ่านทั้งแบบทดสอบ การทำโครงงาน แบบฝึกหัดต่างๆ ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม 

ทักษะทางวิชาการนั้น คุณครูสามารถทดสอบนักเรียนทั้งชั้นเรียนเพื่อหา Baseline หรือการประมาณการพื้นฐานเกณฑ์ภาพรวมของความรู้ ทักษะที่นักเรียนส่วนใหญ่ในห้องมีเพื่อระบุจำนวนนักเรียนที่ต้องได้รับการฟื้นฟูทักษะพื้นฐาน

เมื่อได้ข้อมูลส่วนนี้มาแล้ว โรงเรียนต้องประเมินทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ โครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และหลักสูตร เพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มเติมที่เหมาะสมกับนักเรียนและปัญหาที่นักเรียนกำลังเผชิญอยู่ 

โดยส่วนใหญ่วิธีการจัดการปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้นี้คือการทำ Remedial programme หรือโครงการฟื้นฟูทักษะและความรู้ที่หายไปของนักเรียน และต้องไม่ลืมว่าเมื่อมีการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น โรงเรียนอาจทำไม่ได้ทุกอย่าง การมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชนจะช่วยทำให้การทำงานของโรงเรียนนั้นเป็นไปได้ตามเป้าหมายมากขึ้น โรงเรียนจึงต้องสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเมื่อต้องการความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือชุมชน

การออกแบบการเรียนซ่อมเสริมนั้นทำผ่านหลักการสามอย่าง ได้แก่ 

1. การเพิ่มเวลาเรียน เช่น ชั่วโมงเรียนในแต่ละวัน เลื่อนวันเปิดหรือปิดเทอม หรือการเรียนภาคพิเศษหรือภาคฤดูร้อน 
2. การโฟกัสที่ปัญหาเฉพาะจุด 
3. การลดเนื้อหาให้เหลือเฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น

วิธีการที่น่าสนใจอย่างแรกคือ การใช้การเรียนซ่อมเสริมเป็นกลุ่มย่อยตามลักษะปัญหาที่พบผ่านเนื้อหาที่นักเรียนต้องเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มความเข้มข้นในแง่ของเวลาและลดจำนวนนักเรียนในกลุ่มลง 

วิธีนี้จะช่วยให้ทักษะพื้นฐานทั้งสองประเภทที่หายไปกลับคืนมาได้รวดเร็วขึ้น เช่น การเรียนซ่อมเสริมวันละ 2 ชั่วโมง 4 วันต่อสัปดาห์ สำหรับนักเรียนมัธยมปลาย ส่วนนักเรียนชั้นเล็กกว่านี้อาจพิจารณาให้เรียนซ่อมเสริมสั้นลงและจำนวนวันต่อสัปดาห์น้อยลงลดหลั่นกันไป 

วิธีที่สองคือ การใช้การเรียนซ่อมเสริมเป็นเป้าหมายและออกแบบการเรียนเสริมให้ตรงตามทักษะที่หายไปเป็นระยะเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยให้ครูผู้ที่เชี่ยวชาญในวิชาภาษาและคณิตศาสตร์เป็นผู้ที่ออกแบบและจัดกระบวนการเรียนการสอน 

ระหว่างที่ใช้สองวิธีก็ต้องสำรวจสภาวะและสุขภาวะทางจิตใจของนักเรียนโดยเฉพาะความเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเรียนซ่อมเสริมที่มีความเข้มข้นเพิ่มเติมจากการมาเข้าชั้นเรียนปกติเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนนักเรียนให้พยายามก้าวข้ามผ่านอุปสรรคในช่วงนี้ไปได้ 

ในการประเมินด้านนี้ครูสามารถสังเกตจากการส่งการบ้าน การมาโรงเรียน (เข้าเรียนตรงเวลาหรือไม่ หายออกไปจากชั้นเรียนกลางคันหรือไม่ การมีส่วนร่วมในห้องเรียน) การตัดสินใจต่างๆ เมื่ออยู่กับเพื่อน และสัญญาณความเครียด ความกังวลต่างๆ ส่วนนี้สามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนกลับมาจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียน เช่น ประเทศเอกวาดอร์นั้นใช้การสำรวจทางโทรศัพท์เป็นเวลาสั้นๆ เพื่อประเมินสภาพการเรียนทางไกลและความเครียดของนักเรียนก่อนกลับมาเรียนเพื่อให้ข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบการทดสอบอื่นๆ ล่วงหน้า

นอกจากโรงเรียนจะสามารถสำรวจจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ยังสามารถสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพิ่มเติมได้ในประเด็นวิชาการ เช่น รู้สึกว่าลูกหลานนับเลขได้อยู่หรือไม่ อ่านหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร รวมถึงการสอบถามถึงสถานการณ์ในครอบครัวไปพร้อมกัน

ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส ครูจะเป็นผู้ประเมินความต้องการด้านวิชาการก่อนอย่างไม่เป็นทางการ ประเทศอินเดียจะใช้การทดสอบการอ่านข้อความสั้น การทำโจทย์คณิตศาสตร์สั้นเพื่อประเมินทักษะพื้นฐานทางการอ่านและการเขียนของนักเรียนทั่วประเทศกว่า 700,000 คน ประเทศเคนย่า แทนซาเนีย และอูกันดา มีการสำรวจทักษะพื้นฐานของเด็กอายุ 5-16 ปีทั่วประเทศโดยครึ่งหนึ่งของการสำรวจทำผ่านแบบสำรวจง่ายๆ ที่ครัวเรือนช่วยกันทำได้

อย่างไรก็ดี มีข้อพึงระวังในการจัดการเรียนการสอนซ่อมเสริมให้แก่นักเรียนดังต่อไปนี้

  • ต้องมอนิเตอร์การจัดการเรียนซ่อมเสริมและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับนักเรียนเสมอ
  • การเรียนซ่อมเสริมเพื่อฟื้นฟูทักษะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ไม่ควรนำมาใช้ในระยะยาว เพราะอาจส่งผลเสียถาวรต่อสภาวะด้านจิตใจของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า
  • การพยายามจัดเนื้อหาให้นักเรียนเรียนในระยะเวลาสั้นลงโดยไม่มีการสนับสนุนอื่นๆ ให้แก่นักเรียน ส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนที่ผลการเรียนไม่ดีอยู่แล้ว
  • โรงเรียนสื่อสารกับครูอย่างสม่ำเสมอถึงเป้าหมายของการจัดการเรียนซ่อมเสริม 
  • โรงเรียนสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอถึงเป้าหมายและบทบาทของผู้ปกครองในการสังเกตและช่วยเหลือนักเรียนในช่วงนี้

อ้างอิง :