เวทีเสวนาออนไลน์ Little Big Communities Talk season 2 #EP4 ในหัวข้อ ‘สร้างการเรียนรู้’ ให้พ่อแม่วัยรุ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น’ ซึ่งจัดไปเมื่อวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการเปิดเผยงานศึกษาวิจัยที่พบว่าในปี 2553 ที่ผ่านมาประเทศไทยในปี 2553 มีสถิติเด็กท้องก่อนวัยเรียนสูงเกือบ 130,000 คน ทำให้รัฐบาลมีมาตรการและนโยบายให้หลายหน่วยงานร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ มาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าว่าในปี 2569 ตัวเลขจะต้องลดลงเป็น 0 ในที่สุด
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม เข้ามาช่วยกันทำงานในเรื่องนี้ ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ให้ทุนการศึกษา พัฒนาอาชีพ ให้ความช่วยเหลือกลุ่มพ่อแม่วัยใสทั่วประเทศ ซึ่งคณะทำงานในโครงการนี้ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และถอดบทเรียนจากการทำงาน ในการเสวนา ‘สร้างการเรียนรู้’ ให้พ่อแม่วัยรุ่น เพื่อแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น’ ตัวแทนกลุ่มแรกมาจากหน่วยจัดการเรียนรู้กลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่
น้องอ้อนแอ้น – สุพิชญาณัฐ ทยาพลิศวงศ์ อายุ 20 ปี เยาวชนกลุ่มฅนวัยใส จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังจากที่เธอคลอดลูกได้ประมาณ 3 เดือน ตอนนั้นมีอายุได้ 15 ปี หลังจากนั้นได้มารู้จักกับกลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ จากการแนะนำของรุ่นพี่คนหนึ่ง ตอนนั้นคุณแม่วัยใสอย่างน้องอ้อมแอ้มมีรายได้หลักทางเดียวคือเงินเดือนค่าจ้าง จากการทำงานของแฟนซึ่งมีอายุเพียง 17 ปีในขณะนั้น
“ตอนนั้นรายได้จะอยู่ที่ 8,000 – 9,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครอบครัวของเราค่ะ ยังต้องพึ่งพาทั้งครอบครัวฝั่งหนูและครอบครัวฝั่งแฟนคอยช่วยเหลือกันอยู่บ้างค่ะ พอลุกอายุได้ขวบกว่า ๆ หนูก็เริ่มมีความคิดที่อยากจะหางานทำ แต่ด้วยอายุหนูตอนนั้นก็ประมาณ 16 ปี ยังไม่ถึง 18 ปี ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีที่ไหนที่อยากจะรับเราเข้าทำงานอยู่แล้ว แต่พอมีโอกาสได้เข้าทำงานที่แรกเป็นโรงงานหมูกระทะ ซึ่งหนูมีข้อจำกัดคือหนูมีกระดูกสันหลังคด ไม่สามารถที่จะยกของหนักได้ มันก็เลยทำให้เราต้องออกจากงานนั้นไป”
เมื่อได้มาทำงานที่สองคือเป็นพนักงานร้านอาหารแห่งหนึ่ง ก็พบว่าตัวเองไม่มีความแคล่วคล่องพอ ทำให้ถูกตำหนิอยู่บ่อย ๆ และถูกให้ออกจากงานอีกรอบ จุดนี้เองที่ทำให้น้องอ้อนแอ้นเริ่มมีความคิดที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้างใครอีกแล้ว
“เพราะเราไม่อยากร้องไห้เสียใจผิดหวังจากการถุกไล่ออกอีกแล้ว เพราะว่าเราตั้งใจทำงานเต็มที่มากเลยนะ แต่ก็โดนให้ออกอยู่ดี ก็เลยมีความคิดว่าอยากเปิดร้านเป็นของตัวเองมากกว่า ไม่อยากเป็นลุกจ้างใครแล้ว แต่ด้วยอายุตอนนั้นเราไม่สามารถหาเงินมาได้เพียงพอที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้”
จนกระทั่งได้มารู้จักและเข้าร่วมกับคณะทำงานหน่วยจัดการเรียนรู้ โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทำให้ได้รับดารอบรมความรู้ ฝึกทักษะวิชาชีพต่าง ๆ จนเริ่มมองเห็นลู่ทางและโอกาสอีกครั้ง
“หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ เราก็ได้เรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพ ทักษะการทำอาหาร ชงเครื่องดื่ม มีการคิดคำนวณต้นทุน กำไร ทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ทำให้เรามองเห็นลู่ทางและตัดสินใจง่ายมากขึ้นค่ะ เมื่ออบรมเสร็จแล้วเราก็ได้รับทุน เราก็เอาทุนตรงนี้เริ่มประกอบอาชีพของเราเอง โดยมีพี่สาวคอยสนับสนุนอีกแรง”
จากลูกจ้าง สู่เจ้าของร้านเครื่องดื่ม ‘น้ำผึ้ง มะนาว’
น้องอ้อนแอ้น เปิดเผยอีกว่า เหตุผลที่เลือกขายเครื่องดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว โซดา เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงฤดูร้อน และเคยดูคลิปวิดีโอการผสมเครื่องดื่มน้ำผึ้งกับมะนาว ประกอบมีคุณอาที่ทำอาชีพเลี้ยงผึ้งอยู่พอดี ตนเองกับพี่สาวจึงอยากนำวัตถุดิบที่หาง่ายในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผึ้งมะนาวขายสร้างรายได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลาร่วม 2 ปีแล้วที่น้องอ้อนแอ้นเข้าร่วมโครงการที่เข้ามาเป็นจุกเปลี่ยนในวิกฤตชีวิตของเธอ
“หลังจากได้เข้าร่วมโครงการนี้ มันทำให้ชีวิตหนูดีขึ้นในระดับหนึ่งเลยค่ะ ทำให้ฝันหนูสำเร็จขึ้นอีกขั้นหนึ่ง เพราะเราไม่ได้เป็นลูกจ้าง แต่เราเป็นเจ้าของธุรกิจเองตามที่ฝันไว้ รายได้ต่อเดือนก็เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ที่เพียงพอเพราะเราไม่ได้มีหนี้สิน ทำให้เราเริ่มมีเงินเก็บ ตอนนี้แผนอีกอย่างที่วางไว้คืออยากเรียนต่อมหาวิทยาลัย ด้านสาขาบริหารธุรกิจและการตลาด อยากเรียนภาษาอังกฤษด้วย เพราะตอนนี้เริ่มมีลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาเยอะ และเขาก็ชอบในผลิตภัณฑ์ของเรา สินค้าของเรา ซึ่งการที่เราพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยคล่อง มันทำให้เราสื่อสารลำบาก เลยอยากเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มด้วยค่ะ
ปุ๋ยมูลใส้เดือน ดินปลูกเปลี่ยนชีวิตใหม่
น้องมายด์ – ชลลดา ศรีเสน่ห์ อายุ 18 ปี เยาวชนอีกคนจากกลุ่มฅนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เมื่อก่อนเธอเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีนิสัยติดเพื่อน เพื่อนชวนให้ทำอะไรก็ทำหมด จนชีวิตหันเหจากเส้นทางการเรียนไปสู่ฝั่งที่เกือบจะมืดมน
“เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ทุกอย่างหนูเอาหมดค่ะ จนกระทั่งช่วงที่หนูเริ่มท้องได้ 2 เดือน หนูก็เลยเลิกยุ่งกับของพวกนั้นค่ะ แต่ตอนนั้นครอบครัวหนูก็ไม่ค่อยยอมรับค่ะ บังคับให้หนูเอาลูกออก แต่หนูก็ไม่ได้สนใจค่ะ อุ้มท้องต่อไปจนคลอด ตอนนั้นครอบครัวญาติพี่น้องก็มาเยี่ยมที่โรงพยาบาลค่ะ จากสายตาที่พวกเค้าเคยเกลียดหนูกลับกลายมาเป็นยิ้มและเล่นหยอกล้อกับลูกหนูค่ะ”
น้องมายด์ เล่าอีกว่า ตอนคลอดลูกใหม่ ๆ สถานการณ์ที่เคยตึงเครียดในครอบครัวระหว่างเธอกับพ่อแม่ญาติมิตรค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ตอนคลอดลูกใหม่ ๆ ช่วงที่ยังไม่มีงานทำ ก็มีปัญหาบ้างเรื่องค่าใช้จ่าย ต่อมาแม้เธอจะหางานประจำได้แล้ว แต่สามีซึ่งมีอาชีพให้เช่าเครื่องเสียงก็ประสบปัญหาธุรกิจปิดตัวจากภาวะโควิดระบาด ทำให้ต้องหารายได้เข้าครอบครัวตามลำพังและมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย จนกระทั่งได้มารู้จักกับกลุ่มฅนวัยใส ได้อบรมเรียนรู้อาชีพเสริมด้านการทำปุ๋ยดินมูลใส้เดือน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้เสริมเข้าครอบครัวได้อย่างดี
“กลุ่มลูกค้าจะเป็นคนที่ชอบตกปลา คนที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับค่ะ จากงานประจำที่หนูทำ กับงานที่บ้านที่ให้สามีเป็นคนดูแลเรื่องดินกับปุ๋ยมูลใส้เดือน รายได้ตรงนี้ ทำให้เราพอจะมีเงินเก็บจนสามารถสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ ของเราเองได้ แม้ว่าจะใช้เวลาสร้างนานก็ตาม ตอนนี้หนูทำตลาดออนไลน์ขายใส้เดือนและดินมูลใส้เดือนส่งลูกค้าต่างจังหวัดด้วยค่ะ”
จากตัวอย่างของน้องอ้อนแอ้นและน้องมายด์ ทำให้เห็นว่าการได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่เด็กและเยาวชนปราถนา แม้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาจะเคยก้าวผิด ไปสู่หนทางที่พลาดพลั้ง แต่หากได้รับโอกาสและการส่งเสริมที่จริงจัง พวกเขาก็ยังสามารถพัฒนาตัวเองจนกลับมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศได้อีกครั้ง