“สำหรับด้านการศึกษา เรื่องพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่มีแค่พัฒนาการทางร่างกายเท่านั้น ยังมีพัฒนาการทางจิตใจและจิตวิญญาณอีกด้วย ตามหลักการเติบโตของการแพทย์มนุษยปรัชญา (Anthroposophic Medicine) ของ ดร.รูดอล์ฟ สไตน์เนอร์ (Dr.Rudolf Steiner)”
คำบอกเล่าถึงความสำคัญของพัฒนาการเด็กของ นายแพทย์ทีปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล หรือหมอปอง อุปนายกสมาคมการแพทย์มนุษยปรัชญาไทย คุณหมอได้รวบรวมองค์ความรู้ของการแพทย์มนุษยปรัชญา ผสมผสานกับการแพทย์องค์รวมต่างๆ อีกมากมาย ทั้งด้านวิชาการ ภาคทฤษฏี และประสบการณ์ส่วนตัวมาบอกเล่าผ่านบทสัมภาษณ์นี้กันค่ะ
มองโลกปัจจุบัน : เมื่อโควิดกระทบต่อระบบการศึกษา
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียนมาสู่ระบบออนไลน์ แล้วการเรียนออนไลน์นานๆ ก็ส่งผลต่อความล้าของครู ความเครียดของเด็กและผู้ปกครอง ขณะเดียวกันยิ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ถดถอย หรือกระทั่งเด็กๆ หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งคุณหมอปองมีความคิดเห็นดีๆ มาแนะนำ
ขอแยกเป็นคำตอบสองระดับ ได้แก่ ระดับของภาพใหญ่ของการศึกษา อาจถึงเวลาที่นักการศึกษาจะต้องหันกลับมาทบทวนว่า แท้จริงแล้วการศึกษาคืออะไร
ปัญหาที่ผ่านมาหลายปีก่อนการมาถึงของโควิดก็คือ เด็กต้องท่องจำและเรียนรู้วิชาการจำนวนมากขึ้น จนเวลาเรียนเท่าไหร่ก็ไม่พอ เรากำลังมองว่าการให้การศึกษาเป็นการให้ความรู้เชิงปริมาณหรือเปล่า แล้วเราก็สร้างตัวชี้วัดปริมาณของความรู้ในการสอบที่หลากหลายมากขึ้น เราเร่งให้เด็กต้องรีบเลือกสายวิชาชีพโดยอ้อม เพราะเขาต้องเก็บ Portfolio ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น โดยที่ไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วเขาจะเรียนไปเพื่อทำอาชีพใด สุดท้ายเราได้เด็กที่ผ่านการสอบด้วยคะแนนผ่านเกณฑ์ แต่เจ็บป่วยและหมดไฟในการเรียนรู้
หากเรามองการศึกษาเสียใหม่ว่า คือการสอนให้คนรู้วิธีที่จะเรียนรู้ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการที่ต้องฟูมฟักผ่านการตั้งคำถามและการให้คำแนะนำอย่างมีคุณภาพ โดยคุณครูที่มีทักษะในการเข้าใจเด็ก หลักสูตรอาจต้องทุ่มเทไปที่การพัฒนาศักยภาพครู หรือช่องทางในการให้ค้นหาความรู้ และสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มากกว่าให้ครูมาเพิ่มชั่วโมงสอน ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่สนับสนุนระบบการศึกษาและการสร้างคนด้วยการลงทุนกับห้องสมุดที่ทันสมัย และให้ทุนสนับสนุนตำรับตำราที่นำสมัยที่สุดเพื่อให้หยิบยืมอ่าน และกระตุ้นให้เด็กๆ เข้าไปค้นคว้าหาความรู้เหล่านี้ รวมถึงเรื่องที่เขาสนใจจริงๆ ด้วยตนเอง
มุมมองระดับบุคคล คือครูที่ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะการเข้าถึงเด็กแบบโลกเสมือนจริงหรือที่เรียกว่า Virtual reality ย่อมเปลืองพลังในการเตรียมการสอนมากขึ้นสองเท่า ในขณะเดียวกันเมื่อครูสอนได้น้อยลง เราจำเป็นต้องลดภาระครูในเรื่องการทำเอกสารที่ไม่สำคัญลงไหม แล้วให้ครูใช้เวลากับการสอนเด็กทั้งแบบรายกลุ่มและรายคนมากขึ้น แต่ครูเองก็ต้องตระหนักรู้ว่า เราไม่อาจสอนทุกเรื่องที่เรารู้ ตรงกันข้าม เราจะกระตุ้นการตั้งคำถามที่น่าสนใจ เพื่อให้เด็กๆ ไปค้นคว้าด้วยตนเองได้อย่างไร
ส่วนการก้าวถดถอยของนักเรียนก็เช่นกัน เป็นคำถามที่ต้องถามกลับดีๆ ว่า มันเป็นการถดถอยจริงหรือเปล่า เด็กเรียนรู้จากตำราน้อยลงก็จริง แต่หลายๆ บ้านที่พ่อแม่และครูร่วมมือกันได้อย่างดี เขากลับเรียนรู้นอกห้องเรียน และเรียนรู้จากประสบการณ์จริงได้มากขึ้น แทนที่จะต้องท่องจำวิชาต่างๆ ในตำรา เด็กๆ กลับเรียนรู้อย่างมหาศาล เช่น ความรู้เกี่ยวกับระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าครูหรือพ่อแม่จะสามารถปรับกระบวนการเรียนรู้ แล้วดึงเอาทุกๆ อย่างมาเป็นประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้ต่างหาก เรื่องนี้หมอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ บ้านนะครับ
มองย้อนอดีต : องค์ความรู้จากการแพทย์มนุษยปรัชญากับพัฒนาการของเด็ก
ในมุมมองการแพทย์มนุษยปรัชญา หากครูและพ่อแม่เข้าใจเรื่อง 12 Senses หรือ 12 ผัสสะการรับรู้ของเด็ก ร่วมกับการทำงานของ 7 Life Processes หรือกระบวนการชีวิตทั้ง 7 ที่สัมพันธ์กับพลังสมองและพลังการเรียนรู้แล้ว จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางกาย ใจ และจิตวิญญาณได้เต็มศักยภาพ เพราะการศึกษาที่แท้จริงคือการเรียนรู้ไปตามจังหวะชีวิต การศึกษาจึงต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยร่างกายที่แข็งแรง ด้วยหัวใจที่เป็นสุข และด้วยสมองที่มีปัญญา
แต่พ่อแม่หลายท่านก็อาจยังมีคำถามในใจว่า หากเราเป็นพ่อแม่ที่ต้องทำงานหาเงินไปด้วยและเลี้ยงลูกไปด้วย จะเรียนรู้และนำความรู้เหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงไหม และจะต้องทำอย่างไร รวมทั้งถ้าเราเป็นครูหรือนักการศึกษา องค์ความรู้นี้จะไปช่วยการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง คุณหมอปอง ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้ว่า
อันดับแรกคือ 12 Senses หรือ 12 ผัสสะ ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญของพ่อแม่ ครู หรือนักการศึกษา ตลอดจนบุคลากรที่ทำงานด้านพัฒนาการเด็ก เช่น หมอ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เพราะถ้าเราจะทำความเข้าใจเด็กคนหนึ่ง การศึกษาและเรียนรู้เครื่องมือสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 12 Senses หรือ 7 Life Processes ถือเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า โดยไม่เกี่ยวกับว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะมีเวลาหรือไม่มีเวลาในการเลี้ยงลูกเป็นหลัก แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว หมอกลับพบว่าพ่อแม่ที่ทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วยก็ดูแลลูกด้วยความเข้าใจได้มากขึ้น หากเขาได้รู้จักเครื่องมือเหล่านี้ครับ
เพราะต่อให้พ่อหรือแม่คนหนึ่งคนใดลาออกจากงาน แล้วมาดูแลหรืออยู่กับลูกทุกวัน ถามว่ามีปัญหาไหม มันก็มีปัญหานะครับ เพราะหมออยู่ในคลินิกนี้ได้ให้คำปรึกษากับผู้ปกครองหลายบ้านที่แม่ลาออกจากงานมาเป็นคุณแม่เต็มเวลา (Full time mother) แต่ว่ายังประสบกับปัญหาในการเข้าใจลูก คือไม่รู้ว่าจะเอาอะไรที่ดีหรือสิ่งใดที่เหมาะกับลูกของตัวเอง
ในขณะเดียวกันก็พบว่าคนที่ไม่มีเวลาจะเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง เช่น ฝากย่ายายเลี้ยง หรือหากมีกำลังทรัพย์ก็อาจมีพี่เลี้ยงช่วยดูแล แต่ว่าเขามีความรู้อย่าง 12 Senses เช่น สังเกตว่าตอนนี้ลูกมีการใช้ชีวิตที่ไม่เป็นจังหวะเวลา หรือมีพัฒนาการยืน นั่ง นอน หรือเล่นล่าช้า ประกอบกับภาษาไม่มีพัฒนาการ ถ้าเขามีความรู้ตรงนี้ เขาจะเริ่มตระหนักรู้แล้วว่า เริ่มเห็นความผิดปกติ เห็นสัญญาณว่าลูกเราไม่สมดุล (Imbalance) ในบางประเด็นแล้ว เขาก็จะพาลูกไปปรึกษากับนักบำบัดหรือคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาการเด็ก ฉะนั้นการมีเครื่องมือเรื่อง 12 Senses จึงเป็นข้อได้เปรียบมากกว่า
สำหรับคุณครูหรือนักการศึกษาก็เป็นข้อได้เปรียบเช่นกัน ถ้าถามว่าได้เปรียบเพราะอะไร หมอก็ขอตอบว่า เพราะการที่เราจะให้การศึกษาเด็กแต่ละคนนี้จะต้องมีความจำเพาะหรือมีความเหมาะสมกับเด็กคนนั้นๆ ในอดีตเราจะพบว่า ระบบการศึกษาของบ้านเรามีลักษณะที่คุณครูเป็นผู้กำหนดหลักสูตรหรือ teacher center ซึ่งจะมีเด็กหลายๆ คนอาจจะไม่ได้มีกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามที่คุณครูวางแผนไว้ได้
ตัวอย่างเช่น เด็กแต่ละคนมีการเรียนรู้ตามความถนัดที่แตกต่างกันไป อย่างเด็กบางคนเรียนรู้ผ่านการฟัง (Auditory learner) เด็กบางคนเรียนรู้ผ่านการมองเห็น (Visual learner) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มักไม่ค่อยมีปัญหา ถ้าต้องเรียนในระบบการศึกษาปกติ แต่เด็กอีกกลุ่มคือ เด็กที่เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวหรือการลงมือทำ (Kinetic learner) ซึ่งถ้าเป็น12 Senses คือคนที่ใช้ Lower senses มาก ถ้าให้เด็กกลุ่มหลังนี้ไปนั่งเรียนในหลักสูตรที่คุณครูใช้วิธีการสอนบนกระดาน ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ และอาจถูกมองว่าพวกเขาเป็นเด็กมีปัญหา ตราบเท่าที่เราไม่ตระหนักว่าเด็กกลุ่มนี้มีช่องทางการเรียนรู้หรือการนำเข้าของข้อมูล (input) ในอีกแบบหนึ่ง
ฉะนั้นการมีเครื่องมืออย่าง 12 Senses คือการทำให้เราแม่นยำขึ้นได้ว่า ถ้าเราเห็นเด็กคนหนึ่งว่าเขามีอุปสรรคในการเรียนรู้หรือมีพัฒนาการบางอย่างที่ล่าช้า เราก็เอากรอบแนวคิดของ 12 Senses เข้ามาช่วยสืบค้นและวิเคราะห์ได้ว่า ผัสสะที่เด็กขาดหรือเสียสมดุลคืออะไร และจะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง เช่น เราในฐานะครูอาจช่วยออกแบบวิธีการสอนใหม่ๆ หรือเข้าไปช่วยแก้ไขบางจุดด้วยการกระตุ้นผัสสะบางอย่าง เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้หรือมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ เพราะเมื่อครูเข้าใจเด็กแต่ละคน ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนที่เหมาะกับเขาได้จริงๆ
สร้างพัฒนาการที่ดีผ่าน 12 Senses
12 Senses คือระบบการคิดของนักการศึกษาบำบัดทางการแพทย์มนุษยปรัชญา โดยมองว่า คนเรามีกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ หากเปรียบกับคอมพิวเตอร์ จิตใจหรือจิตวิญญาณก็เหมือนซอฟต์แวร์ (Software) ที่ทำงานอยู่ภายในคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นฮาร์ดแวร์ (Hardware) หรือร่างกายคนเรานั่นเอง ฮาร์ดแวร์หรือร่างกายของเรานี้ก็เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากพ่อและแม่ หรือเรียกว่าพันธุกรรม แล้วเกิดการปฏิสนธิ มีการพัฒนาตามวัย ซึ่งร่างกายของคนเราก็มีช่องทาง (Input) ที่จะรับรู้ข้อมูล เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่จะต้องมีเมาส์ คีย์บอร์ด หรือจอทัชสกรีน ถ้าเกิดเมาส์เสียก็อาจทำให้เราป้อนข้อมูลบางอย่างเข้าคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองว่าในร่างกายของคนเรามี “ช่องทาง” ที่จะส่งข้อมูลการเรียนรู้หรือประสบการณ์ชีวิตนี้ให้เด็กคนหนึ่งได้เรียนรู้ ในทางการแพทย์มนุษยปรัชญาก็จะบอกว่ามีทั้งหมด 12 ช่องทาง ที่เรียกว่าเป็น 12 Senses หรือ 12 ผัสสะ
ส่วนความสำคัญของ 12 Senses หรือ 12 ผัสสะ มาจากแนวคิดที่ว่า กระบวนการเลี้ยงดูเด็กให้มีพัฒนาการทั้งกาย จิตใจ และจิตวิญญาณที่ดี ต้องทำผ่านการสร้างประสบการณ์ให้กับผัสสะหรือสัมผัสต่างๆ เพราะผัสสะเป็นการรับรู้โลกภายนอก เด็กที่ไม่ได้เรียนรู้ผ่านการสอน แต่ผ่านประสบการณ์ผัสสะของเขา เราใส่อะไรผ่านผัสสะไหนให้เขารับรู้ มันจะฝังในหัว ในตัวตน และจะส่งผลต่อการเป็นเขาในระยะยาว เพราะการเลี้ยงดูแลเด็กก็คือการดูแลอนาคตของครอบครัว ของสังคม ของประเทศ และของโลกใบนี้ เพื่อให้เด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตอย่างยั่งยืน
12 Senses หรือผัสสะทั้ง 12 ได้แก่
สำหรับผัสสะทางกาย (Sense of Body หรือ Lower senses) ในช่วงวัยแรกเกิด-7 ปี ซึ่งถือเป็นทางผัสสะแรกที่จะพัฒนาก่อน ประกอบด้วย 4 ผัสสะ ได้แก่ 1. ผัสสะกายสัมผัส (Sense of Touch) 2. ผัสสะแห่งชีวิต (Sense of Life) 3. ผัสสะการเคลื่อนไหว (Sense of Movement) 4. ผัสสะการทรงตัว (Sense of Balance)
ต่อมาในช่วงวัย 7-14 ปี เป็นผัสสะที่จะรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอก (Sense of Soul หรือ Middle senses) คือ 5. ผัสสะการรู้กลิ่น (Sense of Smell) 6. ผัสสะการรู้รส (Sense of Taste) 7. ผัสสะการมองเห็น (Sense of Sight) 8. ผัสสะความอุ่น (Sense of Warmth)
ในช่วงวัย 14-21 ปี เป็นผัสสะทางจิตวิญญาณ (Sense of Spirit หรือ Higher senses) คือ 9. ผัสสะการได้ยิน (Sense of Hearing) 10. ผัสสะทางภาษา (Sense of Language) 11. ผัสสะในการเข้าใจความคิด (Sense of Thought) และ 12. ผัสสะในการเข้าใจมนุษย์หรือผัสสะความมีตัวตน (Sense of “I”)
“สุขภาพดีผ่านพลังชีวิต 7 Life Processes”
สำหรับอีกเครื่องมือที่สำคัญของการแพทย์มนุษยปรัชญาชื่อว่า 7 Life Processes กระบวนการชีวิตหรือพลังชีวิตทั้ง 7 ทางคุณหมอปองมีคำแนะนำสำหรับครูและพ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องนี้ว่า
ในทางมนุษยปรัชญาบอกว่า ตามปกติสมองของคนเรา เมื่อมีการเรียนรู้จากองค์ความรู้ต่างๆ ที่ให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่าน 12 Senses ทางใดทางหนึ่ง ก็ยังเป็นอาหารชิ้นใหญ่ๆ เป็นความรู้ที่ยังไม่เข้าใจ ฉะนั้นเด็กจึงต้องอาศัยพลังชีวิตที่เรียกว่า 7 Life Processes ซึ่งมีอยู่ 7 กระบวนการ เพื่อเข้าไปย่อยและทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ เมื่อย่อยองค์ความรู้เสร็จแล้วก็ต้องดูดซึมความรู้นั้นๆ มีคำพูดทางภาษาศาสตร์ว่า “ย่อยองค์ความรู้” หรือ “ขบคิด” ซึ่งเปรียบได้กับกระบวนการหนึ่งของสิ่งมีชีวิตคือ การย่อยอาหาร เมื่อเราซึมซับองค์ความรู้นั้นเข้าไปแล้วก็ต้องมีการต่อยอด มีการฝึกฝน เพื่อกลายเป็นความทรงจำ เป็นประสบการณ์และความเข้าใจองค์ความรู้นั้นๆ สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ากระบวนการย่อยของพลังชีวิตในตัวเราอ่อนแอหรือผิดปกติ
ตัวอย่างเช่น หากเราพบว่าเด็กบางคนที่มีปัญหาระบบการย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรือมีอาการไม่ปกติทางการย่อย จะทำให้เด็กคนนั้นมีพฤติกรรมบางอย่าง เช่น หงุดหงิดง่าย หรือเรียนรู้แล้วไม่สามารถจะจำความรู้ได้ดีเท่าที่ควร หากนักบำบัดหรือหมอรู้แล้ว เราก็วิเคราะห์ต่อไปว่า สิ่งนี้เป็นความผิดปกติของพลังชีวิตส่วนไหนล่ะ ถ้าเราบอกว่ามันเป็นความผิดปกติในระบบย่อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องแก้ ไม่ใช่ไปแก้ที่การบำรุงแต่สมองอย่างเดียว แต่เราต้องให้วิตามินหรือสมุนไพรเข้าไปปรับเปลี่ยนกระบวนการย่อยของอวัยวะภายในของเขาให้ดีขึ้นด้วย เช่น การประคบหรือนวดอวัยวะช่องท้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในพลังชีวิตทั้ง 7
ผลปรากฏว่าการมีประสบการณ์ของทางการแพทย์มนุษยปรัชญาทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยสมัยใหม่ที่พูดถึง Gut Brain หรือสมองที่สองของมนุษย์ พบว่าสารสื่อประสาทหลายๆ ชนิดในสมองคนเรานี้ต้องอาศัยการร่วมมือของการสังเคราะห์จากอวัยวะอย่างลำไส้ด้วย เช่น สารเซโรโทนิน ถ้าลำไส้รั่วหรือดูดซึมไม่ดี สารสื่อประสาทแห่งความสุขอย่างเซโรโทนินที่สังเคราะห์แล้วก็จะรั่วออก และทำให้สมองขาดความสมดุล เช่น เด็กบางคนที่ดูเครียดผิดปกติ พอไปวิเคราะห์และแก้ไขที่ระบบย่อยอาหารอย่างลำไส้ ก็กลับทำให้เขามีอารมณ์ที่ดีขึ้น เมื่อเด็กกลับไปเรียนหนังสือก็มีสมาธิจดจ่อและมีการเรียนดีขึ้นได้
หรือเด็กบางคนตื่นเต้นง่าย มีเหงื่อออกที่มือชุ่มโชก พอไปตรวจดูจึงพบว่าไม่ใช่แค่เรื่องของสมอง แต่เป็นเพราะฮอร์โมนอะดรีนาลินที่หลั่งออกมาจากต่อมหมวกไต หรือในทางการแพทย์มนุษยปรัชญาถือว่า เด็กวัย 9 ขวบ หรือช่วง ป. 3 ที่ทางมนุษยปรัชญาเรียกว่า วัยรูบิคอน มักจะมีสารโดพามีนหลั่งออกมามาก เพราะฉะนั้นเราจึงมักเห็นเด็กวัย 9 ขวบ เขาจะมีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวง่าย บางทีพ่อแม่ไม่เข้าใจว่าทำไมลูกพูดแล้วต่อล้อต่อเถียง หรือเลี้ยงไม่ง่ายเหมือนตอนอนุบาล ต้องบอกว่านี่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและฮอร์โมนของต่อมหมวกไต ตรงนี้แหละที่ทำให้พลังชีวิตที่ไปเลี้ยงสมองก็ปั่นป่วนตามไปด้วย เพราะฉะนั้น แนวทางการบำบัดที่จะช่วยได้ เช่น การนวดประคบไต จะช่วยเรื่องระบบอวัยวะส่วนนี้และรักษาสมดุลของพลังชีวิตได้
ดังนั้น ถ้าคุณครูและพ่อแม่มีความเข้าใจเรื่องของ 7 Life Processes ก็ทำให้การดูแลเด็กเป็นเรื่องง่าย เมื่อเราใช้ประกอบกับเรื่อง 12 Senses ความรู้เหล่านี้ทำให้เรามีกระบวนการที่จะไปปรับสมดุลกับเด็กเพื่อให้มีพัฒนาการของกายและจิต (Body and Mind) ที่ดี
นอกจากนี้ 7 Life Processes ถือเป็นเรื่องของพลังชีวิต ดังนั้น หากเรามีความรู้เรื่องนี้ก็จะช่วยดูแลเกี่ยวกับสุขภาพ หรือการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายของเราด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่วงการมนุษยปรัชญามีการตั้งคำถามที่น่าสนใจก็คือ ทำไมคนเรายุคนี้จึงมีก้อน มีมะเร็ง และมีเนื้องอกกันมาก แม้ทราบว่าจะเกิดด้วยหลายสาเหตุปัจจัย แต่หนึ่งในนั้นก็คือ วิธีการที่เราสุดโต่งไปทางความเป็นวัตถุนิยม (Materialism) จนทำให้ร่างกายก็กลายเป็นวัตถุธาตุที่ไร้ชีวิตได้ง่าย เช่น หากความคิดของเรามีลักษณะที่แห้งแล้ง คือมีความเป็นตรรกะ (Logic) มากเกินไป อวัยวะภายในของเราก็มีจะการทำงานแบบกลไก (mechanic) คล้ายหุ่นยนต์มากขึ้นไปด้วย เราก็จะเห็นโรคอุบัติใหม่ๆ ที่สืบเนื่องมาจากปฏิกิริยาของกายและจิต (Body and mind reaction) ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น หากนักการศึกษาบำบัด ครู หรือพ่อแม่ที่อยากช่วยให้ลูกเข้าใจเนื้อหาการเรียนรู้ นอกเหนือจากแนวคิดการกระตุ้นสมองตามปกติแล้ว ความเข้าใจในการส่งเสริมพลังชีวิตทั้ง 7 ให้ดี ก็จะมีส่วนช่วยให้เด็กมีสมองและความคิดที่พัฒนาได้เต็มศักยภาพของเขา
7 Life Processes หรือกระบวนการชีวิตทั้ง 7 เชื่อมโยงกับพลังสมองดังนี้คือ
- กระบวนการกินและหายใจ (Eating and Breathing) กับการเปิดรับสิ่งใหม่ (Openness)
- กระบวนการปรับเปลี่ยนสภาพ (Adaptation) กับการเรียบเรียง (Sorting)
- กระบวนการย่อยอาหารและดูดซึม (Digestion and Absorption) กับการการขบคิดทำความเข้าใจ (Digest thought)
- กระบวนการคัดหลั่ง (Secretion) กับการสร้างตัวตน (Individualization)
- กระบวนการซ่อมแซมและหล่อเลี้ยง (Maintaining and Nourishment) กับการทบทวนและจดจำ (Review and Remember)
- กระบวนการเติบโตเต็มวัย (Growth and Maturation) กับการเพิ่มพูนองค์ความรู้ (Growth mindset)
- กระบวนการเพิ่มจำนวนและสืบพันธุ์ (Regeneration) กับการสืบสานและสร้างสรรค์ (Reproductive and Creation)
มองต่อไปถึงอนาคต : นำความรู้ที่มีเข้าสู่โลก Metaverse
หากพูดถึงมุมมองในอนาคต ความรู้เหล่านี้ทั้ง 12 Senses หรือ 7 Life Processes จะมีความจำเป็นมากขึ้นและมากขึ้น เพราะเมื่อไม่นานมานี้หลังจากเฟซบุ๊กประกาศเรื่อง Metaverse แล้ว ทำให้เราจะต้องจินตนาการต่อไปว่า ในอนาคตการรับรู้หรือผัสสะของคนเราจะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาลเพียงใด
ไม่ต้องอยู่ใน Metaverse ก็ได้นะครับ เราแค่ดูมือถือทุกวันนี้ หลายคนอาจรู้สึกสนุกกับการเล่น Tik Tok ดู YouTube แต่เราจะรู้โดยสามัญสำนึกว่า สิ่งที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ความจริงทั้งหมด และหลายสิ่งเป็นการปรุงแต่ง หากเมื่อไรมี Metaverse เกิดขึ้นจริงๆ จังๆ คนเราจะหลุดจากโลกความเป็นจริง (Reality) ได้อย่างมาก
ทั้งนี้เพราะเราเป็นคนรุ่นที่เติบโตมาผ่านการเล่นในโลกแห่งความเป็นจริงมาก่อนได้สัมผัสโลกเสมือนจริง (Virtual Reality)
แต่กับเด็กรุ่นหลังที่เกิดมาปั๊บ ก็เจอจอมือถือและโลกเสมือนจริงเลย ซึ่งทำให้เส้นแบ่งตรงนี้มันเบลอ เพราะวัยเด็กจะถือว่าทุกเรื่องที่รับรู้คือเรื่องจริง ดูอย่างเด็กที่เชื่อว่าตัวละครในนิทานนั้นมีตัวตนอยู่จริงๆ นั่นปะไร
เรื่องนี้นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ข่าวเด็กพยายามฆ่าตัวตายเกิดขึ้นเยอะมากทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงล็อกดาวน์ พอหมอได้ซักประวัติว่าทำไมเด็กๆ ถึงอยากฆ่าตัวตาย คำตอบที่ได้คือ เพราะเพื่อนที่อเมริกากำลังฆ่าตัวตาย เขารู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว เพื่อนก็ไม่ได้เคยเจอตัวเป็นๆ ด้วยนะ แต่เขากลับรู้สึกซึมเศร้าที่อินไปกับเพื่อนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่ง จนเป็นเหตุให้พยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวว่า เขาให้ค่าความสัมพันธ์แบบโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) มากกว่าความสัมพันธ์แบบโลกจริง (Reality) อย่างพ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อนเขาที่พบเจอจริงๆ
เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความคิดและจิตใจของเด็กที่กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตขึ้นอยู่กับกระบวนการกล่อมเกลาเลี้ยงดูพวกเขาให้มีความเข้าใจต่อผัสสะต่างๆ ดังนั้น การมี 12 Senses จะกลายเป็นเรื่องจำเป็นมาก รวมถึง 7 Life Processes ความรู้เหล่านี้คือสิ่งที่ผมคิดว่า ในอนาคตที่ผู้ให้การศึกษาเด็กจะต้องเริ่มที่จะตระหนักรู้แล้วครับ
ล่าสุดคุณหมอปองยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การแพทย์มนุษยปรัชญาเป็นผลงานหนังสือ 2 เล่ม ได้แก่ “12 senses เลี้ยงลูกให้มีพัฒนาการ” และเล่มล่าสุด “7 Life Processes 7 พลังชีวิตสร้างพลังสมอง” ของสำนักพิมพ์ SOOK Publishing ทำให้เราเรียนรู้พัฒนาการของเด็กผ่านการเข้าใจสัมผัสรับรู้และพลังชีวิตของมนุษย์ได้อย่างเข้าใจง่าย และประยุกต์ใช้ได้จริง